ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | เขย่าสนาม |
เผยแพร่ |
เด็กหนุ่มที่หลงใหลในการวิ่งเล่นที่สนามในโรงเรียน สู่การพัฒนากลายนักวิ่งที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย รวมถึงเป็นคนแรกที่ก้าวเข้าสู่รอบรองชนะเลิศในเวทีระดับโลกอย่าง โอลิมปิกเกมส์ ได้
“เทพบิว” ภูริพล บุญสอน หนุ่มนักวิ่งความหวังของวงการกรีฑาไทย ผู้ฉายแววความเก่งตั้งแต่ยังอายุน้อย ทุบ สถิติประเทศไทย ด้วยเวลา 10.19 วินาที ได้ตั้งแต่อายุแค่ 16 ปีเท่านั้น และปัจจุบันเป็นเจ้าของสถิติประเทศไทย ทั้งระยะ 100 เมตร (10.06 วินาที) และ 200 เมตร (20.19 วินาที)
ภูริพลคว้ารางวัลมาอย่างมากมาย ทั้งการคว้า 3 ทอง ซีเกมส์ ที่เวียดนาม จนถึงการคว้าเหรียญเงินใน เอเชี่ยนเกมส์ 2022 ที่ประเทศจีน ซึ่งรอบชิงชนะเลิศ วิ่งได้ 10.02 วินาที ด้วยซ้ำ แต่ไม่ถูกบันทึกสถิติเนื่องจากมีแรงลมเกินกฎที่ระบุไว้
นอกจากนี้ เทพบิวยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกรีฑาไทยคนแรกที่ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรชาย ในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ด้วยสถิติ 10.13 วินาที แม้จะไม่ถึงฝันในการเข้าเป็น 8 คนสุดท้ายในรอบชิงชนะเลิศ
แต่แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับหนุ่มลมกรดวัยเพียง 19 ปีเท่านั้น
“เทพบิว” กลายเป็นความหวังของคนไทย ที่อยากจะเห็นนักวิ่งไทย ผ่าน กำแพง 10 วินาที ด้วยการทำสถิติวิ่ง 100 เมตรในหลัก 9 วินาทีให้ได้
ถึงแม้ว่าภูริพลจะถูกยกย่องให้เป็นนักวิ่งระดับพรสวรรค์คนหนึ่งของโลก แต่สิ่งที่ฉุดรั้งเขาเอาไว้มันคือเรื่องของ “การสนับสนุน” รวมถึง “แผนงานระยะยาว” ที่ทำให้พัฒนาการของเขาชะงักลงไป
เพราะหลังจากจบ ม.6 จาก โรงเรียนอัสสัมชัญ สมุทรปราการ เรื่องเส้นทางอนาคตของภูริพลก็กลายเป็นคำถามอยู่นานนับปี
เบื้องต้น เจ้าตัวได้รับการติดต่อจาก “ไนกี้” สปอร์ตแบรนด์ชื่อดังระดับโลก ที่เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนให้ภูริพลในช่วงที่ผ่านมา ให้ได้เข้าไปเรียนต่อยัง มหาวิทยาลัยออริกอน ที่ตั้งอยู่ในเมืองยูจีน รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม การจะเดินทางไปของภูริพล ค่อนข้างประสบปัญหาหลายอย่าง ทั้งเรื่องของกำแพงด้านภาษา ที่ทำให้เจ้าตัวสอบไม่ผ่านในครั้งแรก
รวมถึงยังมีผู้เสนอทางเลือกอื่น อย่างเช่น การมุ่งหน้าสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ ด้วยการเซ็นสัญญากับ โกลบอลสปอร์ตคอมมูนิเคชั่น บริษัทผลิตนักกรีฑาชื่อดังจาก ประเทศเนเธอร์แลนด์
ด้วยความที่เส้นทางมันไม่ชัดเจน ทำให้ภูริพลต้องใช้เวลาในช่วงหลายเดือนนี้ไปกับการ “รอ” โดยไม่มีแผนการฝึกซ้อมระยะยาวที่ชัดเจน แม้ว่าทางโกลบอลสปอร์ตคอมมูนิเคชั่น จะมีการส่งตัวภูริพล ไปเข้าแคมป์ฝึกซ้อมที่ อิตาลี กับ แอฟริกาใต้ มา แต่มันก็เป็นเพียงระยะสั้น ทำให้นักกีฬาขาดความต่อเนื่อง รวมถึงขาดการแข่งขันในระดับสูง
แค่เวลาไม่กี่เดือน ก็ทำให้ฝีเท้าและสถิติต่างๆ ของภูริพลตกลงมาอย่างชัดเจน

ยังนับว่าโชคดีที่อย่างน้อย แม้ว่าภูริพลจะเสียเวลาไปค่อนข้างนานกับการรอคอยโอกาสไปศึกษาต่อที่สหรัฐ แต่สุดท้ายเจ้าตัวเลือกปฏิเสธที่จะเซ็นสัญญาอาชีพกับโกลบอลสปอร์ตคอมมูนิเคชั่น ที่จะทำให้เขาหมดโอกาสในการไปศึกษาต่อที่สหรัฐทันที
