ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ทะลุกรอบ |
ผู้เขียน | ดร. ป๋วย อุ่นใจ |
เผยแพร่ |
ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ
Regenerative Technology
: บทเรียนจากค้างคาวในห้องสมุด…
ในปัจจุบัน โลกร้อน โลกรวน โลกเดือด ภูมิอากาศแปรปรวน ธรรมชาติแปรเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่ไม่คาดฝัน เกิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน อาหารการกินวิกฤต มองไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหา พีเอ็มสองจุดห้า ไมโครพลาสติก น้ำทะเลหนุนสูง โรคอุบัติใหม่ ไปจนถึงน้ำแข็งขั้วโลกละลาย…
ผลกระทบทุกอย่างวนเวียนต่อเนื่องเป็นงูกินหาง…และบางทีนี่อาจจะเป็นผลกระทบที่มาจากเทคโนโลยีแบบเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง!
ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มนุษย์เรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มรวมตัวก่อตั้งสังคมมนุษย์ สมัยที่พวกบรรพบุรุษของเรายังคงเป็นนักเก็บของป่า-ล่าสัตว์ (hunter-gatherer) และเมื่อสังคมมนุษย์เริ่มขยายจากครอบครัว เป็นเผ่า เป็นหมู่บ้าน และเริ่มใหญ่ขึ้นจนเป็นเมือง การเก็บของป่า-ล่าสัตว์ก็เริ่มที่จะไม่เพียงพอจุนเจือชีวิตของผู้คนในสังคมที่ใหญ่ขึ้น เพื่อการอยู่รอด
มนุษย์เริ่มใฝ่หาความยั่งยืน การเข้าป่าล่าสัตว์ขึ้นกับดวง บางวันได้ บางวันอด และเมื่อปากท้องที่ต้องเลี้ยงเพิ่มขึ้น ความไม่แน่ไม่นอนจึงกลายเป็นปัญหา
มนุษย์จึงต้องเริ่มเรียนรู้และเริ่มหาวิธีใช้ประโยชน์ธรรมชาติด้วยวิธีที่ชาญฉลาดขึ้น

จากการสังเกต มนุษย์เริ่มเข้าใจชีววิทยาของพืชและพฤติกรรมของสัตว์ และเริ่มเรียนรู้การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ และเมื่อมีอาหารและพืชพรรณแบบไม่ต้องกังวล สังคมมนุษย์ก็เริ่มแผ่ขยายอาณานิคมอย่างรวดเร็ว
และเมื่อขนาดของสังคมใหญ่ขึ้น เพื่อให้การพัฒนาในเชิงสังคมดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมก็ต้องถูกพัฒนาออกมาให้ทันต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน
จากการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ตามยถากรรม กลายเป็นการเกษตร-ปศุสัตว์อย่างเป็นระบบ ไปจนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ทุกอย่างถูกผลิตออกมาในระดับใหญ่โตมโหฬารเพื่อจุนเจือความต้องการที่มหาศาลของสังคมมนุษย์ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก และยังพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนถึงยุคปัจจุบัน
และในยุคปัจจุบัน เมื่อสังคมมนุษย์เริ่มขยายขนาด และสูบใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ จนระบบนิเวศของโลกเริ่มเรรวน แทบล้ม ผลกระทบในเชิงลบของเทคโนโลยีแบบโฟกัสมนุษย์ที่ในครั้งหนึ่งช่วยขับเคลื่อนสังคมมนุษย์จนเจริญรุ่งเรืองจึงเริ่มเห็นชัด
ฤๅมนุษย์จะใส่ใจกับตัวเราเองมากไปและหลงระเริงกับเทคโนโลยีจนหลงลืมธรรมชาติ?
จนท้ายที่สุด ในยามที่เรากำลังใช้ประโยชน์ถึงขีดสุดจนเกินกว่าธรรมชาติจะรับไหว เทคโนโลยีที่มุ่งเป้าแต่การพัฒนาสังคมมนุษย์จึงได้ย้อนกลับมาบ่อนทำลายคุณภาพชีวิต และสังคมของมวลมนุษยชาติอย่างเจ็บแสบ!?
