มนัส สัตยารักษ์ : หวยอลเวง เดิมพันสูงกว่า 30 ล้าน

พอเริ่มมีข่าว “หวยอลเวง 30 ล้าน” ระหว่าง “ครูปรีชา” (นายปรีชา ใคร่ครวญ) กับ “หมวดจรูญ” (ร.ต.ท.จรูญ วิมูล) อดีตตำรวจ ผมนึกอยากจะเขียนถึงทันที มันเป็นข่าวเรื่องลอตเตอรี่ถูกรางวัลที่ 1 จำนวน 5 ใบ เงินรางวัล 30 ล้านบาท ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่จากการที่ถูกตำรวจอายัดเนื่องด้วยครูปรีชาแจ้งความดำเนินคดีโดยอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าของลอตเตอรี่ตัวจริง

ผมอยากเขียนถึงเพราะมีประสบการณ์อยู่บ้าง แต่ลังเลด้วยเกรงว่าความเห็นทางกฎหมายของคนที่เกษียณอายุราชการมากว่า 20 ปี โบราณเกินไปอาจจะผิดพลาดได้

ประกอบกับคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเป็นตำรวจ ก็อาจจะถูกมองว่าผู้เขียนมีอคติ ทำนอง “ตำรวจย่อมเข้าข้างตำรวจด้วยกัน”

ประสบการณ์ของผมก็ไม่น่าสนใจเท่าไรนัก เป็นแค่ประสบการณ์ของคนเคยทำลอตเตอรี่หาย ไม่ใช่ประสบการณ์ของคนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 (ฮา)

บทเรียนจากประสบการณ์นี้สอนผมแค่ว่าต้อง “ทำใจ” สถานเดียว

อีกประเด็นหนึ่งที่เห็นว่าตัวเองไม่น่าจะเป็นกลางได้ก็คือ ในระหว่างที่ยังชุลมุนสับสนกันอยู่ ความที่เป็นคนมีจินตนาการสูง ผมโน้มเอียงเชื่อถือตำรับโบราณที่ว่าด้วย “ลักษณะของอาชญากร” ของฝรั่ง ทั้งที่ตำราอันว่าด้วยลักษณะอาชญากร เป็นแค่สัญชาตญาณ ความรู้สึกสังหรณ์ สถิติ หรือความเชื่อส่วนบุคคล

มิใช่วิทยาศาสตร์อย่างพิมพ์ลายนิ้วมือ ม่านตา หรือ DNA

ตำรับโบราณที่ว่านี้ผมเคยตามไปดูของจริงในพิพิธภัณฑ์ตำรวจ กรุงปารีส และส่วนหนึ่งในความคิดยังคงยึดติดอยู่ราวกับคนจีนยึดถือโหงวเฮ้ง … “หน้าตาบอกยี่ห้อ”

ในกรณี “หวยอลเวง” นี้ ผมจึงจำเป็นต้องสงวนชื่อคนที่ผมค่อนข้างโน้มเอียงว่าใครเป็นพระเอก-ใครเป็นผู้ร้าย ระหว่างครูปรีชากับหมวดจรูญ เก็บไว้เป็นความลับในส่วนลึก และท้ายที่สุดก็ตัดสินใจว่าไม่เขียนถึงเสียเลยจะดีกว่า

ก่อนที่ข่าว “หวยอลเวง” เริ่มอลหม่าน คนที่ผมเรียกว่า “อาจารย์” ตามสถานะของท่าน ได้ไลน์ส่งข้อมูลมาให้พิจารณา…

…ลอตเตอรี่ไม่ใช่ทรัพย์มีทะเบียน ผู้ใดครอบครองย่อมเป็นเจ้าของ

ลอตเตอรี่ไม่ต้องจัดให้มีการลงชื่อก่อนซื้อเหมือนกู้เงินสหกรณ์ หรือการเข้าพักโรงแรม จึงระบุตัวผู้ซื้อและผู้ขายจำเพาะเจาะจงได้ยาก แม้ซื้อมาแล้วก็แบ่งขายให้ผู้อื่นได้ ไม่จำต้องขออนุญาตเหมือนอาวุธปืน

ทรัพย์เมื่อตกหล่นสูญหาย เจ้าของทรัพย์ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานทันที โดยเฉพาะหวยเป็นชุดหลายใบ เจ้าของอ้างว่าจำหมายเลขได้ มีภาพถ่าย ยิ่งเป็นการแจ้งความไว้จำเพาะเจาะจง พิสูจน์ได้ง่าย

มีฎีกาตัวอย่าง มีคำพิพากษาตัวอย่าง

“เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งความลงหมายเลขเลขสลากและหมายเลขชุดสลากไว้ก่อน กลับมีการแจ้งความในภายหลังจากที่สลากประกาศผลรางวัลแล้ว คดีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของสลากจริงหรือไม่ เมื่อไม่มีพยานอันหนักแน่นเพียงพอ ผู้ครอบครองสลากจึงเป็นผู้มีสิทธิดีกว่า”

ประกอบกับด้านหลังสลากได้มีคำเตือนระบุว่า จะจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ครอบครองสลากเท่านั้น จึงไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอว่า ผู้ครอบครองสลากได้สลากมาโดยมิชอบ