นับว่าเป็นเรื่องดีที่ภูริพลมองเห็นการพัฒนาของตัวเองในระยะยาว ที่จะได้พัฒนาทั้งทักษะกีฬาและการเติบโตทางวิชาชีพควบคู่กันไป มากกว่าที่จะกระโดดเข้าสู่วงการอาชีพ
จนตอนนี้เจ้าตัวได้ออกเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อไปศึกษาด้านภาษาเพิ่มเติม เพื่อทำการสอบเข้ามหาวิทยาลัยออริกอนให้ได้ โดยมีไนกี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญในการติดต่อให้ภูริพลได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา รวมถึงเข้ามาให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศึกษาด้านภาษานี้อย่างเต็มที่ จนถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยออริกอนต่อไป
นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างที่เรียนรู้ด้านภาษา ภูริพลจะได้รับโอกาสเข้าไปร่วมฝึกซ้อมกับ ทีมออริกอน ดักส์ แทร็ก แอนด์ ฟิลด์ ทีมกรีฑาประจำมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาฝีเท้าของตัวเองไปพร้อมๆ กัน โดยมี เคอร์ติส เทย์เลอร์ โค้ชด้านสปรินต์เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกันยังมีพี่เลี้ยงอย่าง คีริน ตันติเวทย์ นักกรีฑาระยะไกลทีมชาติไทย ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ที่ปัจจุบันเป็นนักกีฬาอาชีพของทีมโบเวอร์แมน แทร็ก คลับ ซึ่งเป็นสโมสรวิ่งที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งอยู่ในเมืองยูจีนเช่นกัน
สําหรับมหาวิทยาลัยออริกอนนั้น เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านกรีฑา และการพัฒนานักวิ่ง ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับอาชีพ มีจุดเด่นคือมีสนามระดับตำนานอย่าง เฮย์วาร์ด ฟิลด์ ที่ถูกยกย่องว่าเป็นลู่วิ่งที่ดีที่สุดในสหรัฐ เคยผ่านการจัดการแข่งขันรายการใหญ่ เช่น กรีฑาชิงแชมป์โลก 2022, ยูเอส โอลิมปิก ไทอัลส์ และยังมีชิงแชมป์ระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐ (NCAA) อีกหลายสมัย
ซึ่งมหาวิทยาลัยออริกอนมีระบบการพัฒนานักกรีฑาแบบครบวงจร ทั้งการฝึกซ้อมของนักกรีฑาที่มีทั้งด้านฟิตเนส, ความเร็ว, เทคนิค และโภชนาการ รวมถึงการใช้ระบบ Performance lab กับเครื่องมือการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยพัฒนานักกีฬาให้เหมือนเป็นนักกีฬาอาชีพตั้งแต่แรกเริ่ม
แน่นอนว่าการไปครั้งนี้ของภูริพล อย่างน้อยในช่วง 6-7 เดือนที่เขาต้องศึกษาด้านภาษาให้ผ่านเข้ามหาวิทยาลัยออริกอนนั้น เขาก็จะได้ร่วมฝึกกับนักวิ่งระดับหัวกะทิจากทั่วโลก, มีโปรแกรมการฝึกซ้อมที่ออกแบบมาเฉพาะตัว และได้ลงแข่งขันรายการใหญ่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ผลักดันให้เขาก้าวไปสู่นักวิ่งระดับโลกอย่างที่ฝันเอาไว้ได้
แม้ว่าการออกเดินทางไปสหรัฐ มันจะล่าช้าไปสักหน่อย แต่เมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว ก็นับเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า
เพื่อฝัน 100 เมตรใน 9 วินาที-รอบชิงโอลิมปิกเกมส์ อย่างที่ตัวเขาและคนไทยฝันเอาไว้ •
เขย่าสนาม | Stivie Toon
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022