ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | Technical Time-Out |
เผยแพร่ |
หลังจากรัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีนำเข้าของประเทศต่างๆ เมื่อต้นเดือนเมษายน ก็กลายเป็นแรงกระเพื่อมที่สั่นสะเทือนทุกภาคส่วน และอาจนำไปสู่สงครามการค้าในระดับโลก
สำหรับโลกกีฬา มองเผินๆ อาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความที่ภาคธุรกิจเข้ามาเกี่ยวเนื่องกับกีฬาอย่างแยกไม่ออกในปัจจุบัน มาตรการเพดานภาษีนำเข้าของสหรัฐย่อมกระทบกระเทือนวงการกีฬาทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
คีแรน แม็กไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจฟุตบอล แสดงทัศนะกับสำนักข่าว บีบีซี โดยยกตัวอย่างสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีครอบครัว เกลเซอร์ นักธุรกิจชาวอเมริกันเป็นเจ้าของ ว่า ปัจจุบันแมนฯ ยูมีเงินกู้ 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (21,450 ล้านบาท) จากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสโมสรจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก
หากมาตรการภาษีของทรัมป์มีผลเชิงบวกจนทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งตัว เท่ากับว่ามูลค่าเงินกู้ของแมนฯ ยูก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และย่อมส่งผลกระทบกับการคำนวณกำไรขาดทุนของสโมสร
จากที่ปัจจุบันแมนฯ ยูก็พยายามรัดเข็มขัดอย่างหนักไม่ให้ทีมทำผิดกฎผลกำไรและความยั่งยืนของพรีเมียร์ลีกอยู่แล้ว
ไม่ใช่แค่แมนฯ ยูเท่านั้น หลายๆ สโมสรฟุตบอลหรือทีมกีฬาที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกัน ก็คงต้องเจอกับผลกระทบที่ไม่แตกต่างกันนัก
พออัตราแลกเปลี่ยนได้รับผลกระทบ ก็ย่อมส่งผลกับเรื่องสปอนเซอร์อีเวนต์กีฬาต่างๆ ไปด้วย
หลังจากนี้ สหรัฐอเมริกามีคิวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับโลกถึง 2 รายการต่อเนื่อง คือ ฟุตบอลโลก 2026 ที่เป็นเจ้าภาพร่วมกับแคนาดากับเม็กซิโก และ โอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่นครลอสแองเจลิส
จอห์น เซราฟา นักยุทธศาสตร์การลงทุนในอีเวนต์กีฬา เชื่อว่า สปอนเซอร์บางรายโดยเฉพาะแบรนด์ต่างชาติอาจจะต้องทบทวนหนักขึ้นในการเข้าไปสนับสนุนอีเวนต์กีฬาในสหรัฐ
โดยเฉพาะสปอนเซอร์จากชาติที่โดนเก็บภาษีหนัก ย่อมเกิดคำถามว่าจะไปลงทุนเป็นหลักหลายล้านดอลลาร์เพื่อโฆษณาที่นั่นทำไม ถ้าสินค้าโดนขวางไม่ให้ขาย (เพราะกำแพงภาษี)?
ขณะที่ กาบริเอล ซาน มิเกล นักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของสเปน ชี้ว่าการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจะทำให้มูลค่าการซ่อมสร้างสนามกีฬาต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกับทีมกีฬาในยุโรปที่เลือกสั่งเหล็กจากสหรัฐอเมริกา
สโมสรฟุตบอลในลีกยุโรปที่มีแผนซ่อมสร้างสนามอยู่อาจต้องปรับแผนกันวุ่นวาย หาไม่แล้วงบประมาณที่ใช้ก็อาจบานปลายได้

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศรอบข้างที่อาจจะตึงเครียดขึ้นเพราะมาตรการภาษีของทรัมป์ ก็อาจทำให้บรรยากาศการเป็นเจ้าภาพร่วมหรือบรรยากาศการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ที่แน่ๆ การประกาศกร้าวของทรัมป์แบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมก็ทำให้หลายชาติไม่พอใจ จนอาจทำให้แฟนกีฬาชาติอื่นยิ่งมองทีมกีฬาฝั่งมะกันเป็น “ตัวร้าย” โดยสื่อต่างจับตาการแข่งขันกอล์ฟประเพณี ไรเดอร์คัพ 2025 ที่นิวยอร์ก ปลายเดือนกันยายนนี้ ว่าจะทำให้อารมณ์ร่วมของกองเชียร์และนักกอล์ฟพีกยิ่งกว่าเดิมหรือไม่
ไหนจะการเป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลกกับทั้งเม็กซิโกที่ทรัมป์อยากก่อกำแพงกั้น และแคนาดาที่ทรัมป์พร้อมอ้าแขนรับเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐอีก!?!