อ่าน “ข้อพิจารณา” ข้างต้นแล้ว ผมก็คิดว่าเรื่องอลวนนี้น่าจะจบเร็วแบบมวยไทยฉบับ “บัวขาว” ที่จะมีน็อกเร็ว จึงตั้งใจแค่รอคำพิพากษาของศาลเท่านั้น

แต่ที่ไหนได้… ข่าวหวย 30 ล้านอลเวงกลับอลหม่านกว่าที่คาดไว้ มีวิพากษ์วิจารณ์อย่างบันเทิงในรายการทางทีวี ข่าวพลิกกลับไปกลับมาราวกับเกมแบดมินตันแมตช์สำคัญของ “น้องเมย์” (รัชนก อินทนนท์) ที่ผมไม่กล้าดูเพราะกลัวหัวใจจะวาย

เมื่อประมวลเอาจากข่าวเรื่องหวย 30 ล้านในสื่อต่างๆ ที่พลิกไปพลิกมาแล้ว ทุกท่านย่อมสันนิษฐานว่าจุดเริ่มน่าจะมาจาก มีการคุยกันของตำรวจใหญ่

“เป็นโชคร่วมกัน แบ่งกันคนละ 15 ล้านแล้วจบคดีกันไป”

ถ้าจริงก็เป็นการแทรกแซงการสอบสวนอย่างชัดเจน

เมื่อ “เรื่องคุยกัน” ถูกเผยแพร่ออกไป ครูปรีชากับหมวดจรูญต่างให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ไปคนละทาง และต่างต้องยืนกรานคำพูดของตัวเอง เพราะถ้าใครผิดพลาดไปก็จะกลายเป็นโกหก มาถึงตอนนี้เดิมพันสูงกว่า 30 ล้านแล้ว เพราะมันหมายถึงเครดิต ค่าเสียหายและโทษทางอาญาหลายกระทงที่จะตามมาอีกด้วย

นอกจากนั้น อาจจะหมายถึงตำแหน่งหน้าที่ของบางคนด้วย

ผมเพิ่งมาสนใจในรายละเอียดเรื่องหวย 30 ล้านเอาเมื่อ พล.ต.ท.กิตติพงษ์ เงามุข ผบช.ภ.7 แถลงผลสรุปแนวทางการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ภายหลังประชุมทีมงานกว่า 3 ชั่วโมง

“จากการตรวจสอบพบว่าทางกองสลากฯ ได้ขายลอตเตอรี่ให้ผู้ค้าที่เมืองกาญจน์ ก่อนขายต่อให้แม่ค้าในตลาดเรดซิตี้ จากนั้นแม่ค้าตลาดเรดซิตี้ได้ขายต่อให้กับครูปรีชา” นี่คือส่วนหนึ่งของการแถลง “โดยข้อเท็จจริงทั้งหมดมีพยานหลักฐานชัดเจน และมีพยานที่เห็นว่าหมวดจรูญได้เก็บหวยไปจริง”

พล.ต.ต.กฤษณะ ทรัพย์เศรษฐ รอง ผบช.ภ.7 หัวหน้าชุดคลี่คลายคดีหวย 30 ล้าน กล่าวว่า “จากนี้พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียก ร.ต.ท.จรูญ วิมูล มารับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่ทางครูปรีชาแจ้งเรื่องหวยหายตั้งแต่แรก คือ ยักยอกทรัพย์ พร้อมกับพ่วงข้อหารับของโจรด้วย”

บช.ภ.7 แถลงข่าวราวกับว่าตำรวจมีอำนาจหน้าที่ฟ้องและตัดสินคดี แถลงโดยไม่มีการกล่าวถึงฎีกา ข้อพิจารณา หรือข้อกฎหมาย

และพยานบางปากที่ให้รายละเอียดดีเกินไปจนเป็นพิรุธ!

ตำรวจมีอำนาจหน้าที่เพียงรวบรวมพยานหลักฐานแล้วให้ความเห็นไปยังอัยการว่าควรฟ้องหรือไม่เท่านั้น หากอัยการไม่เห็นพ้องด้วยก็ส่งสำนวนคืน สตช. ถ้า สตช. เห็นตามอัยการก็จบ หากเห็นแย้งก็ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด

ผู้ตัดสินว่าถูกผิดคือศาลแต่ผู้เดียว

สอง-สามพารากราฟข้างต้น เป็นความเห็นส่วนตัวด้วยภาษาบ้านๆ แบบโบราณของผมที่สันนิษฐานว่า กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ บช.ภ.7 โอนสำนวนการสอบสวนมายังกองบังคับการกองปราบปราม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตอบคำถามของสังคมได้

นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า สตช. จะขอให้ นายปรเมศร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอาญา เป็นที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีหวยอลเวงนี้ด้วย

อัยการปรเมศร์เคยรับเชิญออกรายการทีวีเกี่ยวกับคดีหวย 30 ล้าน ในฐานะเป็นนักวิเคราะห์ ท่านวิเคราะห์ว่าพยานปากไหนน่าเชื่อถือ ปากไหนศาลจะรับฟังหรือไม่ ในฐานะที่ปรึกษา ท่านคงไม่ก้าวล่วงไปทำการสอบสวนด้วยเพราะไม่มีอำนาจสอบสวน

เชื่อว่าสำนวนการสอบสวนของกองปราบปรามน่าจะเป็นที่ไว้วางใจกว่าของ บช.ภ.7