วิกฤติศตวรรษที่21 : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลกของปูติน

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (8)

ปูตินเป็นคนที่ไม่พูดอ้อมค้อม แต่เขามักพูดตามที่จะพอเป็นจริงหรือตามศักยภาพของประเทศรัสเซียและตัวเขาจะทำได้ขณะนั้น

คำพูดของปูตินจึงมักได้รับการสนใจ และเป็นที่ยำเกรงมากขึ้นเมื่อสามารถทำได้สำเร็จจนเป็นที่นิยมของชาวรัสเซีย

และนี่ก็ก่อให้เกิดสงครามข่าวสารใหม่ขึ้น ได้แก่ การสร้าง “ลัทธิกลัวรัสเซีย” หรือลัทธิกลัวปูตินขึ้น

คล้ายกับว่าทั้งรัสเซียและปูตินมีอำนาจล้นพ้นที่จะเข้าแทรกแซงการเมืองอย่างมีผลในสหรัฐและประเทศตะวันตกอื่นที่มีสถาบันการเมืองพัฒนาไปมากกว่าประเทศอื่นในโลก

ปูตินได้กล่าวและลงมือกระทำในการขยับเขยื้อนดุลอำนาจโลกใหม่หลายประการได้แก่ อย่างหนึ่งคือเขากล่าวว่า การที่สหรัฐมีเอกสิทธิ์ในการพิมพ์ดอลลาร์ออกมาตามความต้องการ สามารถใช้ความเหนือกว่าของเงินดอลลาร์ในตลาดการเงินโลก เพื่อหาประโยชน์และผลได้ทางการเงินจำนวนมหาศาล รวมทั้งใช้แทรกแซง แซงก์ชั่นเศรษฐกิจ-การเมืองประเทศอื่นตามอำเภอใจ จะต้องยุติลง

(FILES) In this file photo taken on November 11, 2017 US President Donald Trump (L) chats with Russia’s President Vladimir Putin as they attend the APEC Economic Leaders’ Meeting, part of the Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) leaders’ summit in the central Vietnamese city of Danang.
The US special prosecutor investigating Moscow’s meddling in the 2016 presidential election on February 16, 2018 indicted 13 Russians for allegedly running a secret campaign to tilt the vote, prompting claims of vindication from President Donald Trump.The indictment — which includes the first charges laid by special counsel Robert Mueller for election interference — detailed a stunning operation launched in 2014 in a bid to sow social division in the US and influence American politics “including the presidential election of 2016.”
/ AFP PHOTO / SPUTNIK / Mikhail KLIMENTYEV

อีกอย่างหนึ่งที่ปูตินกล่าวก็คือว่า การที่สหรัฐใช้ความเหนือกว่าทางการทหารก่อปฏิบัติการลับ “การปฏิวัติสี” ใช้การเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อเปลี่ยนระบบรัฐบาลประเทศต่างๆ และการปฏิบัติการทางทหารตามอำเภอใจอย่างโจ่งแจ้ง เหล่านี้จำต้องถูกต่อต้าน ถูกฟ้องร้องประจานอย่างจริงจัง

ทั้งสองอย่างข้างต้นนี้ปูตินเห็นว่าผิดทั้งศีลธรรม สามัญสำนึกและกฎหมายระหว่างประเทศ

ปูตินยังชี้ด้วยว่า รัสเซียมีดินแดนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ถือว่าเป็นเขตผลประโยชน์พิเศษของตน ได้แก่ ดินแดนที่เคยร่วมอยู่ในสหภาพโซเวียตมาก่อนที่ติดทะเลบอลติกและทะเลดำซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของรัสเซีย รวมทั้งในบริเวณเอเชียกลางที่ช่วยเชื่อมรัสเซียกับเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก

เขตผลประโยชน์พิเศษของรัสเซียอีกบริเวณหนึ่ง ได้แก่ ยุโรปตะวันออก มีโปแลนด์ เป็นต้น

รัสเซียจะตอบโต้ทุกรูปแบบต่อทุกประเทศที่เข้ามามีอิทธิพลคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย

และอย่างสุดท้ายที่ปูตินชี้ คือภูมิภาคตะวันออกกลางจะต้องเป็นดินแดนเปิด ไม่ใช่อยู่ในอิทธิพลของสหรัฐและตะวันตกโดยลำพัง เปิดให้อำนาจในภูมิภาค ได้แก่ อิหร่าน ตุรกี และอียิปต์ เป็นต้น ขึ้นมามีบทบาทในการร่วมกำหนดชะตากรรมของภูมิภาคนี้

ไม่ใช่มีแต่ประเทศอิราเอลและซาอุดีอาระเบียที่สหรัฐหนุนหลังอยู่

ประเทศใหญ่อื่นอย่างเช่นจีนและอินเดียก็ควรต้องเข้ามามีบทบาทด้วย

จากความชิดใกล้ทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ กล่าวอย่างสั้นก็คือ จะต้องเคลื่อนย้ายระเบียบโลกแบบขั้วอำนาจเดียวที่สหรัฐเป็นแกนสู่โลกหลายขั้วอำนาจ

แต่ปูตินก็ไม่ใช่นักทฤษฎี เขาเป็นนักปฏิบัติ และก็ไม่ได้เป็นนักอุดมคติ

เขาไม่ได้คิดว่าโลกหลายขั้วอำนาจเป็นจุดหมายปลายทาง หรือเป็นโลกในอุดมคติ โลกนี้ยังต้องดำเนินต่อไป

โลกหลายขั้วอำนาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะเปิดทางให้ประชาชาติต่างๆ ทั้งที่ใหญ่ เล็ก และที่มีระดับพัฒนาทางเศรษฐกิจ-สังคมต่างกัน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระเบียบโลกซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัสเซียมีความเข้มแข็งต่อสู้กับระเบียบอำนาจโลกเก่าได้

ปูตินมีชุดการปฏิบัติของเขาชุดหนึ่งซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นลัทธิปูติน ส่วนที่เป็นแกนได้แก่ประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์ ที่ส่งเสริมด้วยการปฏิบัติอื่นอีก

AFP PHOTO / POOL / GRIGORY DUKOR

ประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์

อุดมการณ์ของรัสเซียใหม่

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ได้พาอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล่มสลายไปด้วย

รัสเซียใหม่ต้องสร้างอุดมการณ์ของตนขึ้นมาเองอย่างรวดเร็ว

ในสมัยประธานาธิบดีเยลต์ซิน (ดำรงตำแหน่งสองสมัยจาก 1991 ถึงสิ้นปี 1999) รัสเซียยังอ่อนแอ แตกแยกและระส่ำระสายมาก

ชาวรัสเซียทั้งชายและหญิงต้องดิ้นรนเอาตัวรอด จำนวนไม่น้อยออกไปแสวงโชคในต่างแดนตะวันตก อายุขัยลดลง ซ้ำยังเกิดสงครามแบ่งแยกดินแดนในแคว้นเชชเนียที่ต้องสู้รบ

ภาระนี้จึงตกอยู่ที่ปูตินที่สืบทอดอำนาจต่อมา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2000-2008

ประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์ของปูตินนี้เริ่มต้นจากการปฏิบัติทันทีหลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 2000

ส่วนชื่อนั้นตั้งขึ้นภายหลัง หลังจากปูตินบริหารประเทศจนกระทั่งแนวคิดนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

ผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมาได้แก่ วลาดิสลาฟ เซอร์กอฟ (Vladislav Surkov เกิด 1964) นักการเมืองและนักคิด เป็นที่ปรึกษาทางการเมืองสำคัญคนหนึ่งของปูติน

ประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์ของปูตินมีองค์ประกอบสำคัญสามประการ

ประการแรก ได้แก่ หลักประชาธิปไตย ปูตินกล่าวว่า “ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าระบบเผด็จการทั้งปวง และรัฐบาลแบบรวบอำนาจทั้งหลาย เป็นสิ่งเกิดขึ้นชั่วครู่ แต่ระบอบประชาธิปไตยนั้นยืนยาวกว่า ไม่ว่าประชาธิปไตยจะมีจุดอ่อนอย่างใด มนุษย์ก็ยังไม่สามารถสร้างระบบที่ดีกว่า”

