สถานีบางกอกน้อย และโรงพยาบาลศิริราชในยามศึก (1)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

สถานีบางกอกน้อย

และโรงพยาบาลศิริราชในยามศึก (1)

 

สถานีรถไฟสายใต้

สถานีรถไฟบางกอกน้อยเป็นเส้นทางรถไฟสายใต้ที่วิ่งผ่านฝั่งตะวันตกของไทยอันเป็นเส้นทางที่จะไปพม่าและต่อไปยังมลายูได้ กองทัพญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญในการใช้รถไฟสายใต้นี้เป็นเส้นทางขนส่งไปยังแนวรบภาคตะวันตกของไทยเพื่อไปยังแนวหน้าในพม่าและอินเดีย และภาคใต้ผ่านสถานีปาดังเบซาร์ถึงโกตาบารูในมลายู เส้นทางรถไฟดังกล่าวที่ถูกใช้ถี่ที่สุดในช่วงสงคราม หากเปรียบเทียบกับเส้นทางรถไฟสายเหนือและอีสาน (ดวงทิพย์ เกียรติสหกุล, 2554, 56-58)

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปลายสงคราม สถานีรถไฟบางกอกน้อยจึงกลายเป็นเป้าหมายในการทำลายล้างอย่างหนักจากฝูงบินทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตร อันทำให้โรงพยาบาลศิริราชซึ่งเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงได้รับความเสียหายตามไปด้วย

สภาพโบกี้สินค้าของสถานีบางกอกน้อยกระเด็นกระดอนจากแรงระเบิด เมื่อ 5 มีนาคม 2488

สถานีรถไฟบางกอกน้อยในยามศึก

สําหรับประวัติของสถานีบางกอกน้อยนั้นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว หลังคาทรงจั่ว เพื่อใช้เป็นสถานีตั้งต้นรถไฟสายใต้ ต่อมาในช่วงสงครามทหารญี่ปุ่นตั้งกองบัญชาการทหารขึ้น ญี่ปุ่นใช้สถานีดังกล่าวเป็นศูนย์กลางของการขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับแนวหน้าการรบในพม่า อินเดียและมลายู

ในช่วงปลายสงคราม สัมพันธมิตรทำลายคลังสินค้า แต่อาคารสถานีได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย ต่อมามีการสร้างอาคารสถานีขึ้นใหม่ขึ้นแทน เป็นอาคารอิฐสีแดง มีหอนาฬิกา เปิดใช้เมื่อ 2493 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

เมื่อครั้งสงคราม สถานีบางกอกน้อยเป็นศูนย์กลางของการขนส่งเสบียง ยุทโธปกรณ์ และส่งสัมภาระ เช่น อาหาร กระสุน น้ำมันเชื้อเพลิง เวชภัณฑ์ ปืนใหญ่ ปืนครก เสื้อ กำลังพล และม้าไปยังแนวหน้าในพม่าและมลายู (โยชิกาวา โทชิฮารุ, 2538, 372-375) นอกจากนี้ บริเวณสถานียังมีคลังเก็บเวชภัณฑ์ เสบียง ยุทโธปกรณ์และข้าวสารสำหรับกองทัพญี่ปุ่นด้วย (สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์, 2553, 262) ทำให้สถานีรถไฟบางกอกน้อย มีค่ายทหารญี่ปุ่น มีโรงทำงาน โรงนอนของทหารและคลังสินค้า พร้อมปืนต่อสู้อากาศยานที่คุ้มกันอย่างเข้มแข็ง

ด้วยเหตุที่สถานีบางกอกน้อยเป็นคลังสินค้าของกองทัพญี่ปุ่นที่รอลำเสียงขนส่งไปยังแนวหน้าจึงมักพบปัญหาการลักขโมยน้ำมัน ยางรถยนต์ แอสไพลินและเพนิซิลลินเสมอ เนื่องจากของเหล่านี้ในช่วงสงครามหาซื้อได้ยาก

จากความทรงจำของคนไทยร่วมสมัยเล่าว่า หากทหารญี่ปุ่นจับขโมยได้ ทหารจะจับขโมยมัดมือและกรอกน้ำมันให้กิน ไม่มีใครช่วยเหลือได้ หากขโมยสารภาพ ทหารญี่ปุ่นจะส่งให้ตำรวจไทยดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ ในบริเวณสถานีบางกอกน้อยมีตู้ขบวนรถไฟ 2 ตู้ฝังไว้ในดินเพื่อที่ใช้สอบสวนขโมย ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า ตึกดิน (สุภาภรณ์, 262)

สภาพอาคารในสถานีบางกอกน้อยที่พังย่อยยับ เครดิตภาพ : พิพิธภัณฑ์ศิริราช

สถานีบางกอกน้อย

และโรงพยาบาลศิริราช

ช่วงปลายสงคราม สถานีรถไฟบางกอกน้อยถูกโจมตีจากฝูงบินสัมพันธมิตรเป็นครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2487 แต่ระเบิดพลาดเป้าตกลงในชุมชนแถบคลองบางกอกน้อย โรงพยาบาลศิริราช วัดอมรินทร์ มัสยิดได้รับความเสียหายด้วย

ชาวชุมชนเล่าว่า “…พอเครื่องบินมา พากันลงหลุมหลบภัยที่อยู่แถวๆ นั้น บางคนหลบทันแต่ระเบิดลงกลางหลุมหลบภัยตายกันทั้งคนที่หลบในหลุมและคนที่อยู่บนหลุม ตายเยอะแยะ ระเบิดลงหลายลูก จนแถวนี้เหมือนหลุมขนมครก…” เล่ากันว่า ตอนเช้าหลังจากการทิ้งระเบิดในวันนั้นเงียบเหมือนป่าช้า มีคนตายนับร้อยคน มีการขนศพคนตาย ศพทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่อยู่เต็มริมคลอง ไปเผาที่วัดสุวรรณาราม เต็มหน้าลานวัด จนสนามโรงเรียนสุวรรณารามยังไม่พอฝัง (สุภาภรณ์, 272-274)

ด้วยเหตุที่สถานีรถไฟบางกอกน้อยมีความสำคัญจึงตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีหลายครั้งส่งผลกระทบให้โรงพยาบาลศิริราชที่ตั้งใกล้สถานีรถไฟ ย่อมได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางอากาศไปด้วย ดังพิพิธภัณฑ์ศิริราช เล่าไว้ในหัวข้อศิริราชในยามสงคราม โดยอิงความทรงจำนักศึกษาแพทย์ศิริราชในช่วงปี 2489 ว่า มีครั้งหนึ่งระเบิดเพลิงตกลงหลังคาอาคารทำให้ต้องหยุดเรียนกันบ่อย บางครั้งกำลังเรียนอยู่

เมื่อมีเสียงหวอก็ต้องหยุดเพื่อวิ่งลงหลุมหลบภัย ภาวะสงครามทำให้ขาดแคลนทุกอย่างทั้งตำราเรียนและอุปกรณ์การเรียน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น เช่น ขาดแคลนตำรากายวิภาคศาสตร์ภาษาอังกฤษ

ต่อมา อาจารย์สุด แสงวิเชียร อาจารย์แพทย์จึงต้องเขียนตำราการชำแหละศพเป็นภาษาไทยเล่มแรกขึ้น โดยเขียนในเวลากลางคืน วันละแผ่นสองแผ่น ทยอยพิมพ์ให้นักเรียนนำไปเย็บรวมเป็นเล่มเอง ส่วนภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาสมัยชาตินิยม มีการบัญญัติศัพท์ใหม่ เช่น median line เป็นเส้นมัธยม paramedian line เป็นเส้นข้างมัธยม ทำให้ผู้เรียนต้องพยายามแปลศัพท์ไทยที่บัญญัติขึ้นใหม่เป็นฝรั่งอีกทีเพื่อให้เข้าใจตามความเคยชิน

