ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
เมื่อ ผบ.ทบ.ไม่อยากเป็น ‘บิ๊ก’
‘ผบ.ปู’ สไตล์
เงียบ แต่เด็ดขาด
จับตาโผ พลิกเกมอำนาจ ทบ.
3 นายพล เจน Y ลุ้นชิง คุม ทบ.
ตั้งแต่รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มาเป็นเวลา 6 เดือน บิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ยังคงหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และไม่มีการแถลงหลังรับตำแหน่ง เช่นอดีต ผบ.ทบ.ที่ผ่านมา
โดยมาเปลี่ยนแปลงในยุคบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ เป็น ผบ.ทบ. ที่ไม่มีการแถลงหลังรับตำแหน่ง มาถึงยุค พล.อ.พนา ก็ไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการเช่นกัน
ตัวตนของ พล.อ.พนานั้นเป็นคนพูดน้อย และไม่ชอบออกสื่ออยู่แล้ว ตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จนมาเป็น ผบ.ทบ. ยังคงหลีกเลี่ยงการออกสื่อ หรือการให้สัมภาษณ์ เพราะเกรงว่าสื่อจะถามเรื่องที่เชื่อมโยงกับทางการเมือง
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา พล.อ.พนาได้เคยพบปะนักข่าวสายทหารแบบนอกรอบมาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อพูดคุยแนวทางการทำงาน และความตั้งใจในการทำงาน โดยขอเป็นภายใน ไม่ออกสื่อออกข่าว
แต่ก็ยังไม่เคยให้สัมภาษณ์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ แม้แต่ในเรื่องชายแดนไทย-เมียนมา ไทย-กัมพูชา และชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นภารกิจ ทบ.โดยตรง
ซึ่งก็มีรายงานว่า พล.อ.พนาได้ปรารภกับนายทหารที่ใกล้ชิด ในเรื่องการเสนอข่าวของสื่อ โดยเฉพาะในเรื่องสรรพนามคำเรียกชื่อว่า บิ๊กปู นั้น พล.อ. พนาไม่ปรารถนาที่จะให้สื่อพาดหัว หรือเรียกว่าบิ๊กปู แต่หากเป็นไปได้ ให้เรียก “ผบ.ปู” เท่านั้นพอ
เพราะปัจจุบัน สื่อเรียกบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด ว่า “ผบ.อ๊อบ” เป็นส่วนใหญ่ เพราะ พล.อ.ทรงวิทย์ขอสื่อตั้งแต่แรกๆ ที่ขึ้นมาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ตอนเป็น ผบ.ทบ. ก็เคยขอสื่อเช่นนี้มาแล้ว แต่ก็ได้รับความร่วมมือเล็กน้อย เพราะส่วนใหญ่จะติดปากเรียกกันว่า บิ๊กต่อ ไปแล้ว เพราะมันกลายเป็นคำเรียกภาษาสื่อไปแล้ว

ท่ามกลางการจับตามองการตัดสินใจต่างๆ ของ พล.อ.พนา ในการจัดโผโยกย้ายระดับต่างๆ ทั้งนายพล ผู้การกรม และผู้บังคับกองพัน
โดยโผนายพลเมษายน พล.อ.พนาได้ใช้อำนาจเต็มมือ และกล้าที่จะใช้อำนาจในฐานะ ผบ.ทบ.โผแรก ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดวางตัวเพื่อนร่วมรุ่น ตท.26 ลงตำแหน่งที่ว่างลง
เช่น เจ้ากรมปู พล.ท.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ จากเจ้ากรมยุทธการทหารบก ขยับเป็น รอง เสธ.ทบ. เพื่อขึ้นพลเอก เป็น เสธ.ทบ.คู่ใจ ในโยกย้ายตุลาคมนี้
และขยับ พล.ท.วัชรินทร์ มุทะสินธุ์ เพื่อนร่วมรุ่นจากในกรุ มาเป็น ผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.)
นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์ เช่น เสธ.โอม พล.ท.ธิติพันธ์ ฐานะจาโร (ตท.27) ที่เป็นครอบครัว จปร.9 ด้วยกัน ข้ามจากทัพไทย กลับ ทบ.มาเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ. โดยที่บิ๊กเหวียง พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีต ผบ.ทบ. เป็นเพื่อน จปร.9 กับ พล.อ.ปรีชา แคล้วปลอดทุกข์ บิดาของ พล.อ.พนา และน่าจับตามอง เพราะเกษียณกันยายน 2571 เลยทีเดียว
ทำให้คาดว่า ในการโยกย้ายกันยายนนี้ โผนายพล คาดว่า พล.อ.พนาจะขยับเพื่อน ตท.26 ลงในตำแหน่งแม่ทัพภาค เช่น พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ที่คาดว่า ตท.26 จะขึ้นมาแทน เช่น พล.ต.นรธิป โพยนอก และ พล.ต.ธีระยุทธ รักษ์ศิลป์ รองแม่ทัพภาคที่ 2
เพราะตอนนี้ พล.ท.กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ (ตท.23) แม่ทัพภาคที่ 3 จะเกษียณ การที่ พล.อ.พนาส่ง พล.ต.วรเทพ บุญญะ เพื่อน ตท.26 มาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 ที่จะมาชิงแม่ทัพภาคที่ 3 กับ พล.ต.ชายแดน กฤษณสุวรรณ รองแม่ทัพภาคที่ 3 จาก ตท.27
ส่วน พล.ท.ณรงค์ฤทธิ์ คีมภีระ ตท.26 คาดว่าจะเป็น ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) ต่ออีก 1 ปี เพราะเกษียณ 2571
ส่วนการจัดโผโยกย้ายระดับพันเอกพิเศษ หรือผู้บังคับการกรม ที่ พล.อ.พนาแต่งตั้ง ตั้งแต่โผแรก 232 นาย เมื่อตุลาคม 2567 โผแรกหลังรับตำแหน่ง ผบ.ทบ.ใหม่ ที่มีการย้ายใหญ่ไปแล้ว โดยเฉพาะ รอง ผบ.พล-ผู้การกรม ในกองพลคอแดง ทั้ง พล.1 รอ. และ พล.ร.2 รอ. และกองพลทหารคอเขียว พล.ร.9 และ พล.ร.11 ของกองทัพภาคที่ 1 ถือว่า พล.อ.พนาได้ใช้อำนาจ ผบ.ทบ.ครั้งแรก
ต่อมาในการโยกย้าย 91 พันเอกพิเศษ ที่เป็นอีกโอกาสหนึ่งในการจัดวางขุมกำลังได้อีกครั้ง แต่ พล.อ.พนาก็เลือกที่จะไม่ขยับอะไรมากนัก
แต่โยกย้ายนายพล กันยายน 2568 การจัดทัพของ พล.อ.พนา จะชัดเจนว่า เลือกวางตัวใครไว้บ้าง โดยเฉพาะตำแหน่งคุมกำลังในกองทัพภาคที่ 1 กองทัพคอแดง ทัพเดียวของ ทบ. ใน ฉก.ทม.รอ.904
คนที่กำลังถูกจับตามองคนหนึ่งคือ นายทหารที่ประกบนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เวลาตรวจแถวทหาร กองเกียรติยศผสม 3 เหล่าทัพ Guard of Honour ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง คือ ผบ.ด้วง พล.ต.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ผบ.มทบ.11 ที่มีความสมาร์ต เป๊ะ ตามแบบทหารคอแดง
ด้วยเพราะเหตุที่กำลังหลักของตรวจแถวทหาร กองเกียรติยศผสม 3 เหล่าทัพ คือ กองพันทหาาราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (พัน ร. มทบ.11) ซึ่งเป็นหน่วยขึ้นตรงของ ผบ.มทบ.11 นั่นเอง
โดยที่ ผบ.มทบ.11 จะทำหน้าที่ ผบ.หน่วยทหารกองเกียรติยศ สำหรับเชิญนายกรัฐมนตรีตรวจแถวทหารฯ ที่มีการรายงานตัวเป็นภาษาอังกฤษ
พล.ต.ยอดอาวุธ ถือเป็นหนึ่งในนายทหารรุ่นใหม่ของ ทบ. ที่ถูกจับตามองว่าอนาคตจะเป็นแคนดิเดตชิงแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ. ของเตรียมทหารรุ่น 31 นายร้อย จปร.42 และมีอายุราชการถึงกันยายน 2575
และยังเป็นนายทหารสายคอมแมนด์ เพราะเติบโตในหน่วยรบมาตลอด ตั้งแต่เป็นทหารหน่วยพลร่มส่งทางอากาศของกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) กรมหมวกแดง RDF (Rapid Deployment Force) หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วของ ทบ.
