คุยกับทูต | ฟัยยาซ มูรชิด กาซี ครบรอบ 54 ปีวันเอกราชและวันชาติบังกลาเทศ ก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูป (3)

คุยกับทูต | ฟัยยาซ มูรชิด กาซี

ครบรอบ 54 ปีวันเอกราชและวันชาติบังกลาเทศ

ก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูป (3)

 

 

มรดกทางวัฒนธรรมของบังกลาเทศ

บังกลาเทศได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู พุทธ อิสลาม เชน และศาสนาคริสต์ แต่ที่มีอิทธิพลต่อประเทศมากที่สุดคือศาสนาอิสลาม รวมทั้งการผสมผสานจากชาติพันธุ์ และประเพณีต่างๆ เข้าด้วยกัน สะท้อนออกมาในรูปของศิลปะ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม นิทานพื้นบ้าน ดนตรี และการเต้นรำพื้นบ้านมากมาย

“สำหรับผม สิ่งที่โดดเด่นที่สุด คือธรรมชาติของการผสมผสานทางวัฒนธรรมของเราซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดองค์ประกอบที่ดีที่สุดบางอย่างของศาสนาและประเพณีที่แตกต่างกัน เกิดคุณค่าของความหลากหลาย”

นายฟัยยาซ มูรชิด กาซี (H.E. Mr. Faiyaz Murshid Kazi) เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำราชอาณาจักรไทย เล่าถึงการแสดงออกทางวัฒนธรรม

“ได้รับการพิสูจน์แล้วตามกาลเวลา ส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในภูมิภาคอ่าวเบงกอล เอเชียใต้ และวิถีชีวิตชนบท ความผูกพันในชุมชน ความผูกพันทางศาสนา และมรดกทางภาษาของเรา”

ภาพในกรอบรูป คือ โมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน (Mohammed Shahabuddin) ประธานาธิบดีบังกลาเทศคนปัจจุบัน
การผสมผสานอันน่าหลงใหลระหว่างความเก่าแก่และความทันสมัยในเกือบทุกมุมถนน

มุมมองต่อวัฒนธรรมและสังคมไทย

“ผมตระหนักและชื่นชมในความหลากหลายของวัฒนธรรมไทย แต่ที่สนใจมากที่สุดคือ คนไทยมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ประจำชาติและวัฒนธรรมของตนอย่างแรงกล้า โดยไม่เคยตกเป็นอาณานิคม มีชื่อเสียงในเรื่องของการต้อนรับที่อบอุ่นและเป็นมิตรต่อชาวต่างชาติมาก

ในช่วง 6 เดือนที่มาอยู่ในประเทศไทย ผมได้เข้าร่วมในงานพระราชพิธีและรัฐพิธี โดยเฉพาะโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา

ส่วนในยามว่าง ผมมักไปสํารวจอัญมณีที่ซ่อนอยู่ในย่านต่างๆ ของกรุงเทพฯ และอิ่มอร่อยกับอาหารไทยรสเลิศ

การเต้นรำของชนเผ่าบังกลาเทศ (TRIBAL DANCE)

ผมยังได้พบอีกว่า ชาวบังกลาเทศและไทย มีลักษณะสามประการที่คล้ายคลึงกันและที่มีเสน่ห์มากที่สุดนั่นคือ การเคารพผู้อาวุโส มีวัฒนธรรมการปรุงอาหารที่เคารพวัตถุดิบและรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการต้อนรับชาวต่างชาติอย่างจริงใจ

ในขณะเดียวกัน ความอดทน ความสง่างาม และความสุภาพที่ทำให้คนไทยน่ารัก อย่างเป็นเอกลักษณ์ ถึงแม้ว่าสภาพดินฟ้าอากาศของเราจะคล้ายกัน แต่ผมก็มักจะแปลกใจว่า ทำไมคนไทยและคนบังกลาเทศถึงมีอุปนิสัยที่แตกต่างกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องอดทนอดกลั้นและเข้าใจผู้อื่น บอกได้เลยว่า ผมกำลังพยายามเรียนรู้จากคุณสมบัติที่สำคัญของคนไทยดังกล่าว ทั้งนี้ ก็เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในธรรมชาติและบุคลิกของผมเอง”

อ่าวเบงกอล
ชายหาดค็อกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazar beach) ในบังกลาเทศ เป็นหาดทรายธรรมชาติที่ยาวที่สุดในโลก
บทบาทของบังกลาเทศในการสร้างชุมชนอ่าวเบงกอล

ชาวบังกลาเทศในประเทศไทย

“ตัวเลขอย่างเป็นทางการของชาวบังกลาเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังคงยากที่จะระบุได้ แต่ผมคิดว่าน่าจะมีพลเมืองของเราอาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 7,000-8,000 คน

ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลาง เป็นนักศึกษา ครู ผู้เชี่ยวชาญ หรือคู่สมรส

มีหลายคนทำงานในโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี

ผมรู้สึกยินดีเมื่อเห็นวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีหลายคนมาทำงานในประเทศไทย เป็นผลจากมาตรการผ่อนปรนในการยอมรับคุณสมบัติซึ่งกันและกัน

ชาวบังกลาเทศเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผู้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างประชาชน และมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

ทั้งยังได้ถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญและข้อมูลเชิงลึกจากประเทศไทยเพื่อการพัฒนาเฉพาะภาคส่วนในบังกลาเทศ

สถานทูตรู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณสำหรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในความพยายามทางการทูตสาธารณะ”

คนขับรถลากกับยานพาหนะสีสันสดใสของเขาในเมืองธากา ประเทศบังกลาเทศ ภาพ-Adam Jones
อนุสรณ์สถานแห่งชาติในซาวาร์ (Savar) ประเทศบังกลาเทศ

การส่งเสริมบังกลาเทศในประเทศไทย

“เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มักมีข้อมูลหรือความประทับใจเกี่ยวกับบังกลาเทศที่แท้จริงอย่างจำกัด ผมจึงอยากจะสนับสนุนให้ค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับความผูกพันและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเราซึ่งมีรากฐานมาจากมรดกทางพุทธศาสนา มรดกวัฒนธรรมทางภาษาสันสกฤต แนวทางปฏิบัติของศาสนาอิสลาม และประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์

เรายินดีที่ได้เห็นศูนย์ยูนุส (Yunus Centres) หลายแห่งดำเนินการในสถาบันการศึกษาระดับสูงในประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับการเงินรายย่อย ธุรกิจเพื่อสังคม และหลักการสามศูนย์ (The three-zero principles) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลบังกลาเทศคนปัจจุบัน ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ

เมืองหลวงของเราคือธากา (Dhaka) อยู่ห่างกรุงเทพฯ เพียงสองชั่วโมงครึ่งโดยเครื่องบิน เราจึงต้องทำงานต่อไป เพื่อแนะนำคนไทยให้รู้จักกับความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไปและความน่าสนใจของบังกลาเทศให้มากขึ้น”

ผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลบังกลาเทศคนปัจจุบัน ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์
วัดริมชายฝั่งซึ่งเป็นมรดกโลกของยูเนสโกริมฝั่งอ่าวเบงกอล

ความสัมพันธ์ระหว่างบังกลาเทศและไทยในอนาคต

“ผมตั้งความคาดหวังไว้สูงมาก แต่ในฐานะนักอุดมคติที่ยึดหลักปฏิบัติจริง ผมจึงอยากเห็นการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของเราทั้งสองประเทศเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไปจากพลังของความคิดสร้างสรรค์กับวิสัยทัศน์

มีการบูรณาการด้านเศรษฐกิจที่มากขึ้นผ่านการค้า การลงทุน การเชื่อมต่อ และการท่องเที่ยวซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกัน

และประชาชนของเราทั้งสองประเทศได้ตระหนักว่า เรามีความคล้ายคลึงกันทางด้านวัฒนธรรม มากกว่าความห่างไกลของระยะทางระหว่างกัน

บังกลาเทศและไทยมีเพื่อนบ้านร่วมกันคือเมียนมา จึงมีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันในทรัพยากรทางทะเลของอ่าวเบงกอล ต่างมีความมุ่งหวังที่จะให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้ เพื่อเราจะได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นผ่านการเชื่อมต่อทางกายภาพและดิจิทัลที่ราบรื่น

นอกจากนี้ เรายังรอคอยด้วยความหวังว่าประชาชนของทั้งสองประเทศจะสามารถเดินทางเข้าประเทศของกันและกันทางบกโดยไม่ต้องมีวีซ่า ซื้อขายสินค้าและบริการโดยปราศจากภาษีศุลกากร และร่วมมือกันขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย รวมถึงความเป็นไปได้อื่นๆ อีกมากมาย”

บังกลาเทศซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความยากจนมากในช่วงแรก มาวันนี้ปัญหาความยากจนเบาบางลงแล้ว จากการเติบโตของ GDP ที่มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการปฏิรูปที่ก้าวหน้า ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ และการเน้นย้ำด้านเทคโนโลยี

ปัจจัยเหล่านี้ร่วมกัน ทำให้บังกลาเทศกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในภูมิภาค อีกทั้งเป็นหนึ่งในแหล่งลงทุนระยะยาวที่น่าดึงดูดใจมากที่สุดในโลกอีกด้วย

ดังนั้น บังกลาเทศ ก็คือ “เสือแห่งเอเชียตัวต่อไป” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin