สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน เยือน ร.ร. I see U ข่าวดีที่บ้านบุญเลอ (8)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

อิ่มอร่อยกับข้าวเหนียว แคบหมู น้ำพริกหนุ่ม ผักสด บนแคร่ไม้ไผ่กลางแจ้งริมสนามโรงเรียนบ้านสบเมย ขอบคุณครูและนักเรียนที่ให้ความเอื้อเฟื้อเสร็จ คาราวานการศึกษา กพฐ.สัญจรบอกลาเจ้าภาพ ออกเดินทางมุ่งหน้าไปตามเส้นทางบนไหล่เขาสูงชันต่อ เพราะครูและนักเรียนข้างหน้ากำลังรออยู่

โรงเรียนบ้านบุญเลอ ม.5 ตำบลแม่สามแลบ ท่ามกลางป่าเขาล้อมรอบด้วยป่าไผ่ ภายในอาณาบริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติสาละวิน ต้นไม้ใหญ่น้อยร่มรื่น ด้านหลังอาคารเรียนมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โรง แผงโซลาร์เซลล์เรียงเป็นแถวยาว

ครูชำนาญการรักษาราชการแทนผู้อำนวยการบอกว่าที่โรงเรียนไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ครูต้องขี่มอเตอร์ไซด์ไปไกลประมาณ 3 กิโลเมตรเพื่อหาจุดที่มีสัญญาณ การติดต่อสื่อสารที่ผ่านมาใช้ดาวเทียมไอพี สตาร์ กำลังจะเปลี่ยนแปลงตามนโยบายใหม่

ครูบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. เลยแจ้งข่าวดี ปีใหม่ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการให้ทุกโรงเรียนมีไฮสปีดอินเตอร์เน็ต ให้อำนาจการซื้อบริการกับผู้อำนวยการ เลือกใช้เครือข่ายใดก็ได้ที่คิดว่าที่ดีที่สุด จากเดิม สพฐ. ใช้บริการเครือข่ายทีโอทีเป็นหลัก ต่อไปนี้ให้คนใช้เลือกเอง

ข่าวดีจะมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง แต่สำหรับพวกเขาแล้วปัญหาพื้นฐานนอกจากไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ หน้าฝนไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ขาดหายเพราะไร้แดด กับใช้หลายปีแบตเตอรี่เก็บไฟหมดอายุ ไฟติดๆ ดับๆ กระทบกับเครื่องมือสื่อสารต่างๆ รวมถึงคอมพิวเตอร์ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไม่เสถียร

หลักประกันจึงอยู่ที่ความแน่นอนของกระแสไฟจากแผงโซลาร์เซลล์

 

กับปัญหาที่กลายเป็นชีวิตปกติไปแล้วโดยเฉพาะครู ยังคงได้ยินเรื่องเล่าเช่นเดียวกับโรงเรียนที่ผ่านมา

ถนนจากบ้านไปโรงเรียนไม่มีรถโดยสาร ต้องขับรถลัดเลาะไต่ขึ้นไปตามสันเขา ขรุขระ คดเคี้ยว ทั้งหิน ทั้งดินลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อหัวสั่นหัวคลอน มอเตอร์ไซค์ต้องมีโซ่สำรองพิเศษเส้นที่สองไว้ช่วยพ่วงลากจูงกัน

วิธีแก้ปัญหาความยากลำบากในการเดินทางช่วงหน้าฝน โรงเรียนเลยกำหนดปฏิทินการศึกษาพิเศษให้ครูพักที่โรงเรียน สัปดาห์ที่ 1 ถึง 3 สอนเต็มที่ทั้งอาทิตย์ ตั้งแต่จันทร์ถึงวันเสาร์ อาทิตย์ที่ 4 ให้หยุด

ครูนอกจากสอนหนังสือแล้วต้องคอยช่วยเหลือชาวบ้าน เวลามีคนไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วยตามหาใครไม่ได้ก็มาหาครูให้ช่วย เอาขึ้นซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปสถานีอนามัยไกล 7 กิโล

นี่คือชีวิตจริงของครู งานล้นมืออย่างนี้แล้ว จะถามหาคุณภาพ คะแนนทดสอบ โอเน็ต เอ็นที ปิซ่า ต้องผ่านเกณฑ์เฉลี่ยระดับนั้น ระดับนี้ให้ได้ คิดแล้วเศร้า แต่ครูก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำ

 

การเรียนการสอนวิชาการนอกจากหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรสถานศึกษาแล้ว การสอนทักษะอาชีพและทักษะชีวิต ให้เด็กมีวินัย รับผิดชอบ ช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือกันเอง ผ่านกิจกรรมหลายโครงการ ครูช่วยกันเต็มที่

หนึ่งในนั้น โครงการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน นำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ สิ่งประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ การทำน้ำหมักชีวภาพ ทำเอกสารแนะนำอุปกรณ์ ขั้นตอนตามลำดับแบบเข้าใจง่าย

คุยกับครูพละคนเชียงใหม่เล่าว่า เธอสอนภาษาไทยและวิชาอื่นด้วย เลยเข้าอบรมหลักสูตรพัฒนาครูหัวละหมื่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจัด เพื่อเอามาใช้พัฒนาการสอนภาษาไทย อีกหลักสูตรที่อยากอบรมคือการใช้เทคโนโลยี การผลิตสื่อ การใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ แต่เสียดายถูกยกเลิกเพราะคนลงไม่ครบ

จากปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน โรงเรียนได้รับความช่วยเหลือจากโครงการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมสำหรับโรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้า โดย กสทช. และบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด พ.ศ.2553

ต่อมาปี 2554 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน สนับสนุนโครงการจนถึงปี 2556 ทุกหมู่บ้านในแม่ฮ่องสอนที่ไฟฟ้าภูมิภาคโยงสายไปไม่ถึง คนมีทะเบียนบ้านจะได้แผงโซลาร์เซลล์ 1 ชุด ใช้ไฟได้ 4-5 หลอด แต่ถ้าดูทีวีต้องติดอุปกรณ์จานรับสัญญาณดาวเทียมเพิ่ม ชาวบ้านควักจ่ายเอง แผงโซลาร์เซลล์ เมื่อแบตเตอรี่เสื่อมสภาพต้องหาเงินซื้อใหม่

 

ครับ ท่ามกลางเรื่องเล่าที่คนเมือง คนผ่านทางนานทีได้ไปพบ คิดว่าเป็นเรื่องเศร้าที่หมู่บ้านอีกมากมายไม่มีไฟฟ้าใช้ ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน แต่ผู้คน ครู นักเรียนส่วนใหญ่ร่าเริง แจ่มใส ใบหน้าอิ่มสุข

เหตุที่สายส่งของการไฟฟ้าภูมิภาคไปไม่ถึงเพราะคิดว่าไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ต้องลงทุนสูง ประกอบกับการก่อสร้างต้องลากสายยึดโยงยาวทำทางตัดโค่นป่าเข้าไป เป็นช่องทางให้พวกตัดไม้ทำลายป่าสะดวกขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลยไม่ค่อยยินดีเท่าที่ควร

คำตอบสุดท้าย ชาวบ้าน ครู นักเรียน ผู้บริหารโรงเรียน เลยต้องพึ่งพระอาทิตย์ หรือไม่ก็หาครื่องปั่นไฟใช้น้ำมันไว้สำรองกันต่อไป

ความหวังล่าสุด ก่อนสิ้นปีที่ผ่านมา วันที่ 4 ธันวาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบคำขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อดำเนินการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าระดับแรงดัน 11 กิโลวัตต์ ช่วงสถานีไฟฟ้าฮอด อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ถึงสถานีไฟฟ้าแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ตามโครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าระยะที่ 9 ส่วนที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

สายส่งตามโครงการใหม่ไปถึง อ.แม่สะเรียงแล้ว จะมีผลต่อไปถึงต่างอำเภอสบเมย แม่ลาน้อย ฯ แค่ไหน ทำให้โรงเรียนที่ยังไม่มีไฟฟ้าถาวรใช้ สว่างไสว คอมพิวเตอร์เลิกติดๆ ดับๆ หรือไม่ ต้องติดตาม

ก่อนคณะจะบอกลา ผอ. ลาครู ลานักเรียนเพื่อไปต่อ ครูพีระยุทธ์ สุขสมบูรณ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน มอบข้าวหลาม แตง และพริกกะเหรี่ยงหอบใหญ่ สัญลักษณ์โรงเรียนกลางป่าเขาภูดอยให้เป็นที่ระลึก

ผมยังไม่ลืมรสข้าวหลามไผ่ป่ากับรสเผ็ดพริกกะเหรี่ยง มาจนถึงวันนี้