ปูตินยึดหลักประชาธิปไตยค่อนข้างมั่นคง เห็นได้ชัดในหลายกรณี

กรณีแรก เขายืนยันหลายครั้งว่ารัสเซียจะไม่กลับเข้าสู่ระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อีก แต่จะเดินหน้าไปตามหนทางประชาธิปไตยที่เป็นสากล มีการเลือกตั้งทั่วไป เป็นต้น

กรณีต่อมา เขาได้ส่งเสริมเมดเวเดฟ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่านิยมเสรีนิยมตะวันตก ให้ขึ้นมามีอำนาจทางการบริหารเพิ่มขึ้น

เป็นการประกาศทั้งต่อภายในและภายนอกประเทศว่ารัสเซียไม่ได้ทิ้งแนวทางประชาธิปไตย ปิดประเทศ และเป็นอริกับตะวันตก

แต่ขณะเดียวกันรัสเซียก็ต้องการเวลาในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของตน

อีกกรณีหนึ่งก็คือ เมื่อเขาดำรงตำแหน่งสองสมัยตามรัฐธรรมนูญ ปูตินก็ไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญให้สามารถลงสมัครได้อีก เหมือนอย่างที่ผู้นำในหลายประเทศกำลังพัฒนากระทำ

แต่เขากลับเลือกให้เมดเวเดฟลงสมัครเป็นประธานาธิบดี ส่วนเขาลดลงไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ท้ายสุดปูตินลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2018 ในนามผู้สมัครอิสระ ไม่ใช่ในนามพรรคสหรัสเซียที่เขาร่วมก่อตั้งมา เพราะเขามีประสบการณ์ว่าพรรคการเมืองใหญ่ไม่ว่ามีอุดมการณ์สูงเพียงใด อาจเสื่อมถอยไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริงและตอบสนองต่อประชาชน ดังที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย

การสมัครในนามอิสระ คล้ายเป็นการประกาศว่า ถึงที่สุดแล้วรัสเซียเป็นของชาวรัสเซีย

นี่เป็นเนื้อหาหลักของประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์

หลักประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์ข้อสอง ได้แก่ การมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ปูตินกล่าวว่า “เราไม่ต้องการรัฐบาลที่ถูกทำให้อ่อนแอ แต่เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งที่สามารถมีความรับผิดชอบต่อสิทธิของบุคคลและดูแลสังคมทั้งหมดได้”

รัฐบาลที่เข้มแข็งนั้นก่อนอื่นขึ้นอยู่กับ “ความเกรียงไกรทางทหารซึ่งเป็นสิ่งประกันความมั่นคงและความเป็นอิสระของรัสเซีย” ปูตินยังเห็นว่า “กฎหมายระหว่างประเทศประกอบด้วยสองสิ่งคือหลักบูรณภาพเหนือดินแดน และสิทธิการปกครองตนเอง”

หลักประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์ที่สามได้แก่ ความอยู่ดีกินดีและความเข้มแข็งของประชาชนรัสเซีย ปูตินกล่าวว่า “เป้าประสงค์ของเราชัดเจนอย่างที่สุดว่าจะต้องสร้างประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพระดับสูง มีความมั่นคง เสรี และชีวิตที่สะดวกสบาย”

ประชาธิปไตยองค์อธิปัตย์ของรัสเซียจึงครบเครื่องทั้งเรื่องการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การป้องกันอธิปไตยแบบปูติน

การจัดแถวมหาเศรษฐี

หลังการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีไม่นาน ปลายเดือนกรกฎาคม 2000 ปูตินได้เรียกประชุมนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพล 18 คนของรัสเซีย เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ของปูตินในการเซาะรากถอนอิทธิพลของมหาเศรษฐีเหล่านี้ ที่มั่งคั่งอย่างรวดเร็วในช่วงการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจแบบวางแผนมาสู่เศรษฐกิจแบบตลาด

ปูตินแจ้งว่า เวลาแห่งความรื่นเริงทำนองนั้นสิ้นสุดแล้ว และพวกเขาต้องเข้าแถวตามแนวทางของรัฐบาล

