ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน
Instagram : @sueching
Facebook.com/JitsupaChin
วิกฤต AI
เมื่อ Apple ไม่ทำตามสัญญา
กลางปี 2024 Apple ประกาศเปิดตัวปัญญาประดิษฐ์ของตัวเองในชื่อ Apple Intelligence ที่ย่อออกมาได้เป็น AI เหมือนกัน แต่เป็น AI ในแบบฉบับของ Apple เอง
โดยได้โฆษณาความสามารถอันเก่งกาจของมันเอาไว้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยอย่าง Siri ที่เก่งขึ้นจนผิดหูผิดตา หรือความสามารถในการช่วยเขียน ช่วยเรียบเรียง ช่วยปรับแต่ง และสร้างภาพใหม่ๆ ให้ผู้ใช้งานได้ในแบบที่ Gen AI เก่งๆ พึงทำได้
โดยรวมก็คือ จะทำให้ประสบการณ์การใช้อุปกรณ์ของ Apple อย่างเช่น iPhone เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Apple ได้สงวนความเฉลียวฉลาดแบบประดิษฐ์นี้เอาไว้ให้กับดีไวซ์รุ่นใหม่ๆ เท่านั้น อย่าง iPhone ก็มีเฉพาะ iPhone 16 และ 16 Pro กับ iPhone ในรุ่น Pro เท่านั้น
ทำให้ใครก็ตามที่อยากใช้ความสามารถ AI นี้จะต้องยอมควักกระเป๋าซื้อรุ่นที่ใหม่และแพงขึ้น
เวลาผ่านมาเกือบหนึ่งปี เรื่องราวพลิกผันจากที่ Apple คาดหวัง เพราะ Apple ไม่สามารถพัฒนา Apple Intelligence ได้ทันเวลาและเก่งได้เท่ากับที่โฆษณาเอาไว้
ทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐรวมตัวฟ้อง Apple ในข้อหาโฆษณาเกินจริง
ที่ผ่านมา AI ของ Apple สามารถทำบางอย่างได้สำเร็จแล้ว อย่างเช่น การช่วยเขียน ช่วยเรียบเรียง ลบส่วนที่ไม่ต้องการออกจากภาพ หรือสร้างอีโมจิใหม่ๆ สร้างภาพแนวแอนิเมชั่นให้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งความสามารถที่ทำได้นี้ถือว่าแบเบาะมากๆ เมื่อเทียบกับสิ่งที่ Apple สัญญาเอาไว้ และเมื่อเทียบกับที่ค่ายคู่แข่งอื่นๆ ทำได้ไปแล้ว
สิ่งที่ Apple ไม่สามารถทำตามสัญญาได้ทันก็อย่างเช่น AI ที่จะฝังอยู่ในเครื่องของเรา เรียนรู้ความเป็นตัวเรา บริบทในชีวิตเรา ทำให้เราสั่งการ AI ในเครื่องได้ราวกับมีเลขาฯ ส่วนตัวที่รู้จักเราเป็นอย่างดีอยู่ด้วยตลอดเวลา
หรือความสามารถในการเข้าใจสิ่งที่อยู่บนจอ เช่น หากเราเคยคุยแชตกับคุณแม่เอาไว้ว่าจะต้องไปรับคุณแม่ที่สนามบิน แต่นึกไม่ออกว่าวันไหน เวลาไหน เราก็แค่บอกให้ Siri ไปช่วยคุ้ยแชตให้หน่อย ซึ่ง Siri ก็จะกลับไปค้นหาข้อความที่คุยกันไว้และดึงเอาสาระสำคัญมาเตือนเราได้
Apple โฆษณาเอาไว้แม้กระทั่งว่าหากเราเห็นคนที่หน้าตาคุ้นๆ แต่นึกไม่ออกว่าชื่ออะไรเดินปรี่จะเข้ามาทัก เราสามารถหยิบ iPhone ขึ้นมาถามได้ว่าคนที่เราประชุมด้วยเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วชื่ออะไรแล้วนะ Siri ก็จะรีบไปดึงปฏิทินออกมาเพื่อกระซิบบอกเรา ให้เราสามารถพูดชื่อเขาได้ทันท่วงทีแบบไม่ต้องขายหน้า
ไปจนถึงความสามารถของ Siri ที่จะช่วยให้เราทำงานข้ามสลับไปมาระหว่างแอพพ์หนึ่งไปอีกแอพพ์หนึ่งได้แบบไร้รอยต่อ
ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นความสามารถของ Apple Intelligence ที่ผู้ใช้งานตื่นเต้นและเฝ้ารอ และสำหรับหลายๆ คนมันอาจจะเป็นตัวตัดสินว่าจะซื้อ iPhone รุ่นไหน จะยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้รองรับความสามารถเหล่านี้หรือเปล่า
ดังนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเวลาผ่านไปแต่ยังไร้เงาของฟีเจอร์ที่ว่า ผู้บริโภคก็เริ่มจะโกรธขึ้งมากขึ้นทุกทีๆ
Apple ออกมาพูดว่าน่าจะต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดกว่าจะทำให้ฟีเจอร์เหล่านี้เสร็จสมบูรณ์ได้ซึ่งก็น่าจะพร้อมให้ใช้ได้ในปีถัดไป
หากเป็นแบบที่ว่าจริง ผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อรุ่นใหม่เพราะอยากลองใช้ฟีเจอร์ AI เก่งๆ ก็สมควรที่จะรู้สึกอกหัก เพราะอันที่จริงแล้วอาจจะสามารถรอไปก่อนอีกสักหนึ่งปีค่อยควักเงินซื้อ iPhone รุ่นปีหน้าทีเดียวก็ได้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทเทคโนโลยีไม่สามารถทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บริโภคได้ แม้กระทั่งตัว Apple เองก็เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันที่ทำให้ผู้บริโภคผิดหวังและอกหักมาแล้วด้วยการประกาศเปิดตัวแท่นชาร์จ Air Power แท่นชาร์จแบนๆ ลุคสีขาวคลีนๆ ที่ออกแบบมาสำหรับใช้ชาร์จได้ทั้ง iPhone, Apple Watch และ AirPods
แต่แล้วก็ลบคลิปทิ้งไปแบบเนียนๆ หลังพบว่าไม่สามารถผลิตออกมาได้จริง
แต่อย่างน้อยๆ ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายหรือทำให้ใครเสียโอกาสเท่ากับเหตุการณ์ Apple Intelligence ครั้งนี้
หากเราจะวัดความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ยุคใหม่ด้วยความก้าวหน้าของ AI ที่ทุกค่ายเทคโนโลยีต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือดทุกวันนี้ การที่ Apple ไม่สามารถพัฒนา AI ของตัวเองได้ตามคำสัญญา ในที่สุดก็อาจจะสร้างความเสียหายให้กับบริษัทได้มากกว่าที่คิด
MKBHD บล็อกเกอร์เทคฯ ชื่อดังเปรียบเทียบเอาไว้ว่าหรือนี่จะคล้ายๆ กับปรากฏการณ์ของ Nokia และ BlackBerry ที่ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ได้ทันความต้องการของตลาด จนทำให้บริษัทที่ครั้งหนึ่งทุกคนเคยคิดว่าใหญ่โตเสียจนไม่สามารถล้มได้กลายเป็นชื่อที่คนยุคใหม่แทบจะลืมเลือนไปแล้ว
สรุปก็คือ หากผู้บริโภคมองว่านับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ฟีเจอร์ AI ที่ฝังมาพร้อมอุปกรณ์อย่างสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งที่เราจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะใช้ในการตัดสินใจว่าเราจะซื้อสินค้าของค่ายไหน
Apple ก็ต้องรีบอัพเกม AI ของตัวเองอย่างเร่งด่วน รีบจัดสรรทรัพยากรให้กับการพัฒนา AI ซึ่งที่ผ่านมาก็มีรายงานออกมาว่าทางบริษัทได้กวาดต้อนบุคลากรในแผนกที่พัฒนา Apple Vision Pro มาร่วมช่วยกอบกู้ Siri อย่างเร่งด่วนแล้ว
เรื่องนี้จะคลี่คลายไปในทางไหน Apple จะรับมือกับวิกฤต AI ครั้งนี้อย่างไร เราน่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่จะมาถึงนี้ เมื่อ Apple จัดงาน WWDC 2025 งานที่จัดขึ้นสำหรับนักพัฒนาเป็นประจำทุกปีและเพื่ออัพเดตซอฟต์แวร์ต่างๆ ของบริษัท
ยังไม่ต้องรีบถมของใหม่ แต่ขอให้ของเก่าที่พูดไว้แล้วมีความคืบหน้าที่น่าพอใจก็น่าจะทำให้บรรยากาศหายคุกรุ่นลงได้บ้างไม่มากก็น้อย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022