ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์
อินดี้ไต้หวัน
: บทเพลงแห่งเสรีภาพ
และการนิยามชาติใหม่
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซีนดนตรีในไต้หวันเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในกระแสหรือนอกกระแสก็ตาม
แต่ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน เพราะทั้งตัวศิลปินเองและรัฐบาลไต้หวันก็เคยมีความขัดแย้งกันอยู่และต้องใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าที่ทั้งสองฝ่ายจะจับมือกันเพื่อหาทางที่จะใช้ศิลปะดนตรีในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเผยแพร่วัฒนธรรมดั้งเดิมของไต้หวันรวมถึงวัฒนธรรมป๊อปให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกไปในเวลาเดียวกันได้
ถ้าหากมองในเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมดนตรีไต้หวันยังคงเล็กมากๆ ถ้าหากเทียบกับวงการดนตรีในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
แต่กลยุทธ์ในการผลักดันวงดนตรีและศิลปินของรัฐบาลไต้หวันให้มีที่ทางเป็นของตัวเองในวงการดนตรีในตลาดต่างประเทศถือว่ามีแบบแผนที่น่าสนใจและน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เดินตามได้หากภาครัฐมีความใส่ใจในเรื่องของการใช้วัฒนธรรมเป็นอำนาจละมุนในการขับเคลื่อนประเทศอย่างจริงจัง
ในปีนี้รัฐบาลไต้หวันภายใต้การนำของกระทรวงวัฒนธรรมได้ให้การสนับสนุนศูนย์ Northern Pop Music Center ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนศิลปินป๊อปในประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมตผลงาน, การแสดงคอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศ, จัดหาอุปกรณ์ดนตรี รวมถึงการเฟ้นหาศิลปินหน้าใหม่ที่มีความสามารถด้วยการจัดตั้งกองทุนที่มีชื่อว่า Bureau of Audiovisual and Music Industry Development ขึ้นมา
โดยบุคลากรที่ทำงานให้กองทุนนี้มีทั้งนักออกแบบ, โปรดิวเซอร์, นักแต่งเพลง, ผู้จัดคอนเสิร์ตและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องการวงการดนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือไล่ไปตั้งแต่ขั้นตอนการทำงานเพลง, การวางแผนเพื่อทัวร์คอนเสิร์ตอย่างเป็นระบบไปจนถึงการออกแบบหน้าปกอัลบั้มให้

อีกหนึ่งโครงการที่มีส่วนผลักดันให้ซีนดนตรีไต้หวันก้าวไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพก็คือ Maritime Cultural & Popular Music Center ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้าง Live House หรือสถานที่สำหรับแสดงดนตรีของวงอินดี้
นอกจากนี้ก็ยังมีเม็ดเงินอัดฉีดในการอัพเกรดเครื่องดนตรีให้กับศิลปินที่มีเงินทุนจำกัด ไปจนถึงการจัดงานมอบรางวัลให้กับศิลปินอิสระเพื่อเป็นการเสริมสร้างกำลังใจในการทำงานเพลงต่อไป
โดยภาครัฐจะไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องของการทำงานเพลงเลย เพื่อให้ศิลปินได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างงานศิลปะผ่านเสียงดนตรีในแบบฉบับของตัวเองได้อย่างเต็มที่
ทางการไต้หวันรู้ดีว่าการที่จะให้นานาชาติมองเห็นถึงความเติบโตในวงการดนตรีอิสระของตนได้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแสดงให้เห็นว่าไต้หวันสามารถเป็น Music Hub ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเอเชียได้
เช่นเดียวกับที่ทางรัฐบาลสิงคโปร์ทุ่มเงินเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อเป็น Music Hub ในเอเชียอาคเนย์ที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลกมากที่สุด
เพียงแต่เป้าหมายของไต้หวันซับซ้อนกว่าสิงคโปร์อย่างค่อนข้างชัดเจน เพราะในขณะที่สิงคโปร์ได้ตัดงบฯ ในการโปรโมต, ลดการจัดเทศกาลดนตรีอินดี้หรือว่านำเข้าศิลปินอิสระนานาชาติมาแสดงในประเทศจนทำให้สิงคโปร์เคยเป็นทำเลทองของศิลปินอินดี้ในการโปรโมตผลงาน
ไต้หวันทำในสิ่งตรงข้ามนั่นก็คือเปิดรับทั้งการนำเข้าศิลปินดังระดับโลกและศิลปินอิสระให้เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมโดยรวม
แผนการของไต้หวันก็คือการให้เมืองเกาสงที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศเป็นศูนย์กลางในการจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ เพราะเมืองนี้เป็นที่ตั้งของสนามกีฬาแห่งชาติซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตสำหรับศิลปินระดับโลกด้วย
เมื่อปี 2024 ที่ผ่านมามีการจัดคอนเสิร์ตที่เกาสงมากกว่า 120 โชว์ ส่งผลให้มีเงินสะพัดในการจัดคอนเสิร์ตมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐและมีผู้ชมทั้งในและต่างประเทศมาชมคอนเสิร์ตมากกว่า 1 ล้านคน
โดยศิลปินระดับโลกที่มาแสดงคอนเสิร์ตที่เกาสงเมื่อปีที่แล้วมีอาทิ บรูโน่ มาร์ส, เอ็ด ชีแรน, วง Coldplay, วง One OK Rock จากญี่ปุ่น ซึ่งก็รวมถึงวงดังของไต้หวันเองอย่าง Mayday และวงบอยแบนด์อย่าง Energy ด้วย

