นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เครื่องแบบและอาณานิคม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในขณะกำลังรอขึ้นเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯ คนที่นั่งอยู่ข้างผมจำนวนไม่น้อยล้วนสวมเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน ทั้งหญิงและชาย เป็นโอกาสอะไร จึงต้องสวมเครื่องแบบผมก็ไม่ทราบ แต่ค่อนข้างสะดุดตาสำหรับผม เพราะก่อนหน้ารัฐประหาร ผมสังเกตเห็นมานานแล้วว่า เครื่องแบบข้าราชการพลเรือนกำลังเลือนหายไปภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไทยที่งอกงามขึ้น

ผมเพิ่งนึกออกในตอนนั้นว่า เครื่องแบบข้าราชการนั้นเป็นผลผลิตของระบบอาณานิคมโดยแท้

อันที่จริงจะพูดให้ไกลไปกว่านั้นก็ได้ว่า เครื่องแบบข้าราชการล้วนเป็นผลผลิตของรัฐแบบใหม่ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในยุโรป อันเป็นรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเชิงกำกับควบคุมชีวิตของพลเมืองไปแทบจะทุกฝีก้าว ไม่แต่เพียงเรียกเก็บส่วนแบ่งของผลผลิตอย่างรัฐโบราณ ทั้งรัฐยังเกี่ยวข้องกับพลเมืองโดยตรง เลิกใช้ตัวแทนในการทำการด้วย (เช่น เก็บภาษีโดยตรง เลิกใช้เอเย่นต์ เช่น พระ, เจ้าที่ดิน, เจ้าครองแคว้น ฯลฯ ซึ่งย่อมต้องเม้มส่วนหนึ่งเข้ากระเป๋าของตนเป็นธรรมดา)

ด้วยเหตุดังนั้น รัฐจึงต้องแสดงหน้าตาของตนให้ประชาชนเห็น เครื่องแบบข้าราชการคือหน้าตาของรัฐที่โผล่ออกมาให้ประชาชนเห็นไงครับ

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเครื่องแบบชุดแรกของข้าราชการคือเครื่องแบบทหาร แต่กว่าจะลงตัวเป็นเครื่องแบบที่บอกตำแหน่ง, สถานะ และหน่วยที่สังกัดได้ชัดเจน ก็เข้าสู่สมัยใหม่เมื่อมีกองทัพประจำการแล้ว รายละเอียดหาอ่านเอาเองได้ไม่ยากหากถามพี่กู แต่ประเด็นที่ผมอยากชี้ให้เห็นมีอยู่สองสามเรื่อง

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

เรื่องแรกก็คือ เครื่องแบบที่ใช้กันในระยะแรกก่อนจะลงตัวนั้น แม้อาจเป็นสีเดียวกัน แต่เน้นสถานะของผู้สวมด้วยเครื่องประดับนานาชนิดตั้งแต่หมวกลงไปถึงรองเท้า ไม่นับอะไรต่ออะไรบนหน้าอกและบนไหล่อีกมาก (ไม่ใช่เครื่องหมายยศนะครับแต่เป็น epaulet ซึ่งแปลภาษาไทยว่าอะไรก็ไม่ทราบ ขอเรียกว่าพู่ไหล่แล้วกัน) ทั้งนี้เพราะอำนาจรัฐในสมัยโบราณของยุโรป (และญี่ปุ่น) แสดงออกผ่านชนชั้นนักรบ ซึ่งแม้ไม่มีเครื่องแบบ แต่มีการแต่งกายและประดับกายที่ทำให้เห็นความต่างจากประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน เช่นขี่ม้าซึ่งคนทั่วไปทำไม่ได้

(และนี่คือเหตุผลที่ประเพณีทหารในกองทัพสมัยใหม่รักษาร่องรอยของระเบียบสังคมสมัยกลางไว้มาก เช่นแยกสโมสรระหว่างนายทหารและชั้นประทวน เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัดโดยไม่ต้องคิดเอง ฯลฯ)

