สุวรรณภูมิ-ทวารวดี [23] ภาษาไทย มีอำนาจ

จิตรกรรมเขียนบนแผ่นไม้คอสอง ศาลาการเปรียญ วัดท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เขียนราวรัชกาลที่ 4 เป็นภาพศพลอยน้ำโดยมีทั้งอีกา และปลามากินซาก ซึ่งน่าจะเป็นภาพสะท้อนการระบาดของโรคห่าในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (น่าจะเป็นภาพชายชาวจีนเห็นได้จากการไว้เปียแบบแมนจู)

อำนาจของภาษาและวัฒนธรรม ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นพลังกระตุ้นให้มีคนหลายชาติพันธุ์เรียกตนเองว่าไทย (เชื้อชาติไม่มีในโลก)

อโยธยามีภาษาราชการ 2 ภาษา คือ ภาษาเขมร และภาษาไทย เนื่องจากถูกสถาปนาโดยคน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพูดภาษาเขมร คือ ขอมเมืองละโว้ และกลุ่มพูดภาษาไทย คือ สยาม เมืองราด (อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) และเครือญาติสยาม เมืองสุพรรณภูมิ (จ.สุพรรณบุรี)

 

เริ่มอยุธยา “เมืองใหม่”

อโยธยาถูก “โรคระบาด” รุนแรง คือ Black Death-กาฬโรค (ไม่ใช่อหิวาต์) สมัยนั้นคนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นการกระทำของ “ผีห่า” ต้องแก้อาถรรพ์ด้วยการย้ายศูนย์อำนาจไปอยู่ที่ใหม่ ที่ห่างจากอโยธยาไปทางตะวันตก (สมัยนั้นมีคูเมืองอโยธยายังไม่เป็นแม่น้ำป่าสักเหมือนปัจจุบัน)

อยุธยาสร้างสำเร็จและได้ฤกษ์สถาปนา พ.ศ.1893-1894 อยู่บริเวณหนองโสน (ปัจจุบันเรียกบึงพระราม)

กษัตริย์องค์แรกของอยุธยา คือ พระรามาธิบดี องค์เดียวกับกษัตริย์องค์สุดท้ายของอโยธยา

อโยธยา (เมืองเก่าของอยุธยา) นามเต็มว่า “อโยธยาศรีรามเทพ” (แปลว่า) เมืองแห่งชัยชนะของพระรามองค์อวตาร

อยุธยา (เมืองใหม่ของอโยธยา) นามเต็มว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” (แปลว่า) เมืองสวรรค์อันเป็นที่สถิตของพระกฤษณะและของพระราม หมายถึง กรุงเทพ (อยุธยา) เมืองสวรรค์ ที่สืบจากเมืองทวารวดีของพระกฤษณะ (ละโว้, ลพบุรี) และเมืองอยุธยาสืบจากอโยธยาของพระราม (พระนครศรีอยุธยา)

อโยธยาเป็นเมืองเก่าของอยุธยา ส่วนอยุธยาเป็นเมืองใหม่ (ของอโยธยา) เป็นที่รับรู้ของพ่อค้านานาชาติ จึงพบเอกสารชาวตะวันออกกลางและชาวตะวันตก เรียกอยุธยาว่าเมืองใหม่

“เมืองใหม่” เป็นชื่อเรียกกรุงศรีอยุธยาเก่าสุดในภาษาตะวันออกกลางว่าชิแอร์โน หรือแชร์โนเอิม เป็นการถ่ายเสียงตามสำเนียงอิตาลีจาก “ชะฮฺริเนาว์” คำในภาษาอาหรับหมายถึงเมืองใหม่ อยู่ในแผนที่โลก เขียนราว พ.ศ.1991

อยุธยา เมืองใหม่ (ของอโยธยา) มี 2 ช่วงเวลา ช่วงแรก สืบภาษาราชการ 2 ภาษาจากอโยธยา คือภาษาเขมรกับภาษาไทย ช่วงหลัง ภาษาไทยมีอำนาจเป็นภาษาราชการจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในราชสำนัก ส่วนภาษาเขมรเป็นภาษาเทวราช หรือราชาศัพท์

การเมืองราชสำนักอยุธยา เมื่อพระรามาธิบดี (กษัตริย์องค์แรก) สวรรคต ปัญหาขัดแย้งการเมืองก็เริ่มต้นระหว่างกลุ่มอโยธยา-ละโว้ กับกลุ่มสยามสุพรรณภูมิ โดยพระราเมศวร (โอรสพระรามาธิบดี) ขึ้นครองอยุธยา แต่ขุนหลวงพะงั่ว (เจ้าเมืองสุพรรณภูมิ) ขับไล่พระราเมศวรกลับไปละโว้ จากนั้นขุนหลวงพะงั่วเป็นกษัตริย์ขึ้นครองอยุธยา

ขุนหลวงพะงั่วสิ้นพระชนม์ ฝ่ายโอรสก็ขึ้นครองอยุธยา แต่ถูกพระราเมศวรจาก (เมืองละโว้) กำจัด แล้วพระราเมศวรก็ขึ้นครองอยุธยา

พระราเมศวรสวรรคต ฝ่ายโอรสคือพระรามราชาเสวยราชย์อยุธยา ก็ถูกเจ้านครอินทร์จากสุพรรณภูมิกำจัด จากนั้นเจ้านครอินทร์ขึ้นครองอยุธยา มีหลักฐานเอกสารว่า พระรามราชา เชื้อสายอโยธยา-ละโว้เสวยราชย์อยุธยา (ระหว่าง พ.ศ.1938-1952) ขัดแย้งรุนแรงกับเจ้านายขุนนางที่เป็นเชื้อสายรัฐสุพรรณภูมิ พบหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สรุปดังนี้

