ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
ขอแสดงความนับถือ
มีภาพ 2 ภาพ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ ที่อยากนำเสนอ
ภาพหนึ่ง เป็น “ภาพการ์ตูน” โดยฝีมือของ อรุณ วัชระสวัสดิ์
ภาพหนึ่ง เป็น “ภาพถ่าย” โดยฝีมือของ พิชัย แก้ววิชิต
เป็นภาพรับ “วันสงกรานต์ 2568”
แน่นอน สมควรเกี่ยวโยงกับ “ความสนุกสนาน”
แต่แท้จริงแล้ว
สนุกสนานจริงหรือ
อรุณ วัชระสวัสดิ์ ให้ “ปืนฉีดน้ำ” อยู่ในมือตัวการ์ตูน
การ์ตูนที่เป็นเหล่าผู้นำที่โดดเด่นของโลก
ทั้งสหรัฐ รัสเซีย จีน ยูเครน เกาหลีเหนือ และเมียนมา
แน่นอน การ์ตูน “ตัวเอก” ที่โดดเด่นที่สุดในตอนนี้ คือ “โดนัลด์ ทรัมป์”
ที่ฉีด “น้ำร้อน” เข้าใส่ประเทศต่างๆ
ให้ปวดแสบ ปวดร้อนไปทั้งโลก
แน่นอน รวมถึง “ไทย” ด้วย
เป็นไทย ที่ขึ้นชั้นประเทศต้นๆ ของโลก ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสงครามการค้า
และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเราเตรียมตัวรับสถานการณ์สงครามการค้านี้ ได้ “พร้อม” เพียงใด
โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
แน่นอน ที่ถูกจับคู่กันมาก นั่นคือ ไทย กับ เวียดนาม
ประเทศไหนตื่นตัว กระฉับกระเฉง เพื่อรับมือดีกว่ากัน
เชื่อว่า คนไทยหลายๆ คนมีคำตอบ
คำตอบที่ทำให้เรี่ยวแรงที่จะออกไปเล่นน้ำให้สนุกสนาน
กร่อยลงไปอย่างยิ่ง

และยิ่งกร่อยลงไปอีก เมื่อเราเหลือบตามองไปยัง 2 ตัวการ์ตูนของอรุณ วัชระสวัสดิ์
นั่นคือ สี จิ้นผิง และ มิน อ่อง ลาย
เมื่อ “น้ำ” จาก “ปืนฉีดน้ำ” ของผู้นำทั้งสอง
ฉีดกระเซ็นเข้าตาของคนไทยให้แสบและพร่ามัว ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ไทย-จีน-เมียนมา พัวพันอีรุงตุงนัง
ทั้งจากกรณี แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา และอาชญากรรมข้ามชาติ
เรื่อยมาจนกระทั่งกรณีธรณีวิปโยค
โดยเฉพาะตึก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่พังถล่มลงมา
นอกจากทำให้แรงงานไทย และแรงงานเมียนมา ถูกทับจมหายไปหลายสิบชีวิตแล้ว
“ทุนจีน” ในนามของ “บริษัทร่วมค้า” ก็เข้ามาอยู่ในกระแสของความสงสัยและข้องใจ
ในความโปร่งใส และความฉ้อฉล ของการประมูลโครงการต่างๆ ของรัฐไทย ผ่านนอมินี รวมถึงธุรกิจเหล็ก ที่ถูกตั้งข้อสงสัยถึงการไร้คุณภาพ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรม กลางกรุง อันชวนตกตะลึง
พร้อมกับการมาปรากฏตัวของ “มิน อ่อง ลาย” ในประเทศไทย
ท่ามกลางคำถามถึงความเหมาะสม ที่รัฐบาลไทยตัดสินใจเล่นไพ่ใบ “มิน อ่อง ลาย” นี้

นั่นกระมัง จึงทำให้ภาพ “วันสงกรานต์” ที่มองผ่านเลนส์ของ พิชัย แก้ววิชิต ในคอลัมน์ “เอกภาพ”
ถูกถ่ายทอดออกมาในโทนที่หม่น “เทา”
ของคน และชายหาดอันเปลี่ยวเหงา ณ หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี
แม้ “ทราย” บนหาดนั้นจะนำไปสู่ภาพในอดีตอันอบอุ่น
ของ “ผมกับยาย”
“…ที่เททรายออกจากกระป๋องที่เตรียมไว้ ตรงกองทรายพูนที่มีคนเอามาเทรวมกันไว้ก่อนหน้า กองทรายบางกองมองดูเป็นเจดีย์ทราย และอีกมากกองทราย ยังคงใช้จินตนาการมากกว่าตาเห็น
เจดีย์ทรายเล็กๆ ถูกก่อขึ้นด้วยความตั้งใจ ครั้งหนึ่งเม็ดทรายน้อยๆ เหล่านี้ อาจอยู่เพียงใต้ซอกร่องลายของรองเท้าของใครอื่น ไหนเลยจะรู้ว่า สักวันหนึ่งทรายเม็ดเดิมมันอาจย้ายที่อยู่ใหม่ ได้โอกาสกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกองทรายในวันสำคัญ ในวันที่มันจะกลายมาเป็นของเจดีย์ทรายอันวิจิตร เมื่อเวลาของมันมาถึง
เทศกาลสงกรานต์ยังคงผูกเรื่องอยู่กับการเดินทางไปพบครอบครัว หรืออาจท่องเที่ยว และย่อมมีใครอีกที่ยังคงติดธุระไม่สะดวกที่จะไปๆ มาๆ ในช่วงนี้ จะอย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นห่วง เดินทางใกล้ไกลก็ขอให้ปลอดภัยเหมือนเช่นเคยกันครับ
และคงจะไม่ช้าจนเกินไปที่ผมจะขอไว้อาลัยแด่ผู้ที่จากไป
และขอเป็นอีกหนึ่งกำลังให้กับครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงเวลาที่ผ่านมา…”
สงกรานต์ แม้จะเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนาน
เป็นวันแห่งครอบครัว
เป็นวันแห่งผู้สูงอายุ
แต่ในปีนี้ เราคงทำใจและยอมรับสภาพว่า
คงจะผ่านสงกรานต์ และดำเนินชีวิตหลังจากนั้น
อย่างไม่ “เอ็นเตอร์เทน” •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022