อภิญญ ตะวันออก : ลงแวกรำลึก (จบ)

คำปรารภ

ไม่ต่างจากราชธานีเก่าแห่งความรุ่งรางเมืองพระนครที่เคยถูกภัยสงครามทำลาย

แต่ “ลงแวก” คือสิ่งที่ชาวเขมรรุ่นหลังต่างพากันบอกเล่าถึงความวิจิตรตระการในราชธานีเก่าแห่งนี้ที่สร้างโดยวิธีปกป้องตนจากสงคราม จนยากที่จะลืมว่า ในยามที่ราชธานีแห่งนี้ต้องถูกคุกคามจากมหาทัพของศัตรูที่มากันทั้งทางบกและทางน้ำ

ลงแวกแหลกลาญและไม่เคยกลับมาได้อีก

ความเป็นจริงที่ประสบนี้ ดูจะไม่ต่างกับอยุธยาจากกรณีที่ทัพพม่าเผาทำลาย ในต่างกรรมต่างวาระ

ทว่า คุณค่าของราชธานีแห่งนั้น นอกจากไม่เคยลบหายไปจากคนรุ่นหลังแล้ว

ยังเต็มไปด้วยภาคพิสดารแห่งความเชื่อต่างๆ นานาที่อยู่ในคำบอกเล่า เรื่องเก่าตำนานแลผู้มีบุญญาธิการ

อาทิ ปาฏิหาริย์ตำนานพระโค-พระแก้ว ตลอดจนพระเสื้อเมือง หรือ “พระอัฏฐารส-พระพุทธรูปทั้งสี่” ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อการสร้างเมืองอันรุ่งรางโดยพระบาทจันราชา/จันเรียเจียแต่ครั้งแรก แห่งความเป็นราชธานีที่ลือยศยอดเยี่ยมฟ้า แดนสวรรค์ ฯ

จนบัดนี้ ก็ยังไม่พบว่าจะมีราชธานีใหม่ที่สร้างหลังยุคเมืองพระนครใดจะวิจิตรสวยงามและเนียนมานโอฬาริกกว่าลงแวกไปอีกแล้ว

 

หน่อกษัตริย์เขมรจากกรุงศรีฯ

โยงจากฉบับที่แล้ว ต่อกลุ่มนักเดินเรือสเปนและโปรตุเกสสมัยลงแวก โดยพระบาทจันราชา/เรียเจีย ต่อมาเมื่อกรุงแตกแล้ว ชาวต่างชาติกลุ่มนี้ยังออกตามหาและเชิญหน่อกษัตริย์กรุงลงแวกที่หนีไปถึงเมืองลาวให้กลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง

และนั่นทำให้เกิดเหตุการณ์ที่มี “ลูกหลานเจ้ากรุงลงแวก” อันแตกฉานซ่านเซ็นในกาลต่อมาได้ ได้กลับมาครองราชย์

ในจำนวนนั้นก็มีหน่อพุทธางกูรถึงสององค์ ที่มีเชื้อสายไทยด้วย

โดยในปลายยุคลงแวกไปแล้ว พอเมื่อเริ่มก่อตั้งราชธานีใหม่คือ กรุงอุดงค์เมียนจัยนั้น พระบาทพระธรรมราชสมภาร หรือพระองค์ตู (พ.ศ.2172-2177) โอรสองค์โตในพระบาทชัยเชษฐาที่ 2 กับแม่หญิงชาวอโยธยาคือเจ้าจอมสุข

ตอนที่องค์ตูจะขึ้นครองราชสมบัตินั้น ราชธานีในพระองค์ ยังตั้งอยู่ที่ละว้าแอมโดยมีผู้สำเร็จราชการคือ พระอุทัยซึ่งมีศักดิ์เป็นอา และยึดพระคู่หมั้นของพระองค์ตูระหว่างที่ทรงผนวช

องค์ตูจึงเมื่อขึ้นครองราชย์ ต้องประทับที่เกาะโฆลกเป็นราชสำนัก แต่ความที่ไม่อาจตัดใจขาดจากพระคู่หมั้น จึงแต่งเพลงยาวนัดพบเจ้าหญิงบุปผาวดี ครั้นพอพระอุทัยทราบ

“จึงนำกำลังร่วมกับกองทัพโปรตุเกสออกไปตามจับเจ้าหญิงบุปผาวดีที่เกาะโฆลก พระบาทพระธรรมราชสมภารทรงนำกองทหารต่อสู้ แต่สู้ไม่ได้จึงหนีไปที่เมืองกัญชอร์ จังหวัดกระแจะ ทหารโปรตุเกสตามไปทัน ก็เสด็จหนีไปบนยอดตาล ถูกทหารใช้ปืนยิงตกลงมาทิวงคต” (ทองสืบ ศุภะมาร์ค, น.101)

กษัตริย์ลูกครึ่งเขมร-ไทยพระองค์นี้ จึงครองราชย์สั้นมากเพียง 5 ปี ทรงมีความปราดเปรื่องด้านกวีนิพนธ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “พระราชสมภาร” นักเลงกลอนเก่าของชาวเขมร

