ถอดบทเรียน ‘แผ่นดินไหว’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

ถอดบทเรียน ‘แผ่นดินไหว’

 

งานเขียนคราวนี้กว่าจะได้ลงพิมพ์เผยแพร่บนหน้ากระดาษจริงคงล่วงเลยเข้าไปถึงกลางเดือนเมษายนแล้ว เอาเถิดครับ ไม่เป็นไร ถึงมาช้าไปหน่อยแต่ก็ดีกว่าไม่มาเลย

ในช่วงเวลาประมาณสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีวันไหนเลยที่คนไทยจะไม่พูดถึงคำว่า “แผ่นดินไหว” เพราะต้องถือว่าเป็นเหตุใหญ่เหตุสำคัญที่ไม่เคยเกิดมีขึ้นบ้านเรามาก่อน

เปรียบไปก็เหมือนกับเมื่อในราว 20 ปีที่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์สึนามิเกิดขึ้นที่จังหวัดทางภาคใต้ พวกเราก็พูดถึงเรื่องสึนามิติดปากอยู่นานเป็นเดือน

และว่ากันตามตรงแล้วเหตุการณ์ครั้งนั้นในเชิงความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินก็ยิ่งใหญ่กว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวคราวนี้มาก

ต้องบอกกันตามตรงด้วยความเขินอายเล็กน้อยว่า ในวันเวลาที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ คือ เวลาประมาณบ่ายโมงเศษของวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ผมไม่ได้อยู่เมืองไทยครับ หากแต่อยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดขึ้นร่วมกับท่านทั้งหลาย

 

วันเวลาดังกล่าว เมื่อคำนวณตามเวลาท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศสซึ่งเดินหลังเมืองไทย 6 ชั่วโมงแล้ว แปลว่าผมกำลังตื่นนอนพอดี เพราะเป็นเวลาใกล้ 7 โมงครึ่ง ที่ตื่นขึ้นมาเพราะโทรศัพท์ที่วางอยู่ไม่ไกลตัวนักมีเสียงสัญญาณเตือนว่ามีข้อความจำนวนมากส่งมาหาผม

ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอ่านว่ามีข้อความอะไรกันหรือ

และเมื่อเปิดอ่านแล้วก็ได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่าเมืองไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานครประสบภัยแผ่นดินไหว

อีกไม่กี่นาทีต่อมาก็มีรุ่นน้องที่คุ้นเคยกันส่งภาพอาคารที่กำลังก่อสร้างบริเวณย่านจตุจักรของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่มล้มลงต่อหน้าต่อตาของคนจำนวนมากมาให้ผมดู

ใจของผมเวลานั้นนึกภาวนาว่าขอให้เป็นแต่เพียงตึกถล่มตึกเดียวในกรุงเทพฯ ของเราเถิด ถ้ามีตึกที่สอง ตึกที่สามตามมา ยังคิดไม่ออกเลยว่าเราจะทำอย่างไรกันได้

และก็ตามสัญชาตญาณของมนุษย์นะครับ เมื่อรับทราบว่ามีเหตุสำคัญเกิดขึ้นอย่างนี้ ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนทำเหมือนกัน คือ การโทรศัพท์ติดต่อกับผู้เป็นที่รักใกล้ชิดของเรา ว่าอยู่ที่ไหน ปลอดภัยดีหรือไม่

และจะทำอะไรกับชีวิตต่อไปในช่วงบ่ายวันนั้น

 

ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุย่อมทราบดีว่า เกิดความตระหนกตกใจขึ้นในวงกว้าง และภายในเวลาเพียงไม่กี่อึดใจ เมืองหลวงของเราก็กลายเป็นอัมพาต เพราะระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรถใต้ดิน รถไฟฟ้า จำเป็นต้องหยุดทำงานทั้งหมด ในขณะที่ผู้คนตามสำนักงานทั้งหลายก็ไม่ไว้ใจสภาพความมั่นคงของตึกที่ทำงานของตัวเอง เป็นอันว่าเมื่อลงมารอดูเหตุการณ์อยู่ที่พื้นดินข้างล่างแล้ว อีกไม่นานก็ได้รับคำอธิบายว่าให้ทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้านได้

ปัญหาคือจะกลับบ้านกันได้อย่างไร เพราะบางอาคารไม่อนุญาตให้ผู้คนกลับขึ้นไปบนตึกเพื่อนำรถที่จอดอยู่ที่บริเวณลานจอดรถวิ่งลงมาข้างล่างได้

ส่วนรถที่อยู่บนถนน ซึ่งทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่ามีจำนวนมากเกินพื้นที่ถนนในกรุงเทพฯ ของเรารองรับได้ ต่างพากันวิ่งขวักไขว่ไปทั่วทั้งเมือง จากเดิมที่ผลัดกันวิ่งผลัดกันจอด บัดนี้เกิดเหตุจำเป็นที่จะต้องวิ่งลงมาอยู่บนถนนพร้อมกัน และวิ่งสวนกันไปมาเป็นใยแมงมุม

