ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ
พิพิธภัณฑสถานสร้างชาติ (จบ)
ห้องจัดแสดงที่น่าผิดหวังที่สุดในทัศนะผมคือ ห้องรัตนโกสินทร์ ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงสุดท้ายในส่วนจัดแสดงที่ว่าด้วยศิลปวัตถุยุคสมัยต่างๆ ของประเทศไทย
ศิลปวัตถุห้องนี้เป็นเรื่องราวว่าด้วยช่วงเวลาที่สยามกำลังปรับปรุงประเทศเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 เรื่อยมาจนถึงการพัฒนาสู่ความศิวิไลซ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนมาถึงศิลปวัตถุในสมัยรัชกาลที่ 9
ในความเป็นจริง การจัดแสดงห้องนี้มีความสวยงามมากที่สุดห้องหนึ่งเลยก็ว่าได้ การจัดแสงทำได้ดีจนทำให้วัตถุบางชิ้นที่ดูแล้วไม่น่าจะมีความพิเศษอะไรนักกลับดูสวยงามน่าชมอย่างมาก
แต่ภายใต้แสงสีสวยงาม เนื้อหาสาระกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม
แม้วัตถุส่วนใหญ่จะสำคัญ สะท้อนความเป็นสมัยใหม่ของสยามได้ดี ไม่ว่าจะเป็น “ลูกโลกดาว” หนึ่งในเครื่องบรรณาการที่พระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร น้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2398 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สะท้อนการเปลี่ยนผ่านโลกทัศน์แบบจารีตสู่ความเป็นสมัยใหม่ การเสื่อมถอยลงของจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิสู่จักรวาลวิทยาแบบใหม่ของสังคมสยาม
หรือ “พระโธรน” (Throne) พระราชอาสน์สมัยใหม่องค์แรกในรัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นราว พ.ศ.2416 ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่า เป็นพระราชอาสน์ที่สร้างขึ้นอย่างสัมพันธ์กับแนวคิดของพระองค์ที่โปรดฯ ให้ยกเลิกธรรมเนียมการหมอบเข้าเฝ้าฯ และให้ขุนนางยืนเข้าเฝ้าฯ ตามธรรมเนียมแบบตะวันตกแทน

อย่างไรก็ตาม วัตถุหลายชิ้นในห้องนี้ ผมกลับคิดว่ามิได้สำคัญในระดับที่ต้องนำมาจัดแสดงเท่าไรนัก เช่น จอบและเสียมที่ใช้ในการก่อฤกษ์ทางรถไฟสายปากน้ำ พ.ศ.2434 หรือไม้หมอนรถไฟที่ใช้ในพระราชพิธีเปิดทางรถไฟหลวงสายนครราชสีมา พ.ศ.2439 เป็นต้น
แน่นอนนะครับ วัตถุเหล่านี้มีค่าควรเก็บรักษาในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และเหมาะที่จะถูกนำมาจัดแสดงเพื่อให้คนเข้าชม
แต่ในทัศนะผม วัตถุเหล่านี้หลายชิ้นเหมาะสำหรับแค่จัดแสดงในบางโอกาส หรือในบางครั้งของนิทรรศการพิเศษเท่านั้น แต่ไม่เหมาะเลยที่จะนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวร
เหตุผลก็คือ พื้นที่จัดแสดงห้องรัตนโกสินทร์ไม่ได้กว้างขวางอะไรเลยนะครับ
แต่เนื้อหาที่ต้องเล่าซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ยุคสมัยใหม่ (ปลายพุทธศตวรรษที่ 24-กลางพุทธศตวรรษที่ 26) ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย และจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์หลายครั้ง อีกทั้งยังมีสิ่งของวัตถุมาหลงเหลืออยู่เต็มไปหมดรอคอยให้ภัณฑารักษ์เลือกสรรมาจัดแสดง
ซึ่งแตกต่างจากการจัดแสดงในห้องศิลปะยุคโบราณก่อนหน้านี้ที่หลงเหลือวัตถุจัดแสดงไม่มากและจำเป็นต้องจัดแสดงไปตามวัตถุเท่าที่หลงเหลืออยู่
เงื่อนไขของห้องรัตนโกสินทร์ดังกล่าว เรียกร้องให้ภัณฑารักษ์ทำการบ้านมากกว่านี้ และต้องเข้าใจความซับซ้อนของประวัติศาสตร์ยุคสมัยที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ยุคจารีตมากกว่าที่เป็นอยู่
