ผู้ร่วมชะตากรรม | เรื่องสั้น : มีนา ฟ้าศุกร์

เรื่องสั้น | มีนา ฟ้าศุกร์

ผู้ร่วมชะตากรรม

 

มันเป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้าย ก่อนที่ผมจะเดินเข้าโรงรับจำนำที่อยู่ตรงหน้า สร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาทพร้อมพระเลี่ยมทององค์เล็กๆ ที่อยู่ในกำมือชุ่มชื้นไปด้วยเหงื่อ ก่อนที่ผมจะก้าวเข้าประตูโรงรับจำนำ ผมแกะพระเลี่ยมทองที่ติดอยู่กับสร้อยทองของแม่ออกหย่อนไว้ในกระเป๋าเสื้อ ผมขอเก็บไว้กับตัว เพื่อเป็นตัวแทนของแม่ ในขณะที่สร้อยทองต้องมานอนค้างอ้างแรมอยู่ที่นี่นานหลายเดือน

นี่มันเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต และมันก็เป็นครั้งแรกที่ผมจะเข้าโรงรับจำนำ

ผมมองสร้อยคอทองคำที่อยู่ในมือนั้นอีกครั้ง ภาพใบหน้าของแม่ผุดพรายขึ้นมาในห้วงนึก ยินเสียงของแม่เรียก ตอนที่ผมกำลังจะก้าวขึ้นรถโดยสารประจำทางมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ

“เก็บสร้อยทองเส้นนี้ไว้นะลูก เผื่อลูกมีความจำเป็นต้องใช้” แม่ยื่นสร้อยทองใส่มือผม

ผมจำได้ว่าสร้อยทองเส้นนี้ เป็นสร้อยที่แม่ชอบใส่เวลาไปทำบุญที่วัดในวันพระ วันสำคัญทางศาสนา งานบวช งานแต่งงานของคนในหมู่บ้าน แม่เคยเล่าให้ฟังว่าสร้อยเส้นนี้เป็นสร้อยที่พ่อใช้เป็นสินสอด สมัยที่พ่อขอแม่แต่งงานเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ราคาทองคำสมัยนั้นบาทละไม่กี่ร้อยบาท ผมรู้ว่าแม่รักสร้อยเส้นนี้มาก จึงปฏิเสธที่จะรับไว้ตอนที่แม่พยายามยื่นใส่มือผม

“ไม่เอาหรอกครับแม่ เก็บเอาไว้ใส่ไปทำบุญเถอะครับ”

แม่ยังคะยั้นคะยอยื่นสร้อยทองในมือคืนให้ผม แม่คงคิดและตั้งใจไว้นานแล้ว ตอนที่นั่งคุยกันในวงกินข้าวเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน

“ผมจะเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ นะครับพ่อ ขืนอยู่บ้านเราคงอดตายแน่ๆ” ผมบอกพ่อที่นั่งอยู่ตรงหน้าผม

“ลูกจะไปทำไม นาบ้านเราก็มีทำ” พ่อพูดทัดทานด้วยน้ำเสียงเศร้าไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของผม

“นาก็แล้ง น้ำท่าก็ไม่มี แถมราคาข้าวตอนนี้ก็ขายได้ไม่กี่บาท สู้ผมไปหางานทำที่กรุงเทพฯ ดีกว่า”

ผมบอกเหตุผลในการตัดสินใจให้พ่อฟัง พ่อนั่งนิ่งเหมือนไม่ได้ยินสิ่งที่ผมพูด เมื่อเห็นว่าไม่สามารถทัดทานหรือเปลี่ยนใจลูกคนนี้ได้ พ่อไม่ได้พูดอะไรอีก

“ลูกจะไปอยู่กรุงเทพฯ จริงๆ เหรอ” แม่ที่นั่งอยู่ข้างๆ พ่อ ถามผมด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ไม่ต่างไปจากพ่อ

“ผมตัดสินใจแล้วครับแม่” เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งของผม

 

หลังจากที่ผมจากบ้านมา นับถึงเวลานี้เข้าปีที่ห้า มีครอบครัว มีภรรยาอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่มีลูกไว้เชยชม

แล้วเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตก็เกิดขึ้น เมื่อรู้ข่าวว่าภรรยามีอาการผิดปกติที่หน้าอก ผมพาภรรยาไปโรงพยาบาล ผลตรวจออกมาบอกว่าเธอเป็นมะเร็งเต้านม เธอพยายามรักษาอยู่หลายเดือน เงินเดือนพนักงานบริษัทของผมหมดไปกับการรักษา จนตอนนี้เงินในบัญชีผมเหลือไม่กี่พัน สุดท้ายการรักษามาจบลงที่ภรรยาต้องตัดเต้านมออกหนึ่งข้าง วันนี้เป็นวันที่ผมจะต้องเอาเงินไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลสองหมื่นห้า ก่อนที่จะพาเธอกลับไปพักฟื้นที่บ้าน

ถ้าแม่เป็นนักพยากรณ์ แม่คงคาดเดาถูกตอนที่ยื่นสร้อยทองใส่มือผมคราวนั้น พร้อมกับคำพูดที่ว่า “เผื่อลูกมีความจำเป็นต้องใช้” ตอนนี้ผมมีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ อย่างที่แม่เคยบอก

“ผมขอเอาสร้อยของแม่ไปจำนำนะครับ”

ผมพูดขออนุญาตแม่อยู่ในใจ มันเป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายจริงๆ เพราะมองไม่เห็นทางว่าจะเอาเงินจากไหนไปเป็นค่ารักษาภรรยา อย่างน้อยสร้อยทองที่ผมกำลังจะเอามาจำนำ น่าจะได้เงินสักสามหมื่น นั่นก็เพียงพอสำหรับค่ารักษาพยาบาล แถมยังเหลืออีกตั้งห้าพันไว้ใช้จ่าย

ด้านหน้าและประตูโรงรับจำนำเป็นกระจกใส ถ้ามองจากภายนอกจะเห็นภายในอย่างชัดเจน ผมเคยเห็นโรงรับจำนำสมัยก่อนสร้างแบบปิดทึบ ประตูทางเข้ามีม่านบังตา เหตุผลคงป้องกันสายตาจากภายนอก เผื่อลูกค้าที่นำของมาจำนำไม่อยากให้ใครเห็น เกรงจะเกิดความอายที่เดินเข้าโรงรับจำนำ ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว บางแห่งรวมทั้งที่นี่ด้วยที่เป็นกระจกใส เมื่อถึงเวลาจำเป็นคงไม่มีใครอายที่ต้องเดินเข้าโรงรับจำนำ

ผมก้าวผ่านประตูโรงรับจำนำเข้ามา ภายในเย็นฉ่ำด้วยแอร์คอนดิชั่น เม็ดเหงื่อที่ผุดพรายอยู่ภายในร่มผ้าแทบระเหยหายไปหมด ผมเดินไปที่ช่องกระจกที่มีเจ้าหน้าที่ผู้ชายนั่งอยู่ ยื่นสร้อยคอทองคำในมือให้เขา เขาวางสร้อยทองบนเครื่องชั่งน้ำหนักแบบดิจิทัล หันหน้ามาถามว่าจะจำนำเท่าไหร่ เมื่อเห็นว่าผมทำท่าอึกอักๆ เขาจึงยื่นข้อเสนอราคาสร้อยทองคำเส้นนี้ ซึ่งมันก็ตรงกับใจผมพอดี

“ได้สามหมื่นนะพี่”

“สามหมื่นก็สามหมื่นครับ” แทบไม่ต้องเสียเวลาตัดสินใจ ผมพูดย้ำราคาที่เขาเสนอ ส่งสายตาบอกความพึงพอใจในราคาที่ตั้งใจไว้แต่แรก

ผมเดินออกจากโรงรับจำนำ พร้อมกับเงินจำนวนสามหมื่นในกระเป๋าสตางค์ พับตั๋วจำนำไว้ในอีกช่องหนึ่งของกระเป๋าสตางค์ ยืนเก้ๆ กังๆ รอเรียกรถแท็กซี่อยู่หน้าโรงรับจำนำเพื่อไปโรงพยาบาล อากาศข้างนอกร้อนเหมือนนั่งอยู่บนเตาไฟ เปลวแดดเต้นยิบๆ อยู่บนพื้นถนนเบื้องหน้า อากาศต่างกันลิบลับกับภายในโรงรับจำนำ