คนอยู่บางแคจะวิ่งไปพระโขนง คนอยู่สีลมจะวิ่งไปอ่อนนุช คนอยู่อโศกจะวิ่งไปดาวคะนอง แบบนี้รถจะไม่ติดได้อย่างไร

ข้อสำคัญที่เป็นปัจจัยแทรกซ้อนอีกอย่างหนึ่ง คือ ทางขึ้นลงด่วนเฉลิมมหานครบริเวณด่านดินแดงทั้งขาขึ้นขาลงมีเครนหล่นลงมาตกค้างอยู่บนผิวจราจร เป็นอันว่าทางด่วนที่จุดนี้ต้องปิดการจราจรโดยปริยาย

ส่วนถนนพระราม 2 นั้น ขนาดไม่มีแผ่นดินไหวยังไม่มีใครอยากจะขับรถไปอยู่ใต้คานขนาดมหึมาเหนือศีรษะเลย พอเกิดแผ่นดินไหวขึ้นแล้ว ถนนพระราม 2 ก็สิ้นสภาพการใช้งานไปพร้อมกันกับด่านดินแดง

 

หลานชายของผมไปฝึกงานอยู่แถวหัวลำโพง โดยปกติก็ใช้วิธีขึ้นรถใต้ดินไปกลับระหว่างบ้านของผมซึ่งอยู่ใกล้สถานีลาดพร้าวกับสถานีหัวลำโพง

วันนั้นพอเกิดเหตุขึ้น ก็เป็นอันว่ากลับบ้านโดยวิธีปกติไม่ได้ ต้องใช้วิธีหยุดนิ่งอยู่กับที่ รอจนทุกอย่างคลี่คลายแล้วค่อยหาทางกลับบ้านมาได้ ทำให้ถึงบ้านในราวสี่ทุ่มของวันนั้น

กรณีข้างต้นยังถือว่าดีมากนะครับ เพราะบ่ายและค่ำวันนั้นหลายคนกลับบ้านไม่ได้ หรือแม้อยู่ที่บ้านซึ่งเป็นคอนโดมิเนียม ก็ไม่กล้าหรือไม่ได้รับอนุญาตให้กลับขึ้นห้องพักของตัวเอง

ตัวอย่างเช่น ผมดูข่าวในภายหลัง พบว่าโอปป้าชาวเกาหลีที่กระโดดข้ามสะพานเชื่อมระหว่างตึกเพื่อไปหาลูกเมียด้วยความรักความห่วง สุดท้ายต้องหอบครอบครัวไปอาศัยพ่อตาแม่ยายอยู่ในค่ำคืนวันนั้น และยังคงกลับบ้านไม่ได้อีกหลายวัน

ถ้าจะชวนคุยถึงเรื่องใครทำอะไรในวันนั้นและมีประสบการณ์อะไรบ้างก็คุยกันได้อีกยืดยาว ผมขอบันทึกไว้แต่ย่นย่อเพียงแค่นี้ก่อนก็แล้วกัน

 

ประเด็นที่อยากจะกล่าวเพิ่มเติมที่ทุกคนได้รับเป็นบทเรียนสอนใจคราวนี้ คือ ระบบการสื่อสารที่รวดเร็ว แม่นยำ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบภัยโดยตรงหรือผู้ได้รับผลข้างเคียงมากน้อยเพียงใดก็ตามที

เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วเราจึงพบว่า เมืองไทยของเราระบบการสื่อสารดังว่ายังบกพร่องอยู่มาก โทรศัพท์มือถือซึ่งทุกคนหรือแทบทุกคนไม่อยู่ติดตัวไม่สามารถทำหน้าที่สื่อสารอะไรให้เราได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เลย หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวคราวนี้แล้ว เราจึงได้ยินว่ามีการไล่บี้ติดตามว่าเกิดอะไรขึ้นกับโจทย์หรือการบ้านข้อนี้ ซึ่งเคยมีการพูดกันมาแล้วหลายรอบ และทุกครั้งก็มีการรับปากว่าจะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว

วันนี้ก็รับปากกันอีกแล้ว และ “โดยเร็ว” ที่ว่า ก็ดูเหมือนต้องใช้เวลาอีกสามสี่เดือนกว่าจะมีระบบที่เข้าที่เข้าทางอย่างสมบูรณ์แบบ