ในรัชกาลต่อมาคือ พระบาทพระราชธิราช หรือพระองค์นู (พ.ศ.2177-2183) พระน้องยาเธอต่างมารดาคือเจ้าจอมทองซึ่งเป็นชาวอยุธยาเช่นกัน ทว่า ครองราชย์ที่กรุงอุดงค์ฯ ได้เพียง 6 ปี ก็ถึงแก่ทิวงคต

เป็นอันจบหลานเจ้ากรุงลงแวกที่เกิดจากเจ้าจอมไทยในอยุธยา สมัยหลังกรุงลงแวกแตก และพระบิดาได้ติดตามพระอัยกา (สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ) ไปอยุธยาในฐานะตัวประกัน ซึ่งพระองค์จันทร์ที่เกิดจากเจ้าจอมลาว และเป็นพระอนุชาพระองค์ตูและองค์นู

หลังจากปราบพระอุทัยและพวกแล้ว ทรงขึ้นครองราชย์ในนาม “พระบาทรามาธิบดี” (พ.ศ.2185-2201) แต่ทรงฝักใฝ่กับชาวจามชวาในตโบงฆมมตั้งแต่ครั้งปราบกบฏ ทำให้ทรงเข้ารีตเป็นอิสลาม และทรงพระนามว่า “อิบราฮิม”

ด้วยที่ขัดต่อธรรมเนียมราชประเพณี ทำให้พระองค์ถูกส่งตัวไปขังเมืองญวน เป็นอันหมดสิ้นรากเหง้าเหล่ากษัตริย์ลูกหลานกรุงลงแวกที่สืบเชื้อสายร่วมอโยธยาทั้งทางตรงและอ้อม

ซึ่งล้วนแต่มีชีวิตในการครองราชย์ที่แสนสั้นและพิสดารในต่างกรรมต่างวาระ

 

เรื่องพิสดารในความเชื่อ

เริ่มจาก ครั้งแรกที่พระองค์จันเรียเจีย (พ.ศ.2058-2098) ที่บังเอิญล้มป่วยบริเวณละแวกใกล้กับราชธานีดังกล่าว ทรงได้พบกับชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่าต่อมาเขาได้เสียสละสร้างวัดประจำพระองค์ทั้งที่ทราบล่วงหน้าว่า หากทำสำเร็จแล้วตนเองจะตาบอด อันเป็นไปตามคำทำนายที่เขาทราบในชะตากรรมมาก่อนหน้า

และนั่นจึงเป็นเหตุว่า ทำไมพระองค์จันเรียเจียจึงสร้างกรุงลงแวก ณ บริเวณดังกล่าว อันมีวัดเก่าแก่ประจำกรุงคือ วัดตะแลงแกง ซึ่งเป็นอารามหลวง เดิมทียังเป็นอารามประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือ “พระอัฏฐารส” หรือ “พระพุทธรูปจตุรพักตร์” อันเปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเพื่อปกปักรักษากรุงราชธานี

ส่วน (รูปปั้น) พระโคพระแก้ว สัตว์คู่บุญบารมีแห่งบ้านเมืองกัมพูชา ตามตำนานเรื่องเล่าเขมร กล่าวว่า ไทยพยายามช่วงชิงไปเป็นสมบัติของตน โดยองค์จริงนั้น ถูกนำไปไว้ที่ ณ พระนครศรีอยุธยา ส่วนองค์พระโคจำลองนั้น ยังมีให้เห็นที่วัดตะแลงแกงปัจจุบัน

โดยนอกจากบริเวณที่เคยประดิษฐาน “พระอัฏฐารส” บริเวณซุ้มทั้ง 4 ด้านของพระวิหารนั้น ปัจจุบันได้สร้างพระพุทธรูปองค์จำลองขึ้นแทน

“ตามพงศาวดารเขมร จ.ศ.1217 บรรยายการสร้างราชธานี ที่เริ่มจากการสร้างวัดประจำราชธานีโดยพระองค์จันเรียเจีย จากนั้น ทรงสร้างพระอัฏฐารสจำนวน 4 องค์ ด้วยไม้จริงและศิลา พระพักตร์ผินหน้าออกไปทั้ง 4 ทิศ สันนิษฐานว่า เดิมน่าจะประทับในพระอุโบสถวิหาร ซึ่งมีลักษณะเป็น “จตุรมุข” 4 ด้าน…นอกจากนี้ มีการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ประจำที่วัดดังกล่าว และพระพุทธรูปอื่นๆ ซึ่งประจำไว้ที่เนินเขาแห่งราชสำนัก” (“พลิกประวัติศาสตร์นอกตำรา ตามหาพระยาละแวก”, สารคดี/2556)

และเนื่องจากเจ้าพระยาละแวก/องค์พระสัตถา สามารถหลบหนีไปสตึงแตรงเสียก่อน ส่วนพระมหาอุปโยราช/พระศรีสุริโยพรรณถูกจับเป็นองค์ประกันที่กรุงศรีอยุธยา โดยต่อมาเจ้ากรุงลงแวกองค์สุดท้ายผู้นี้ ยังมีฐานะเป็นพระสัสสุระ/พ่อตาสมเด็จพระนเรศวร