รถแท็กซี่วิ่งผ่านไปหลายคันเพราะมีผู้โดยสาร จนผมเห็นรถแท็กซี่ที่ขับเข้ามาใกล้ๆ ป้ายไฟภายในรถบอกว่า “ว่าง” จึงโบกมือเรียกให้จอด เมื่อรถแท็กซี่จอดสนิทจึงเปิดประตูด้านข้างคนขับ บอกจุดหมายปลายทางที่จะไป เมื่อขึ้นไปนั่งข้างคนขับ เป็นชายวัยประมาณหกสิบ รูปร่างผอมบาง แก้มตอบ ผมสีเงินสลับดำทั้งศีรษะ แต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีน้ำทะเล กางเกงขายาวสีเข้ม ดูสะอาดตา เมื่อรถแล่นออกไปไม่ไกล แกก็เริ่มต้นบทสนทนา

“ไปเยี่ยมใครหรือครับคุณ” ลุงถามผมอย่างสุภาพ สายตายังมองไปถนนเบื้องหน้า

“อ๋อ ไม่ได้ไปเยี่ยมใครหรอกครับลุง ไปรับภรรยากลับบ้านครับ” ผมบอกไปตามความจริง ลุงคนขับยังถามต่อ

“ภรรยาป่วยหรือเป็นอะไรครับ”

“ป่วยครับนอนโรงพยาบาลหลายวันแล้ว วันนี้จะไปรับกลับ”

ผมหันไปตอบ แกกำลังจะอ้าปากถามอีกครั้ง แต่เสียงโทรศัพท์ของแกที่วางไว้ในช่องใส่ของ ใกล้กระปุกเกียร์ก็ดังขึ้น แกสัมผัสหน้าจอกดรับก่อนที่จะคุยกับปลายสายที่โทร.เข้ามา

“ชัยเหรอลูก ตอนนี้แม่อยู่ที่วัดแล้วใช่ไหมลูก”

“………….”

“พ่อกำลังจะไปที่วัด แต่เดี๋ยวพ่อไปส่งผู้โดยสารก่อนนะลูก พอดีพี่เขาจะไปโรงพยาบาล ทางผ่านที่จะไปวัดพอดี แค่นี้ก่อนนะลูก”

ลุงคนขับสนทนากับปลายสายด้วยด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ซึ่งผมพอจะเดาเรื่องที่แกสนทนาอยู่เมื่อครู่ได้ จึงเป็นฝ่ายชวนลุงคุยบ้าง หลังจากการสนทนาทางโทรศัพท์จบลง

“ภรรยาลุงเป็นอะไรเหรอครับ ขอโทษนะครับที่แอบฟังลุงคุยเมื่อครู่นี้” ผมหันไปถามลุง ลุงนิ่งไปชั่วขณะก่อนที่จะเอ่ยขึ้น

“พอดีแฟนผมเพิ่งเสียที่โรงพยาบาลเมื่อเช้า ผมให้ลูกชายช่วยจัดการเรื่องศพแม่เขาที่โรงพยาบาล และให้รถโรงพยาบาลมาส่งที่วัด ตอนนี้แม่เขาถึงวัดแล้วครับ” น้ำเสียงของลุงสั่นเครือ ฟังดูเศร้าสร้อย จนผมอดสงสารแกไม่ได้

“ขอโทษนะครับลุง ภรรยาลุงเป็นอะไรถึงเสียครับ” ไม่แน่ใจว่าลุงจะคิดว่าผมละลาบละล้วงถามเรื่องส่วนตัวของแกหรือเปล่าไม่รู้ เมื่อเห็นว่าลุงตอบคำถามผมจึงเบาใจ

“แฟนลุงเป็นมะเร็งเต้านมครับ สามเดือนก่อนเพิ่งตัดนมทิ้งไป แต่ไม่คิดว่าจะมีอาการแทรกซ้อนกำเริบจนตาย”

เมื่อลุงบอกว่าภรรยาของแกก็เป็นมะเร็งเต้านม เหมือนหัวใจของผมหล่นวูบไปอยู่เบื้องล่าง ไม่คิดว่าจะเป็นโรคเดียวกับที่ภรรยาผมเป็น ต่างกันตรงที่คนหนึ่งเพิ่งตายไป แต่อีกคนหนึ่งยังมีลมหายใจอยู่

“เสียใจด้วยนะครับลุง”

