เสฐียรพงษ์ วรรณปก : เป้าหมายสูงสุดของชีวิต (จบ)

ชีวิตและเป้าหมายของชีวิต (3)

ย้อนอ่าน เป้าหมายสูงสุดของชีวิต (ตอนแรก)

มีพระพุทธวจนะมากมายสนับสนุนข้อสรุปมนุษย์เป็นผู้กำหนดเป้าหมายแห่งชีวิตของตนเอง อาทิ

(1) “เราต้องพึ่งตัวเราเอง คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว ย่อมเป็นที่พึ่งที่ได้แสนยาก”

(2) “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนมีทางเดินเป็นของตน เพราะฉะนั้น ความคุมตน เหมือนพ่อค้าม้าทะนุถนอมม้าดี”

(3) “ตนทำบาปเอง ตนก็เศร้าหมองเอง ตนไม่ทำบาปเอง ตนก็บริสุทธิ์เอง เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์แทนไม่ได้”

(4) “มีทางนี้ (มรรคมีองค์ 8) เท่านั้นไม่มีทางอื่นเพื่อความบริสุทธิ์แห่งทรรศนะ พวกเธอจงเดินตามทางนี้เถิด ทางสายนี้พญามารมักเดินหลงเสมอ เมื่อเดินตามทางนี้พวกเธอจักหมดทุกข์ ทางสายนี้เราตถาคตได้ชี้บอกไว้ หลังจากได้รู้วิธีถอนลูกศรคือกิเลส พวกเธอจงพยายามทำความเพียรเถิด ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกทางเท่านั้น ชนทั้งหลายผู้เดินทางสายนี้โดยปฏิบัติภาวนา จักพ้นเครื่องผูกของพญามาร”

(5) “คนฉลาด เมื่อรู้ความจริงว่า บุตร บิดา มารดา หมู่ญาติก็ช่วยไม่ได้ ควรสำรวมในศีล ไม่ควรชักช้าในการตระเตรียมทางไปสู่นิพพาน”

(6) “ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษผู้ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์พึงมายังสำนักของท่าน เขาเข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า

“มาเถิด พ่อมหาจำเริญ ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่ง ท่านจักเห็นบ้านชื่อโน้น… จักเห็นนิคมชื่อโน้น… จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์… จักเห็นป่าที่น่ารื่นรมย์… จักเห็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์… จักเห็นสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์”

บุรุษนั้นถูกท่านแนะนำชี้แจงอย่างนี้ จำทางผิด กลับเดินไปเสียตรงกันข้าม ต่อมาบุรุษคนที่สอง ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ พึงมายังสำนักของท่าน แล้วพูดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าเถิด” ท่านพึงบอกอย่างนี้ว่า “มาเถิดพ่อมหาจำเริญ ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์”… บุรุษนั้นถูกแนะนำชี้แจงอย่างนี้แล้ว พึงไปเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี

ดูก่อนพราหมณ์ อะไรหนอแลเป็นเหตุปัจจัย ในเมื่อเมืองราชคฤห์ดำรงอยู่ ทางไปเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่ ท่านผู้ชี้ทางก็ดำรงอยู่ แต่บุรุษที่ท่านชี้ทางคนหนึ่งจำทางผิดกลับไปทางตรงข้าม แต่อีกคนหนึ่งเดินไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี

คณะโมคคัลลานะทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทาง” พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่ แต่สาวกของเราที่ถูกโอวาทสั่งสอนอย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อยนิดยินดีนิพพานอันสูงสุด บางพวกก็ไม่ยินดี ดูก่อนพราหมณ์ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นผู้บอกหนทางให้…”

พระไตรปิฎก (ขุททกนิกาย จูพนิเทศ 30/755/389) กล่าวถึง เป้าหมายของชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงระดับสุดท้ายไว้ 3 ระดับคือ

(1) ทิฏฐธัมมิกัตถะ “เป้าหมายปัจจุบัน” หมายถึง เป้าหมายในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นขั้นต้นคือธรรมดาสามัญ ที่มุ่งหมายกันในโลกนี้ มีทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี ชีวิตคู่ครองที่เป็นสุข เป็นต้น อันเกิดขึ้นด้วยกำลังความเพียร สติปัญญาของตนโดยชอบธรรมและรู้จักปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น ในทางที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขโดยชอบทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

(2) สัมปรายิกัตถะ “เป้าหมายอนาคต” หมายถึง เป้าหมายด้านคุณค่าของชีวิตซึ่งเป็นขั้นล้ำลึกสำหรับชีวิตด้านใน เป็นหลักประกันในอนาคตและภพหน้า คือความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจที่ก้าวหน้าเติบโตใหญ่ขึ้นด้วยคุณธรรม มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ใช้ทิฏฐธัมมิกัตถะในทางที่ชอบธรรม เป็นคุณประโยชน์จนเป็นผู้มีความมั่นใจในความดีของตน ไม่กังวลทุรนทุรายหรือหวาดกลัวภัยในโลกหน้า

(3) ปรมัตถะ “เป้าหมายสูงสุด” หมายถึงเป้าหมายที่เป็นสาระแท้ของชีวิตซึ่งเป็นเป้าหมายขั้นสุดท้ายที่ชีวิตควรเข้าถึง คือ การรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมดาของสังขารธรรม ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต ไม่ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจความยืดติดถือมั่นสามารถทำจิตให้เป็นอิสระ ปลอดโปร่งผ่องใสสะอาดสว่าง สงบ มีความสุข ประณีตภายใน เรียกสั้นๆ ว่านิพพาน

คือดับกิเลสและกองทุกข์ได้