วิรัตน์ แสงทองคำ : สื่อกับสังคมไทย พลังสื่ออินเตอร์เน็ต (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์-ทีวี เผชิญสถานการณ์ใหม่

ดั่งระลอกคลื่นถาโถมอย่างไม่ตั้งตัว

ยากจะเข้าใจและปรับตัว

สื่อดั้งเดิมหรือที่เรียกว่า Industrial media มีความหมายครอบคลุมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี และภาพยนตร์ โดยมีองค์กรหรือธุรกิจบริหารจัดการ

ในระดับโลก สื่อดั้งเดิมทรงอิทธิพล มักอยู่ในมือกลุ่มธุรกิจใหญ่

แต่สำหรับสังคมไทยถือว่ายังเป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และเพิ่งจะงอกงามไม่ถึง 3 ทศวรรษ

ความพยายามเพื่อความเชื่อมโยง สื่อสิ่งพิมพ์กับทีวี (ดังที่กล่าวมาในตอนที่แล้ว-สื่อกับสังคมไทย กระแสธุรกิจทีวี มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560) ปรากฏอย่างจริงเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยเหตุและปัจจัยสำคัญๆ เกี่ยวข้องกับความสำเร็จทางธุรกิจของทีวี ตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้คนวงกว้างขึ้นๆ เป็นลำดับ

ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์เผชิญปัญหาทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540

ที่สำคัญ รายได้จากการโฆษณาสินค้าลดลงอย่างฮวบฮาบ

อันที่จริงผู้บริหารสื่อดั้งเดิม มองและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงว่าด้วยเนื้อหา ปรากฏลักษณะหลอมรวมมากขึ้นอยู่ด้วย

ด้านหนึ่ง–โมเดลข้ามสื่อ การมีสื่อหลากหลาย เป็นโมเดลของความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรธุรกิจสื่อ ซึ่งมองเห็นและอ้างอิงมาจากโลกตะวันตก

อีกด้านหนึ่ง-ว่าด้วยเนื้อหา มีลักษณะผสมผสานมากขึ้น จากงานเขียน ภาพถ่าย เข้ากับการงานออกแบบนำเสนอบนหน้ากระดาษ ผสมผสาน สู่ทักษะ การเล่าเรื่อง บทสนทนา ด้วยเสียง กับการผลิตภาพเคลื่อนไหวด้ายทักษะและงานศิลป์อ้างอิงกับภาพยนตร์ จากเนื้อหา เน้นข่าวสาร ไปสู่ความหลากหลาย สารคดี รายการบันเทิง และอื่นๆ

ว่าไปแล้วในช่วงทศวรรษก่อนหน้าในเชิงวิชาชีพ มีการหลอมรวมที่ตื่นเต้นและน่าดึงดูด

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นสื่อดั้งเดิมในความหมาย Industrial media ซึ่งมีความสำคัญอยู่ที่การผลิตเนื้อหา (content) อยู่ในเงื้อมมือ อยู่ในทีมงาน อยู่ภายใต้การควบคุม การบริหารด้วยตนเองทั้งสิ้น ซึ่งแตกต่างจากสื่อใหม่ กำลังมีอิทธิพลมากขึ้นๆ อย่างคาดไม่ถึงโดยใช้เวลาขยายอิทธิพลทั่วโลก ไม่ถึง 2 ทศวรรษ

นั่นคือการเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วของโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้คนรวมทั้งสื่อมักมองโลกในเชิงจินตนาการในแง่ดี

 

“สังคมอินเตอร์เน็ตกำลังขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง อันเนื่องมาจากแรงขับที่สำคัญจากธุรกิจที่ทุ่มเททรัพยากรต่างๆ อย่างมากมายลงไปเพื่อสร้างเครือข่าย กำลังเป็นสังคมที่มีบุคลิกใหม่ ผู้คนในสังคมสามารถติดต่อกันอย่างรวดเร็วและทั่วถึงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นการติดต่อสื่อสารข้ามความเป็นชาติ ความเป็นประเทศ ไม่มีพรมแดนทางภูมิศาสตร์ มุมมองหนึ่งเป็นการสร้างสังคมใหม่ สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ วัฒนธรรม โนว์ฮาวอย่างมีประสิทธิภาพ ในแง่พัฒนาการของมนุษยชาติถือเป็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญ”

ผมเองในฐานะสื่อ มองเช่นนั้น เมื่อราว 2 ทศวรรษที่แล้ว ในยุคต้นๆ อินเตอร์เน็ต (ตัดตอนมาจากข้อเขียน–ว่าด้วยอินเตอร์เน็ต 21 มกราคม 2539)

จากนั้นไม่นานตามมาด้วยปรากฏการณ์อันน่าทึ่งจาก Platform พื้นฐานการถึงอินเตอร์เน็ตสู่ Social media

“บางคนเชื่อว่าหากอินเตอร์เน็ตพัฒนาไป สื่อดั้งเดิมซึ่งมีทักษะใกล้เคียงกับการจัดการข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต จะสามารถปรับตัวได้ แต่ความจริงแล้วผู้เล่นรายใหม่ซึ่งสั่นคลอนสื่อดั้งเดิม ส่วนใหญ่กลับไม่มีภูมิหลังเกี่ยวกับประสบการณ์มาจากสื่อดั้งเดิมเลย เปิดพื้นที่ใหม่ๆ นำเสนอและสื่อสารด้วยข้อมูล ข่าวสารและเนื้อหาต่างๆ มาจากแนวคิดและกระบวนการทำงานแตกต่างจากสื่อดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง Social media มาทำงานเรียกว่า Consumer-Generated Media (CGM)” ผมเองเคยนำเสนอประเด็นข้างต้นมาหลายครั้ง

โดยเฉพาะปรากฏการณ์และอิทธิพลของ Google และ Face book ธุรกิจโมเดลใหม่ ยากจะอรรถาธิบาย ก่อกำเนิดขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ GenX และ GenY ในสังคมอเมริกัน

 

Google เกิดขึ้นในปี 2541 ขณะที่ Face book ตามมาในปี 2547 เรื่องราวและมุมมองเกี่ยวกับเครือข่ายธุรกิจอิทธิพลทั้งสองเมื่อเร็วๆ มานี้ มีคนเสนอไว้อย่างน่าสนใจ

“Face book และ Google ครอบครองรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้โฆษณาบนอินเตอร์เน็ตทั่วโลก เพื่อให้ยังได้เป็นผู้นำในตลาด แพลตฟอร์มทั้งสองก็ต้องขยายครือข่าย แย่งความสนใจจากผู้ใช้ ที่ในตอนนี้ก็ทำโดยการให้ผู้ใช้ได้ใช้แพลตฟอร์มที่สะดวก ยิ่งผู้ใช้ใช้มากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัท ส่วนผู้ให้บริการเนื้อหา หรือ content providers ก็ต้องไปช่วยสร้างรายได้ให้บริษัทเหล่านี้ เพราะไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ แถมยังต้องยอมรับเงื่อนไขใดๆ ก็ตามที่แพลตฟอร์มกำหนด กำไรมหาศาลที่ได้รับส่วนใหญ่มาจากทั้งการหลบเลี่ยงความรับผิดต่อเนื้อหาใดๆ และหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายค่าเนื้อหาที่อยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเอง”

นั่นคือตอนสำคัญ ปาฐกถาอันเร้าใจของ จอร์จ โซรอส (George Soros นักลงทุน ผู้บริหารกองทุน ชาวอเมริกันฮังกาเรียน ผ่านการศึกษาจาก London School o Economics แห่งอังกฤษ) ในงาน World Economic Forum ที่ Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 25 มกราคม 2561(สำนวนแปลไทย อ้างจาก the Momentum-www.themomentum.co 29 มกราคม 2561)

ประเด็นสำคัญที่จอร์จ โซรอส ควรตั้งขึ้น

หนึ่ง–บทบาทผู้ให้บริการเนื้อหา (content providers) “ต้องยอมรับเงื่อนไขใดๆ ก็ตามที่แพลตฟอร์มกำหนด” “(Face book และ Google) หลบเลี่ยงความรับผิดต่อเนื้อหาใดๆ และหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายค่าเนื้อหาที่อยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเอง” นั้นคือมุมมองสะท้อนแก่นแท้ธุรกิจที่เรียกว่า Consumer-Generated Media (CGM)

สอง-โมเดลธุรกิจ รายได้มาจากโฆษณาในอินเตอร์เน็ต “Face book และ Google ครอบครองรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้โฆษณาบนอินเตอร์เน็ตทั่วโลก” และ “content providers ก็ต้องไปช่วยสร้างรายได้ให้บริษัท” ด้วย