ผมไม่ได้บอกว่าภรรยาก็เป็นโรคเดียวกันกับภรรยาของลุง เพราะแทนที่แกจะใจเสีย ผมเสียอีกที่ไม่อยากพูดถึง แต่ประโยคที่ทำให้ผมนิ่งอึ้งไปชั่วขณะ เมื่อลุงเล่าเรื่องราวของแกต่อ เหมือนอยากระบายความทุกข์ท้อที่อยู่ในใจให้ฟัง

“ขอบคุณมากนะครับ ก่อนที่จะขับรถมาถึงหน้าโรงรับจำนำที่คุณรอเรียกแท็กซี่อยู่ ผมแวะไปที่มูลนิธิกู้ภัยแห่งหนึ่ง ที่อยู่ไม่ไกลจากนี่ ไปขอรับบริจาคโลงศพให้แฟนผมครับ แต่มันติดปัญหาว่าที่นั่นเขามีแต่โลงศพแบบธรรมดา แฟนผมตัวใหญ่คงใส่ไม่ได้”

“แล้วอย่างนี้ลุงจะทำยังไงครับ” ผมถามด้วยความเป็นห่วง ยังไม่ทันที่ลุงจะตอบคำถาม โทรศัพท์ของแกก็ดังขึ้นอีกครั้ง ลุงหยิบโทรศัพท์ที่วางไว้ตรงที่เดิม สัมผัสหน้าจอรับสาย

“ว่ายังไงชัย ตอนนี้พ่อใกล้จะถึงวัดแล้วลูก เดี๋ยวพ่อแวะส่งผู้โดยสารที่โรงพยาบาลก่อน”

“……………”

“ว่ายังไงนะลูก โลงศพที่จะใส่แม่ เท่าไหร่นะลูก”

“…………..”

“โห!!! ตั้งห้าพัน ตอนนี้พ่อมีเงินติดตัวไม่กี่บาท เดี๋ยวค่อยไปคุยกันที่วัดนะลูก แค่นี้ก่อนนะ”

 

จบการสนทนาตอบโต้กันระหว่างลุงคนขับรถแท็กซี่กับลูก แกวางโทรศัพท์ไว้ที่เดิม ผมเห็นสีหน้าของลุงดูเคร่งเครียดกับประโยคที่สนทนากับลูกแกเมื่อสักครู่ เหมือนพายุถาโถมเข้ามาใส่แกอีกระลอก ผมนึกถึงสภาพร่างไร้วิญญาณภรรยาของลุง ที่นอนรอโลงศพที่จะบรรจุร่างแล้วพาเศร้าใจไปด้วย คนที่ไม่มีเงินจะคิดจะทำอะไรก็คงลำบาก

“ผมโทร.บอกลูกตั้งแต่ตอนที่ออกมาจากมูลนิธิว่าโลงศพไม่ได้ เลยบอกให้ลูกลองไปถามร้านขายโลงศพใกล้ๆ วัด ว่าโลงศพแบบที่จะใส่แฟนผมราคาประมาณเท่าไหร่ ลูกบอกราคาตั้งห้าพัน ผมจะหยิบยืมใครตอนนี้ก็จนปัญญา ไม่รู้จะทำยังไง จะกู้เงินนอกระบบก็ดอกเบี้ยมหาโหด”

ลุงเล่าลำดับเหตุการณ์ เหมือนระบายความทุกข์ให้ผมฟัง น้ำเสียงฟังดูสิ้นหวัง สิ้นหนทาง ผมหวนนึกถึงตัวเอง ที่เผชิญปัญหาไม่ต่างไปจากลุง จะเรียกว่าหัวอกเดียวกันคงไม่ผิด ยังดีที่มีสร้อยทองของแม่ ที่ให้มาเมื่อสี่ปีที่แล้ว เวลานี้สร้อยทองเส้นนั้น กลายสภาพเป็นเงินสดอยู่ในกระเป๋าสตางค์ ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวผมคงจะผ่านไปด้วยดีจากสร้อยทองของแม่

รถแท็กซี่ที่ผมนั่งมาตั้งแต่หน้าโรงรับจำนำ ตอนนี้ใกล้จะถึงจุดหมายปลายทาง ผมตบกระเป๋าสตางค์ที่อยู่ในกระเป๋ากางเกงเบาๆ ก่อนที่จะล้วงออกมาเตรียมจ่ายค่าโดยสาร เมื่อรถมาจอดอยู่หน้าโรงพยาบาล ผมนับเงินในกระเป๋าสตางค์ ยื่นให้ลุงเป็นค่าโดยสาร

