ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
โครงการแลนด์บริดจ์ไทย
กับปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์
โครงการแลนด์บริดจ์ไทยความยาว 90 กิโลเมตร มูลค่า 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ1 มุ่งสถาปนาเส้นทางการค้าสำคัญระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย
โครงการเสนอทางเลือกที่ไม่ใช่เพียงช่องแคบมะละกาที่แออัด
โครงการยังเป็นพื้นที่ที่ประเทศไทยอยู่ตรงกลางการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน อินเดียและมหาอำนาจตะวันตก
โครงการต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ต้องรักษาดุลความสัมพันธ์และหลีกเลี่ยงการพึ่งพิงมากเกินไปต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง
โอกาสและความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์
ด้วยความซับซ้อนเหล่านี้ โครงการแสดงโอกาสและความท้าทายการจัดวางประเทศไทย ในฐานะผู้เล่นสำคัญ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค
เป็นข้อริเริ่มเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย ผ่านทะเลน้ำลึกและเส้นทางขนส่งทางบก อำนวยความสะดวกทางการค้า กระชับความเชื่อมโยงทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน
การทำเช่นนี้ ไทยจะสถาปนาตัวเองเป็นฮับโลจิสติกส์หลัก ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มการค้าและการลงทุน ด้วยขณะนี้ท่าเรือน้ำลึกทะวายในเมียนมายังเป็นฮับภูมิภาคที่มีความสามารถ แต่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเมียนมา ขัดขวางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทะวาย2 ทำให้โครงการไทยมีความสำคัญมากขึ้นในการเชื่อมโยงภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ความทะเยอทะยานของไทยนี้ก็ซับซ้อนด้วย สถานะความไม่ปลอดภัยทางภูมิรัฐศาสตร์ท่ามกลางความตึงเครียดเพิ่มขึ้นและผลประโยชน์การแข่งขันในภูมิภาค
เราควรดูการขับเคลื่อนและสถานะของประเด็นสำคัญได้แก่
จีน
จีนได้แสดงความสนใจขั้นต้นในโครงการแลนด์บริดจ์ไทย
โดยจีนเสนอเส้นทางเดินเรือทางเลือกจากการขนย้ายที่หนักหนาในช่องแคบมะละกา ซึ่งอยู่ภายใต้การแสดงตนอย่างสำคัญของกองเรือสหรัฐ
สำหรับจีนที่แสดงโอกาสต่อสภาวะยากลำบากมะละกา ที่สหรัฐควบคุมเหนือช่องแคบ เสี่ยงต่อการนำเข้าของจีน จึงมีการจัดทิศทางของสินค้าใหม่ผ่านจีนตอนใต้ ผ่าน สปป.ลาวและไทยไปท่าเรือน้ำลึกที่ระนองและชุมพร จีนสามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันในน่านน้ำและลดความเสี่ยงความปั่นป่วนของการค้าจากโจรสลัด และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
ช่วงการเยือนของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เมื่อตุลาคม 2023 ในการประชุมนานาชาติ บีอาร์ไอ มีการเข้าร่วมโดยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทขนาดใหญ่ของจีน เช่น Alibaba และ Xiaomi
พอพฤษภาคม 2024 ผู้แทนจากเมืองคุนหมิงและเมืองเฉินตูจีนได้เข้าเยี่ยมพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อประเมินโอกาสของความเป็นไปได้
ทีมงานมองเห็นความต้องการเงินลงทุนโครงการ มีการยกตัวอย่างคลอง Funan Techo ที่ออกแบบเชื่อมพนมเปญกับจังหวัดติดทะเล จังหวัด Kep กัมพูชา ที่จีนสนใจในการลงทุน
แต่จีนก็แสดงความกังวลว่าเป็นโครงการลงทุนต่างประเทศที่แพง
ด้วยยอมรับอันตรายจากการพึ่งจีนมากเกินไป รัฐบาลไทยแสวงหาการกระจายแหล่งทุนของตน
ช่วง 2023 นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน พูดคุยกับผู้นำซาอุดีอาระเบีย โดยไทยทดลองเสนอข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศสมาชิก Gulf Cooperation Council-GCC และร่วมกับนักลงทุนซาอุดีอาระเบียเช่น Public Investment Fund-PIFและ Saudi Aramcot SABIC เพื่อลงทุนด้านพลังงาน ต่อมายังมี Dubai Port World แสดงความสนใจโครงการ โดยทำการประเมินค่าที่พื้นที่โครงการ และรายรับจากการลงทุนของไทย
ความพยายามเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดเงินทุน และลดการพึ่งพาประเทศเดียว เพื่อให้แน่ใจว่า ไทยรักษาการควบคุมส่วนใหญ่เหนือโครงการสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามเรื่อง ไทยสามารถทำให้ตัวเองเป็นผู้ถูกเลือกได้ไหม
อินเดีย