คำถามคือ สังคมมนุษย์ควรจะยังดำเนินไปแบบนี้หรือไม่? เราควรจะยึดครองโลกแบบกินรวบ แบบไม่สนใจอะไร หรือมันถึงเวลาที่จะต้องเริ่มเปลี่ยนแนวคิดได้แล้ว
บางทีนี่อาจจะเป็นสัญญาณที่บอกเราว่า เราน่าที่จะต้องเตรียมตัวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านกันได้แล้วอีกครั้ง “ยุคแอนโทรโพซีน (Anthropocene) หรือยุคแห่งมนุษย์ครองโลกนั้นน่าจะถึงกาลสิ้นสุดได้แล้ว

มาร์ก บักลีย์ (Marc Buckley) หนึ่งในนักคิดที่โด่งดังที่สุดในเรื่องนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เผยว่าในเวลานี้ ถ้าสังคมมนุษย์จะอยู่กันให้ได้อย่างยั่งยืน มนุษย์จะสนใจโฟกัสแค่เทคโนโลยีของมนุษย์ไม่ได้อีกต่อไป
เทคโนโลยีที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมาจะต้องเติบโตกันไปควบคู่กับธรรมชาติ ดำเนินไปด้วยกัน เกื้อกูลและส่งเสริมซึ่งกันและกัน และถ้าเราทำได้ เราจะค้นพบความยั่งยืน (Sustainability) ที่แท้จริง
มาร์กเรียกยุคใหม่นี้ว่า ยุคแห่งการเกื้อกูล หรือ ซิมไบโอซีน (Symbiocene)
การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน “แค่การอนุรักษ์ (conservation) อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ” แต่ยังต้อง “ฟื้นฟู (regeneration)” ด้วย เพราะผลกระทบของเทคโนโลยีสูบเลือดสูบเนื้อใช้ประโยชน์จากธรรมชาติจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคแอนโทรโพซีนนั้น ได้ทำลายระบบนิเวศจนพังพินาศไปจนแทบกู่ไม่กลับแล้ว
เทคโนโลยีใหม่ที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ต้องเป็นเทคโนโลยีที่เกื้อกูลกันกับธรรมชาติและช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ (Regenerative technology)
แล้วเทคโนโลยีที่เกื้อกูลกับธรรมชาติจะต้องลึกล้ำสักแค่ไหน?…

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้พบกับไอเดียที่น่าประทับใจในการออกแบบห้องสมุดโบราณ “โจนินา (Biblioteca Joanina)” ที่มหาวิทยาลัยโกอิมบรา (The Univesity of Coimbra) ในประเทศโปรตุเกส
แทนที่จะใช้สารเคมีและเทคโนโลยีทางวิศวกรรมในการกำจัดหนอน มอดและแมลงกัดแทะหนังสือ คลังปัญญาแห่งยุโรปแห่งนี้ได้ออกแบบใช้กลวิธีธรรมชาติ คือ “ใช้ค้างคาวผู้พิทักษ์มาช่วยรักษาหนังสือ!!!” ซึ่งอินเทรนด์มาก เข้ากับเทคโนโลยีแห่งซิมไบโอซีนหรือยุคเกื้อกูลกันแบบสุดสุด…
ไอเดียนี้ง่ายมาก เปิดหน้าต่างให้ค้างคาวบินเข้าบินออกได้อย่างอิสระในยามราตรี คลุมโต๊ะและเฟอร์นิเจอร์ที่มีเพื่อให้ง่ายกับการทำความสะอาด และที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเหล่าค้างคาวผู้พิทักษ์
ค้างคาวที่หอสมุดโจนินาส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์พีพิสเทรล (Common pipistrelle) ซึ่งเป็นค้างคาวขนาดเล็ก ขนาดแค่ประมาณไม้ขีดไฟ ซึ่งบางฝูงก็ยึดหัวหาดตั้งรกรากอยู่ในห้องสมุดสไตล์บาโรค (Baroque) แห่งนี้ ในตอนกลางวัน พวกมันจะหลบซ่อนตัว หลับใหลอยู่หลังชั้นหนังสือไม้โอ๊กแกะสลักลวดลายอันวิจิตรภายในห้องสมุด ก่อนที่จะออกมาไล่ทำงานกำจัดหนอน มอด มด ปลวก และแมลงอื่นๆ ตามชั้นหนังสือต่างๆ
