ชายชราญี่ปุ่น ผู้ใช้ชีวิตหลังกำแพงสูงกว่า 50 ปี

บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์

 

ชายชราญี่ปุ่น

ผู้ใช้ชีวิตหลังกำแพงสูงกว่า 50 ปี

 

ชายชราชาวญี่ปุ่น วัย 88 ปี เดินกะย่องกะแย่งเข้ามาในห้องพิจารณาคดีของศาลจังหวัดฮอกไกโด มีผู้คุมช่วยพยุงแขนมาฟังคำพิพากษา

จำเลยมีนามว่า นายอุนโน เคยได้รับการตัดสินจำคุกมาแล้ว 15 ครั้ง เข้าออกเรือนจำมาตลอดชีวิต รวมเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำหลังกำแพงสูงมาแล้วมากกว่า 50 ปี

เดือนพฤษภาคม ปี 2024 จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่น ขโมยทรัพย์สินในบ้านหลังนั้น เช่นเดียวกับที่เคยทำมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้หนีไม่รอด ถูกจับกุมและศาลตัดสินจำคุก

ชายชรารำพึงว่า “คราวนี้คงไม่ได้อยู่จนรอดชีวิตออกไปกระมัง อายุปูนนี้แล้วยังต้องโทษจำคุก ช่างน่าอายจริงๆ”

“ตลอดชีวิตไม่เคยทำมาหากินเป็นชิ้นเป็นอันเลย ทำชั่วซ้ำๆ แล้วได้เงินมาง่ายๆ ก็เลยออกจากวงจรเลวร้ายนี้ไม่ได้”

ทำไม? ชายชราจึงมีชีวิตเช่นนี้

 

ชีวิตในวัยเด็ก เป็นน้องสุดท้อง มีพี่น้อง 4 คน ครอบครัวย้ายจากจังหวัดฟุกุโอกะ ไปอยู่จังหวัดชิซูโอกะ พ่อแม่เปิดร้านขนมญี่ปุ่น จัดว่าเป็นครอบครัวพอมีอันจะกิน แต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพเศรษฐกิจและสังคมวุ่นวายสับสน ไร้ระเบียบ (戦後混乱期) ครอบครัวของเขาได้รับผลกระทบด้วย ต้องดิ้นรนมีชีวิต ขาดแคลน แร้นแค้น ไม่มีงานทำ เป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายมาก

พี่ชายเข้าร่วมแก๊งยากูซ่า ครอบครัวมีแต่เรื่องวุ่นวาย

ชายชรายอมรับว่า ได้พี่ชายเป็นแบบอย่าง เขาออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 13 ปี รับจ้างทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง คบเพื่อนเกเรแล้วรวมกันมุ่งหน้าสู่โตเกียว เร่ร่อนไปเรื่อยๆ มั่วสุมเล่นการพนันบ้าง ล้วงกระเป๋าผู้คนแถวตลาดปลาสึคิจิบ้าง ใช้ชีวิตในวงจรอุบาทว์ตลอดมา

เมื่ออายุ 13 ปี ถูกจับกุมครั้งแรก ต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจ และที่นั่นเองทำให้เขาได้รู้จักบรรดาเพื่อนๆ แบบเดียวกับเขาที่ล้วนเชี่ยวชาญในเรื่องเลวๆ และเข้าออกสถานพินิจมาแล้วหลายครั้ง

ชายชราย้อนรำลึกว่า “สังคมรอบตัวผม ไม่มีคนดีให้เห็นแม้สักคนเดียวเลย แต่ในบรรดาเพื่อนเลวๆ นี่สิ ที่ให้กำลังใจกัน รู้สึกอบอุ่นใจ ได้เห็นน้ำใจกัน รู้สึกอยากตอบแทนให้เพื่อนๆ ได้มีชีวิตสบายบ้าง ก็เลยต้องขโมยและขโมยเรื่อยมา”

ไม่มีครอบครัว ไม่มีญาติ หรือผู้ใหญ่ ชี้แนะทางเดินชีวิตที่อยู่ในทำนองคลองธรรม ชีวิตของเขาจึงมีแต่เพื่อนที่รู้จักตอนใช้ชีวิตอยู่ในคุกด้วยกัน เมื่อพ้นโทษออกมา ก็มีแต่เพื่อนเก่าเหล่านี้เป็นที่พึ่งพิงเพื่อจะมีชีวิตในสังคมคนปกติให้ได้ ไม่ว่าจะช่วยทำสัญญาเช่าห้อง ซื้อโทรศัพท์มือถือ ให้เงินใช้จ่ายบ้าง ฯลฯ

แน่นอนว่าหนีไม่พ้นที่เขาถูกชักชวน “มาร่วมด้วยช่วยกันขโมย” อีก ไม่ได้คิดอยากหางานสุจริตทำ เพราะว่าตอนที่ร่างกายแข็งแรงดี ยิ่งทำเรื่องชั่วๆ ได้ง่าย ทำแล้วชีวิตสบายขึ้น ไม่เคยเดือดร้อนเรื่องเงินเลย

ด้วยสำนึกและมโนธรรม เคยมีสักครั้งไหมที่คิดเลิกทำชั่ว?