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เสมือนว่าภัณฑารักษ์ที่รับผิดชอบห้องนี้ เลือกที่จะจัดแสดงไปตามภายใต้โครงเรื่องเดิมๆ และวัตถุเดิมๆ ที่มีอยู่ในคลังโดยปราศจากความพยายามที่จะฉายภาพความสลับซับซ้อนที่ดำรงอยู่จริงในสังคมไทย
ห้องรัตนโกสินทร์ขาดภาพของสังคมไทยในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 25 ที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย, ขาดเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475, ขาดบริบทสงครามโลกทั้งสองครั้ง, ไม่มีเรื่องเล่าสังคมไทยยุคสงครามเย็น, ละเลยการลุกขึ้นมาของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (และอีกหลายครั้งต่อมา), ไม่มีภาพสังคมไทยในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง ฯลฯ
ห้องรัตนโกสินทร์ที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนสังคมไทยในจินตนาการของภัณฑารักษ์ (และชนชั้นนำไทย)ที่ราบเรียบ สงบเงียบ และไหลเรื่อยอย่างต่อเนื่องสมบูรณ์แบบจากอดีต กงล้อทางประวัติศาสตร์หมุนไปโดยการขับเคลื่อนจากสถาบันกษัตริย์และชนชั้นนำเพียงกลุ่มเล็กๆ โดยไม่มีประชาชนอยู่ในเรื่องเล่าแห่งชาติ ในห้องรัตนโกสินทร์เลยแม้เพียงเล็กน้อย
ด้วยวิธีคิดที่หลุดลอยออกจากความเป็นจริงทางสังคมเช่นนี้เอง ที่ทำให้แม้แต่ จอบ เสียม และไม้หมอนรถไฟ ที่ถูกใช้ในพิธีเปิดต่างๆ โดยสถาบันกษัตริย์ จึงถูกขยายความสำคัญเกินจริง
ในขณะที่คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ.103 ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์, ประกาศคณะราษฎรฉบับแรก, รัฐธรรมนูญฉบับแรก, วัตถุที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอันเป็นผลพวงจากสงครามเย็น, วัตถุพยานในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, สิ่งของทางวัฒนธรรมของชาวบ้านที่สะท้อนความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทย ฯลฯ ไม่ปรากฏให้เห็นเลยแม้แต่เพียงชิ้นเดียว
ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่า ชนชั้นนำและสถาบันกษัตริย์ไม่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์นะครับ แต่เราทุกคนก็ทราบดีว่า ประวัติศาสตร์ไม่ว่าที่ใดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ยุคสมัยใหม่ ไม่เคยและไม่มีทางขับเคลื่อนไปได้ด้วยคนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว
แต่คือการขยับไปอย่างซับซ้อนของตัวละครทางประวัติศาสตร์อันหลากหลายและกว้างขวาง
ดังนั้น ห้องรัตนโกสินทร์ในความเป็นจริง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือกวัตถุจัดแสดงอย่างหลากหลายที่สามารถสะท้อนความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ให้ได้มากกว่านี้ ใส่เงื่อนไขของประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าไปในเรื่องเล่ามากขึ้น และฉายภาพความสลับซับซ้อนของปัจจัยนานาชนิดที่เข้ามาเป็นตัวกำหนดทิศทางสังคมไทยให้มากกว่าที่เป็นอยู่
ผมเข้าใจดีนะครับว่า ข้อเสนอข้างต้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครจำเป็นต้องเสาะแสวงหาวัตถุจัดแสดงใหม่เป็นจำนวนมาก เพราะวัตถุที่อยู่ในคลังของพิพิธภัณฑ์ไม่มีสิ่งของในลักษณะดังกล่าวอยู่เลย ซึ่งไม่ง่ายเลย แต่ส่วนตัวก็คิดว่า มันไม่ได้ยากจนเกินไปนัก หากคิดจะทำจริง