รัฐบาลได้ส่งเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นและตั้งข้อหาทางอาชญากรรมแก่มหาเศรษฐีหลายคน ได้แก่ วลาดิมีร์ กูซินสกี้ เจ้าพ่อแห่งสื่อ, วลาร์ดิมีร์ โปตานิน เจ้าพ่อแห่งวงการเงิน, วาจิต อเล็กซเปอรอฟ ประธานบริษัทลุกออยล์, โรมัน อบราโมวิช นายทุนใหญ่แห่งบริษัทน้ำมัน “ซิปเนฟต์” และกวาดล้างนักธุรกิจในเครือข่ายของบอริส เบเรซอฟสกี้ (Boris Berezovsky 1946-2013)

เบเรซอฟสกีลี้ภัยไปอยู่ที่อังกฤษในปลายปี 2000 และได้ตั้งตัวเป็นศัตรูกับปูตินอย่างไม่ลดละ จนกระทั่งเสียชีวิตอย่างปริศนาที่นั่นในปี 2013 ขณะที่ชีวิตประสบมรสุมรุมเร้าหลายประการ

เดือนมกราคม 2001 ปูตินได้พบกับมหาเศรษฐีชั้นนำ 24 คนของรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง ชี้แจงว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะยึดกิจการเอกชนกลับเป็นของรัฐ แต่นักธุรกิจทั้งหลายต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนและประเทศรัสเซียมากขึ้น

สิ่งที่ปูตินปฏิบัติเป็นเหมือนการปฏิวัติเงียบต่อบรรดาเศรษฐีทั้งหลาย เพราะว่าในสมัยเยลต์ซิน รัฐบาลอ่อนแอมาก กับทั้งไม่มีอุดมการณ์ชี้นำ ต้องพึ่งพาบรรดาเศรษฐีเพื่อความอยู่รอดทางการเมือง และการได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอีกครั้ง และคิดว่าปูตินจะทำอย่างที่เยลต์ซินเคยทำ

มหาเศรษฐีรัสเซียที่มีชื่อเสียงและถูกจับกุมดำเนินคดีอีกคนหนึ่งคือ มิคาอิล โคดอร์กอฟสกี (Mikhail Khodorkovsky (1963 ถึงปัจจุบัน) กล่าวกันว่าเขาเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดในรัสเซียในปี 2003 (มีทรัพย์สินราว 15 พันล้านดอลลาร์)

ในปี 2001 เขาสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและการเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็นจีโอ เรียกชื่อว่า “รัสเซียเปิด”

ไม่นานในปี 2003 โคดอร์กอฟสกีถูกจับกุมด้วยข้อหาฉ้อฉล รัฐบาลอายัดทรัพย์เขาจำนวนมาก

ถูกพิพากษาจำคุก ได้รับการอภัยโทษในปี 2013 และเดินทางไปพำนักต่างประเทศ

ในปี 2014 เขาฟื้นการเคลื่อนไหว “รัสเซียเปิด” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง (ดูบทความของ Justin Cowgill ชื่อ The Silent Coup : Putin vs. the Oligarchs ใน nationalvanguard.org 29.05.2012 มีรายละเอียดเน้นการต่อต้านชาวยิวในรัสเซีย แต่ไม่ได้นำมากล่าวถึงในที่นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย คนเชื้อสายยิวในรัสเซียและอิสราเอลเป็นไปอย่างซับซ้อน)

ปูตินกล่าวสรุปว่า “เราต้องการธุรกิจที่เข้าใจความรับผิดชอบทางสังคมของตน ภาระหลักและวัตถุประสงค์สำคัญของธุรกิจไม่ได้อยู่ที่การสร้างรายได้ให้มากเข้าไว้ เกิดความร่ำรวย และโยกย้ายเงินเหล่านี้ไปต่างประเทศ แต่ด้วยการพิจารณาและประเมินค่าว่านักธุรกิจนั้นได้ทำอะไรให้แก่ประเทศชาติและประชาชนบ้าง และเขาและเธอเหล่านั้นร่ำรวยมาได้อย่างไร”

หลังจากการต่อสู้กันยาวนาน สรุปว่ามหาเศรษฐีในรัสเซียก็ยังมีอยู่ จำนวนเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ของรัสเซียเพิ่มขึ้น คล้ายกับในหลายประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่ทั้งหมดเข้าแถวตามรัฐบาล จำนวนหนึ่งโยงใยกับปูติน