ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
กลาโหมลุ้น
อนาคต ‘บิ๊กอ้วน’
ส่องลิสต์ ชิงสนามไชย 1
ค้านธรรมเนียมใหม่กองทัพ
สเป๊กใหม่ ผบ.ทหารสูงสุด
กับเกม ‘บิ๊กปู’
กระทรวงกลาโหมมีข่าวสะพัดถึงโอกาสในการเปลี่ยนตัว รมว.กลาโหม จากการปรับคณะรัฐมนตรี ราวเดือนพฤษภาคม โดยมีข่าวลือว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม จะไปเป็นรองนายกฯ ควบ รมว.มหาดไทย เพื่อหวังชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ โดยพรรคเพื่อไทยจะขอแลกกระทรวงกับพรรคภูมิใจไทย
จนมีการลือต่อว่ามีชื่อของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พรรคดีเอ็นเอของลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี จะมาเป็น รมว.กลาโหม เพราะเป็นลูกทหาร และสนใจเรื่องกองทัพมายาวนาน
อีกทั้งพรรค รทสช. ก็ต้องการคุมกองทัพ ที่เป็นเสมือนอาวุธของฝ่ายอนุรักษนิยม เพราะตอนดีลจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ฝ่ายอนุรักษนิยมก็เคยต่อรองขอคุมกลาโหมเอง แต่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยอมให้แค่เป็น รมช.กลาโหมเท่านั้น
นอกจากนั้น เป็นที่รู้กันว่า นายพีระพันธุ์ก็เป็นเสมือนตัวแทนบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. มาคุมกองทัพแทน เพราะด้วยสถานการณ์อาจจะยังไม่เอื้ออำนวยให้ พล.อ.อภิรัชต์ต้องลงสู่สนามการเมืองเอง
แต่นายทักษิณจะกล้าให้พรรคเพื่อไทยปล่อยมือจากกระทรวงกลาโหม ให้พรรค รทสช.ได้ ทั้ง รมว. และ รมช.กลาโหม หรือไม่ เพราะการอภิปรายของพรรคประชาชนในสภา ก็ทำให้นายทักษิณตระหนักว่า ฝ่ายทหารและขั้วอนุรักษนิยม ก็ยังไม่วางใจในตัวนายทักษิณและแกนนำพรรคเพื่อไทยเท่าใดนัก ยังมองเหมือนยุคหลังรัฐประหาร 2549 และ 2557
ข่าวสายปีกสนามไชย 1 จึงยังเชื่อมั่นว่า พรรคเพื่อไทยจะยังไม่ปล่อยเก้าอี้ รมว.กลาโหม และยังเห็นว่า นายภูมิธรรมยังทำหน้าที่ได้ดี
เพราะการที่จะให้นายภูมิธรรมไปเป็น มท.1 นั้นเป็นไปได้ยากที่พรรคภูมิใจไทยจะยอมแลกกระทรวง ยิ่งดูจากเกมคดีฮั้วเลือกตั้ง ส.ว. ยิ่งพบร่องรอยของการวัดพลังกัน
แม้หากการปรับ ครม.ไม่มีขยับนายภูมิธรรม แต่ก็ต้องรอดูว่า นายภูมิธรรมจะรอดหรือไม่ จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคดีนายภูมิธรรม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในข้อกล่าวหาว่า แทรกแซงดีเอสไอ ให้รับคดีฮั้วเลือกตั้ง ส.ว. เป็นคดีพิเศษ
แม้นายภูมิธรรมจะยืนยันว่า ทำตามหน้าที่ ไม่ได้กังวลใดๆ ก็ตาม แต่แกนนำบ้านจันทร์ส่องหล้า รู้ดีว่า การวัดพลังของพรรคสีน้ำเงิน กับพรรคสีแดง ในคดีฮั้วเลือกตั้ง ส.ว.นั้น พรรคสีน้ำเงินต้องใช้พลังภายในขนาดไหน และยังถึงขั้นให้ย้อนศรกลับมาเล่นงานพรรคสีแดงเสียเอง จนกลายเป็นแต้มต่อของพรรคสีน้ำเงิน ในการต่อรองเก้าอี้ มท.1 โดยมีนายภูมิธรรม และ พ.ต.อ.ทวี เป็นตัวประกันเลยทีเดียว
กระแสข่าวในกระทรวงกลาโหม จึงจับตามองอนาคตนายภูมิธรรม ทั้งในสถานการณ์ปกติของการปรับ ครม. และในสถานการณ์ไม่ปกติ หากโดนศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามีความผิด
จนมีชื่อแคนดิเดต รมว.กลาโหม มาให้ลุ้น ทั้งบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม บิ๊กทิน นายสุทิน คลังแสง อดีต รมว.กลาโหม ที่ลุ้นคัมแบ๊ก
ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แม้จะเคยมีชื่อเป็นแคนดิเดต แต่ก็ยากที่นายทักษิณจะยอมเอาอนาคตนายกฯ มาเสี่ยงฝ่าเรื่องคุณธรรมจริยธรรม กลับมาเป็นรัฐมนตรีได้อีก
หรือแม้แต่ชื่อของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่ยังคงมีในลิสต์ทุกครั้ง
แต่ในภาพรวม นายภูมิธรรมยังคงทำหน้าที่ รมว.กลาโหม กับ ผบ.เหล่าทัพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับ บิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และบิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. และบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ.
