ศิลปินผู้สำรวจประเด็นซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ ผ่านงานศิลปะ Rossella Biscotti

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ศิลปินผู้สำรวจประเด็นซับซ้อนทางประวัติศาสตร์

ผ่านงานศิลปะ Rossella Biscotti

 

 

ในตอนนี้ขอต่อด้วยการเกริ่นถึงงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ ครั้งที่ 4 ที่กำลังจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2025 นี้ ที่จังหวัดภูเก็ต ด้วยการแนะนำหนึ่งในศิลปินที่เดินทางมาร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะครั้งนี้ ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า

โรสเซลลา บิสคอตติ (Rossella Biscotti) ศิลปินชาวอิตาเลียนผู้อาศัยและทำงานอยู่ในเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม เธอเป็นตัวแทนคนสำคัญของศิลปินหญิงชาวอิตาลีรุ่นใหม่ ที่ปรากฏตัวขึ้นในช่วง 10 -15 ปีที่ผ่านมา บิสคอตติทำงานศิลปะในแนวทางประติมากรรม ศิลปะแสดงสด ศิลปะเสียง และภาพยนตร์ ผลงานของเธอสำรวจและถอดรื้อโครงสร้างทางสังคมและการเมืองในยุคร่วมสมัย ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของปัจเจกชนที่ต่อต้านระบบสถาบันอันเต็มไปด้วยความรุนแรง งานศิลปะของเธอมักเกิดจากกระบวนการวิจัยค้นคว้าอันยาวนาน การขุดลึกทางความคิด การลงพื้นที่พบปะสัมภาษณ์ผู้คน และการตั้งคำถามอย่างละเอียดถี่ถ้วนกับสถานที่และประเด็นต่างๆ ในประวัติศาสตร์และนำเสนอผ่านการใช้วัสดุรอบตัวที่อยู่ในสังคมทั้งในยุคอดีตและยุคร่วมสมัย โดยหยิบมาใช้อย่างประณีตพิถีพิถันและเปี่ยมความหมาย

บิสคอตติใช้การตัดต่อเป็นกระบวนการแสดงออกเพื่อเปิดเผยเรื่องราวส่วนบุคคลและความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวเหล่านั้นกับสังคมรอบข้าง

เธอมักจะร่วมมือกับคนทำงานในหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งนักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา นักภูมิรัฐศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ภาษาทางศิลปะอันหลากหลาย ทั้งงานศิลปะจัดวาง ประติมากรรม ศิลปะแสดงสด ศิลปะเสียง และภาพยนตร์ เพื่อสร้างผลงานที่มีรากฐานมาจากแนวคิดทางประวัติศาสตร์ และการทำความเข้าใจระบบนิเวศในความสัมพันธ์ของมนุษย์

Le Teste in Oggetto (The Heads in Question) (2009) ภาพจาก https://rb.gy/tpb1mg ภาพโดย Marco Bugionovi
Le Teste in Oggetto (The Heads in Question) (2009) ภาพจาก https://rb.gy/tpb1mg ภาพโดย Marco Bugionovi
Le Teste in Oggetto (The Heads in Question) (2009) ภาพจาก https://rb.gy/tpb1mg ภาพโดย Marco Bugionovi

ผลงานของเธอใช้เวลาอันยาวนานในการสืบค้นและศึกษาในการเปิดเผยโครงสร้างอำนาจอันซับซ้อนยุ่งเหยิงทางสังคม และสำรวจประเด็นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของอิตาลีในยุคปัจจุบัน รวมถึงประเด็นปัญหาสำคัญระดับโลกอย่าง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอพยพพลัดถิ่นฐาน หรือความเหลื่อมล้ำทางเพศ

บิสคอตติสนใจในการแปรเปลี่ยนเรื่องราวและวัสดุทางประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นการตั้งคำถามทางสังคม วัฒนธรรม โดยนำเสนอในรูปแบบของสุนทรียะในเชิงกวี ซึ่งมุ่งเน้นไปที่เหตุการณ์ทางสังคมและการเมือง ที่บางครั้งเกิดขึ้นในอดีตอันห่างไกลจากยุคปัจจุบัน โดยใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการสืบเสาะหาอัตลักษณ์และความทรงจำของบุคคลหรือกลุ่มคนต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ด้วยการอาศัยการวิจัยเบื้องต้นที่ละเอียดถี่ถ้วนผ่านหลักฐานทางวัตถุอย่าง เอกสารต่างๆ เสียงบันทึก หรือสิ่งพิมพ์อย่าง หนังสือพิมพ์ ที่บันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ถูกลืมไปจากประวัติศาสตร์ เธอใช้วัสดุจากคลังเอกสารเพื่อเน้นย้ำถึงการสูญหายของข้อมูล ความคลุมเครือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และประโยชน์ใช้สอยที่อาจเกิดขึ้นจากหลักฐานทางวัตถุเหล่านั้นด้วย บิสคอตติมีความสนใจในศักยภาพของการเล่าเรื่องใหม่ๆ จากการหยิบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาเล่าซ้ำอีกครั้งผ่านผลงานศิลปะ โดยมักแสดงออกควบคู่กับการทำงานศิลปะแสดงสดของเธอ เพื่อขับเน้นรายละเอียดของประเด็นให้เข้มข้นและลุ่มลึกแหลมคมขึ้น

