รายงานพิเศษ/สื่อญี่ปุ่นขยับเข้าใกล้ ยุค “โรโบ-เจอร์นัลลิสม์” การสื่อข่าวอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

 

สื่อญี่ปุ่นขยับเข้าใกล้ ยุค “โรโบ-เจอร์นัลลิสม์”

การสื่อข่าวอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

 

กลายเป็นเรื่องเมื่อคนข่าวยุคดิจิตอลจะต้องเจอกับความปั่นป่วนกันจากเทคโนโลยีใหม่ที่วุ่นวายหลายด้านแล้ว

ความท้าทายใหม่ที่กำลังจะมาเยือนคือ “ปัญญาประดิษฐ์” AI ที่เป็นได้ทั้งส่วนเสริมและตัวทำลายอาชีพของคนข่าวในยุคนี้

AI มาช่วยในการหาข่าว เขียนข่าว และนำเสนอข่าว

การทำข่าว บางคนฟังแล้วอาจทึ่งกับความสามารถในการทำหน้าที่ในฐานะสื่อที่มีประสิทธิภาพ และน่าตื่นตาตื่นใจตื่นเต้นมากขึ้น

คนทำงานข่าวอีกบางคนอาจจะต้องหนาวเพราะความแตกตื่นว่า “ปัญญาประดิษฐ์” กำลังจะเป็นภัยคุกคามต่อการทำหน้าที่ของตนเอง

เพราะหากหุ่นยนต์สามารถหาข่าว เรียบเรียงข่าว นำเสนอข่าวแทนมนุษย์ได้ คนข่าวเองจะต้องตกงานกันเป็นแถว

คนในวงการสื่อเองจะปรับตัว เรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อทำให้สิ่งที่เรียกว่า “วิกฤต” กลายเป็น “โอกาส” ในการทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างคล่องแคล่วอย่างไร

นั่นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ถ้าเราต้องอยู่ก็ควรอยู่อย่างฉลาดกว่า เราต้องแยกแยะให้ออกว่า แม้ AI (ปัญญาประดิษฐ์) จะมีความน่ากังวลหลายเรื่อง แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องจนปิดกั้นการพัฒนาใหม่ๆ และทำลายสิ่งเก่า

“ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence) หรือเอไอ (AI) หมายถึงความฉลาดเทียมที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต

ปัญญาประดิษฐ์เป็นสาขาหนึ่งในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมเป็นหลัก แต่ยังรวมถึงศาสตร์ในด้านอื่นๆ อย่างจิตวิทยา ปรัชญา หรือชีววิทยา ซึ่งสาขาปัญญาประดิษฐ์เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการการคิด การกระทำ การให้เหตุผล การปรับตัว หรือการอนุมาน และการทำงานของสมอง

ปัจจุบันงานวิจัยหลักๆ ของ AI จะมีแนวคิดในรูปที่เน้นเหตุผลเป็นหลัก เนื่องจากการนำ AI ไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหา ไม่จำเป็นต้องอาศัยอารมณ์หรือความรู้สึกของมนุษย์

แต่ต้องการสร้างระบบที่คิดเหมือนมนุษย์ ระบบที่กระทำเหมือนมนุษย์ ระบบที่คิดอย่างมีเหตุผล ระบบที่กระทำอย่างมีเหตุผล

ล่าสุด “ชินาโมะ ไมนิจิ ชิมบุน” บริษัทหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นขยับเข้าใกล้ยุค “โรโบ-เจอร์นัลลิสม์” หรือยุคของการสื่อข่าวอัตโนมัติโดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อีกก้าวหนึ่งแล้ว

ร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง “ฟูจิตสึ” พัฒนาเอไอสำหรับสรุปข่าวสารที่มีอยู่ให้สั้นลง เหมาะสมต่อการนำเสนอผ่านระบบเสนอข่าวทางเคเบิลทีวีของบริษัท

กำหนดประเดิมใช้งานครั้งแรกในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ก่อนที่จะนำระบบเดียวกันไปใช้ในแพลตฟอร์มทุกอย่างที่บริษัทมี ทั้งนำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์และผ่านออนไลน์ เอาต์เล็ตต่างๆ ต่อไป

ดังกล่าวเป็นซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยฟูจิตสึ แล็บอราทอรีส์ ห้องปฏิบัติการทดลองในสังกัดฟูจิตสึ โดยอาศัยต้นแบบจากการสรุปย่อเนื้อหาข่าวที่ผู้สื่อข่าวเคยทำอยู่ ซึ่งแต่ละข่าวใช้เวลาประมาณ 5 นาที

ในขณะที่ซอฟต์แวร์ของฟูจิตสึสามารถสรุปข่าวเดียวกันออกมาได้ในแทบจะทันทีทันใด ระบบสรุปข่าวอัตโนมัติดังกล่าวใช้เทคโนโลยีสำคัญ 2 เทคโนโลยีผสมผสานกัน อย่างแรก คือระบบประมวลผลภาษาธรรมชาติ (แนเชอรัล แลงเกวจ โปรเซสซิ่ง) และเทคโนโลยีการเรียนรู้ของจักรกล (แมชีน เลิร์นนิ่ง)

ซึ่งถูกกำหนดให้เลือกส่วนที่โดดเด่นและสำคัญที่สุดของข่าวทั้งข่าวออกมา ให้คะแนนประโยคแต่ละประโยค โดยอ้างอิงกับความสำคัญของแต่ละประโยค

ผลลัพธ์ก็คือ ระบบสรุปข่าวของฟูจิตสึสามารถสรุปข่าวได้เร็วและแม่นยำกว่าระบบสรุปข่าวอัตโนมัติอื่นๆ ซึ่งใช้วิธีการหยิบเอาส่วนที่เป็นลีดหรือความนำของตัวข่าว แล้วเพิ่มเติมส่วนเนื้อข่าวเข้าไปจนกว่าจะครบจำนวนคำที่กำหนดไว้

มาซาโตะ โยโกตะ ผู้อำนวยการ ประจำกลุ่มธรกิจการเงินและสาธารณูปโภคภาครัฐของฟูจิตสึ เปิดเผยว่า ซอฟต์แวร์ดังกล่าวถูกฝึกให้จัดการสรุปย่อเนื้อหาข่าวในฐานข้อมูลรวม 2,500 ชิ้น นำไปเทียบเคียงกับข่าวเดียวกันนั้นที่ถูกสรุปย่อ

โดยผู้สื่อข่าวแต่เดิมซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลของหนังสือพิมพ์ ระบบจะใช้การเทียบเคียงข่าวทั้งชิ้นและข่าวที่สรุปย่อโดยนักข่าวดังกล่าวนั้นเป็นตัวอ้างอิง หรือเป็นครูของตนเอง เพื่อใช้เป็นแบบอย่างต่อไป

นอกจากนั้น ทางฟูจิตสึยังได้สร้างโมเดล หรือต้นแบบเพื่อ “การดึงประโยคสำคัญจากเนื้อหา” ขึ้นมาใช้ร่วมอยู่ในซอฟต์แวร์นี้ด้วย โมเดลดังกล่าวจะทำหน้าที่ประเมินความสำคัญของเนื้อหาของแต่ละประโยค เพื่อใช้งานร่วมกับโมเดลคอมพิวเตอร์อีกโมเดล คือ “เซนเทนซ์ ชอร์เทนนิ่ง โมเดล” ที่จะเป็นต้นแบบของการตัดคำที่ไม่จำเป็นทิ้งออกไป แต่ยังคงโครงสร้างของรูปประโยคไว้เช่นเดิม

ระบบสรุปข่าวอัตโนมัติของฟูจิตสึสามารถใช้งานได้ทั้งกับข่าวที่เป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ สามารถนำมาสอดแทรกใช้งานร่วมกับระบบงานของหนังสือพิมพ์เดิมได้ทันทีเนื่องจากเป็นการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นบนเว็บ

ชินาโมะ ไมนิจิ ชิมบุน หรือที่รู้จักกันในชื่อสั้นๆ ว่า “ชินไม” เป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น สำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดนางาโนะ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียว

หนังสือพิมพ์ฉบับเช้ามียอดขาย 487,000 ฉบับ มีอัตราบอกรับเป็นสมาชิกสูงถึง 61 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนทั้งหมดของจังหวัด ทั้งนี้ ฮิโรชิ มิซาวะ กรรมการผู้จัดการของชินไม ระบุว่า หลังจากเริ่มต้นใช้งานกับบริการสรุปข่าวผ่านเคเบิลทีวีของตนแล้ว ก็จะนำผลงานไปใช้ในช่องทางนำเสนออื่นๆ ต่อไป

ระบบของฟูจิตสึไม่ใช่ระบบแรกที่ผลิตข่าวให้กับสื่อมวลชน ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ เคยใช้ซอฟต์แวร์เขียนข่าวหรือ “นิวส์ บ็อต” ชื่อ “เฮลิโอกราฟ” ผลิตข่าวที่เป็นการรายงานผลการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่นครริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล เพื่อนำเสนอถึง 300 ชิ้นในปี 2016

หลังจากนั้นก็นำเฮลิโอกราฟมาใช้กับการรายงานข่าวเลือกตั้งและรายงานผลการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลระดับไฮสคูล