ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | นัยความเป็นคน |
ผู้เขียน | นิ้วกลม |
เผยแพร่ |
นัยความเป็นคน | นิ้วกลม
มนุษย์ต้องตาย
1 “ภูมิปัญญาและการใช้เหตุผลทั้งหลายในโลกนี้ สุดท้ายก็กลั่นออกมาเป็นจุดประสงค์เดียว นั่นคือสอนให้เราไม่กลัวตาย” มิเชล เดอ มงแตญ (Michel de Montaingne) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 คิดเช่นนี้
เมื่อได้ยินแล้วก็ชวนใคร่ครวญว่า จริงอย่างที่เขาว่าหรือไม่
นอกจากวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาเพื่อเลี้ยงชีพให้รอดตายแล้ว ถ้าจะมองในมุมของภูมิปัญญาความรู้ที่ทำให้เรากลัวตายน้อยลงย่อมชวนให้คิดถึงศาสนาและพิธีกรรมความเชื่อทั้งหลาย คำอธิบายว่า ตายแล้วไปไหน โลกหลังความตาย กลับชาติมาเกิด ฯลฯ รวมถึงศาสนพิธีส่งคนตายไปอยู่อีกพื้นที่หนึ่ง ล้วนคิดและทำเพื่อให้มนุษย์รับมือความตายได้ดีขึ้น
ขณะที่เอพิคิวรัส-นักปรัชญากรีก (341-271 ปีก่อนคริสตกาล) สะกิดว่า ไม่ไปคิดถึงความตายเสียเลยจะดีกว่า เขาบอกว่า “ตอนที่เราไม่มีตัวตน ความตายก็ไม่ได้อยู่ตรงนี้ และเมื่อไรที่ความตายอยู่ตรงนี้ เราก็ไม่มีตัวตนแล้ว” เช่นนี้แล้วจะกังวลไปไย
ฟังเผินๆ มันก็จริง แต่ผมเชื่อว่าคนที่วิ่งหนีตายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวสะเทือนเมืองไทยหลายจุดในวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา คงไม่เห็นด้วยกับเอพิคิวรัสสักเท่าไหร่ รวมถึงผู้ป่วยหรือผู้ประสบอุบัติเหตุที่มีช่วงเวลาเจ็บป่วยยาวนานระหว่างรักษาพยาบาล โดยต้องคอยลุ้นว่าจะรอดจากความตายหรือไม่ ย่อมมิอาจพูดได้เต็มปากว่า “เมื่อไรที่ความตายอยู่ตรงนี้ เราก็ไม่มีตัวตนแล้ว” เพราะดูเหมือนพญายมที่ยืนอยู่ปลายเตียงนั้นชวนให้วิตกกังวลตลอด
หลายคนจึงบอกว่า ตายนั้นไม่น่ากลัวเท่าแก่และเจ็บ รวมถึงภาวะรอความตายอย่างทรมาน
2 นักปรัชญาเป็นคนช่างคิด ยิ่งเป็นนักปรัชญาผู้มีอันจะกินอย่างมงแตญยิ่งเปิดโอกาสให้เขาได้ครุ่นคิดในเรื่องที่หมกมุ่นได้มาก และหัวข้อหนึ่งที่เขาสนใจก็คือ ‘ความตาย’ นี่เอง
ด้วยความคิดว่า คนเราไม่สามารถตายดีได้ หากยังไม่รู้จักใช้ชีวิตให้ดีก่อน และเขาไม่อาจใช้ชีวิตได้จนกว่าจะได้รู้จักตัวเองก่อน เขาจึง ‘ทดลอง’ ทำความรู้จักตัวเองด้วยกิจกรรมบนหน้ากระดาษ
เขาทำความรู้จักตัวเองและชีวิตด้วยการเขียนอย่างลื่นไหล ไม่มีลำดับแผนแบบ คล้ายกับที่ชีวิตเราไม่ได้มีลำดับแบบแผนอะไร หัวข้อที่เขียนปะปนผสมผสานกระโดดข้ามประเภทคละเคล้าเป็นเนื้อเดียว เขาเขียนถึงมนุษย์กินคนและการครองพรหมจรรย์ ความเกียจคร้านและความเมา อาการท้องอืดและหัวแม่มือ เนื้อหมักเกลือ ตัวเองที่คันหูและปวดนิ่วในไต องคชาตของตัวเอง การหลับและความเศร้า กลิ่น มิตรภาพ เด็กๆ เซ็กซ์และความตาย
ถึงที่สุดแล้วหัวข้อหลักก็คือ ‘มงแตญ’ นั่นเอง
อ่านสิ่งที่เอริก ไวเนอร์ อธิบายไว้ว่า เขา ‘ทดลอง’ อะไรบ้างในหนังสือ The Socrates Express แล้วผมยังคันไม้คันมืออยาก ‘ทดลอง’ บ้าง
ความหมกมุ่นเช่นนี้เกิดจากความที่เขาต้องการรู้จัก ‘ชีวิต’ ให้ลึกซึ้ง เช่นกันกับที่ไม่ต้องการเบือนหน้าหนี ‘ความตาย’ เขาเชื่อว่าเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่หากไม่เผชิญหน้าต่อความตายของเราเอง และชักชวนให้ทำความรู้จักมัน ทำความคุ้นเคยกับมัน ปล่อยใจให้คิดถึงความตายบ่อยกว่าเรื่องใดๆ ในทุกขณะ จินตนาการภาพความตายในทุกแง่มุม ทุกเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่โดนเข็มทิ่มไปถึงตกเครื่องบิน ซึ่งสมัยเขาอาจเทียบได้กับการหล่นจากหลังม้า แล้วปล่อยให้ตัวเองได้สัมผัสว่า-โอ้ นี่สินะความตาย
ผมคิดว่าสิ่งที่เขาเชื้อชวนนี้ไม่ต่างจากที่พระอาจารย์ทั้งหลายชวนชาวพุทธให้ทำมรณานุสติอยู่เสมอ คือมีสติรู้ตัวว่าชีวิตนี้จะต้องตาย เพื่อคลายความยึดถือในชีวิตและร่างกาย ยังชีพด้วยความไม่ประมาท ซึ่งการเตรียมตัวตายอยู่เสมอจะทำให้เรามีสภาพจิตใจที่พร้อมในวันที่ต้องลาจากไป
3 รวมความเรียงของมงแตญฉบับสมบูรณ์ (The Complete Essays of Montaingne) หนา 850 หน้า เอริก ไวเนอร์ เรียบเรียงมาเล่าต่อว่า เขาพรรณนาตนเองไว้อย่างน่าสนใจ
“เขาก้าวเดินอย่างฉับไวและมั่นคง เขาเตี้ยม่อต้อ มีผมสีน้ำตาลเกาลัดและใบหน้าที่ไม่อ้วนแต่อวบอิ่ม เขาภูมิใจกับฟันที่เรียงสวยและขาวสะอาด รักกวีนิพนธ์และเกลียดความร้อนในหน้าร้อน ทนกลิ่นเหงื่อของตัวเองไม่ได้ ไม่เคยตัดผมหลังอาหารเย็น ชอบนอนดึก ใช้เวลาขับถ่ายนานและเกลียดคนมาขัดจังหวะ เล่นกีฬาไม่เก่งยกเว้นการขี่ม้า ไม่ชอบพูดคุยสัพเพเหระ ชอบหมากรุกและหมากฮอส แต่กลับเล่นไม่ดีสักอย่าง เขาฝันว่าตัวเองฝัน ความจำไม่ค่อยดี กินเร็ว ตะกละ กัดโดนลิ้นนานๆ ที และเคยกัดโดนกระทั่งนิ้วตัวเอง เขาเติมน้ำผสมลงในไวน์เหมือนชาวกรีกโบราณ”
อ่านบันทึกเขาแล้วรู้สึกเหมือนผมไหมครับ ถ้าเราอยากรู้จักชีวิตตัวเอง เราน่าลองสังเกต เฝ้าติดตาม แล้วเขียนถึงตัวเองออกมาโดยละเอียดแบบนี้ดูสักตั้ง สำหรับมงแตญแล้วการสอดส่องชีวิตโดยละเอียดทั้งด้านดีด้านร้ายทำให้เขาเชื่อมั่นในประสบการณ์ตัวเองมากขึ้น ผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจ เหมือนกับเราได้ ‘เห็น’ ทุกซอกมุมของตัวเองแล้วยอมรับ ‘ทั้งหมด’ นั้น
