ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
สงครามภาษีจีน-สหรัฐ
ศึกใหญ่ที่มองไม่เห็นจุดจบ
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการค้าส่วนหนึ่งเชื่อว่า แม้จะมองโดยผิวเผินแล้ว ดูเหมือนว่า โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะประกาศสงครามการค้า โดยใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือกับทุกประเทศทั่วโลก ด้วยหลักการเดียวกันคือ ยึดเอาสัดส่วนที่แต่ละประเทศได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ
แต่เมื่อพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่า มาตรการทางภาษีของทรัมป์ในครั้งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่บังคับใช้กับประเทศในเอเชีย ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี
โดยพุ่งเป้าเพื่อจัดการกับคู่แข่งสำคัญอย่างจีนโดยเฉพาะ
ข้อที่ชวนให้สังเกตก็คือ ในบรรดาประเทศที่ทรัมป์เรียกเก็บภาษีใหม่ในอัตราสูงที่สุด 10 อันดับแรกเมื่อ 2 เมษายนที่ผ่านมานั้น เป็นชาติในเอเชียอยู่มากถึง 5 ชาติ
นอกจากจีน ที่ถูกเรียกเก็บเพิ่มเติมอีก 34 เปอร์เซ็นต์จากเดิมที่เคยเพิ่มขึ้นมาแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์จนอัตราภาษีศุลกากรใหม่ที่สหรัฐจัดเก็บจากจีนสูงถึง 54 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังรวมถึงประเทศอย่างเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ในอัตราภาษีตั้งแต่ 46 เปอร์เซ็นต์ไปจนถึง 49 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย
ลาวกับกัมพูชา ได้ชื่อว่าเป็นชาติที่ยากจนที่สุดในเอเชีย ทั้งสองประเทศล้วนพึ่งพาการลงทุนอย่างหนักจากจีน ในขณะที่เวียดนาม คือประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเมื่อครั้งที่แล้ว เมื่อบริษัทมากมายย้ายฐานการผลิตจากจีนมาปักหลักอยู่ที่นี่ แล้วผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปขายยังสหรัฐอเมริกา หลีกเลี่ยงการตั้งกำแพงภาษีในยุคทรัมป์ 1.0 ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาคือตลาดรองรับสินค้าส่งออกจากเวียดนามที่ใหญ่ที่สุด เวียดนามกลับนำเข้าจากจีนมากที่สุด ในอัตราส่วนสูงถึงกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณที่นำเข้าทั้งหมดไปโดยปริยาย
ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนที่จะประกาศมาตรการทางภาษีครั้งใหม่ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าสั่งซื้อทางออนไลน์จากจีน ที่เดิมจะไม่มีการตรวจสอบหรือจัดเก็บภาษีใดๆ ในกรณีที่ราคาสินค้าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์
การยกเลิกครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อยักษ์อีคอมเมิร์ซจีน อย่าง ชีอิน (Shein) และ เทมู (Temu) ที่ส่งสินค้าออนไลน์สู่สหรัฐอเมริกาภายใต้ข้อยกเว้นนี้ไม่น้อยกว่า 1,400 ล้านครั้งในปีที่ผ่านมา
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ทางการจีนเองคงตระหนักถึงนัยของการ “ปิดล้อม” เพื่อจัดการกับตนเองเช่นนี้ จึงไม่เพียงประกาศขึ้นภาษีสำหรับสินค้าเข้าจากสหรัฐอเมริกาและมาตรการอื่นๆ ออกมาตอบโต้เท่านั้น ยังไม่แสดงทีท่าใดๆ ว่าต้องการเจรจาเพื่อรอมชอมด้วยอีกต่างหาก
เมื่อทรัมป์ขู่ว่า หากยังขืนตอบโต้จะขึ้นภาษีต่อจีนเพิ่มอีก 50 เปอร์เซ็นต์ คำตอบที่ได้รับจากจีนก็คือ “เราจะต่อสู้จนถึงที่สุด”
อันเป็นที่มาที่ทำให้อัตราภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากจีนมายังสหรัฐอเมริกา สูงลิ่วถึง 104 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนนี้เป็นต้นไป