หนังไทยซึ่งแสดงฉากสงครามในสมัยอยุธยาชอบให้ทหารแต่งเครื่องแบบสีแดงบ้าง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง เต็มพรืดไปทั้งจอ ผมไม่เชื่อหรอกครับ นั่นมันเครื่องนุ่งห่มในขบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตรา รัฐไทยสมัยนั้นไม่มีเงินพอจะห่มกองทัพชาวนาด้วยเครื่องแบบได้หรอกครับ เครื่องแบบของกองทัพไทยโบราณคือเครื่องแต่งกายตามประเพณีของทหารที่ถูกเกณฑ์มา เป็นไทย (มอญ, ญวน, เขมร, เจ๊ก, ญี่ปุ่น, หรือฝรั่ง, ฯลฯ) ก็แต่งตามวัฒนธรรมของตน นี่เป็นเครื่องแบบทหารที่เก่าแก่ที่สุด และใช้กันในทุกกองทัพของโลกมาก่อนทั้งสิ้น

ขอให้สังเกตด้วยนะครับว่า เครื่องนุ่งห่มสีๆ ของไพร่พลในขบวนเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตรานั้น หากถือเป็น “เครื่องแบบ” ก็เป็นการแสดงแก่ราษฎรของตนเอง ไม่ใช่แสดงแก่กองทัพข้าศึก เครื่องแบบแสดงอะไรแก่คนภายในหรือคนภายนอกเป็นเรื่องน่าคิดนะครับ

และนี่เป็นประเด็นที่สองซึ่งผมอยากพูดถึง

เครื่องแบบทหารนั้นมีประโยชน์แก่การทำหน้าที่ของทหารอย่างหนึ่ง และแสดงตนแก่ข้าศึกซึ่งเป็นคนภายนอกอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น ในสมัยก่อนที่เครื่องแบบทหารจะถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นสีพื้นๆ เรียบง่ายอย่างปัจจุบัน จึงไม่มีใครแต่งเครื่องแบบทหารในยุโรป นอกจากจะออกไปทำสงคราม รัฐสมัยใหม่ของยุโรปไม่อยากแสดงตัวของตนให้พลเมืองเห็นผ่านเครื่องแบบทหาร

แต่ตรงกันข้าม เมื่อรัฐทำหน้าที่สมัยใหม่หลายอย่าง ที่ต้องเข้ามาสัมผัสกับพลเมืองของตนโดยตรง นั่นแหละที่รัฐต้องแสดงหน้าตาของตนให้พลเมืองรู้จัก นั่นคือเครื่องแบบตำรวจและข้าราชการบางตำแหน่งหน้าที่ เช่น เจ้าท่าในระหว่างปฏิบัติงาน หรือบุรุษไปรษณีย์ แต่ขอให้สังเกตด้วยว่า ตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้ถืออาญาสิทธิ์ที่รัฐมอบให้บางเรื่อง ที่ต้องแต่งเครื่องแบบก็เพื่อความไว้วางใจของพลเมืองเอง เครื่องแบบจึงไม่ใช่เป็นเครื่องแสดงอำนาจส่วนตัวของผู้สวมเครื่องแบบ

ส่วนข้าราชการพลเรือนอื่นๆ ซึ่งอยู่ประจำสำนักงาน แม้ต้องสัมผัสพลเมืองโดยตรงบ้าง ก็ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ เพราะการจัดสถานที่ทำให้ประชาชนที่ไปติดต่อรู้แล้วว่า คนที่นั่งอยู่หลังเคาน์เตอร์คือข้าราชการที่ต้องทำหน้าที่ของตน แม้แต่งกายเหมือนคนทั่วไปก็ตาม

ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้คือเครื่องแบบพนักงานของรัฐในยุโรป เป็นคนละเรื่องกับเมื่อรัฐในยุโรปเข้ามาครอบครองและบริหารอาณานิคมของตนในเอเชียและแอฟริกา

ข้าราชการพลเรือนซึ่งไม่มีเครื่องแบบให้แต่งที่บ้าน ครั้นมาอยู่ในอาณานิคมกลับต้องสวมเครื่องแบบ นับตั้งแต่ผู้ว่าการใหญ่ (หรือข้าหลวงใหญ่) ลงมาถึงเสมียนต๊อกต๋อย ตราบเท่าที่พวกเขาเป็นคนผิวขาว ระบอบอาณานิคมบางแห่งสร้างระบบราชการพื้นเมืองขึ้น โดยมีคนขาวเป็นผู้บังคับบัญชา ก็มีเครื่องแบบเหมือนกัน แต่แตกต่างจากเครื่องแบบข้าราชการคนขาว บางครั้งในแอฟริกาเหลือแค่หมวกกะโล่ใบเดียว

เครื่องแบบข้าราชการ (หรือนักปกครอง – administrator) ในอาณานิคมไม่ได้หรูหราอะไรนะครับ ก็เสื้อกางเกงสีกากีนี่แหละ ในประเทศร้อนมักนุ่งขาสั้น สวมถุงเท้ายาวขึ้นมาถึงหัวเข่า เรียกว่าเป็นเครื่องแบบที่คิดขึ้นสำหรับอาณานิคมโดยตรงทีเดียว แม้แต่คำว่า “กากี” นี่ หากผมจำไม่ผิดก็เป็นภาษาฮินดีแปลว่าฝุ่น (ซึ่งในสายตาฝรั่ง เป็นสัญลักษณ์ของอาณานิคมโดยแท้)

 

ทำไมจึงต้องสวมเครื่องแบบ? ในเมื่อมิชชันนารีและพ่อค้าผิวขาวก็อยู่มาได้โดยไม่ต้องมีเครื่องแบบ คำตอบก็คือเพื่อแสดงอำนาจแบบใหม่ที่คนพื้นเมืองอาจไม่คุ้นเคย คนของพระราชาก่อนจะตกเป็นอาณานิคม ถึงไม่มีเครื่องแบบ แต่ไปไหนมาไหนด้วยเสลี่ยงคานหาม มีบริวารเดินตามกันเป็นขบวน ใครเห็นก็รู้จักอำนาจของท่าน ซึ่งหากรับพระราชโองการมา ก็คือพระราชอำนาจของกษัตริย์นั่นเอง

แต่ข้าราชการอาณานิคม ไม่สามารถทำงานด้วยกำลังคนมหึมาอย่างนั้นได้ จะแบกอำนาจอธิปไตยของรัฐเจ้าอาณานิคมไปทำงานได้อย่างไร ซ้ำยังเป็นงานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวพื้นเมืองมากกว่ารัฐบาลของพระราชาเสียอีก เครื่องแบบจึงเป็นตัวแทนของอาญาสิทธิ์หรืออำนาจที่รัฐอาณานิคมมอบให้มา รัฐชาติในยุโรปซึ่งถือว่าพลเมืองเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องแบบเพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของผู้ปกครองและประชาชนเท่าๆ กัน (ตามทฤษฎี) แต่หลักการข้อนี้จะใช้ในรัฐอาณานิคมไม่ได้เป็นอันขาด

เหตุผลของเครื่องแบบอีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่ค่อยคิด นั่นก็คือเรามักลืมไปเสมอว่า รัฐเจ้าอาณานิคมนั้นล้วนเล็กนิดเดียว ทั้งในแง่ของพื้นที่และจำนวนประชากร เมื่อเทียบกับอาณานิคมที่ตนมีอยู่ในแอฟริกา, เอเชีย และหมู่เกาะในมหาสมุทร ประเทศกระจิริดอย่างอังกฤษเป็นเจ้าเหนืออินเดีย, พม่าและรัฐมลายู ไม่นับอีกหลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกา กระจายไปทั่วโลกจนอาจโม้ได้ว่า พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินในจักรวรรดิ เบลเยียมซึ่งยิ่งเล็กกว่าอังกฤษเสียอีก ครอบครองคองโกอันมหึมาในใจกลางทวีปแอฟริกา ฯลฯ

จะปกครองอาณานิคมซึ่งมหึมาทั้งพื้นที่และประชากรได้อย่างไร คำตอบตรงไปตรงมาก็คือ ทำให้คนพื้นเมืองเกิดความนับถือผู้ปกครองอย่างลึกระดับจิตไร้สำนึกทีเดียว รู้สึกโดยปราศจากความสงสัยใดๆ ว่าคนขาวมีธรรมชาติที่เหนือกว่า และอะไรก็ตามที่เป็นผลผลิตของคนผิวขาวมันต้องดีกว่าที่คนพื้นเมืองจะผลิตได้ ไม่ว่ากฎหมาย, ระบบปกครอง, กองทัพ, ไปจนถึงเสื้อผ้าหน้าผม ตัดผมสั้นย่อมดีกว่ามุ่นมวยหรือไว้เปียหลายขุมนัก

