ถ้าทรัมป์ทิ้งยุโรป เอเชียจะไปทางไหน?

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

ถ้าทรัมป์ทิ้งยุโรป

เอเชียจะไปทางไหน?

 

มีใครบอกทรัมป์หรือไม่ว่า Make America Great Again (MAGA) อาจกลายเป็น Make China Great Again (MCGA) โดยไม่รู้ตัว?

เริ่มด้วยคำถามที่ว่าถ้าสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถ “ทิ้ง” ยุโรปได้, เอเชียจะ “รอด” จากนโยบาย “ถอยกลับบ้าน” ของวอชิงตันหรือ?

เป็นข้อกังวลของผู้นำหลายประเทศในเอเซียวันนี้ที่เริ่มจะเกิดความไม่แน่ใจว่าความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นจะล่มสลายหายไปต่อหน้าต่อตาได้อย่างที่กลัวกันหรือไม่

แต่เมื่อทรัมป์เองมีความภาคภูมิใจว่า “จุดแข็ง” ที่โดดเด่นที่สุดของตนเองคือ “ไม่มีใครคาดเดาความคิดผมได้” จึงไม่มีใครกล้าคาดเดาจริงๆ

เพราะเพียงแต่ไม่ถึง 100 วันแรกของการกลับมาทำเนียบขาว ทรัมป์ก็สร้างสิ่งแปลกใหม่ที่สร้างความสะทกสะท้านไปทั่วโลกแล้ว

ครั้งหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับยุโรปตะวันตกแข็งแกร่งดุจหินผา

วันนี้ แกนนำยุโรปอย่างอังกฤษ, ฝรั่งเศสและเยอรมนีกำลังบอกว่าพวกเขาจะต้องจริงจังกับการก่อตั้งกลุ่มก้อนด้านความมั่นคงที่ไม่มีอเมริกาอยู่ในสมการพันธมิตรแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว

ความรู้สึกไม่มั่นคงกับทิศทางของทรัมป์ลามจากยุโรปมาถึงเอเชียอย่างรวดเร็ว

ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลียยอมรับว่าต้องทบทวนพันธกรณีกับวอชิงตันอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

นั่นคือสัญญาณชัดๆ ที่ไทยเราต้องตระหนัก…มันคือเสียงนาฬิกาปลุกที่เตือนเราว่ายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจที่เราใช้มาหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นกำลังจะล้าสมัยและไม่ตอบโจทย์แห่งยุคสมัยแล้ว

 

หลายประเทศในอาเซียนก็เริ่มแสดงอาการการปรับตัวในมิตินี้…แม้จะไม่ประกาศออกมาเป็นนโยบายทางการในช่วงนี้

การมาเยือนฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐคนใหม่พีท เฮกเซธ เมื่อสัปดาห์ก่อนอาจจะเป็นความพยายามจะสร้างความมั่นใจระดับหนึ่งว่าอเมริกายังไม่ทิ้งเพื่อนเก่าในเอเชีย

แต่นั่นเป็นเพียงเพราะว่าลึกๆ แล้วทรัมป์กังวลอย่างยิ่งที่เห็นจีนสยายปีกด้านการทหารในภูมิภาคนี้

และเฮกเซธเองก็ไม่ลังเลที่จะประกาศว่าอเมริกาจะคงรักษาความผูกพันทางทหารกับฟิลิปปินส์

และประกาศว่า “ประเทศนักรบอย่างญี่ปุ่น” ยังเป็นหลักประกันที่สำคัญยิ่งในการสกัดการขยายอิทธิพลของจีนในย่านนี้

แต่เพียงแค่คำแถลงของรัฐมนตรีกลาโหมหน้าใหม่จากสหรัฐคงไม่หนักแน่นเพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประเทศในแถบนี้ได้

 

ตัดภาพไปที่การพบปะของรัฐมนตรีต่างประเทศจีน, ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่โตเกียวก่อนที่เฮกเซธบินมาญี่ปุ่นเพียงหนึ่งสัปดาห์

ผมเห็นภาพของการที่สามประเทศใหญ่ในเอเชียที่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสมการอำนาจโลกอย่างเห็นได้ชัด