ค้างคาวพวกนี้จะบินฉวัดเฉวียนจากตู้หนึ่งไปอีกตู้หนึ่ง คอยลาดตระเวนอยู่ตลอดมิต่างจาก “พนักงานรักษาความปลอดภัย” หรือ “ยาม” ที่คอยตรวจตราและดูแลหนังสือไม่ให้ถูกทำลาย และถ้ามองว่าห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสือมากถึงกว่าสองแสนเล่ม การใช้ค้างคาวผู้พิทักษ์ถือเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด
ค้างคาวเหล่านี้มิได้ถูกขัง หลังจากที่พวกมันลาดตระเวนไล่หาบุฟเฟ่ต์แมลงกินตามชั้นหนังสือต่างๆ เรียบร้อยแล้ว พวกมันจะเริ่มบินออกทางหน้าต่างสู่ท้องฟ้าในยามราตรี ไปวนเหนือลานหินในมหาวิทยาลัยและเริ่มกระจายตัวออกไปหาน้ำและแมลงกินในตามชายฝั่งแม่น้ำมอนเดกู (Mondego river) ที่อยู่ใกล้เคียงตามอัธยาศัย ก่อนจะย้อนกลับมาแขวนตัวนิทราอย่างเงียบเชียบในห้องสมุดเมื่อฟ้าสาง
เป็นแบบนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน
แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเอาเสียเลย กลยุทธ์ในการใช้ค้างคาวผู้พิทักษ์นี้จะปัญหาหลักๆ อยู่หนึ่งปัญหาก็คือ หลังจากงานเลิก น้องมักจะทิ้งสิ่งปฏิกูล (ขับถ่าย) เอาไว้ในห้องสมุด ซึ่งถ้าดูแลไม่ดี โต๊ะสลักเสลาลายทองของโบราณ ชั้นหนังสือสุดอลังการงานศิลปะสไตล์โรโคโคที่แทบประเมินค่าไม่ได้ ก็อาจจะถูกปกคลุมและเสียหายไปด้วยมูลที่น้องถ่ายเรี่ยราดเอาไว้
แต่ปัญหานี้แก้ง่าย แค่เอาผ้าหนังสัตว์มาคลุมเฟอร์นิเจอร์และพื้นที่เอาไว้ในตอนเย็น พอตอนเช้าก็มาเก็บไปทำความสะอาดก่อนที่จะเอากลับมาใช้ใหม่ในวันต่อๆ ไป แค่นั้นก็จบ
ถ้ามองว่าไม่ต้องใช้สารเคมีอะไรมากมาย คือจริงๆ ห้องสมุดโจนินาก็มีใช้สารเคมีบ้าง แต่การใช้ค้างคาว ใช้ไม้โอ๊ก (ซึ่งก็ช่วยส่งกลิ่นไล่แมลงด้วย) และใช้กลไกอื่นๆ ที่แมลงไม่ชอบก็ทำให้พวกเขาประหยัดค่าจ้างและค่าการจัดการบำรุงรักษาห้องสมุดไปได้มากโข
และที่สำคัญ ได้ความสนใจจากสื่อช่วยโปรโมตให้อย่างท่วมท้น
ถ้าจะว่ากันตามจริง ชื่อเสียงของน้องค้างคาวผู้พิทักษ์ห้องสมุด ดังกระฉ่อนไปไกลยิ่งกว่าสถาปัตยกรรมระดับมรดกโลก ยิ่งกว่าความเก่าแก่โบราณ (สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1717) ยิ่งกว่าที่ว่าเป็นแหล่งคลังปัญญารวมหนังสือหายากโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไว้มากมาย
เรียกว่าเป็นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างแนบเนียน ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง
ที่น่าสนใจคือไอเดียนี้ไม่ใช่ไอเดียใหม่ แต่เป็นภูมิปัญญาที่มีมาแล้วเป็นร้อยปี นานแค่ไหนไม่มีใครรู้ อาจจะตั้งแต่เพิ่งสร้างห้องสมุดเสร็จใหม่ๆ หรืออาจจะเป็นภายหลังก็เป็นได้
แต่ที่แน่ๆ จากหลักฐานที่พอมีบันทึกไว้ ฝูงค้างคาวผู้พิทักษ์พวกนี้น่าจะอยู่กับห้องสมุดและทำงานดูแลหนังสือกะดึกแบบนี้มาเป็นเวลาไม่ต่ำว่าสองร้อยปี
เพราะมีเอกสารใบสั่งซื้อผ้าหนังสัตว์ไว้คลุมโต๊ะหนังสือที่ห้องสมุดสั่งทำเป็นพิเศษจากประเทศรัสเซียเพื่อไว้รองรับมูลค้างคาวที่มีอายุเกินกว่า 200 ปี ยังคงเก็บรักษาไว้อยู่