ตอนแรก พระรามราชาสั่งจับกุมเจ้าเสนาบดีที่รับราชการในราชสำนักอยุธยา ส่วนเจ้าเสนาบดีหนีรอดอยู่เมืองปท่าคูจาม (เวียงเหล็ก) ซึ่งเป็นขุมกำลังของสยาม

ตอนหลัง เจ้าเสนาบดีนัดหมายทางการเมืองกับเจ้านครอินทร์ รัฐสุพรรณภูมิ เมื่อถึงกำหนดเจ้าเสนาบดียกกำลังผู้คนเมืองปท่าคูจามกับสยาม-สุพรรณภูมิ ยึดอยุธยาแล้วเชิญเจ้านครอินทร์ขึ้นเสวยราชย์อยุธยา (ได้นามพระนครินทราธิราช)

ฝ่ายพระรามราชาเชื้อสายอโยธยา-ละโว้ถูกกักขังไว้ในเมืองปท่าคูจาม (ขุมกำลังของกลุ่มสยาม สุพรรณภูมิ) และในที่สุดก็ไม่รอด

อำนาจของภาษาไทย

ภาษาไทยมีอำนาจบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุจากกษัตริย์พูดภาษาไทยในวงศ์สุพรรณภูมิ (ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง-น้ำเพชร) ขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยา

พระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) เป็นกษัตริย์พูดภาษาไทยต้นวงศ์สุพรรณภูมิ ที่เสวยราชย์อยุธยา แล้วสืบวงศ์ครองอยุธยายาวนานถึง 160 ปี ระหว่าง พ.ศ.1952-2112 (เสียกรุงครั้งแรก) ทำให้อยุธยาเป็นรัฐสยามพูดภาษาไทยเป็นภาษาราชการ

ภาษาไทย (สำเนียงลุ่มน้ำโขง) เป็นภาษาทางการของชนชั้นนำสยามรัฐสุพรรณภูมิซึ่งเป็นเครือญาติและเครือข่ายการค้าสำคัญของพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) ที่เป็นกลุ่มสยามดั้งเดิมเริ่มแรก (เสียมกุก) ที่เติบโตเป็นรัฐ

ความเคลื่อนไหวของภาษาไทยตามเส้นทางการค้าดินแดนภายใน จากลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง-น้ำเพชร แสดงออกเป็นสัญลักษณ์ในเรื่องเล่า (ตำนาน, นิทาน) ท้าวอู่ทอง (หรือพระเจ้าอู่ทอง) จากลุ่มน้ำโขง ลงช่องเขาเมืองด่านซ้าย (อ.ด่านซ้าย จ.เลย), เมืองนครไทย (อ.นครไทย จ.พิษณุโลก) และเมืองชาติตระการ (อ.ชาติตระการ จ.อุตรดิตถ์), ล่องตามลำน้ำแควน้อย ลงแม่น้ำน่าน (จ.พิษณุโลก) ผ่านแม่น้ำยม (จ.สุโขทัย) ไปแม่น้ำเพชร (จ.เพชรบุรี) จากนั้นย้อนขึ้นไปสร้างอยุธยา

ภาษาไทยมีความสำคัญจากการเป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายใน และมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเมื่อจีนอุดหนุนการค้าสำเภากับรัฐสุพรรณภูมิ ทำให้รัฐสุพรรณภูมิขนย้ายทรัพยากรมากขึ้นกว่าเดิมจากดินแดนภายในลงไปอ่าวไทยซื้อขายแลกเปลี่ยนกับจีน จึงยิ่งผลักดันภาษาไทยทวีความสำคัญแล้วพัฒนาเป็นภาษาทางการของรัฐ

เมื่อกษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิขยายอำนาจ (ด้วยพลังการอุดหนุนของจีน) เป็นกษัตริย์อยุธยา จึงมีความหมายดังนี้ (1.) กษัตริย์อยุธยาตรัสภาษาไทย (2.) ราชสำนักอยุธยา ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ (3.) รัฐอยุธยา เป็นรัฐของชาวสยาม พูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง

ในอยุธยาตั้งแต่แผ่นดินกษัตริย์จากรัฐสุพรรณภูมิ หลัง พ.ศ.1952 ภาษาไทยมีอำนาจเหนือภาษาอื่น เช่น ภาษาเขมร ฯลฯ จึงเป็นพลังดึงดูดคนหลายชาติพันธุ์เข้าหาภาษาไทยเพื่อประโยชน์ทางการค้าและการเมือง เมื่อสมประโยชน์นานไปก็กลายตนเป็นไทย โดยเฉพาะพวก “ขอม” ที่พูดภาษาเขมร (ได้รับยกย่องเป็นผู้รู้ครูอาจารย์) พากันเปลี่ยนเป็นพูดภาษาไทย เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งก็กลายตนเป็นไทยผู้รู้ทางศิลปวิทยาการ เช่น อักษรศาสตร์, โหราศาสตร์ เป็นต้น

อักษรเขมร เขียนภาษาไทย เรียก “ขอมไทย” ที่เป็นความรู้พื้นฐานของพระสงฆ์ตั้งแต่สมัยอยุธยา, ธนบุรี, ถึงรัตนโกสินทร์ เพิ่งเลิกไปเมื่อแผ่นดิน ร.6 หลังมีการศึกษาประชาชนตามแบบตะวันตก •

 

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