เวลาเราไม่มั่นใจในตัวเองเพราะเรา ‘หลบตา’ จากข้อบกพร่องของตัวเอง กริ่งเกรงว่าคนอื่นจะจับจ้องไปเห็นจุดด่างพร้อยเหล่านั้น จึงต้องใช้ชีวิตแบบกระมิดกระเมี้ยน แต่ถ้าเราเข้าใจตัวเองและชีวิตโดยละเอียดผ่านการสอดส่องเช่นนี้แล้ว เมื่อคนอื่นชี้จุดด่างพร้อยเหล่านั้น เราก็สามารถหันไปพยักหน้าได้ว่า “ใช่ ฉันเห็นมันมานานแล้ว”
ในเมื่อวันหนึ่งชีวิตต้องสิ้นสุดลง การทำความรู้จักตัวเองให้ดีที่สุดในทุกแง่มุมมิใช่เรื่องที่น่าสนใจใคร่สำรวจหรอกหรือ? เหตุใดเราจึงออกสำรวจโลกและเรื่องอื่นจนทะลุปรุโปร่ง แต่กลับไม่ใส่ใจจะสำรวจสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดตนเองที่สุดอย่างชีวิตของเรา?
มงแตญบอกให้เราผูกมิตรกับความตายด้วยวิธีการหันหน้าเข้าหาความตาย เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของเรา ความตายไม่ใช่สิ่งที่เรายืนมองมันด้วยความกลัว และเราก็ไม่ใช่เหยื่อของมัน ทว่า-มันคือเรา
4 ครั้งหนึ่งมงแตญซึ่งกำลังอยู่บนหลังม้าถูกคนขี่ม้าอีกตัววิ่งสวนมาพุ่งชนด้วยความแรงเหมือนฟ้าผ่า แรงกระแทกนั้นทำให้เขาร่วงลงไปกองที่พื้น ผู้คนคิดว่าเขาตายแล้วเพราะอาเจียนลิ่มเลือดออกมาเป็นถัง แปลกตรงที่เขาไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดหรือความกลัว หลับตาลง ซึมซับความสุขจากการปลดปล่อยตัวเองเหมือนกำลังจะผล็อยหลับไปอย่างนิ่มนวล เขาคิดว่า หากนี่คือความตาย มันก็ไม่เลวเลยสักนิด
หลังเหตุการณ์นั้น เขาคิดถึงความตายในมุมใหม่ ไม่ใช่หายนะ แต่เป็นสิ่งสวยงามที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “หากคุณไม่รู้ว่าจะตายอย่างไรก็ไม่ต้องกังวล ธรรมชาติจะบอกคุณเองว่าต้องทำอะไรในชั่วขณะนั้น บอกอย่างเต็มที่และเพียงพอ เธอจะทำหน้าที่นั้นให้คุณอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ต้องคิดให้รกสมอง”
มาถึงตรงนี้ เราอาจกลับไปคิดว่าเอพิคิวรัสก็พูดถูกนี่นา วางใจเถิด เมื่อถึงวาระสุดท้ายเดี๋ยวความตายจะบอกเราเองว่าต้องทำตัวอย่างไร แต่ช้าก่อน! ผมคิดว่ามีประเด็นสำคัญสอดแทรกอยู่ในเรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามา ลองจินตนาการถึงช่วงเวลา ‘ก่อนตาย’ ไม่ว่าจะเป็นไม่กี่นาทีก่อนตาย ไม่กี่วัน หรือไม่กี่เดือนก็ตาม เหตุใดเราจึงกลัวตาย? คำตอบของผมคือ เพราะเรารู้สึกว่ายังใช้ชีวิตได้ไม่คุ้มค่ามากพอ