และคำถามที่ว่าทำไมค้างคาวพวกนี้ถึงเลือกมาอยู่ที่ห้องสมุด ก็ยังไม่มีใครตอบได้อีกเช่นกัน บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าในอดีตแห่งนี้ ก่อนที่จะมาเป็นห้องสมุด ที่แห่งนี้เคยเป็นคุกใต้ดินโบราณที่เอาไว้กักขังนักโทษในยุคกลางก็เป็นได้ (ปัจจุบันนักท่องเที่ยวยังสามารถลงไปชมห้องขังใต้ดินบางส่วนได้)
ซึ่งก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าค้างคาวอาจจะเคยอยู่ในคุกใต้ดินมืดๆ ที่อยู่ตรงนี้มาก่อน
แล้วพอสร้างห้องสมุดขึ้นมาทับคุกเอาไว้ พวกมันก็เลยได้ฤกษ์ย้ายนิวาสสถานเข้ามาพำนักในที่ใหม่ อัพเกรดจากคุกมืดๆ เป็นห้องสมุดสไตล์บาโรคสุดหรูแทน แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างยังเป็นแค่สมมุติฐาน ไม่มีหลักฐานอะไรชัดเจน
แม้ว่าจะมีหลายอย่างที่เราไม่รู้ในแง่ประวัติศาสตร์ แต่แต่ผมชอบคอนเซ็ปต์ของโจนินา “เบื้องบนคือคลังสติปัญญาสว่างไสว เบื้องล่างนั้นไซร้เคยคือที่กักขังในความมืด”
แต่จะมาตอนไหน และทำไมถึงไม่นั้นไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือด้วยความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมของค้างคาวอย่างลึกซึ้ง บรรณารักษ์และผู้ดูแลห้องสมุดโจนินาได้ปรับกระบวนการทำงาน เช่น คลุมผ้าตอนเย็น ทำความสะอาดตอนเช้า และอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์จากน้องให้ดีที่สุด และนั่นทำให้พวกเขาได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากค้างคาวผู้พิทักษ์ที่อยู่ร่วมกันมากับพวกเขามาแล้วนับศตวรรษ
ไอเดียง่าย ชัดเจน และสวยงาม และที่แน่ๆ ในแง่ความยั่งยืน กลยุทธ์เช่นนี้เวิร์กและยั่งยืน อย่างน้อย ก็ที่อยู่มา และก็จะอยู่ต่อไป ก็นานเป็นหลายศตวรรษแล้ว
ห้องสมุดโจนินา ไม่ใช่ที่เดียวที่มีค้างคาวผู้พิทักษ์ อีกที่ ที่มีค้างคาวผู้พิทักษ์ ก็คือ ห้องสมุดหลวงแห่งพระราชวังมาฟรา (Biblioteca do Pal?cio Nacional de Mafra) ในโปรตุเกส ที่ถ้าดูความวิจิตรแล้วต้องบอกว่าไม่แพ้โจนินา แล้วก็เป็นมรดกโลกเหมือนกันด้วย แต่ที่น่าสนใจที่สุด คือห้องสมุดแห่งนี้ก็ถูกดำริให้สร้างขึ้นมาโดยพระเจ้าจอห์นที่ 5 คนเดียวกันกับที่สั่งให้สร้างห้องสมุดโจนินา ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีการออกแบบอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า ทำไมถึงมีค้างคาวเข้ามาอยู่แบบเดียวกันเลยกับที่โจนินา
บางที ถ้าเราเริ่มที่จะหันมองและพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติให้ดีกว่านี้ บางทีเราอาจจะพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเจือจุนมวลมนุษยชาติ และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ (Regenerative technology) ที่จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้กับธรรมชาติอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริงก็เป็นได้
“บางที เทคโนโลยีที่ยั่งยืนนั้น อาจจะเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายๆ… ไม่ต้องลึกล้ำ แต่ต้องลึกซึ้ง” แต่ที่สำคัญ ต้องแก้ปัญหาให้ได้อย่างชัดเจน และตอบโจทย์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022