และต่างก็ขยับเข้าใกล้กันมากขึ้นเพราะเริ่มเห็นทิศทางของ “ทรัมป์ 2.0” ที่อาจอาละวาดฟาดฟันใส่ทั้งสามชาติในรูปแบบที่แม้จะต่างกันในรายละเอียด แต่ก็จะไปในแนวทางเดียวกัน

อย่างน้อยทั้งสามชาติเอเชียยักษ์ต่างก็เจอสงคราม “ภาษีทรัมป์” ถล่มเหมือนๆ กัน

นั่นคือภายใต้ทรัมป์ อเมริกาจะตั้งคำถามที่ไม่เคยถาม และไม่มีใครตอบได้

นั่นคือ “อเมริกาได้อะไรจากการที่ให้กับคุ้มครองคุณ?”

เพราะเป็นที่เข้าใจกันก่อนหน้านี้ว่าอเมริกาต้องการจะสร้างแนวร่วมในเอเชียเพื่อเผชิญหน้าจีน

และความเป็นมิตรของญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลียและอาเซียนนั้นคือ “ประโยชน์มหาศาล” ที่วอชิงตันได้เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ “ซื้อมิตรภาพ” จากเอเชีย

วันนี้ ทรัมป์อ้างว่าเขา “พูดรู้เรื่อง” กับสี จิ้นผิง

ต่างกับที่อดีตผู้นำสหรัฐที่เคยบอกกับพันธมิตรในเอเซียว่าจีนคือศัตรูหลักของโลกเสรี

แต่แม้ทรัมป์จะเอื้อนเอ่ยเป็นระยะๆ ว่าเขาสามารถจะต่อสายกับสี จิ้นผิง ได้ตลอดเวลา ผู้นำจีนคนนี้ก็ใช่จะไว้ใจทรัมป์ว่ากำลังจะเปลี่ยนท่าทีที่จะเลิกเป็นปฏิปักษ์ต่อปักกิ่ง

และสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดในช่วง 80 ปีที่ผ่านก็เกิดวันนี้

นั่นคือจีน, ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เริ่มจะมองตากันแล้วเห็นพ้องกันว่า “เราอาจจะมีศัตรูร่วมคนเดียวกัน” หรือเปล่า?

 

นักวิเคราะห์บางคนอาจจะมองว่าทรัมป์ไม่ได้ต้องการจะตัดเอเซียออกจากความเป็นพันธมิตร…เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของเขาคือการลดค่าใช้จ่ายทางทหารที่ต้องมาสนับสนุนมิตรสหายในเอเชีย

นักวิเคราะห์ค่ายนี้เห็นว่าในท้ายที่สุดทรัมป์ก็ยังมองจีนเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งอยู่ดี

เพราะอย่างไรเสียเขาก็จะไม่ยอมให้จีนแซงหน้าสหรัฐไม่ว่าจะเป็นด้านการทหาร, เทคโนโลยีหรือเศรษฐกิจ

จากมุมมองนี้ ทรัมป์ก็ต้องกอดเพื่อนเก่าในเอเซียเอาไว้

แต่เกาหลีใต้จะเชื่อได้ว่าอย่างไรว่าทรัมป์จะไปสวมกอดคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนืออีกรอบจนไม่อาจจะให้ความมั่นใจกับเกาหลีใต้เพื่อนเก่าว่าถ้าเลือกได้ ทรัมป์จะเหลือกรุงโซลหรือเปียงยาง?

หรือญี่ปุ่นจะแน่ใจได้อย่างไรว่าทรัมป์จะไป “ทำดีล” กับจีนเพื่อให้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนพร้อมจะสลัดญี่ปุ่นออกจากแวดวง “เพื่อนสนิท” ของตน?

ผมจึงไม่แปลกใจที่เพื่อนญี่ปุ่นบอกผมว่าญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มาถึงจุดที่ต้องคิดว่าจะต้องจริงจังกับการสร้างแสนยานุภาพทางทหารของตนอย่างจริงจัง

ถึงขั้นที่ต้องพิจารณาแผนสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของตนด้วยซ้ำ!