กระทรวงต่างประเทศและการท่องเที่ยวของไต้หวันได้ลงทุนในระยะยาวด้วยการพัฒนาเกาสงให้เป็นเมืองท่องเที่ยว เพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยในหมู่ผู้ชมคอนเสิร์ตที่เป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มาชมคอนเสิร์ตเพียงอย่างเดียว
ส่งผลให้ในปี 2024 เพียงปีเดียวมีรายงานว่าการท่องเที่ยวทั้งในเมืองเกาสงเองและในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วไต้หวันจากผู้ชมคอนเสิร์ตที่เป็นนักท่องเที่ยวด้วย ทำให้เงินสะพัดในไต้หวันเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
โดยการจับจ่ายใช้สอยทั้งในเรื่องของอาหารการกิน, ค่าที่พัก, ค่าเดินทาง รวมถึงการซื้อของที่ระลึกต่างๆ เฉพาะในเกาสงเมืองเดียวอยู่ที่ราวๆ 141 ล้านเหรียญสหรัฐ
อุตสาหกรรมดนตรีไต้หวันเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 90 ที่ผ่านมานี่เอง
เพราะก่อนหน้านั้นรัฐบาลได้กีดกันทุกอย่างจากต่างชาติไม่ต่างไปจากการที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่กำลังทำอยู่ในทุกวันนี้
เนื่องจากทางการไต้หวันกลัวว่าจะมีการกลืนกินทางวัฒนธรรมจากโลกตะวันตก รวมถึงการที่จีนมีบทบาทในการควบคุมไต้หวันในช่วงเวลานั้นอย่างเข้มงวดด้วย
เสรีภาพในการเผยแพร่และเข้าถึงดนตรีที่หลากหลายของไต้หวันเกิดขึ้นหลังจากที่มีการยกเลิกกฎอัยการศึกในปี 1987
ส่วนประวัติศาสตร์ทางสังคมและการเมืองที่ซับซ้อน, ความขัดแย้งกับจีน, ลัทธิล่าอาณานิคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากญี่ปุ่น ทำให้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไต้หวันเป็นที่ถกเถียงอยู่เสมอในเวทีโลก
เช่นเดียวกันกับการเติบโตทางศิลปะในไต้หวันที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองผ่านกรอบของบริบทดังกล่าว
โดยดนตรีอินดี้เองก็มีบทบาทสำคัญในการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็น “ชาวไต้หวัน” ในศตวรรษที่ 21 อย่างมีนัยยะสำคัญด้วย
บทเพลงของศิลปินไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินอิสระจะตั้งคำถามและแสดงทัศนะเกี่ยวอัตลักษณ์ของชาติที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้งด้านสังคมและการเมือง อย่างเช่นเพลง Island’s Sunrise ของวง Fire EX. ที่ถูกนำมาใช้เป็นเพลงประจำกลุ่ม Sunflower Student Movement (ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน) เพื่อคัดค้านการผ่านร่างข้อตกลงการค้าข้ามช่องแคบระหว่างจีนกับไต้หวันเมื่อปี 2014
นอกจากนี้ หลายเพลงของวงไต้หวันในกระแสหลักอย่าง Mayday และ Sticky Rice ก็ยังมีเนื้อหาที่พูดถึงความเชื่อและความฝันที่ชาวไต้หวันต้องต่อสู้ทางการเมืองอย่างอดทน ผ่านการแต่งเพลงที่แฝงความหมายในเชิงอุปมาอุปไมย
โดยปี 2024 วง Mayday ถูกกดดันให้โปรโมตแคมเปญจีนเดียวในช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน แต่ทางวงปฏิเสธ ส่งผลให้ Mayday ถูกทางการจีนตรวจสอบในเรื่องการร้องเพลงแบบ ลิป ซิ้ง ในระหว่างทัวร์คอนเสิร์ต
วงอินดี้ไต้หวันผสมผสานสไตล์ดนตรีที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน การสร้างตัวตนผ่านเสียงดนตรีนี้เป็นผลมาจากการความสับสนและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของชาวไต้หวันมาอย่างยาวนาน วงอินดี้ไต้หวันที่ในเวลานี้สร้างชื่อในระดับสากลไปแล้วก็มีอาทิ วง No Party for Cao Dong, Sunset Rollercoaster, Deca Joins, Sorry Youth, Elephant Gym, (?te), Chih Siou, The Wanted (????), KIRE, Mong Tong, Iruka Police และอีกมาก
นอกจากนี้ ไต้หวันก็ยังมีเทศกาลดนตรีและ Music Showcase ที่โดดเด่นหลายงานอย่าง Spring Scream, MEGAPORT, Hohaiyan Rock Festival, Formoz Festival และ LUCfest ที่มีศิลปินไทยอินดี้ไทยอย่าง LEPYUTIN, Numcha, Valentina Ploy และ Wadfah ไปร่วมโชว์มาแล้ว
ล่าสุดวงการเพลงอินดี้ไต้หวันก้าวไกลไปอีกขั้นเมื่อกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันได้ส่งศิลปินอินดี้อย่าง HSIEN CHING, (?te), Andr, Enno Cheng, TRASH และ Amazing Show ไปร่วมงานโชว์เคส Taiwan Beats ที่ทางกระทรวงจัดขึ้นที่เทศกาล SXSW ในรัฐเท็กซัส, สหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
การผลักดันอย่างจริงจังเพื่อให้ศิลปินที่มีของไปปล่อยของบนเวทีระดับโลกนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไต้หวันมองเกมขาดว่าการใช้อำนาจละมุนของศิลปินอินดี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปนี้ ถ้ามีการวางแผนในระยะยาวและอย่างเป็นขั้นเป็นตอนแล้วละก็…
การช่วงชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและทางการทูตอย่างละมุนละม่อมนั้นย่อมส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจกระด้างแต่อย่างใดเลย
อ้างอิง https://www.iq-mag.net/ และ https://www.sxsw.com/
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022