(ขอนอกเรื่องหน่อยว่า เครื่องนุ่งห่มของคานธี ซึ่งเชอร์ชิล-เรียกว่า “กึ่งเปลือย” คือการปลดปล่อยประชาชนอินเดียจากมนต์ดำของวัฒนธรรมอาณานิคมที่สำคัญกว่าเอกราชทางการเมือง นั่นคือรื้อฟื้นความนับถือตนเองกลับคืนแก่คนเล็กคนน้อยในอินเดีย)

วิธีที่เจ้าอาณานิคมใช้คือการสร้างระยะห่างทางสังคม (social distance) ขึ้นระหว่างตนเองกับชาวพื้นเมือง แม้ในระบบราชการแบบใหม่ที่เจ้าอาณานิคมนำเข้ามา และระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ทำให้คนขาวและชาวพื้นเมืองต้องติดต่อกันอย่างใกล้ชิดในสถานที่ราชการและตลาด แต่คนขาวมีชีวิตส่วนตัวที่ห่างไกลจากชาวพื้นเมือง เขานั่งดวดเหล้าร่วมกันตอนแดดร่มลมตกกับคนขาวด้วยกันเท่านั้น เพราะเขามักจะดวดกันที่สโมสร ซึ่ง “ห้ามหมาและคนพื้นเมืองเข้า” – ว่ากันว่าเรื่องนี้เป็นแค่ตำนาน ไม่เคยมีป้ายอย่างนี้จริง แต่โดยเนื้อหาของกฎสโมสร ก็หมายความอย่างนี้แหละครับ – อันเป็นสโมสรที่ไม่รับคนพื้นเมืองเป็นสมาชิก

คนขาวนำกีฬาของตนมาเล่นในอาณานิคม กีฬาหลายอย่างเล่นกันในสโมสร จึงไม่มีคนพื้นเมืองร่วมเล่นด้วย กีฬา, สโมสร, การแต่งกาย, การเลือกคู่, ภาษา, ฯลฯ ล้วนทำหน้าที่สำคัญคือเป็น “ฉากแสดง” ให้เห็นวิถีชีวิตอารยะของผู้ปกครองผิวขาว ซึ่งชาวพื้นเมืองต้องเงยหน้าขึ้นชมด้วยความงุนงงและระย่อไปพร้อมกัน เพราะตน “ขึ้น” ไปไม่ถึง

ชีวิตจริงอิงนิยายที่น่าเศร้าที่สุดของระบบอาณานิคมคือลูกครึ่งและ “เมียเช่า” ก่อนที่ลัทธิอาณานิคมจะเบ่งบานเต็มที่ ไม่มีใครถือ “ระยะห่างทางสังคม” เป็นกฎเกณฑ์ตายตัวนัก ข้าราชการผิวขาว (หรือพนักงานบริษัทการค้า) ล้วนมีหญิงพื้นเมืองเป็นนางบำเรอ เกิดลูกครึ่งจำนวนมาก ซึ่งพ่อก็ผลักดันส่งเสริมให้ร่วมเป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคมอาณานิคมได้ไม่ยาก แต่พอลัทธิอาณานิคมเบ่งบานเต็มที่ ลูกครึ่งกลายเป็นตะปูเจาะยาง “ระยะห่างทางสังคม” ที่แหลมคมที่สุด ในที่สุดลูกครึ่งก็กลายเป็นคนที่ถูกกันออกไปจากสังคมคนขาว แทบไม่ต่างจากชาวพื้นเมือง

และดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เราลอกเลียนระบบบริหารราชการของอาณานิคมมาใช้ในบ้านเรา โดยเฉพาะจากพม่าและอินเดีย ไม่เฉพาะแต่การบริหารส่วนภูมิภาคเท่านั้น กรมกองสมัยใหม่หลายกรมกองด้วยกัน ก็ใช้คนอังกฤษเป็นเจ้ากรม เช่น กรมป่าไม้, กรมศุลกากร, ฯลฯ เป็นต้น ส่วนใหญ่ของคนอังกฤษเหล่านี้เคยรับราชการในอาณานิคมมาก่อนที่จะย้ายมาเป็นลูกจ้างของรัฐบาลสยาม