สรุป จึงไม่น่าจะมีเรื่องพิธี “ปฐมกรรม” ตัดศีรษะแลเอาโลหิตล้างพระบาท ดังที่ร่ำลือกันต่อๆ มาของฝ่ายไทย

แต่ในหมู่ชาวเขมรนั้น กลับมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “พระอัฏฐารส” ที่ระบุได้ถูกกองทัพของศัตรู นำไปทิ้งในแม่น้ำตนเลสาบเขตกำปงฉนัง

ผ่านไปเกือบครึ่งพันปี ใครเล่าจะเชื่อว่า ตำนานผู้มีบุญญาบารมี (ฉบับพิศดารนี้) ยังถูกนำมาปรากฏไว้ใน (รัฐสมัย) ปัจจุบันของสมเด็จฮุน เซน ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องในหมู่คณะของตนว่า เป็นผู้สร้างและมีบุญญาบารมีเทียบได้ยิ่งกว่าสมัยลงแวกเลยทีเดียว

โดยเหตุนี้ จึงมีความพยายามที่จะสร้างพิธีกรรมตามรอยความเชื่อในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองในอดีต ที่คู่ควรต่อบารมีในสมเด็จฮุน เซน

ซึ่งก็จบลงที่การตาม “พระอัฏฐารส” ทั้ง 4 องค์ที่หายไปให้กลับคืนมา

 

แปลก ที่การหยิบโยงเรื่องนี้ เกิดขึ้นโดยคนในรัฐบาลของสมเด็จนั่นเอง

ดูเหมือนช่วงเวลาที่เกิดขึ้นนั้น ก็ใกล้ๆ กับช่วงเวลาของโปรเจ็กต์การขุดค้นเมืองเก่า เพื่อหาหลักฐานในการทำความกระจ่างของกรุงลงแวกโดยนักวิชาการแขฺมร์และเทศ-ญี่ปุ่นและออสเตรเลียนั้น กระบวนการสร้างมายาคติในแบบพิสดารก็เกิดขึ้นมาตามมาอย่างน่าตะลึงลาน

ที่ผ่านมา ได้แต่นึกว่ามีแต่ไทยหรือไม่ที่สร้างภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” ในภาคต่างๆ ตามขนบมายาคติและอำนาจทางการเมืองนำโดยชนชั้นสูงของประเทศ

ทว่า บางฉากในสงครามทางทัพเรือของภาพยนตร์นี้ ได้ถูกนำมาตัดต่อและเรียบเรียงใหม่โดยคณะที่เรียกตนเองว่ากลุ่ม “เอกสารมหาบุรุษเขมร” และกลายเป็นประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของกรุงลงแวกไปเสียนี่

นั่นหมายความว่า ฉากสงครามระหว่างไทย-พม่าในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งควรจะเป็นบริบททางประวัติศาสตร์ระหว่างกรุงศรีฯ กับกรุงหงสาฯ นั้น กลับกลายเป็นสงครามกรุงศรีฯ กับลงแวกไปเสียนั่น

แลความรำลึกนี้ ยังมีพบว่า ในปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา มีคณะออกญาและจุมเตียวในรัฐบาลฮุนเซนได้ทำพราหมณ์พิธีบวงสรวง ณ บริเวณกรุงเก่ากำปงฉนังริมฝั่งแม่น้ำตนเลสาบ

พิธีนี้มีขึ้น นัยว่าเพื่อค้นหาพระพุทธรูป “พระอัฏฐารส-จตุรพักตร์” 4 องค์ ที่หายไปจากสมัยลงแวก

คณะดังกล่าวยังอ้างว่า ในราวปี พ.ศ.2557/58 พวกตนได้ทำพิธีดังนี้มาแล้ว และประสบความสำเร็จจากการค้นหาพระอัฏฐารสมาแล้วถึง 3 องค์ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพระพุทธรูปศิลาทั้งสิ้น

ที่พิสดารกว่านั้น ดูเหมือนพวกเขาจะไม่ทราบว่ายังมีพระพุทธรรูปลงแวกองค์หนึ่งซึ่งแกะสลักจากไม้ที่มีอายุ 423 ปี เชื่อว่าไม่น่าจะหลงเหลือสภาพตามคณะดังกล่าวกำลังทำภารกิจ

ดูเหมือนพวกเขานั้นรู้อยู่แก่ใจดีว่า กำลังตามหาอะไร ในพิธีบวงสรวงกึ่งสืบชะตาผู้มีบุญญาธิการ ซึ่งก็คือ สมเด็จเสน (*) หรือเจ้ากรุงลงแวกฉบับใหม่ ซึ่งก็มิใช่ใครอื่น

แต่คือสมเด็จฮุน เซน ผู้กำลังนำพาตนเองไปสู่การปกครองที่พิสดาร

——————————————————————————————————–
(*) ฮุน นาล เปลี่ยนชื่อเป็นฮุน เซน : ตัวเอกเรื่องเปรง “เนียงกงไร” (พระรถ-เมรี) ที่ชาวเขมรเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในเขตกำปงฉนัง หรือ “พระรถ-เมรี” ในฉบับของไทย