Google เริ่มต้นธุรกิจระบบค้นหาข้อมูลและระบบเมล์ (Gmail) ที่สำคัญคือการเกิดขึ้น Google Chrome ระบบเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (web browser) ในช่วงปี 2551 จนกลายป็น web browser หลัก ครองส่วนแบ่งมากกว่าที่สุดถึง 66% ในระบบพีซี และมากกว่า 50% ผ่านสมาร์ตโฟน Google Chrome ประหนึ่งเจ้าของสัมปทานพื้นที่ในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งบางคนเรียกธุรกิจโมเดลนี้เป็นผู้กำหนดมาตรฐานหรือ standard business ว่าไปแล้วโลกตะวันตกมีบทบาทสำคัญมานานแล้ว โดยพัฒนาจากมาตรฐานเฉพาะ สู่มาตรฐานเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตปัจเจกในวงกว้างมากขึ้น

ผู้เข้ามาสร้าง Website เป็น content providers โดยที่ Google ไม่ต้องลงทุนเอง ซึ่งแตกต่างจากสื่อดั้งเดิม ซ้ำยังสามารถบริหารพื้นที่ตามเงื่อนไขที่ตนเองกำหนด โดยเฉพาะการหารายได้จากโฆษณาสินค้า ไม่เพียงสื่อดั้งเดิมของไทย ไม่ว่าสื่อสิงพิมพ์ ทีวี รวมทั้งกลุ่มบุคคล องค์กรทั้งธุรกิจและไม่ใช่ธุรกิจ ต้องมี website blog หรือ social media ของตนเองประหนึ่งเป็นสัญลักษณ์สำนักงาน ที่ติดต่อ ค้าขาย ถือเป็นโลกที่แตกต่าง เป็นทางเลือก และโอกาสที่มากขึ้น ขณะเดียวกัน ได้กลายเป็นผู้เช่าช่วงในระบบสัมปทานของ platform ดังกล่าว

เช่นเดียวโมเดลกับ Google Maps (เปิดตัวปี 2550) ระบบข้อมูลแผนที่เป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างมาก ทั้งในเง่ข่าวสาร (สื่อดั้งเดิมไทย มักใช้ในเชิงประยุกต์ไม่ค่อยเป็น) และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบโลจิสติกส์

ในเวลาเดียวกัน Google Maps พัฒนาระบบหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือการนำเสนอข้อมูลจราจรแบบเรียลไทม์ (Real time) อาศัยการจัดระบบข้อมูล จากตำแหน่งของผู้ใช้สมาร์ตโฟน ผู้ใช้รถ มาสร้างบริการอันน่าทึ่งต่อวิถีชีวิตผู้ใช้ท้องถนน

ไม่เพียงการสร้างรายได้ของ Google หากยังทำหน้าที่อันทรงอิทธิพลได้มากกว่าตำรวจจราจร โดยเฉพาะกรณีประเทศไทย

 

กรณี YouTube เปิดตัวในปี 2548 เพียงปีเดียวจากนั้น Google ได้ซื้อกิจการเข้ามาอยู่ในเครือข่าย

จากข้อมูลล่าสุด บริการแชร์วิดีโอ YouTube มี content providers ผลิตรายการและเนื้อหาให้อยู่ตลอดเวลา ด้วยความยาวมากกว่า 400 ชั่วโมงในทุกนาที และผู้เข้าชมราวหนึ่งพันล้านในทุกๆ วัน เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลก พลังที่สร้างผลสะเทือนต่อธุรกิจทีวีโดยทั่วไป เป็น website ซึ่งผู้คนเข้าถึงมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจาก Facebook เครือข่ายสังคม สื่อสังคม (social media and social networking service) อันดับหนึ่งของโลกมีผู้ใช้มากกว่าสองพันล้านในแต่ละเดือน

ปรากฏตัวทั้งสองด้วยการเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการในประเทศไทย (Google เปิดในปี 25544 และ Facebook ในปี 2558) ย่อมสะท้อนพลังเครือข่ายธุรกิจทั้งสองมีเป็นอันมากในสังคมของเรา และเป็นช่วงเวลาแห่งการเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะที่หลายสิ่งหลายอย่างในมิติอื่นๆ ทั้งสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ค่อนข้างติดขัด

สังคมไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างมาก อย่างเหลือเชื่อ ใช้ชั่วโมงมากขึ้นๆ มีเครื่องมือเพื่อการเข้าถึงหลากหลาย โดยเฉพาะมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมีจำนวนมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศมาหลายปีแล้ว และสมาร์ตโฟนได้กลายเป็นอุปกรณ์หลักในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 ขณะเดียวกันตั้งแต่ปี 2559 ผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพื่อเข้าใช้บริการ Facebook เป็นอันดับหนึ่ง และ YouTube เป็นอันดับสอง

ปรากฏการณ์และแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมไทยดังกล่าว พุ่งไปยังสื่อดั้งเดิมมากที่สุด อย่างช่วยไม่ได้