ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
บทความเศรษฐกิจ
วิกฤตแผ่นดินไหว-ภาษีทรัมป์
สึนามิซัด ‘ศก.ไทย’ ไร้สัญญาณฟื้น
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยภายใต้ทศวรรษ “หนี้เยอะ-โตต่ำ” ที่ว่าแย่แล้ว ยังมาเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด จากวิกฤต “แผ่นดินไหว” และมาตรการ “ภาษีทรัมป์” ที่ออกมาตอบโต้นานาประเทศ ฟาดมาถึงประเทศไทยในอัตราสูงถึง 36% สร้างความสั่นคลอนต่อเศรษฐกิจโลก เขย่าเศรษฐกิจไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทำเอากูรูเศรษฐกิจนั่งไม่ติด พาเหรดหั่นจีดีพีเศรษฐกิจไทยปี 2568 โตต่ำเป้ากันหลายสำนัก
ไม่ว่าศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากมาตรการภาษีทรัมป์อยู่ที่ 359,104 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลง 1.93% หากรวมกับเหตุแผ่นดินไหวด้วยจะสร้างความเสียหาย 374,851 ล้านบาท ฉุดจีดีพีไทยปีนี้ลดลง 2.02% และส่งผลจีดีพีทั้งปีนี้เหลือ 1% ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ที่ 3%
“อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ระบุภาษีทรัมป์กระทบต่อจีดีพีไทยมีโอกาสโตต่ำ 2% เพราะไทยส่งออกสินค้า 60% ของจีดีพี และส่งไปสหรัฐเกือบ 20% ของการส่งออกทั้งหมด รวมๆ เกิน 10% ของจีดีพีไทย
พร้อมทั้งปรับคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 37-38 ล้านคน จากเป้าเดิม 39 ล้านคน หลังประเมินภาคการท่องเที่ยวหนีไม่พ้นเผชิญผลกระทบด้วย เพราะคนขาดความเชื่อมั่น
ทั้งยังคาดการณ์การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโนบายลงในวันที่ 30 เมษายนนี้
สอดคล้องกับ “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่เชื่อว่าภาษีทรัมป์มีผลกระทบต่อไทยมากและมีโอกาสที่ไทยเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หากยังโดนภาษีสูงหรือยังเจรจาไม่ได้และหากการส่งออกยังรุนแรง เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ตั้งเป้าโต 2.3% จะเหลือ 1% กว่าๆ และบางไตรมาสอาจเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
ขณะเดียวกันมองว่า กนง.น่าจะปรับลดดอกเบี้ยปีนี้อีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 1.50% และปีหน้าอีก 1 ครั้ง สู่ระดับ 1.25% และมีโอกาสดอกเบี้ยนโยบายจะลงไปต่ำกว่า 1.25% หากภาษีทรัมป์ยังค้างอยู่นาน
ไม่ต่างจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินสหรัฐเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าไทย กระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทย 4 แสนล้านบาทและทั้งปีจะหดตัว 0.5% จากเดิมที่ 2.5% ส่วนจีดีพีไทยได้รับผลกระทบประมาณ 1% ทำให้ประมาณการใหม่อยู่ที่ 1.4% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่มองไว้ 2.4% พร้อมคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เหลือ 35.9 ล้านคน จากเดิม 37.5 ล้านคน
ส่วนศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ มองว่าภาษีตอบโต้ที่สหรัฐประกาศกับไทยที่ 36% จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยราว 1.35% จากที่คาดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% จะเหลือเพียง 1.45%
ขณะที่ภาคธุรกิจก็ยกมือปาดเหงื่อ จากแรงกระแทกของ 2 วิกฤตใหญ่ที่กำลังฟาดหาง “เศรษฐกิจไทย” ให้บอบช้ำมากกว่าเดิม
“อิสระ บุญยัง” ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่าภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกำลังซื้อชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2568 และจากเหตุแผ่นดินไหว รวมถึงกำแพงภาษีทรัมป์ จะเร่งปฏิกิริยาให้เศรษฐกิจและตลาดอสังหาฯ ในไตรมาส 2 ไม่สู้ดี ชะลอตัวมากขึ้น โดยภาคเอกชนอยากเห็นมาตรการรัฐที่ออกมาเข้มข้นมากขึ้น ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดอสังหาฯ
“แผ่นดินไหวและภาษีทรัมป์ เป็นโจทย์ท้าทายทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งปรับตัวอย่างรุนแรง ภาครัฐต้องหาตลาดส่งออกใหม่ ลดความเสี่ยงและทำให้เกิดการถ่วงดุลการค้าสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐ ไม่ใช่ตั้งรับโดยเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเท่านั้น เพราะขณะนี้บริบทการค้าโลกเปลี่ยนไปแล้ว” อิสระย้ำ
สำหรับภาคอสังหาฯ ทาง “อิสระ” ระบุว่า ก็ต้องปรับตัวรับมือกำลังซื้อและเศรษฐกิจที่ถดถอย ซึ่งไตรมาส 2 นี้คงเห็นการชะลอเปิดโครงการใหม่ เพื่อรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจและมาตรการรัฐที่จะออกมา
กระตุ้นเพิ่มเติมจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนเกณฑ์ LTV ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569 โดยเฉพาะลดค่าโอนและจำนอง 0.01% ที่ผู้ประกอบการคาดหวังจะออกมาพร้อมมาตรการ LTV อีกทั้งอยากให้รัฐพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น บ้านดีมีดาวน์ ลดภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา
ดึงคนมีเงินซื้ออสังหาฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาด ไม่ให้ทรุดมากกว่านี้
“สมศักดิ์ จิตติพลังศรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ “ซัยโจเด็นกิ” มองว่า ผลจากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยสูงขึ้น น่าจะส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดเครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะสินค้าจีนจะวกกลับมาไทยมากขึ้น เพราะผู้ผลิตที่ส่งออกจากไทยไปสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจีน เมื่อถูกเก็บภาษีเพิ่ม สินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐ จะถูกระบายมาขายในไทย
ขณะที่ผู้ผลิตไทยจะถูกสินค้าจีนทุ่มตลาดมากขึ้น รัฐบาลต้องตั้งรับให้ดี เร่งเจรจาหาแนวทางบรรเทา และต้องมีมาตรการประคองอุตสาหกรรมไทยให้อยู่ได้ด้วย แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย จะทำให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในภาวะถดถอย เงินฝืด เหมือนสหรัฐได้
“ภาวะเศรษฐกิจไทยเปราะบางมาก ยังเจอทั้งแผ่นดินไหว ภาษีทรัมป์ มองว่าไตรมาส 2 น่าจะเปราะบางมากขึ้นและอาจจะแย่ไปถึงไตรมาส 3 ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นแรงๆ ออกมา รวมถึงผลการเจรจากับทรัมป์ไม่เป็นผล สำหรับบริษัทเองปรับแผนชะลอการผลิตสินค้าใหม่ รอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง เพราะออกไปตอนนี้คนก็ไม่มีกำลังซื้อ” สมศักดิ์ตอกย้ำ
ฟากนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2568 หากมองในแง่ร้าย การส่งออกติดลบจากเดิมคาดทั้งปีนี้จะบวก 1-2% แต่กลับกันเป็นติดลบ 1-2% ก็ได้ ไม่แตกต่างจากจีดีพีไทยที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้จีดีพีปรับลดลง แต่หากทำดีๆ อาจไม่ติดลบอย่างที่กังวลมากนัก แต่หากรัฐบาลรับมือได้ไม่ดีพอ เจรจาภาษีสหรัฐไม่สำเร็จ กระทบเศรษฐกิจไทยให้วิกฤตมากกว่าเดิมแน่นอน
“รัฐบาลต้องเตรียมกระสุน รับมือกับผลกระทบที่อาจรุนแรงมากกว่าเดิม แม้กระสุนมีจำกัดทั้งงบประมาณที่จำกัด ปัญหาหนี้สาธารณะสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถดำเนินมาตรการเยียวยาไม่ได้ แต่ต้องใช้เงินอย่างจำกัดนี้ รับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นให้ครบทุกมิติ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องลดดอกเบี้ยช่วยประชาชน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ รวมถึงรัฐบาลเองก็ต้องหามาตรการรับมือหนี้ครัวเรือน ไม่ให้เพิ่มขึ้นรุนแรงจนเกินรับมือไหว และสิ่งต้องเร่งดำเนินการแบบทันทีคือ ต่อสู้กับสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น” สมชายกล่าว
จากนี้คงต้องจับตา “รัฐบาลอิ๊งค์” จะงัดมาตรการอะไรออกมากอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่เริ่มลดน้อยถอยลงไปทุกขณะ!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022