 

เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ขณะอายุ 55 ปี ร่างกายเริ่มอ่อนแรง อยากเลิกก่ออาชญากรรมให้เด็ดขาดเสียที แต่จะไปทำงานอะไรได้?

งานที่ทำได้มีแต่ที่ต้องใช้แรงงาน เช่น งานตัดไม้ ลากชักไม้ในป่า ซึ่งล้วนต้องใช้พละกำลังกาย และความอดทนกับงานหนัก ไม่อาจสู้แรงงานหนุ่มๆ ได้

อีกทั้งตัวเองได้ทิ้งวัยหนุ่มที่เต็มไปด้วยความแข็งแรงไปกับเรื่องไม่ดี ไม่ควรทำเลย ล่วงเลยมาถึงวัยนี้จะใช้ชีวิตตัวคนเดียวได้อย่างไร?

สำหรับคนที่ออกจากคุกมา ก็เป็นตราบาปประทับติดตัวไปตลอดชีวิต สังคมไม่ให้โอกาส ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ เข้าตาจนหมดหนทางจริงๆ ก็หวนกลับสู่วงจรเดิมอีก

“ไม่งั้นจะเอาอะไรกิน ไม่มีเงินจะอยู่ได้ยังไง? แม้ว่ามโนธรรมที่เหลืออยู่น้อยนิด จะบอกว่าอย่าทำอีกเลย”

ปี 2024 ขณะอายุ 88 ปี ชายชราเดินออกจากเรือนจำที่เมืองซัปโปโร ซึ่งเคยถูกจำคุกเป็นครั้งที่ 3 เขาตั้งใจว่าขอเป็นครั้งสุดท้ายที่จะเดินออกจากเรือนจำเสียที ตั้งใจใช้ชีวิตในเส้นทางที่ถูกที่ควรบ้าง มีผู้ ช่วยเหลือหาที่พักราคาไม่แพงพออยู่ได้ที่ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันให้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ออกจากบ้านมาเมื่ออายุ 13 ปี ที่จะได้อยู่ใน “สังคมของสุจริตชน”

เขายิ้มน้อยๆ เมื่อย้อนคิดถึงช่วงเวลาที่น่ายินดีนั้น น่าเสียดายที่เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

 

เมื่อถึงทางตันอีกครั้ง จากที่เคยถูกชวนให้ร่วมก่ออาชญากรรมโดยเพื่อนเก่า มาคราวนี้ ชายชรากลายเป็นผู้ริเริ่มชวนบรรดาเพื่อนใหม่ที่รู้จักในเรือนจำอีก 2 คน ซึ่งอยู่ในวัยไล่เรี่ยกัน คือ 71ปี และ 69 ปีที่ออกจากเรือนจำมาก่อน มาร่วมทีมก่อเหตุลักทรัพย์ ศาลตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน ท่านผู้พิพากษาได้กล่าวว่า “อยากให้จำเลยมีชีวิตที่ยืนยาวพอที่จะจบช่วงชีวิตที่เลวร้ายในเรือนจำ มีโอกาสออกไปสู่สังคมสุจริตได้ ขอให้ใช้เวลาครุ่นคิดให้ตกว่าออกจากที่นี่ไปแล้วจะใช้ชีวิตที่ถูกต้องได้อย่างไร”

จำเลยตอบรับว่า “ขอรับ กระผมสำนึกแล้ว”

คำนวณแล้วกว่าจะได้ออกจากเรือนจำ ชายชราก็อายุปาเข้าไป 94 ปีแล้ว!

ประชากรผู้สูงวัยในสังคมปกติข้างนอก ยังต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในวัยหนุ่มทำงานอย่างหนักเพื่อเตรียมรับวัยชราที่อ่อนแรงและโดดเดี่ยว ตรงข้ามกับเขาที่ใช้เวลาเกินค่อนชีวิต มากกว่า 50 ปีอยู่หลังกำแพงสูง

หากรอดชีวิต… ได้เดินออกมาจากเรือนจำอีก เป็นครั้งที่นับไม่ถ้วน เขาจะรู้สึกโดดเดี่ยวเพียงใด!

ผู้หลงผิดอย่างนี้เกิดขึ้นได้ในสังคมของทุกประเทศ ชวนให้เตือนใจว่าอย่าได้เอาเป็นเยี่ยงอย่างเด็ดขาด…