“ค่ารถแค่ร้อยห้าสิบครับคุณ คุณให้เกินมาตั้งเยอะแยะ” ลุงทำหน้าแปลกใจ ยื่นเงินที่เกินส่งคืนให้ผม

“เก็บไว้เถอะครับลุง ให้ผมได้ช่วยลุงนะครับ ผมพอมี” ผมดันมือลุงที่พยายามยื่นเงินส่งคืน

“ไม่เป็นไรครับคุณ รบกวนคุณเปล่าๆ อีกอย่างคุณกับผมก็ไม่ได้รู้จักหรือเป็นญาติกันสักหน่อย คุณจะมาช่วยผมทำไม” ลุงคนขับแท็กซี่ยังปฏิเสธ ซ้ำยังถามหาเหตุผลในการที่ผมได้ช่วยเหลือ

“รับไว้เถอะครับลุง ผมอยากช่วยลุงจริงๆ”

เมื่อเห็นว่าผมคะยั้นคะยอ ท่าทีลุงอ่อนลง ผมเพิ่งเห็นแววตาของแกที่ทอประกายแห่งความหวัง จากไมตรีที่ผมหยิบยื่นให้ แกกำเงินด้วยมือสั่นเทา ขอบตาของลุงเริ่มรื้นไปด้วยน้ำตา

“ผมรับไว้ก็ได้ครับ ขอบคุณคุณจริงๆ ที่มีน้ำใจช่วยผม คุณช่วยเขียนชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ใส่กระดาษให้ผมหน่อยได้ไหมครับ ไว้ผมมีเงินผมจะส่งคืนให้คุณ”

ผมหยิบปากกาในกระเป๋าเสื้อ กับเศษกระดาษในกระเป๋าสตางค์เขียนชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ตามที่แกต้องการ ก่อนยื่นให้ลุง แกรับมันไว้ในมือ ก่อนที่จะคว้าสองมือของผมไปบีบ เหมือนแสดงความขอบคุณอีกครั้ง ผมเพิ่งเห็นรอยยิ้มแรกของลุง

 

ก่อนที่ผมจะลงจากรถ ลุงคนขับถอดสร้อยพระที่ทำจากเชือกร่มออกจากคอ มีพระเหรียญและพระที่ทำจากเนื้อดินรวม 3 องค์ เลี่ยมองค์พระด้วยกรอบพลาสติก ยื่นส่งให้

“ผมฝากสร้อยพระไว้ที่คุณนะครับ เป็นพระที่เป็นมรดกตกทอดจากพ่อของผม ผมรักและหวงมาก ไว้ผมมีเงินคืนคุณ ผมจะมาขอสร้อยพระคืนนะครับ”

ลุงคงกลัวผมไม่เชื่อว่าจะได้เงินคืน เลยเอาสร้อยพระมาเป็นหลักประกัน ตอนแรกผมลังเลที่จะรับไว้ แต่ไม่อาจปฏิเสธคำขอร้องของลุงได้

ผมลงจากรถมายืนอยู่บนฟุตปาธ แม้ว่าอากาศภายนอกจะร้อน แต่หัวใจผมกลับสดชื่น ที่ได้ช่วยลุงคนขับแท็กซี่ หวังว่าเงินที่ผมให้ลุงไปคงช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ที่แกเผชิญอยู่ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี

อย่างน้อยผมยังเหลือเงินอยู่อีกสองหมื่นห้า พอไปจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลของภรรยาผมได้ ไม่คิดว่าสร้อยทองที่แม่ให้มา จะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ให้ผ่านพ้นไปได้ตั้งสองครอบครัว คำพูดประโยคนั้นของแม่ยังก้องอยู่ในหูจนถึงวินาทีนี้

“เก็บสร้อยทองเส้นนี้ไว้นะลูก เผื่อลูกมีความจำเป็นต้องใช้”

“ใช่ครับแม่ อย่างน้อยผมยังได้ช่วยคนที่มีความจำเป็นมากกว่าผม ด้วยสร้อยทองของแม่”

ผมได้แต่ขอบคุณแม่อยู่ในใจ

ตอนนี้ผมใส่สร้อยพระของลุงคนขับแท็กซี่ แทนสร้อยพระของแม่ที่ไปอยู่ในโรงรับจำนำ รอเวลาและโอกาสที่จะไถ่ถอนออกมา ซึ่งเมื่อไหร่ไม่รู้ •