ข้างฝั่งชาวอเมริกันเองก็ใช่ว่าจะไม่กระทบ ที่เห็นชัดๆ คือราคาสินค้าในหมวดอุปกรณ์และเครื่องแต่งกายชุดกีฬาจะเพิ่มสูงขึ้นสำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกันอย่างไม่ต้องสงสัย
เนื่องจากปัจจุบัน แบรนด์สินค้าอุปกรณ์กีฬาเจ้าใหญ่มักมีฐานการผลิตอยู่ในฝั่งเอเชีย ทั้งกัมพูชา เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย ซึ่งโดนภาษี 49, 46, 34 และ 32 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
ไม่สำคัญว่าสินค้านั้นๆ จะเป็นของแบรนด์ประเทศไหนหรือแม้แต่แบรนด์ใหญ่ของสหรัฐอย่าง ไนกี้ เอง เพราะเมื่ออุปกรณ์กีฬา โดยเฉพาะเสื้อผ้า รองเท้า ที่ผลิตจากกลุ่มประเทศเอเชียเหล่านี้ผ่านศุลกากรเข้าสหรัฐเมื่อไร ก็จะต้องถูกเก็บภาษีตามเรตที่ประกาศออกมาทันที นั่นหมายความว่าราคาสินค้าก็จะต้องสูงขึ้นตามไปด้วย
จากรายงานประจำปีของไนกี้เมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เวียดนามเป็นฐานการผลิตรองเท้าใหญ่สุดของแบรนด์ มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด รองลงมาคืออินโดนีเซีย 27 เปอร์เซ็นต์ และจีน 18 เปอร์เซ็นต์
ส่วนประเทศที่เป็นฐานการผลิตชุดแข่งอันดับท็อป 3 ของไนกี้ คือ เวียดนาม, จีน, กัมพูชา คิดเป็น 28, 16 และ 15 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อปี 2018 ทรัมป์เคยออกมาตรการเก็บภาษีจากจีน ทำให้อุตสาหกรรมหลายเจ้าของสหรัฐย้ายฐานการผลิตมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเวียดนามเป็นเป้าหมายหลัก แต่กับมาตรการภาษีใหม่ในครั้งนี้ กล่าวได้ว่าไม่มีช่องทางให้ดิ้นหนีได้อีก
ถึงกระนั้น ผู้เชี่ยวชาญอย่างแม็กไกวร์ก็เชื่อว่ามูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้เป็นตัวเลขที่สูงมากนัก โดยอาจเพิ่มเป็นหลักหน่วยในสกุลดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าจะเป็นหลักสิบหรือหลักร้อย
โดยสรุปแล้ว นักวิเคราะห์ต่างเห็นตรงกันว่า มาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์จะส่งผลกับวงการกีฬาโลกในแง่การลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขณะเดียวกันก็ต้องจับตามองมาตรการตอบโต้ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่อาจทำให้สงครามการค้าโลกคุกรุ่นยิ่งขึ้น
ซึ่งอาจหมายถึงการพลิกโฉมวงการกีฬาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไปด้วยเช่นกัน! •
Technical Time-Out | SearchSri
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022