ตั้งแต่ ร.31 พัน 1 รอ.ในยุคนั้น มีบิ๊กโชย พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ที่ตอนนั้นเป็น ผบ.พัน.ร.31 พัน รอ. จนเติบโตเป็น ผบ.ร.31 พัน 2 รอ. และถือว่าไม่ธรรมดา เพราะได้เป็นผู้บังคับกองพันถึง 2 กองพัน โดยยังได้มาเป็น ผบ.ร.31 พัน 3 รอ. กองพัน RDF ด้วย
จนได้รับมอบหมายให้ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จ.ชายแดนภาคใต้ ในหน่วยเฉพาะกิจ 14 (ฉก.14) ที่มีบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในเวลานั้น เป็นรอง ผบ.ร.11 รอ. ในฐานะ ผบ.ฉก.14 ดูแลพื้นที่ จ.ยะลา โดยมีบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ จาก ร.31 รอ. เป็นรอง ผบ.ฉก.14 และ พล.ต.ยอดอาวุธ เป็น เสธ.ฉก.14
จนกลายเป็นทีมเวิร์กที่ร่วมเสี่ยงดงระเบิดมาด้วยกัน

ต่อมาเมื่อ พล.อ.อภิรัชต์เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จึงได้ดึงตัว พล.ต.ยอดอาวุธมาเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ อยู่จนขึ้นเป็น ผบ.ทบ.
เมื่อครั้งที่ พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ. และลงไปเยี่ยมฐานทหารเก่าที่ จ.ยะลา ก็ได้พา พล.ต.ยอดอาวุธลงไปด้วย โดยได้ไปพบชาวบ้านที่เคยรู้จักกันในเวลานั้น และดูพื้นที่เดิมที่เคยอยู่กันมา
ด้วยความที่เป็นนายทหารสายคอมแมนด์ ลักษณะดี และมีสายเลือดทหาร ในฐานะลูกชายของ พล.อ.เลิศ พึ่งพักตร์ แกนนำนายทหาร จปร.5 จึงขึ้นชื่อว่าเป็น ผบ.หน่วยที่ดูแลลูกน้อง แต่เป็นนายทหารมาดสุขุม พูดน้อย และเป็นนายทหารแฟมิลี่แมน จนที่สุด จึงได้กลับหน่วยได้ขึ้นเป็น ผบ.ร.31 รอ. ก่อนขึ้นเป็นรอง ผบ.พล.1 รอ. และเป็นพลตรีในตำแหน่ง ผบ.มทบ.11 ตั้งแต่ปี 2565
ท่ามกลางการถูกจับตามองว่า จะได้ย้ายระนาบกลับมาเป็น ผบ.พล.1 รอ. แต่ก็ต้องหลบทางให้รุ่นพี่ ตท.28 ผบ.แอ้ม พล.ต.ณัฐเดช จันทรางศุ ที่ขึ้นจากรอง ผบ.พล.1 รอ. และต่อด้วย ผบ.ลาภ พล.ต.สิทธิพร จุลปานะ รุ่นพี่ ตท.30

แต่ในการโยกย้ายกันยายน 2567 ชื่อของ พล.ต.ยอดอาวุธ จ่อที่จะขยับมาเป็น ผบ.พล.1 รอ. แต่ที่สุด ในยุคที่บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. กำลังจะเกษียณ ได้จัดโผส่งท้าย และสั่นสะเทือนทหารคอแดง จนกลายเป็นโยกย้ายระดับตำนาน ทบ.นั้น ก็ดึง ผบ.ซัน พล.ต.กิตติ ประพิตรไพศาล ขึ้นมาเป็น ผบ.พล.1 รอ. ที่เรียกว่ามาแบบม้ามืด แถมทั้งเป็น ตท.31 รุ่นเดียวกับ พล.ต.ยอดอาวุธด้วย
นั่นหมายถึงว่า พล.ต.ยอดอาวุธ รอที่จะขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. มาถึง 3 ปี 3 ผบ.พล. ด้วยเพราะเติบโตมาจาก พล.1 รอ.มาตั้งแต่ต้น และเป็นทหารคอแดง ไลน์ก็ต้องเป็น ผบ.พล.1 รอ. กองพลคอแดง มากกว่าที่จะไปเป็น ผบ.กองพลทหารคอเขียว ที่ไม่เคยอยู่มา จนกลายเป็น ผบ.มทบ.11 ที่อยู่ในตำแหน่งนานถึง 3 ปี
อาจกล่าวได้ว่า พล.ต.ยอดอาวุธ เสียจังหวะในการเติบโตไปถึง 3 ปี เพราะหากโยกย้ายตุลาคม 2568 นี้ กลับมาเป็น ผบ.พล.1 รอ.อีกครั้ง แม้จะได้โปรไฟล์คอมแมนเดอร์ แต่จะช้าเมื่อเทียบกับแคนดิเดตคนอื่นๆ ที่เกษียณ 2575 ด้วยกัน ที่กำลังจะขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 กันในโผกันยายน 2568 นี้กันแล้ว
ดังนั้น จึงต้องรอดูการจัดวางตัวขุนพล เพื่อให้เติบโตเป็นผู้นำกองทัพบกต่อไปในอนาคต ของ พล.อ.พนา ว่าใน 3 ปีของการเป็น ผบ.ทบ. จะตัดสินใจอย่างไร
เพราะ พล.ต.ยอดอาวุธ ก็ถือว่าเติบโตมากับ พล.อ.พนา ใน ร.31 รอ. และเคยไปปฏิบัติหน้าที่รักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก กับ พล.อ.พนา ที่ในเวลานั้นเป็น ผบ.ร.31 รอ.มาด้วย

หากมองแคนดิเดตในเจเนอเรชั่นเดียวกัน ที่เติบโตไล่ๆ กันมา และเกษียณ 2575 พร้อมกัน ก็ถือว่ามีคู่แคนดิเดตหลายคน เช่น ผบ.เอิร์ธ พล.ต.อินทนนท์ รัตนกาฬ ตท.31 เช่นกัน ผบ.พล.รบพิเศษ ที่ 1 อดีตทหารคอแดง ที่เป็นทหารรบพิเศษหมวกแดง อดีตนายทหารคนสนิทบิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี สมัยที่เป็น ผบ.นสศ. และ ผบ.ทบ. และเป็นสายเลือดทหาร ลูกชาย พล.อ.อ.ประเสริฐ รัตนกาฬ
ที่เวลานี้ พล.ต.อินทนนท์ปรับบทบาทจากนายทหารสายเหยี่ยว สายบู๊ ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในสายพิราบ เป็น ผบ.ฉก.สันติสุข ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และถือว่าเข้าไลน์เส้นทางสู่การเป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) หรือแม่ทัพภาคที่ 5 สู่ 5 เสือ ทบ. และชิง ผบ.ทบ.
นอกจากนั้น ยังมี ผบ.เบญ พล.ต.เบญจพล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผบ.พล.ร.2 รอ. ที่ยังคงสถานะการเป็นทหารคอแดง เพราะเป็นหน่วยคุมกำลังของกองทัพภาคที่ 1 และเป็นหน่วยที่ขึ้นกับ ฉก.ทม.รอ.904 ฉก.คอแดง ของ ทบ.ด้วย
พล.ต.เบญจพลเป็นแกนนำ ตท.32 แต่เกษียณ 2575 พร้อมกับรุ่นพี่ ด้วยความที่เป็นทหารเสือราชินี เติบโตมาจาก ร.31 รอ. จึงถูกจัดให้เป็นนายทหารเสือราชินี และกองพลบูรพาพยัคฆ์คอแดง ที่เติบโตมาทุกตำแหน่ง จนเป็นผู้พัน และผู้การกรม
และถือเป็นนายทหารเสือฯ ที่มีแบ๊กอัพไม่ธรรมดา เพราะเป็นหน่วยต้นกำเนิดของพี่น้อง 3 ป. โดยเฉพาะบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีต ผบ.ทบ. ที่ยังคงเปี่ยมบารมี และยังเป็นสายเลือดทหาร ในฐานะลูกชายของ พล.อ.พรชัย เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 และอดีต ผช.ผบ.ทบ.
หาก พล.ต.เบญจพลขึ้นถึงเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 ก็จะถือว่าเทียบเท่าบิดา

กล่าวได้ว่า นายทหารยังเติร์กของ ทบ.ในระลอกนี้ ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพ ล้วนเป็นดาวเด่น มีความสามารถ ลักษณะดี แถมมีแบ๊กที่ไม่ธรรมดากันทั้งสิ้น ที่บรรดาแบ๊กอัพคงจะต้องวัดพลังกันเอง
โดยจะได้เห็นทิศทาง ทบ.ในโยกย้ายกันยายน 2568 นี้แล้ว ตั้งแต่การเลือกแม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่ ที่จะผลัดใบจาก ตท.27 สู่ ตท.38 และการวางตัวระดับรองแม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองพลคอแดง ในกองทัพภาคที่ 1 ที่จะผลัดใบจาก ตท.28 ไปสู่ ตท.31-32 ที่ล้วนมีนัยสำคัญ
และหากยิ่งไม่เปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 1 หากให้แม่ทัพใหญ่ พล.ท.อมฤต บุญสุยา น้องรักสายทหารเสือฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.เจริญชัย นั่งต่ออีก 1 ปี ยิ่งมีนัยสำคัญยิ่งกว่า
ถึงขั้นเป็นการพลิกเกมแผนต่อท่ออำนาจเลยทีเดียว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022