E-DUANG : นักบิน “คสช.” เครื่องบิน “ประเทศไทย”

การลงจอดของ “เครื่องบิน” ดำเนินไป 2 ลักษณะ 1 จอดอย่างนุ่มนวล 2 จอดอย่างยากลำบาก

แม้มิใช่ “นักบิน” แต่ก็ควรสนใจ

ไม่เพียงเพราะว่าบางคนอาจอยู่ในฐานะ “คนขับ” คนควบคุม บังคับกลไกของ “เครื่องบิน”

หากแต่หลายคนก็อยู่ในฐานะ “ผู้โดยสาร”

ฝีมือและความสามารถของ “นักบิน” จึงเป็นเครื่องประกันอา รมณ์และความรู้สึกของบรรดา “ผู้โดยสาร”ในเครื่อง

แต่ฝีมือและความสามารถเป็นเพียงปัจจัย 1

ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ ดินฟ้า อากาศ อันถือกันว่าเป็น ทัศนวิสัย โดยรอบ

หาก”ทัศนวิสัย”ไม่ดีต่อให้มากด้วย “ฝีมือ” ก็หัวทิ่ม

 

คสช.รับผิดชอบในฐานะ “นักบิน” บนเครื่องบิน “ประเทศไทย” นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

เป้าหมายเป็นอย่างไรรับรู้กันอยู่เป็นอย่างดี

ฝีมือในการขับเป็นอย่างไรก็เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่น มอบความไว้วางใจ

จากพฤษภาคม 2557 มาถึงพฤษภาคม 2558

จากพฤษภาคม 2558 มาถึงพฤษภาคม 2559

จากพฤษภาคม 2559 มาถึงพฤษภาคม 2560

เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่คสช.ในฐานะ “นักบิน” นำเครื่องบิน “ประเทศไทย” อยู่ในห้วงหาว และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะถึง

เดือนพฤษภาคม 2561

ตอนแรกว่าจะลงจอดภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่แล้วก็เลื่อนไปเดือนกุมภาพันธ์ 2562

แต่ก็มีความไม่แน่ใจว่าจะนำ “เครื่องบิน” ลงจอดหรือไม่

 

เวลา 3 ปีที่ผ่านมา“ผู้โดยสาร”ต่างมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าฝีมือและความสามารถของ “นักบิน” เป็นอย่างไร

แต่”อาการ”ของ”นักบิน”ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ

1 ไม่มั่นใจว่า “นักบิน” จะนำ “เครื่องบิน” ลงจอดตาม “โรดแมป” ที่ให้ไว้หรือไม่เพราะ “เลื่อน” แล้ว “เลื่อน” อีก

ขณะเดียวกัน 1 ไม่มั่นใจว่า “นักบิน” สามารถบินและขับ “เครื่องบิน” ได้อย่างแน่นอน แต่ลงจอดได้อย่างยอดเยี่ยมหรือไม่

การนำ “เครื่องบิน” ลงจอดยัง “รันเวย์” นี่แหละสำคัญ