บิสคอตติได้รับอิทธิพลจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นในอิตาลีในช่วงกลางทศวรรษ 1960-1970 อย่างอาร์เต้ โพเวร่า (Arte Povera) ที่หยิบเอาวัสดุไร้คุณค่า ไร้ราคาที่มีอยู่เกลื่อนกลาดดาษดื่นทุกหนทุกแห่ง รวมถึงเก็บตกของเก่า ของเหลือใช้ และชำรุดทรุดโทรม มาทำงานศิลปะ

เพื่อแสดงนัยยะต่อต้านคุณค่าความงามตามขนบ และคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สถาปนาโดยสถาบันของรัฐ อันมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ศิลปะของศิลปินรุ่นใหม่ของอิตาลีในปัจจุบัน

Il Processo (The Trial) (2010 – 12) ภาพจาก https://rb.gy/g4z76c
Il Processo (The Trial) (2010 – 12) ภาพจาก https://rb.gy/g4z76c

บิสคอตติจบการศึกษาจากสถาบัน Accademia di Belle Arti ที่เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ในปี 2002 และเข้าศึกษาในสถาบัน Rijksakademie van Beeldende Kunsten ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2010-2011 เธอยังได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมหลักสูตรทัศนศิลป์ขั้นสูงของมูลนิธิ Fondazione Antonio Ratti ในเมืองโคโม ประเทศอิตาลีอีกด้วย

บิสคอตติได้เข้าร่วมแสดงในงานแสดงศิลปะสำคัญๆ ระดับนานาชาติอย่าง มหกรรมศิลปะ Sharjah Art Biennale ในปี 2025, มหกรรมศิลปะ Diriyah Contemporary Art Biennale ในปี 2024, มหกรรมศิลปะ Dhaka Art Summit ในปี 2020, มหกรรมศิลปะ Venice Biennale ครั้งที่ 55 ในปี 2013, มหกรรมศิลปะ Istanbul Biennale ครั้งที่ 13 ในปี 2013, มหกรรมศิลปะ dOCUMENTA ครั้งที่ 13 ในปี 2012, และมหกรรมศิลปะ Manifesta 9 ในปี 2012 เธอมีนิทรรศการแสดงศิลปะครั้งสำคัญในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกหลายแห่ง และมีผลงานที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย

ผลงานที่โดดเด่นของบิสคอตติก็มีอย่าง Le Teste in Oggetto (The Heads in Question) (2009) ผลงานประติมากรรมที่สำรวจและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและอำนาจ ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานภาพของศิลปินและระดับของเสรีภาพทางความคิดและสติปัญญาของพวกเขา ตัวผลงานประกอบด้วยประติมากรรมสัมฤทธิ์ศีรษะของกษัตริย์วิกเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 แห่งอิตาลี และ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ ที่บิสคอตติค้นพบในห้องเก็บของของอาคาร Palazzo Uffici ในกรุงโรม ประติมากรรมเหล่านี้ถูกสร้างขื้นเพื่อติดตั้งในงาน Esposizione universale หรืองานเวิลด์เอ็กซ์โปของพรรคฟาสซิสต์ในปี 1942 ซึ่งไม่เคยถูกจัดขึ้น เนื่องจากการที่อิตาลีเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง บิสคอตติเลือกหยิบประติมากรรมที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อนเหล่านี้มาแสดงเป็นงานศิลปะอีกครั้ง เพื่อเปิดเผยมันต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก การกระทำเช่นนี้นับเป็นการพลิกความหมายเดิมของประติมากรรมเหล่านี้อย่างรุนแรง

เพราะแทนที่มันจะกลายเป็นอนุสาวรีย์เพื่อการเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ตามจุดประสงค์ดั้งเดิม พวกมันกลับกลายเป็นเป้าหมายแห่งการตีแผ่และวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของระบอบเผด็จการแทน

I dreamt that you changed into a cat…gatto…ha ha ha (2013) ภาพจาก https://rb.gy/0y7grj
I dreamt that you changed into a cat…gatto…ha ha ha (2013) ภาพจาก https://rb.gy/0y7grj