นอกจากการขัดสนตำราแล้ว กระดาษที่ใช้จดคำบรรยายยิ่งอัตคัด เขียนกันตั้งแต่ขอบกระดาษบนถึงขอบกระดาษล่าง บางคนเขียนแม้ในช่องว่างระหว่างบรรทัด บางทีต้องหากระดาษหน้าเดียวมาใช้ หน้าหลังจดเล็กเชอร์ แล้วเย็บเป็นเล่ม (เพจพิพิธภัณฑ์ศิริราช)

อาคารสถานีรถไฟบางกอกน้อย หลังแรกสร้างสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อสงครามยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงปลายสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทั้งพระนครและธนบุรี ถี่ขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน ในที่สุด การโจมตีสถานีบางกอกน้อยทางอากาศเกิดขึ้นกลางดึกของวันที่ 5 มีนาคม 2488 ไม่แต่เพียงระเบิดได้ทำลายคลังสินค้า ขบวนรถไฟ และรางรถไฟขาดเสียหายใช้การไม่ได้ หัวรถจักรและโบกี้ต่างๆ รถไฟไทยพังยับเยิน ทำให้ชาวบ้านบางกอกน้อยอพยพหนีภัยไปนอกเมือง แต่ระเบิดส่วนหนึ่งพลาดตกใส่หอพักแพทย์ ห้องพิเศษศัลยกรรม ตึกพระองค์หญิง (ตึกคนไข้เด็ก) ห้องคลอดตึกจุฑาธุชพังเสียหายอีกด้วย (เสนอ อินทรสุขศรี, 2548, 81)

ในช่วงนั้น โรงเรียนแพทย์ศิริราชกำลังใกล้สอบ แทนที่นักศึกษาแพทย์จะได้สอบ แต่นักศึกษาแพทย์ทุกคนต้องมาช่วยกันค้นหาสไลด์ที่ใช้สอบในซากปรักหักพังแทน ทำให้การสอบ อาจารย์ต้องเขียนคำถามบนกระดานดำทีละข้อและให้นักศึกษาเขียนตอบคำถามทีละข้อตามกำหนดเวลาแล้วจึงเขียนคำถามข้อใหม่บนกระดานดำไปจนหมดข้อสอบ (เสนอ, 118) การเรียนการสอนในครั้งนั้นต้องเรียนในอาคารหลังคามุงจากอยู่พักใหญ่ การเรียนวิชาพยาธิจึงไม่ค่อยได้ผลดีอยู่ระยะหนึ่ง เนื่องจากขาดแคลนทั้งอุปกรณ์และสถานที่เรียน

นับตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฏาคม 2488 เวลากลางวัน เมื่อสถานีบางกอกน้อยได้ถูกโจมตีทางอากาศอีกเป็นหนที่ 3 นั้น การโจมตีครั้งหลังนี้สร้างความเสียหายให้กับโรงซักฟอก โรงช่างไม้ของศิริราชเสียหายหมด ทั้งหมอ พยาบาลและผู้ป่วยวิ่งกันวุ่นเพื่อเอาชีวิตรอด ในที่สุดทางการตัดสินใจย้ายการรักษาพยาบาลที่ศิริราชไปตั้งที่ศาลากลางนนทบุรี (หลังเก่า) ที่ศิริราชคงมีเฉพาะการตรวจผู้ป่วยนอกเท่านั้น (เพจพิพิธภัณฑ์ศิริราช)

อาคารสถานีบางกอกน้อยหลังใหม่ สร้างสมัยรัฐบาลจอมพล ป. เปิดใช้ 2493
ภาพพระนครปลายสงครามยามถูกทิ้งระเบิดโดย B-29
สภาพคลังสินค้าที่สถานีบางกอกน้อยพังพินาศจากการทิ้งระเบิด เครดิตภาพ : Thawatchai Jai-aue