นักวิชาการจีนเตือน ไทยยังเสี่ยงเจอภัยแผ่นดินไหว

เทศมองไทย

 

นักวิชาการจีนเตือน

ไทยยังเสี่ยงเจอภัยแผ่นดินไหว

 

ไทยเราเพิ่งผ่านพ้นวิบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในเมียนมามาเมื่อไม่นานมานี้ ไทยได้รับความสูญเสียไม่ใช่น้อยจากเหตุตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ถล่ม

ส่วนที่เมียนมา สาหัสกว่ามาก ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งเกินกว่า 3,000 คนไปแล้ว และมีทีท่าว่าจะสูญเสียจริงมากมายกว่านั้นมาก

ขณะที่หลายคนพยายามสลัดภาพน่าเศร้าเหล่านั้นออกไป หันไปจดจ่อกับเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง หนังสือพิมพ์ เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ก็เผยแพร่ข้อเขียนออกมาเมื่อ 6 เมษายนที่ผ่านมา

อ้างผลการศึกษาวิจัยของนักวิชาการจีน เตือนว่า ทั้งจีนและเพื่อนบ้านโดยรอบยังเสี่ยงเจอภัยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 8 แมกนิจูดได้อีก

งานวิจัยที่ว่านี้ เป็นของทีมวิจัยจากสำนักงานแผ่นดินไหวปักกิ่ง นำโดย จู หงปิน วิศวกรอาวุโสของสำนักงาน ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาเมื่อ 20 มีนาคมที่ผ่านมา

ก่อนหน้าแผ่นดินไหวใหญ่ที่มัณฑะเลย์เมื่อ 28 มีนาคม เพียงไม่กี่วัน

 

งานวิจัยแผ่นดินไหวชิ้นนี้ค่อนข้างแปลก เพราะตั้งสมมุติฐานไว้ว่า การหมุนของโลกนั้นไม่สม่ำเสมอ มีอาการกระเพื่อมเป็นระยะ ทั้งเร่งเร็วขึ้นแล้วก็ชะลอช้าลง ส่งอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลก และก่อให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ต่อเนื่องกันในบริเวณที่ได้รับอิทธิพลในช่วงนั้นๆ

พวกเขาตรวจสอบข้อมูลแผ่นดินไหวตั้งแต่ปัจจุบันย้อนหลังไปถึงเมื่อ 150 ปีก่อน พบช่วงของการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ต่อเนื่องกันในภูมิภาคนี้ 6 ช่วงด้วยกัน สอดคล้องกับระยะการเกิดอาการกระเพื่อมของการหมุนของโลกดังกล่าว

ช่วงแรก ซึ่งอยู่ระหว่างปี ค.ศ.1897-1912 ทำให้เกิดกลุ่มแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้น 12 ครั้ง ตามแนวรอยเลื่อนในบริเวณที่เรียกว่า แถบแผ่นดินไหว ปามีร์-ไบคาล ทางตะวันออกของเอเชีย

ช่วงปัจจุบัน คือช่วงที่ 6 มีศูนย์กลางอยู่ที่พื้นที่เขตบายัน ฮาร์ ริมขอบของที่ราบสูงทิเบต

โดยจะส่งอิทธิพลต่อการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อให้เกิดการสะสมพลังขึ้นตามแนวรอยเลื่อนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้นในพื้นที่มณฑลเสฉวน ยูนนาน และแถบเทือกเขาหิมาลัย กับรอยเลื่อนอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มณฑลเสฉวนเมื่อปี 2008 ตามแนวรอยเลื่อนหลงเหมินชาน บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของจีนคือตัวอย่างของแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 8 แมกนิจูดที่เกิดขึ้นในช่วงปัจจุบันตามผลการศึกษาวิจัยนี้

ทีมวิจัยระบุว่า แผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 8.2 แมกนิจูด ที่เมียนมา เมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในช่วงที่ 6 นี้ เพราะเกิดขึ้นบนพื้นที่ที่คาดการณ์ไว้แล้วว่า เป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูงที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปเอเชีย ซึ่งรุนแรงมากขึ้นตามอิทธิพลของการหมุนของโลกในช่วงเวลานี้

 

ที่สำคัญก็คือ ทีมวิจัยอ้างข้อมูลจากดาวเทียม ที่แสดงให้เห็นว่า มีเขตรอยแยก (rupture zone) ของแผ่นเปลือกโลก เป็นระยะทาง 500 กิโลเมตร เป็นแนวยาวลงไปทางใต้จนถึงประเทศไทย ที่มีกลไกการเคลื่อนตัวสอดคล้องอยู่กับพลังที่เกิดจากอิทธิพลข้างต้นนี้เช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยยังระบุเอาไว้ว่า “ปัจจุบันนี้ เราอาจยังอยู่ในขั้นแรกสุดของช่วงที่จะเกิดแผ่นดินไหวทรงพลังในแถบนี้”

ซึ่งหมายความว่า ยังคงจะมีแผ่นดินไหวใหญ่เกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้งในอนาคต

รายงานของเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ระบุว่า การที่แผ่นดินไหวใหญ่ในเมียนมา เกิดขึ้นในจุดที่ห่างจากริมขอบด้านตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงทิเบต เพียง 280 กิโลเมตร ทำให้รายงานผลการวิจัยชิ้นนี้ได้รับความสนใจ และได้รับการตรวจสอบเพิ่มขึ้นอย่างมาก

เพราะไม่เพียงเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ทำนายไว้เท่านั้น แนวการเกิดแผ่นดินไหวยังสอดคล้องกับที่งานวิจัยทำนายเอาไว้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวอีกส่วนหนึ่งที่ยังคงกังขากับการเชื่อมโยงแผ่นดินไหวเข้ากับการหมุนของโลกดังกล่าว

โดยชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าการหมุนของโลกเกิดสั่นหรือกระเพื่อมแต่อย่างใด

อีกทั้งสถิติแผ่นดินไหวในปีนี้ รวมแล้วยังตำกว่าสถิติโดยเฉลี่ยในประวัติศาสตร์ ถือว่า เงียบๆ กว่าก่อนหน้านี้ที่ผ่านมาด้วยซ้ำไป

เอาเป็นว่า รับฟังกันไว้พอตื่นตัว ไม่ต้องตื่นตระหนกก็แล้วกันครับ