หรือผลงาน Il Processo (The Trial) (2010-2012) ผลงานศิลปะจัดวางที่มุ่งเน้นในการสำรวจเหตุการณ์การพิจารณาคดีที่ดำเนินการฟ้องร้องสมาชิกของ Autonomia Operaia ขบวนการฝ่ายซ้ายของอิตาลี ในวันที่ 7 เมษายน 1983 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาคดีของ อันโตนีโอ เนกรี (Antonio Negri) และ เปาโล เวียร์โน (Paolo Virno) นักปรัชญาการเมืองที่โดดเด่นที่สุดในยุคนั้นของอิตาลี รวมถึงปัญญาชนชาวอิตาเลียนอีกหลายคน ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความรับผิดชอบทางอุดมการณ์และจริยธรรมต่อการก่อการร้ายและการก่อจลาจลต่อต้านรัฐบาลในอิตาลีที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970

บิสคอตติสร้างผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยประติมากรรมคอนกรีตที่สร้างขึ้นจากแม่พิมพ์ของชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรมของห้องพิจารณาคดีดังกล่าว ก่อนที่อาคารจะถูกรื้อถอนลง ประกอบกับศิลปะแสดงสดด้วยการอ่านบันทึกจากการพิจารณาคดีในวันที่ 7 เมษายน ที่ถูกตัดต่อเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ในพื้นที่แสดงงานของ Neue Galerie ในมหกรรมศิลปะ dOCUMENTA ครั้งที่ 13 ในปี 2012

ผลงานชิ้นนี้ของเธอได้รับรางวัล MAXXI ในปี 2010 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก MAXXI หรือพิพิธภัณฑ์ National Museum of 21st Century Art ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี

The Journey (2021) ภาพจาก https://rb.gy/5aryai
The Journey (2021) ภาพจาก https://rb.gy/5aryai

และผลงาน I dreamt that you changed into a cat…gatto…ha ha ha (2013) ที่วิเคราะห์สภาวะและสถานการณ์ของมนุษย์ที่อยู่ในเรือนจำ โดยบิสคอตติพัฒนาการวิจัยของเธอในเรือนจำหญิงบนเกาะจูเดกกา ในทะเลสาบเวนิส ซึ่งเป็นเรือนจำที่ไม่เหมือนเรือนจำทั่วไปที่ผู้คุมขังถูกจองจำอยู่ในพื้นที่จำกัด ในทางกลับกัน ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ใช้เวลาทำงานนอกเรือนจำในพื้นที่เปิด บิสคอตติมีโอกาสพบปะสนทนากับผู้ต้องขังทุกคน และเชิญชวนให้พวกเธอสร้างเวิร์กช็อปที่เรียกว่า oneiric laboratory (ห้องทดลองแห่งความฝัน) เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการสื่อสารและค้นคว้าวิจัยโครงการของเธอร่วมกับผู้ต้องขังเกี่ยวกับบทบาทของพวกเธอในเรือนจำแห่งนั้น ผลลัพธ์ของการวิจัยของพวกเธอคือประติมากรรมที่ทำจากปุ๋ยหมัก อันเป็นผลพวงจากการทำงานของผู้ต้องขังอย่าง งานครัว การทำความสะอาด การปลูกผัก และการบริโภค ผลงานนี้ถูกจัดแสดงในมหกรรมศิลปะ Venice Biennale ครั้งที่ 55 ในปี 2013

หากผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เธอที่สุดคือ The Journey (2021) งานศิลปะแสดงสดที่ทำการเดินเรือตามเส้นทางของข้อมูลจากพิกัด GPS ที่ได้แรงบันดาลใจจากเวลา ประวัติศาสตร์ และข้อมูลทางภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบัน โดยทำการวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากชุมชนในพื้นที่ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในน่านน้ำระหว่างประเทศอิตาลี มอลตา ตูนิเซีย และลิเบีย โดยสำรวจผลกระทบจากการตัดสินใจทิ้งก้อนหินอ่อนขนาดมหึมาน้ำหนัก 20 ตัน ที่ขนส่งมาจากเหมืองหินไมเคิลแองเจโล (เหมืองหินชื่อดังแห่งเมืองคาร์รารา ที่ไมเคิลแองเจโล ประติมากรเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์ใช้งาน) ลงในทะเล

โรสเซลลา บิสคอตติ ภาพจาก https://rb.gy/ovwoou

บิสคอตติใช้หินก้อนนี้เป็นอุบายในการเปิดเผยมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล การแก่งแย่งผลประโยชน์ของบริษัทพลังงาน การอพยพลี้ภัยอันเปี่ยมอันตรายที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และการเปิดโปงวาระซ่อนเร้นทางการเมืองของการแสวงประโยชน์นอกชายฝั่งทะเล

โรสเซลลา บิสคอตติ เป็นหนึ่งในศิลปินที่จะเดินทางมาร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ ภูเก็ต 2025 ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2568-เมษายน 2569 ที่จะถึงนี้ ส่วนผลงานของเธอจะเป็นแบบไหนอย่างไรนั้น เราก็คงต้องรอชมกันต่อไปด้วยใจระทึกพลัน •

ข้อมูล https://shorturl.at/RDnAj, https://rb.gy/g4z76c, https://shorturl.at/vUkxf

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์