โทรทัศน์หรือที่พูดทั่วไปว่า ทีวี ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารที่ให้ข้อมูลได้มากและรวดเร็ว และเป็นที่คุ้นเคยของมนุษย์ยุคเบบี้บูมแบบผม วันนั้นก็กลายเป็นของตกยุค เพราะห้องส่งที่มีอยู่ในอาคารที่ทำการของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องกลับมีความเสี่ยงภัยและทำงานไม่ได้ ดวงไฟส่องสว่างแสงแรงจ้าที่แขวนอยู่บนเพดานกวัดแกว่งจนไม่มีใครกล้าทำงานอยู่ในห้องนั้นอีกต่อไป จนกว่าจะมีความแน่ใจว่าจะไม่มีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้น

ข่าวสารจากทางราชการเองก็ยังมืดแปดด้านและยังไม่มีใครแถลงหรือพูดอะไรออกมาอย่างเป็นทางการ

ตรงกันข้ามกับสำนักข่าวออนไลน์บางแห่ง ที่มีความคล่องตัวในการทำงานมากกว่า เพราะด้วยระบบ ด้วยวัยของคนทำงาน ด้วยวิธีคิดที่พลิกแพลงและอ่อนตัว เขาสามารถออกอากาศโดยตั้งโต๊ะอยู่กลางแจ้งหน้าอาคารสำนักงานได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีหลังเกิดเหตุ

 

หลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 20 ปีก่อนผ่านพ้นไป คนไทยทั้งประเทศและคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัดภาคใต้ได้เรียนรู้บทเรียนอะไรหลายอย่าง มีการเตรียมพร้อมระบบรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้

เป็นต้นว่ามีหอกระจายข่าวที่สามารถส่งสัญญาณเตือนเมื่อเกิดเหตุสำคัญ

มีการทำป้ายเครื่องหมายบอกหนทางสำหรับวิ่งหนีสึนามิขึ้นสูงที่สูงว่าต้องเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาอย่างไร

มีการเรียนการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนย่านนั้นเพื่อให้เด็กที่เป็นลูกหลานของเราได้ มีความรู้ว่าสึนามิคืออะไรและเราต้องรับมืออย่างไรบ้าง การก่อสร้างอาคารในบริเวณที่อาจประสบภัยสึนามิต้องมีลักษณะพิเศษหรือมีความมั่นคง มีความเฉพาะตัวอย่างไรบ้าง

เมื่อเวลาผ่านมานานขนาดนี้แล้ว ขออภัยที่ต้องนึกแบบคนไทยว่า ถึงเวลาที่ต้องสำรวจกันแล้วว่าการเตรียมรับมือกับสึนามิด้วยเครื่องมือและแผนการต่างๆ ยังทรงประสิทธิภาพดีอยู่หรือไม่

ถ้ามีการทบทวนมีการฝึกซ้อมหรือมีการซ่อมแซมเครื่องหมายเครื่องมือป้ายเครื่องหมายต่างๆ อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ผมก็ขออนุโมทนาด้วย

ถ้าหลงลืมกันไปบ้างก็ช่วยรื้อฟื้นกลับขึ้นมาทำอีกสักครั้งหนึ่ง แม้อีกร้อยปีข้างหน้าจะไม่มีสึนามิรอบสองเกิดขึ้น แต่ของอย่างนี้กันไว้ดีกว่าแก้ครับ

 

เมื่อย้อนกลับกรณีแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมพบว่าเราสามารถถอดบทเรียนได้อีกมากมายเพื่อที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้างได้

อันที่จริงเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อย่างนี้สำหรับคนรุ่นเราอาจจะถือว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ประสบพบเห็น แต่ถ้าเปิดปูมประวัติศาสตร์ดูแล้ว เมืองไทยของเราก็เคยมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นมาหลายหนแล้วแต่อดีต

ขอให้ดูวัดเจดีย์หลวงที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีพระเจดีย์ขนาดใหญ่หักล้มลงจนเหลือสภาพอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้เพราะแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อนเป็นวัตถุพยาน

บทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีได้หลายแง่มุม ไม่เฉพาะแต่เรื่องการสื่อสารที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น หากแต่ยังมีแง่มุมอีกสารพัดที่เราสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้

จะว่าเชียร์กันเองในฐานะผู้คุ้นเคยก็ยอมครับ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ให้คะแนนกรุงเทพมหานครโดยบทบาทนำของผู้บริหารทุกท่านอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากเลยทีเดียว

ส่วนผู้บริหารของบางหน่วยงานที่ไม่ต้องออกชื่อในเวลานี้แต่ก็รู้กันอยู่ว่าผมหมายถึงใคร หรือหน่วยงานใด พูดหรือแถลงออกมาแต่ละหนก็ชวนให้คนโห่ทั้งสิ้น

ท่านก็ต้องกลับไปถอดบทเรียนเหมือนกันครับ

คนแก่เรียนหนังสือนี่ก็ยากเหมือนกัน น่าเห็นใจ น่าเห็นใจ