อินเดียในฐานะมหาอำนาจภูมิภาคเป็นกังวลต่ออิทธิพลของจีนที่เติบโตในมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จีนทำการพัฒนาท่าเรือ Chattogram ที่บังกลาเทศในอ่าวเบงกอล สร้างความประหวั่นแก่อินเดียสูงมาก
อินเดียสามารถมองโครงการนี้เป็นส่วนที่เป็นไปได้ของยุทธศาสตร์ใหญ่ที่กว้างขึ้นของจีนเพื่อโอบล้อมและโดดเดี่ยวอินเดีย โดยเฉพาะจากบริบทประวัติศาสตร์การแข่งขันที่จีนสนับสนุนปากีสถาน
อินเดียตอบสนองเรื่องนี้ด้วยการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ India-Myanmar-Thailand Trilateral Highway ที่เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกด้านทะเลในหมู่เกาะอันดามันและเกาะ Nicobar
อย่างไรก็ตาม จุดยืนของอินเดียต่อโครงการคือ ไม่แสดงการต่อต้านอย่างเป็นทางการ อินเดียแสดงความสนใจทดลองเข้าร่วมในโครงการ
สิ่งนี้สะท้อน 2 แนวทางคือ อินเดียแสวงหาการสร้างสมดุลต่ออิทธิพลจีน ในขณะที่ผลักดันความร่วมมือภูมิภาค
จุดเด่นนี้ พลวัตที่ซับซ้อนของการผูกพันอินเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเน้นย้ำต่อไทยว่า การมุ่งหน้าความสัมพันธ์จีนและอินเดียต้องทำอย่างระมัดระวัง
การแข่งขันของมหาอำนาจโลก
โครงการแลนด์บริดจ์ไทยก่อตัวไม่ใช่แค่ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างจีนกับอินเดีย
แต่ยังมีการแข่งขันของมหาอำนาจโลกอีกด้วย ซึ่งก่อความท้าทายสำคัญต่อไทยด้วย เพราะว่าสหรัฐและพันธมิตรอาจมองโครงการนี้เป็นการขยายอิทธิพลจีน
ยุทธศาสตร์ล้อมโลกของไทยอาจถูกมองจากสหรัฐและชาติพันธมิตรว่า อะไรที่เป็นวิสัยทัศน์ริเริ่มของโครงการคือ จุดประกายการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจกลายเป็นประเด็นข้อกล่าวหาทางการเมืองต่อไทย นำไปสู่ประเด็นที่ก้าวมากขึ้นและอันตรายกว่าคือเรื่องอธิปไตยของประเทศ
ไทยเสี่ยงที่จะตกเข้าไปในกับดักพึ่งพา (Dependency Trap) ถ้าบริษัทจีนในภาครถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีย้ายโรงงานมายังภาคใต้ของไทย ด้วยมีการประนีประนอมด้านอธิปไตยไทยในกระบวนการตัดสินใจของไทย อาจก่อเกิดความตึงเครียดกับหุ้นส่วนดั้งเดิมของไทยได้3
การมุ่งสู่ความท้าทายเหล่านี้ ไทยสามารถสนับสนุนโครงการอย่างเป็นกลาง ทำโครงการเป็นทรัพย์สมบัติของภูมิภาคที่ผูกพันกับความเชื่อมโยงอาเซียน โดยเข้าร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนานาชาติที่กว้างขวาง และเน้นบทบาทของโครงการที่เร่งความร่วมมือภูมิภาค ไทยสามารถลดความเสี่ยงมีพันธมิตรใกล้เกินไปกับมหาอำนาจเดียว
โครงการแลนด์บริดจ์นับเป็นโครงการก่อสร้างเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยตัวโครงการเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โดยตัวมันเองอยู่แล้ว ด้วยจีนมองและผลักดันโครงการบีอาร์ไอและทวิภาคีกับประเทศต่างๆ เพื่อสร้างบทบาทและอิทธิพลจีนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อยู่แล้ว
ในขณะที่อินเดียหวาดระแวงการโอบล้อมและโดดเดี่ยวอินเดียของจีน ซึ่งจีนทำอยู่อย่างเข้มข้นในการสนับสนุนปากีสถานทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร
ไม่ควรลืมว่า สหรัฐควบคุมช่องแคบมะละกาเป็นจุดยุทธศาสตร์ควบคุมการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสู่ทะเลจีนใต้อันเป็นภูมิรัฐศาสตร์ดั้งเดิมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วสหรัฐจะไม่ติดตามกับแนวโน้มภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของจีนหรือ
โครงการแลนด์บริดจ์ไทยยังมีประเด็นสภาพแวดล้อม ทรัพยากร แหล่งเงินทุน แต่ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ก็ซับซ้อนและมีพลังของตัวเองอยู่ด้วย
รัฐบาลไทยที่นำโดยพรรคเพื่อไทยคิดถึงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์หรือเปล่า
1James Board, “A land Bridge too far M Thailand’s reviewed Kra megaproject a divisive issue among local residents” CAN. 30 January 2024.
2Hein Htoo Zan, “Fierce Fighting Dims Myanmar Junta’s Hope of Russian Investment in Dawei Port-SEZ”, The Irrawaddy, 23 May 2024.
3Mark S. Cogan, “A Bad Idea Revisited : Thailand Pitches Prayut’s Land Bridge to Beijing”, The Diplomat, 25 October 2023.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022