การเผชิญหน้ากันระหว่างสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลกครั้งนี้ สร้างความวิตกกังวลแผ่ซ่านออกไปอย่างใหญ่หลวง ด้วยเหตุที่ว่า ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงเมื่อใด และอย่างไร ในการทำสงครามการค้าระหว่างกันครั้งแรกเมื่อปี 2018 ความขัดแย้งถูกลดระดับลง และถูกดึงลงมาอยู่ภายใต้การควบคุมไม่ให้ลุกลามต่อไป ผ่านการเจรจาระหว่างกัน ซึ่งในครั้งนี้จนถึงขณะนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น
ตรงกันข้าม สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นในเวลานี้ก็คือ เกมการชิงดีชิงเด่นว่าใครทนความเจ็บปวดได้มากกว่า ใครทน “กลืนเลือด” ได้นานกว่ากัน
เศรษฐกิจจีนเผชิญปัญหาสารพัดอยู่ในเวลานี้ ตั้งแต่วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ อัตราว่างงานพุ่งสูง การบริโภคภายในประเทศไม่กระเตื้อง เป็นต้น ภาวะเผชิญหน้าในสงครามภาษีครั้งนี้จะส่งผลให้ทุกอย่างแย่ลง เศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะรายได้จากการส่งออกถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวมาเป็นเวลาช้านาน และยังคงมีความสำคัญสูงอยู่เสมอจนกระทั่งถึงขณะนี้ แม้ว่าทางการจีนจะพยายามเปลี่ยนแปลงอยู่ก็ตามที
แต่ใช่ว่าผลกระทบในทางลบจะเกิดขึ้นเฉพาะกับจีนเท่านั้น สหรัฐอเมริกาก็ต้องเผชิญกับปัญหาไม่น้อย เมื่อปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากจีนรวมแล้วสูงถึง 438,0000 ล้านดอลลาร์ ส่งสินค้าออกไปยังจีน 143,000 ล้านดอลลาร์ จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า สหรัฐจะทดแทนสินค้าที่นำเข้าจากจีนเหล่านั้นจากที่ไหน และจะหาตลาดส่งสินค้าของตนไปขายใหม่ได้อย่างไร หากยังคงสั่งสินค้าเข้าจากจีน ภาษีจะทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น
ซึ่งหมายถึงว่าจะทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกระลอก
นักวิชาการหลายคนเป็นกังวลกันว่า ความขัดแย้งระหว่างสองชาตินี้จะส่งผลไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งโลก ที่จะตกเป็นตลาดสำรองระบายสินค้าของจีนในส่วนที่เหลือเพราะส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาไม่ได้ ในขณะที่ตนเองก็จำเป็นต้องมองหาตลาดทดแทนการปิดกั้นจากสหรัฐอเมริกาอยู่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการตั้งกำแพงภาษีขึ้นตอบโต้กันไปมา
ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในกรณีนี้ก็คือการค้าของทั้งโลกจะทรุดลงอย่างหนัก ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกขึ้นมา
ผู้สันทัดกรณีบางคนคาดหวังว่า สหรัฐอเมริกากับจีนอาจเปิดการเจรจากันลับๆ ขึ้นมาก็เป็นได้
ปัญหาก็คือ จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า จริงๆ แล้วทรัมป์ขึ้นภาษีครั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ ทำให้คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ยากลำบากอย่างยิ่ง
บางคนเชื่อว่าในที่สุดแล้ว ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาหรือจีนก็อาจมีความยับยั้งชั่งใจขึ้นมา แม้ว่าในช่วงแรกจะออกมาตอบโต้กันสุดตัวเพื่อรักษาหน้าก็ตามที
แต่ลึกลงไปในความเป็นจริงแล้ว จีน หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา อาจไม่ต้องการสภาพที่ต่างฝ่ายต่างพังทลายไปด้วยกันเช่นนี้ก็เป็นได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022