ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
อยากชวนทุกท่านไปอ่านคำสัมภาษณ์บางส่วนของ “รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บนเวทีสนทนาเปิดตัวหนังสือ “ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย : สมรภูมิการเมืองไทยสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่จบ” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา
ผลงานเล่มนี้แปลจากหนังสือภาษาอังกฤษของอาจารย์ประจักษ์ชื่อ “Thailand : Contestation, Polarization, and Democratic Regression” โดย “ฐนพงศ์ ลือขจรชัย”
หนึ่งในประเด็นน่าสนใจชวนขบคิดที่นักรัฐศาสตร์อย่างอาจารย์ประจักษ์ฝากไว้ผ่านเวทีสนทนาดังกล่าว มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
“คนรู้สึกว่าทำไมประเทศไทยเกิดการ ‘แบ่งขั้วร้าวลึก’ พูดง่ายๆ คนแตกแยกทางการเมืองสูง
“ในทางวิชาการเราเรียกภาวะแบบนี้ว่า ‘deep polarization’ ซึ่งมันเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ประเทศไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจน จะถูกลิสต์ออกมา สมมุติว่าในสิบประเทศที่แตกแยกสูง ประเทศไทยก็จะติดอยู่ในลิสต์นั้นเสมอ อีกประเทศหนึ่งก็คืออเมริกา อย่างตอนนี้ อเมริกาก็ติดกับดักอันนี้
“คือคนอินกับการเมือง แต่ว่าแตกเป็นสองฝั่ง แล้วสองฝั่งนี้เหมือนกับว่าอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ อีกฝั่งหนึ่งทำอะไรก็ผิดไปหมด อีกฝั่งหนึ่งที่เราเชียร์ทำอะไรก็จะถูกหมด การเมืองก็เลยกลายเป็น ‘ขาว-ดำ’ เป็นแบบ ‘มิตรและศัตรู’
“ของไทย ภาวะแบบนี้มันมาเกิดขึ้นหลังปี 2540 เป็นต้นมา ‘เหลือง-แดง’ จนมาถึงปัจจุบัน จริงๆ มีบทหนึ่งเลย (ของหนังสือ) ที่อธิบายเรื่องนี้เรื่องเดียว เพราะผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นปัญหาที่สำคัญของการเมืองไทย และถ้ายังแก้ไขเรื่องนี้ไม่ได้ ผมว่าเราก็ก้าวต่อไปลำบาก
“เพราะประเทศไหนที่ไปติดกับดักการแบ่งขั้วร้าวลึกแล้ว การเมืองมันจะค่อนข้างไม่ฟังก์ชั่น มันจะเป็นอัมพาตง่าย เดดล็อก ไม่ว่าใครขึ้นมาบริหารประเทศ (จะทำงาน) ยาก บริหารไม่ได้ง่ายหรอก เพราะว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนทั้งสังคม แล้วพอเดดล็อกมากๆ ทหารก็จะมาอ้างในการรัฐประหารด้วย การเมืองก็จะไร้เสถียรภาพ”
“แล้วมันไม่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ไม่มีฉันทมติร่วมกัน ผลลัพธ์ก็คือรัฐธรรมนูญก็จะโดนฉีกบ่อย มันก็จะตกลงอะไรกันไม่ได้สักเรื่อง
“แต่เรื่องวิธีแก้ไขมันยาก จะแก้อย่างไร อาจจะต้องเขียนเป็นอีกเล่มหนึ่งเลย อย่างน้อยเล่มนี้พยายามอธิบายสาเหตุที่มาอย่างเป็นระบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ว่าทำไมสังคมไทยถึงแตกขั้วสูงขนาดนี้
“ปัจจัยมีหลายอย่าง ทั้งปัจจัยทางประวัติศาสตร์ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ-สังคม ที่เราเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง
“ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ความแตกต่างระหว่างคนที่ทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการกับไม่เป็นทางการ อันนี้แหละเป็นฐานความแตกแยกของ ‘เสื้อเหลือง-เสื้อแดง’ มันมีปัจจัยทางเศรษฐกิจอยู่เยอะมาก ความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคด้วย
“ปัจจัยเรื่องตัวบุคคลก็เกี่ยว พฤติกรรม-วิธีเล่นการเมือง คุณเล่นการเมืองแบบไหน มันก็มีส่วนไปเสริมสร้างความแตกแยกด้วย กติกาทางการเมืองก็มีส่วน
“(หนังสือเล่มนี้) พยายามอธิบายความสัมพันธ์ของเหตุ-ปัจจัยต่างๆ อย่างเป็นระบบว่า มันทำงานร่วมกันอย่างไร มันไม่ใช่มีใครคนเดียว หรือฝั่งใดฝั่งเดียว หรือเหตุปัจจัยเดียวหรอก ที่ทำให้สังคมเราแบ่งแยกแตกขั้วร้าวลึกขนาดนี้ มันเป็นการบรรจบกันของหลายปัจจัย”
ยิ่งเมื่อมาทบทวนทรรศนะข้างต้นของอาจารย์ประจักษ์ ในวันที่ “ร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ของพรรคเพื่อไทย ต้องเจอ “โรคเลื่อน” ออกไปก่อน พร้อมๆ กับการคัดค้านกาสิโนด้วยลีลา “เล่นใหญ่ระดับรัชดาลัย” ของเลขาธิการพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค
ก็ยิ่งมองเห็นถึงปัญหาของสังคมการเมืองไทยแบบ “แบ่งขั้วร้าวลึก” ที่แม้กระทั่งรัฐบาลผสมจากการเลือกตั้ง ก็ยังขาด “วิสัยทัศน์-ฉันทมติ” ร่วมกัน •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022