ผมเคยเข้าคอร์สเผชิญความตายอย่างสงบของเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งมีพระไพศาล วิสาโล เป็นผู้ริเริ่ม กิจกรรมหนึ่งที่ได้ทำและสร้างความสั่นสะเทือนทางจิตใจไม่น้อยคือการซ้อมตาย พวกเราถูกนำภาวนาให้น้อมจิตคิดจินตนาการว่าเรากำลังจะตาย โดยนับถอยหลังไปเรื่อยๆ ทีละนาที ทีละวินาที จนสัญญาณชีพดับลง ในช่วงเวลานั้นมีอะไรเกิดขึ้นมากมายในความคิด
ผมคิดถึงงานที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ คนที่รักและอยากดูแล สถานที่ที่อยากไป เพื่อนที่ผิดใจและยังไม่ขอคืนดี คนที่อยากกอด อยากขอบคุณ ฯลฯ เต็มไปหมด หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นผมกลับมาสอดส่องชีวิตตัวเองอย่างละเอียด เริ่มทำสิ่งที่อยากทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ผัดวันประกันพรุ่งอีกต่อไป บอกรักและขอบคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมา ส่งจดหมายไปขอคืนดีกับเพื่อนที่ผิดใจ ใช้เงินจำนวนหนึ่งออกเดินทางท่องเที่ยวอเมริกาใต้ ขอบคุณทุกคนที่อยากขอบคุณ กอดทุกคนที่อยากกอดเมื่อได้เจอกัน รักใครก็บอกให้เขารู้ ผมทำเช่นนี้เสมอมาตั้งแต่กิจกรรมซ้อมตายครั้งนั้น-ใช้ชีวิตทุกวันให้เหมือนว่าไม่มีพรุ่งนี้
แม้ยังไม่ได้เขียนบันทึกสอดส่องตนโดยละเอียดอย่างมงแตญ แต่ก็พยายามสำรวจใจตัวเองเสมอว่ารู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร แล้วลงมือทำในทุกวันเท่าที่ทำได้ ผมคิดว่านี่คือวิธีเตรียมตัวตายที่ดีที่สุด
ใช้ชีวิตราวกับว่าเรามีวันนี้วันเดียว
มงแตญกล่าวว่า “หากคุณใช้ชีวิตหนึ่งวัน ก็ถือว่าได้ใช้ชีวิตทั้งหมดแล้ว”
ผมเห็นด้วย เราไม่รู้หรอกว่าวันใดจะเป็นวันสุดท้าย เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งผ่านไปทำให้ตระหนักว่า วันสุดท้ายเกิดขึ้นวันใดก็ได้ ฉะนั้น เราควร ‘ใช้ชีวิต’ โดยไม่รอคอยวันพรุ่งนี้ที่ไม่รู้มีจริงไหม
ระหว่างมีชีวิต เราใช้เวลามากมายในการมองออกไป ‘ข้างนอก’ และสำรวจโลกภายนอก ขณะที่เราอาจไม่เคยตระหนักด้วยซ้ำว่า เรามีไฝอยู่ที่แขนข้างขวาหรือข้างซ้ายมากกว่ากัน และมากกว่านั้น เราอาจไม่เคยรับรู้จิตใจและความต้องการของตัวเองในส่วนลึกเลยว่าต้องการอะไร ในเวลาอันแสนสั้นของชีวิต การให้ความสำคัญและสำรวจลงลึกไปในตัวเองเพื่อรู้จัก ‘ชีวิต’ ทั้งหมดของตัวเองอาจเปลี่ยนแปลงมุมมอง พฤติกรรม และเป้าหมายในการใช้ชีวิตของเราก็เป็นได้
ก่อนลมหายใจสุดท้ายจะมาถึง
*ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ The Socrates Express โดย Eric Weiner
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022