ระบบอาณานิคมจึงตั้งมั่นขึ้นในประเทศไทย ไม่เพียงแต่รูปแบบการบริหารกิจการของรัฐเท่านั้น แต่ผมคิดว่ามันเลยเข้าสู่ระดับจิตใจด้วย

เครื่องแบบข้าราชการใช้กันมาแต่ระยะแรกๆ ของการสถาปนาระบบราชการแบบใหม่ จุดมุ่งหมายก็คล้ายกับข้าราชการในอาณานิคม นั่นคือเพื่อแสดงอำนาจที่ได้รับมอบหมายมาจากรัฐ แต่ความหมายนี้ถูกผสมด้วยวัฒนธรรมไทยว่าผู้แต่งชุดข้าราชการ คือคนของรัฐซึ่งย่อมทำให้มีสถานะสูงกว่าสามัญชนทั่วไป เครื่องแบบจึงเป็นเครื่องมือของการแสดงระยะห่างทางสังคมได้อย่างดี เพียงแต่เราเปลี่ยนความห่างทางชาติพันธุ์ในอาณานิคม เป็นความห่างทาง “ช่วงชั้น” ซึ่งมีความหมายในสังคมไทยมากกว่า

อีกเรื่องหนึ่งที่เครื่องแบบข้าราชการช่วยรักษาความห่างทางช่วงชั้นได้ดีกว่าข้าทาสบริวารหรือเสลี่ยง-คานหามอย่างสมัยโบราณ ก็คือเครื่องหมายยศและสังกัด หมายความว่าแม้ในหมู่ข้าราชการด้วยกัน ก็มิได้เป็นคนเสมอภาคกัน แต่มีชั้นยศและสังกัดที่สูงต่ำผิดกันด้วย เครื่องหมายเหล่านี้ไม่ได้มุ่งแสดงแก่คนนอกราชการ แต่มุ่งแสดงให้ข้าราชการด้วยกันรู้ว่าใครอยู่ในช่วงชั้นไหน เพราะแม้แต่ผมเองซึ่งรับราชการมาหลายสิบปี ก็ยังดูไม่ค่อยจะเป็น เพราะผมทำราชการในหน่วยงานที่ชั้นยศมีความสำคัญไม่สู้มากนัก

ผมอยากจะเดาด้วยว่า เครื่องแบบข้าราชการซึ่งแสดงความห่างทางสังคมอย่างหนึ่ง กับแสดงช่วงชั้นที่ละเอียดซับซ้อนของคนในวงราชการอีกอย่างหนึ่งนี้ ถูกใจนักรัฐประหารไทยด้วย เพราะแสดงให้เห็นระเบียบซึ่งตั้งอยู่บนสิทธิและหน้าที่อันไม่เสมอภาค ระหว่างคนของรัฐกับคนทั่วไปอย่างหนึ่ง และระหว่างคนของรัฐด้วยกันเองอีกอย่างหนึ่ง

ดังนั้น คณะรัฐประหารไทยทุกคณะ เมื่อได้อำนาจแล้วจึงมักส่งเสริมหรือบังคับให้ข้าราชการแต่งเครื่องแบบ ซึ่งเป็นการสร้าง “ระเบียบ” ให้สังคมได้ง่ายดี ทุกคนรู้ที่ทางของตนเอง และต่างทำหน้าที่ของตนไปให้เต็มที่ โดยไม่ต้องคิดถึงสิทธิเสรีภาพใดๆ นั่นคือระเบียบสังคมที่อาจนำสังคมไปสู่ความสุขความเจริญ… ในทัศนะของนักรัฐประหาร

ดูเหมือนไทยเป็นชาติเดียวที่ข้าราชการแต่งเครื่องแบบเหมือนสมัยอาณานิคมมากที่สุดในอุษาคเนย์ เพราะเราไม่เคยตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการของใคร เราจึงไม่เคยผ่านการปฏิวัติชาตินิยมที่บรรลุผลอย่างอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, พม่าและเวียดนาม ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นเครื่องแบบข้าราชการบ่อยนัก