‘เล่นโทรศัพท์มือถือ’ ในโรงภาพยนตร์ ‘พฤติกรรมต้องห้าม’ หรือ ‘วิถีสามัญปกติ’ ของโลกร่วมสมัย?

คนมองหนัง
Man eats popcorn during a screening of Polish Parliament session in a cinema in Warsaw, Poland, December 11, 2023. REUTERS/Kuba Stezycki

ในสถานการณ์ที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับสภาวะขาลง เมื่อผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ต่างตีตั๋วเข้าไปชมมหรสพความบันเทิงในโรงหนังน้อยลงเรื่อยๆ ท่ามกลางบริบททางเทคโนโลยีที่แปรผันไปอย่างมหาศาล

เมื่อเร็วๆ นี้ “วิลเลียม เอิร์ล” คอลัมนิสต์ของเว็บไซต์วาไรตี้ได้เขียนบทความที่ทดลองเสนอ “วิธีการใหม่ๆ” ชนิดถอนรากถอนโคน ซึ่งอาจช่วยพลิกฟื้นบรรยากาศให้ผู้ชมรุ่นใหม่ๆ ตัดสินใจเดินกลับเข้าโรงภาพยนตร์เหมือนคนรุ่นก่อนอีกหน

หนึ่งในวิธีการใหม่ดังกล่าว ก็มีความเกี่ยวพันอยู่กับพฤติกรรมการใช้/ติดโทรศัพท์มือถือของคนยุคปัจจุบัน

 

งานเขียนของเอิร์ลอ้างอิงคำสัมภาษณ์ของ “เจสสิก้า การ์เซีย” นักศึกษาจากมิชิแกน ที่บอกว่าจริงๆ แล้ว ตัวเธอเองชอบดูหนัง แต่กลับจำไม่ได้ว่า ครั้งสุดท้ายที่ตนเองตีตั๋วเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่

“ฉันชอบดูอะไรผ่านระบบสตรีมมิ่ง ด้วยการนั่งบนโซฟาโดยมีโทรศัพท์มือถือและขนมขบเคี้ยววางอยู่ข้างๆ แล้วก็พร้อมที่จะอัพเดตความเคลื่อนไหวต่างๆ ใน ‘หน้าจอที่สอง’ อยู่ตลอดเวลา

“ถ้าหนังสตรีมมิ่งในจอโทรทัศน์มีช่วงที่น่าเบื่อ ฉันก็จะหันไปดูอะไรในอินสตาแกรมหรือเล่นติ๊กต็อกแทน จนกว่าเรื่องราวในจอทีวีจะกลับมาสนุกน่าติดตามอีกครั้ง”

นี่คือวิธีคิด ประสบการณ์ และวิถีการบริโภคภาพยนตร์ของหนุ่มสาวอเมริกันรุ่นใหม่จำนวนมาก (ซึ่งไม่แตกต่างจากวัยรุ่นบ้านเรา)

แนวคิดที่ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์พยายามจะดึงคนรุ่นใหม่เข้าไปตีตั๋วดูหนังจอใหญ่ ทั้งๆ ที่คนรุ่นนี้ไม่สามารถจะละวาง-หยุดใช้สมาร์ตโฟนคู่กายเป็นเวลาประมาณสองชั่วโมง แล้วทุ่มเทสมาธิให้กับ “การดูหนังจอเดียว” ได้แน่ๆ ผ่านนโยบายอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือในโรงภาพยนตร์

คือประเด็นที่บรรดาคอภาพยนตร์หรือคนรักหนังพันธุ์แท้ ไม่เห็นด้วย ต่อต้าน และคัดค้านอย่างหนักหน่วง

โดยที่โรงภาพยนตร์บางเครือในสหรัฐถึงกับออกแคมเปญโฆษณารณรงค์ “ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ” ระหว่างดูหนัง

ขณะที่โรงภาพยนตร์อีกเครือหนึ่ง ซึ่งเคยมีแผนจะทดลองเปิดรอบฉายที่อนุญาตให้ผู้ชมสามารถใช้สมาร์ตโฟนในโรงหนังได้เมื่อปี 2016 กลับถูกต่อต้านอย่างหนักในโลกออนไลน์ กระทั่งต้องล้มเลิกแผนการไปในท้ายที่สุด

 

กระนั้นก็ดี จากมุมมองของ “วิลเลียม เอิร์ล” เขาเห็นว่าในสถานการณ์ที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์กำลังต้องการผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาช่วยค้ำยันกิจการของตนเอง บางทีอาจถึงเวลาเหมาะสมแล้วที่สังคมต้องพยายามแสวงหา “พื้นที่ตรงกลาง” ร่วมกัน ให้แก่คนดูหนังที่เติบโตขึ้นมาในยุค “ไอโฟน”

ด้านหนึ่ง ทางโรงภาพยนตร์อาจต้องมีการจัดฉายหนังรอบเฉพาะพิเศษบางรอบ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถดูหนังไป พิมพ์ข้อความในมือถือไปได้

ตัวเลือกลักษณะนี้อาจจะเปิดโอกาสให้คนติดมือถือสามารถเข้ามาใช้เวลาว่างอย่างมีความสุข (กับตัวเอง) ในพื้นที่สาธารณะเช่นโรงหนังได้

ขณะที่นักดูหนังประเภทจริงจังก็สามารถรับรู้ได้ทันทีว่า พวกตนไม่ควรตีตั๋วเข้าไปชมภาพยนตร์ในรอบพิเศษเฉพาะแบบนั้น

อีกหนึ่งตัวเลือก-ข้อเสนอน่าสนใจ คือ การให้โรงภาพยนตร์จัดทำและจัดวาง “ฉากกั้น” (พาร์ติชั่น) ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคที่อยากใช้สมาร์ตโฟนใจจะขาด สามารถตอบสนองความต้องการของตนเอง โดยไม่รบกวนลูกค้ารายอื่นๆ มากจนเกินไป

โดยโรงหนังบางแห่งในสหรัฐได้ทดลองใช้วิธีการเช่นนี้เมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา

นี่เป็นทางเลือกซึ่งบังเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่โรงหนังส่วนใหญ่ในสหรัฐยังต่อสู้ดิ้นรนที่จะ “แยก” ผู้ชมคนดูออกจากเครื่องมือสื่อสารของพวกเขา อย่างน้อยก็ในเวลาราวๆ 100 กว่านาที

แต่ที่หลายคนรู้สึกสงสัยกันก็คือ เจ้าของโรงภาพยนตร์จะยืนกรานเรื่องนี้ไปได้อีกนานสักเท่าไหร่? ในเมื่อโทรศัพท์มือถือ-สมาร์ตโฟนแทบจะกลายสภาพเป็น “อวัยวะที่ 33” ของมนุษย์ในโลกยุคร่วมสมัยไปเรียบร้อยแล้ว •

 

ข้อมูลจาก https://variety.com/2025/film/news/movie-theaters-texting-smoking-weed-1236347824/

 

| คนมองหนัง