 

ถ้าคิดไกลถึงขนาดนี้…สมการแห่งอำนาจของโลกก็พลิกผัน 360 องศาอย่างแน่นอน

ทรัมป์มีสิทธิที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายอเมริกาแบบพลิกฝ่ามือได้เพราะไม่ได้ยึดหลักการปกป้องหลักประชาธิปไตย, เสรีภาพ, สิทธิมนุษยธรรมตะวันตกแบบที่ผู้นำสหรัฐคนก่อนๆ ถือเป็นธงนำในนโยบายต่างประเทศ

ทรัมป์ไม่เกรงใจที่จะชี้นิ้วกล่าวหาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ว่า “เอาเปรียบอเมริกาเหมือนยุโรป”

ถึงขั้นตำหนิอย่างเปิดเผยว่าพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐในเอเชียทำตัวเป็นกาฝาก เกาะกินงบประมาณทางการป้องกันประเทศของอเมริกาอย่างไร้ความรับผิดชอบ

“เรามีข้อตกลงปกป้องญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นไม่ต้องปกป้องเรา…” ทรัมป์โวยผ่านนักข่าวทำเนียบขาวอย่างไม่เกรงใจผู้นำญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย

แม้กับไต้หวัน ทรัมป์ก็ไม่วายแสดงความเห็นในทำนองที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเช่นกัน

โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์หรือที่มาที่ไปของความสัมพันธ์ที่ล้ำลึกระหว่างวอชิงตันกับไต้หวัน

ทรัมป์ตอกย้ำทุกครั้งที่มีโอกาสว่าไต้หวันได้รับประโยชน์อย่างมากจากเงินช่วยเหลือด้านทหารให้ไต้หวัน

แต่ทรัมป์ขุ่นเคืองที่ไต้หวันได้เปรียบอเมริกาในด้านส่วนแบ่งในตลาดโลกของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง

ทรัมป์ไม่เพียงแต่มองว่าไต้หวันเป็นภาระของสหรัฐเท่านั้น แต่ในทางส่วนตัวยังดูแคลนความสามารถในการป้องกันตัวเองของเกาะแห่งนี้ด้วย

จะไม่ให้ไต้หวันหวั่นไหวได้อย่างไร…ว่าหากสี จิ้นผิง กับทรัมป์แอบตกลงทำดีลเรื่องเศรษฐกิจบางอย่างที่ทรัมป์ถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของตน…และแลกกับการ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” ให้ปักกิ่งทำอะไรกับไต้หวันก็ได้?

 

เป็นไปได้ว่าทีมงานมืออาชีพในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศของอเมริกาบางส่วนอาจจะเห็นแย้งกับนโยบายลดความสำคัญของเอเชียลง

แต่รัฐมนตรีต่างประเทศมาร์โก รูบิโอ และรัฐมนตรีกลาโหมเฮกเซธจะกล้า “หือ” กับทรัมป์หรือ

หาก “เจ้านาย” จะตัดสินใจ “สร้างประวัติศาสตร์โลก” ด้วยการละทิ้งแนวทางเดิมของผู้นำมะกันคนก่อนๆ เพื่อสร้าง “โลกใหม่ภายใต้ทรัมป์”?

หลายประเทศในเอเชียจึงกำลังส่งเสียงให้ได้ยินทั่วกันว่าจะต้องพยายาม “ดึง” ทรัมป์เอาไว้

ด้วยการสื่อสารอย่างชัดเจนต่อรัฐบาลทรัมป์ว่าการลดจำนวนกำลังพลของสหรัฐในเอเชียจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐเอง

ด้วยการน้าวโน้มให้ทรัมป์เห็นว่าหากสหรัฐลดบทบาทลง ผู้ได้ประโยชน์สูงสุดคือจีน

และจะสวนทางกับนโยบาย Make America Great Again ของทรัมป์อย่างแน่นอน

เพราะด้วยนโยบาย MAGA ทรัมป์กลายเป็น “พันธมิตรด้านกลับ” ของจีนไปแบบหน้าตาเฉย!