ห้องรัตนโกสินทร์เป็นหนึ่งในห้องที่ผมเฝ้ารอชมมากที่สุดอีกห้องหนึ่ง ผมคาดหวังมากว่าห้องนี้จะหลุดพ้นจากโครงเรื่องแบบเก่าที่ล่องลอยอยู่ในจินตนาการมากกว่าความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ และสามารถไปไกลมากกว่าการใช้ศิลปวัตถุเพียงเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แบบเถรตรง อย่างน้อยที่สุด ผมก็คิดว่า น่าจะมีการขยายโครงเรื่องที่ใส่ประชาชนเข้าไปในสมการชาติไทยยุคสมัยใหม่บ้าง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง กลับเป็นการผลิตซ้ำทุกอย่างในแบบเดิมทั้งหมด
ในทัศนะผม ห้องรัตนโกสินทร์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขยายพื้นที่การจัดแสดงให้มากขึ้น หากพื้นที่ของอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ไม่เพียงพอ ก็ควรลองพิจารณาพื้นที่ในส่วนอื่นแทน
ทางเลือกที่น่าสนใจอันหนึ่งคือ ปรับพื้นที่บางส่วนของหมู่พระวิมาน
ปัจจุบันหมู่พระวิมานใช้จัดแสดงเนื้อหาที่ว่าด้วย “ศิลปะไทยประเพณี” ซึ่งผมมีเห็นว่า สามารถปรับพื้นที่จัดแสดงให้ลดลงได้โดยใช้วิธีหมุนเวียนจัดแสดงสิ่งของที่อยู่ในกลุ่มประเภทเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องจัดแสดงของซ้ำๆ ในหมวดเดียวกันในปริมาณที่มากเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ยุคสมัยใหม่แทน
หรือหากไม่ต้องการยุ่งกับพื้นที่อื่นและต้องการใช้พื้นที่เท่าที่ห้องรัตนโกสินทร์มีอยู่เหมือนเดิม ทางเลือกก็ยังมีหลายทาง ภายใต้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยี AR (Augmented reality), VR (Virtual reality), Projection Mapping ฯลฯ เข้ามาช่วย ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติในประเทศอื่น หรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์เอกชนและกึ่งเอกชนหลายแห่งของไทย ต่างใช้มานานหลายปีแล้ว
แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้นเลย ห้องรัตนโกสินทร์จึงเป็นแค่เพียงการผลิตซ้ำองค์ความรู้ที่ล้าสมัยผ่านแสงสีอันสวยงามมากขึ้นเท่านั้นเอง
จากทั้งหมดที่ผมเล่ามาอย่างยืดยาวมากกว่า 10 ตอน เชื่อว่าน่าจะทำให้ผู้อ่านมองเห็นประวัติศาสตร์การจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครได้อย่างชัดเจนพอสมควร และน่าจะยืนยันให้ทุกคนเห็นคล้อยตามว่า ตลอดระยะเวลามากกว่า 100 ปีที่พื้นที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ทั้งหมดไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางความรู้และคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ไทยแต่อย่างใด
ผู้อ่านที่ตามอ่านครบทุกตอน คงรู้สึกว่า ผมเขียนอะไรที่ดูจะเป็นการพูดซ้ำๆ ย้ำๆ เนื้อหาเดิมอยู่บ่อยครั้ง
นั่นมิใช่เป็นเพราะผมหลงลืมว่าเคยพูดอะไรไปนะครับ แต่คือความตั้งใจที่จะให้คนอ่านรู้สึกถึงความซ้ำที่มันถูกย้ำทุกครั้งที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครมีโครงการปรับปรุงใหญ่
ในการปรับปรุงครั้งล่าสุดก็เช่นกัน หลายคนอาจมองว่าเป็นพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ซึ่งแท้จริงแล้ว เป็นเพียงก้าวกระโดดเชิงเทคนิค แต่ในระดับเนื้อหาสาระ เราแทบพูดไม่ได้เลยว่ามีอะไรที่เป็นก้าวกระโดดสำคัญที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางความรู้อย่างแท้จริง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022