จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 11-17 เมษายน 2568 

 

• สงกรานต์

“Water Festival 2025 เทศกาลวิถีน้ำ วิถีไทย”

ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “มหาสงกรานต์ มหาสนุก”

จากพลังความร่วมมือของหลายภาคส่วน

นำโดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร พันธมิตรท่าน้ำ ชุมชนในพื้นที่การจัดงานทุกภูมิภาค เครือข่ายทุกภาคส่วน และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

การจัดงานจัดขึ้นพร้อมกันทั้ง 4 ภาค 6 จังหวัด

ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ จัดที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2568

มีกิจกรรมมงคลตักบาตรโชติกา และพิธีห่มผ้าพระธาตุ เข้าร่วมพิธีสวดสืบชะตาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อัญเชิญพระอัฏฐารสขึ้นขบวนแห่และร่วมขบวนไปยังวัดพระสิงห์

กิจกรรมจุดผางประทีปรอบพระธาตุเจดีย์หลวง กราบสักการะมงคล 10 ประการที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมและการแสดงต่างๆ อาทิ กิจกรรมกาดหมั้วครัวฮอม/กาดสล่า กิจกรรมหุ่นกระบอกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การแสดงศิลปะพื้นบ้านจากชุมชนล้านนาและการแสดงจากเยาวชน เป็นต้น

จังหวัดลำพูน จัดที่ตลาดนัดสงกรานต์ ถนนรถแก้ว วันที่ 12-13 เมษายน 2568

ร่วมสรงน้ำพระพุทธรูปและกาดมั่ว บริเวณถนนรถแก้ว

ชมขบวนของดีเวียงลำพูน ขบวนรณรงค์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในท้องถิ่น ณ ถนนเจริญราษฎร์และถนนอินทยงยศ ตั้งแต่โรงเรียนจักรคำคณาทร ถึงวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร โดยทั้ง 2 จังหวัดได้มีกิจกรรมที่จัดเตรียมให้ผู้เข้าชมงานทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ภาคกลาง จัดที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร บนแลนด์มาร์กที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร, วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร, วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร, เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์, ท่ามหาราช, ท่าสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม, ท่าศาลเจ้ากวนอู (คลองสาน), คลองโอ่งอ่าง-วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร

ปีนี้ยังได้ขยายพื้นที่จัดงานไปยังใจกลางเยาวราช “ไชน่าทาวน์ มาร์เก็ต เฉลิมบุรี”

ภาคใต้ ที่จังหวัดภูเก็ต

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุดรธานี และขอนแก่น

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ Facebook : Water Festival Thailand

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

Water Festival 2025

เทศกาลวิถีน้ำ วิถีไทยลดเสี่ยงระยะยาว

 

สงกรานต์ปีนี้

คนไทยคงสนุกสนานกันได้ไม่เต็มที่

เพราะผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ยังคงอยู่

โดยเฉพาะการกู้ร่างผู้ติดอยู่ในตึก “สตง.” ที่ไม่เสร็จสิ้น

แต่กระนั้น กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์

ทั้ง Water Festival 2025 และกิจกรรมอื่นๆ ทั่วประเทศ

คงต้องขับเคลื่อนต่อไป

ก็ขอให้ สุข-สนุกสนาน กันตามสมควร

เพื่อมีเรี่ยวแรงเผชิญ “สงคราม”

ทั้งสงครามภัยพิบัติ สงครามการค้า

และสงครามการเมือง

• สงคราม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ขอแสดงความกังวลต่อการที่รัฐบาลไทยเปิดประเทศต้อนรับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมบิมสเทค (BIMSTEC) ที่กรุงเทพฯ

เพราะการให้พื้นที่กับผู้นำรัฐประหารในเมียนมา เป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาคมโลก

นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 กองทัพเมียนมาได้สังหารประชาชนกว่า 6,000 คน

ควบคุมตัวบุคคลโดยพลการกว่า 20,000 คน

รื้อฟื้นการประหารชีวิตตามคำสั่งศาลอีกครั้งหนึ่ง

มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 3.5 ล้านคน

กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังได้บันทึกข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ที่ถูกกองทัพควบคุมตัว การโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย และการปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งอาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม

โดยขณะที่ มิน อ่อง ลาย เดินทางมาที่ประเทศไทย สถานการณ์ในเมียนยังมีการละเมิดเรื่องสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568

กองทัพเมียนมายังเดินหน้าโจมตีทางอากาศและโจมตีรูปแบบอื่นๆ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

รวมถึงพบการขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ที่เป็นทางผ่านที่ตั้งของกลุ่มผู้เห็นต่างจากกองทัพเมียนมา

หลายพื้นที่ประชาชนขาดแคลนน้ำดื่ม อาหาร ที่พักอาศัย ยารักษาโรค และไฟฟ้า

ชาวบ้านบางส่วนต้องใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กแทน

ในขณะที่คนอีกจำนวนมากต้องอาศัยนอนอยู่ริมถนนโดยใช้เสื่อ ผ้าใบ และกางมุ้งกันยุงหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว

การเปิดเวทีระหว่างประเทศให้กับ มิน อ่อง ลาย ที่มีหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และศาลอาร์เจนตินา ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการเนรเทศและการประหัตประหารชาวโรฮิงญาในเมียนมาและบางส่วนในบังกลาเทศ เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

การที่รัฐบาลไทยให้พื้นที่ผู้นำกองทัพเมียนมา มาร่วมงานการประชุมสุดยอดผู้นำ BIMSTEC

อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์กับประชาคมโลกโดยเฉพาะกับประเทศที่ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน ทำลายกระบวนการยุติธรรมสากลและหลักนิติธรรมระหว่างประเทศโดยรวม

และการที่ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC)

ประเทศไทยจึงมีหน้าที่ต้องปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง

บัญชา ลีลาเกื้อกูล

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย

 

หวังว่า เมื่อรัฐบาลไทย

ตัดสินใจให้พื้นที่ มิน อ่อง ลาย

คงเตรียมการรับผลกระทบที่เกิดขึ้น

อย่างรอบด้าน ทั้งบวกและลบ

ไม่ใช่ ทำไป แก้ไป

แบบไม่ได้เตรียมการ หรือแบบครบถ้วน

อย่างการขับเคลื่อนเรื่องต่างประเทศ และความมั่นคงในหลายๆ เรื่อง

ที่ออก “ทะเล” ไปไกลอย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อเลือกจะ “ไต่ลวด”

ก็ควรต้องพร้อม!?! •