หรือแม้แต่กับบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ติดตามใกล้ชิด แม้จะเป็นนายทหารสายบ้านป่ารอยต่อฯ ก็ตาม แต่ก็ทำงานร่วมกันได้ จะมีแค่บิ๊กแมว พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร.เท่านั้น ที่ไม่ค่อยได้สนิทสนมเท่าใดนัก แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาใดๆ กัน นอกจากเรื่องชะลอโครงการเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีน
โดยเฉพาะกับ พล.อ.ทรงวิทย์ ซึ่งเป็น ผบ.เหล่าทัพ ที่ประสานกับ ผบ.เหล่าทัพได้ จนหลายเรื่องนายภูมิธรรม หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็คุยกับ พล.อ.ทรงวิทย์คนเดียว แล้วให้ประสาน สั่งการไปยัง ผบ.เหล่าทัพต่อ
จนถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (กก.ปชด.) และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ปชด. เพิ่มอำนาจให้ พล.อ.ทรงวิทย์
แต่ พล.อ.ทรงวิทย์รู้ดีว่า โครงสร้างอำนาจของกองทัพไทยยังไม่เป็นสากล แม้ ผบ.ทหารสูงสุดจะเป็นผู้บังคับบัญชาของ ผบ.เหล่าทัพก็ตาม แต่ ผบ. 3 เหล่าทัพ โดยเฉพาะ ผบ.ทบ. มีความเป็นเอกเทศ พล.อ.ทรงวิทย์จึงตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ (ฉก.) 331-332-333 ขึ้นมา แล้วให้ ผบ.ทบ. ผบ,ทร. และ ผบ.ทอ. เป็น ผบ.ฉก.เอง เพื่อประสิทธิภาพในการประสานสั่งการ
ดังนั้น หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ก็คาดว่า นายภูมิธรรมจะนั่งควบเก้าอี้สนามไชย 1 นี้ต่อไป และพยายามสร้างแนวร่วมในกองทัพ แม้ว่าจะไม่อาจแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.เหล่าทัพได้ก็ตาม
มีการจับตามองว่า ในการโยกย้ายกันยายนนี้ ที่จะมีการเปลี่ยน ผบ.เหล่าทัพถึง 4 คน ที่จะเกษียณ ฝ่ายการเมืองจะเดินเกมอย่างไร ในเมื่อยังไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ปี 2551 และยังมีบอร์ด 7 เสือกลาโหม เป็นเกราะกำบังการแต่งตั้งโยกย้ายทหารอยู่
แต่กระนั้น ในกองทัพก็ยังมีกระแสข่าวถึงการเตรียมจัดวางตัวบุคคลที่จะมาคุมอำนาจกองทัพ โดยเฉพาะ ผบ.ทหารสูงสุด และปลัดกลาโหมคนใหม่ ที่ยังไม่มีความแน่นอน
แม้ว่า ทบ.จะส่งออก 2 พลเอก ไปยัง บก.ทัพไทย และกลาโหม เมื่อโยกย้ายตุลาคม 2567 และดูเป็นการจัดวางตัวที่เหมาะสมแล้ว ที่ให้บิ๊กหยอย พล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ จาก ผช.ผบ.ทบ. ข้ามมาเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด เพื่อให้จ่อเป็น ผบ.ทหารสูงสุด แทนบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่จะเกษียณ 30 กันยายน 2568 นี้
และการส่งบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ จาก ผช.ผบ.ทบ. ไปเป็นรองปลัดกลาโหม เพื่อให้จ่อเป็นปลัดกลาโหม แทนบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก ที่จะเกษียณเช่นกัน
แต่กระแสข่าวความไม่แน่นอน และมีโอกาสที่จะสวิตช์สลับกันอีกครั้ง ก็ยังคงมีอยู่ เพราะยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่า พล.อ.อุกฤษฎ์ จะขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคนต่อไป
ทั้งๆ ที่ บก.ทัพไทย เสือป่าแจ้งวัฒนะ ก็เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า พล.อ.อุกฤษฎ์จะขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด เพราะ พล.อ.ทรงวิทย์ ก็เตรียมมอบหมายงานให้สานต่อ
ทั้งการทำงานตามสูตร 8:2:2 เดือน เพื่อใช้ 2+2 เดือนสุดท้าย ในการส่งมอบงาน และเตรียมปล่อยมือให้ ผบ.ทหารสูงสุดคนใหม่
และการตั้ง พล.อ.อุกฤษฎ์ให้เป็นรองประธานบอร์ด ศอ.ปชด. และเป็น หัวหน้า ปชด.ส่วนหน้า ดูแลภารกิจที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ก็เป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมของ พล.อ.อุกฤษฎ์ ในการรับไม้ต่อ เพราะภารกิจ ปชด. น่าจะยาวนานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
และมีรายงานว่า พล.อ.ทรงวิทย์ มักจะชม พล.อ.อุกฤษฎ์ให้ได้ยินเสมอว่า เป็นคนเก่ง และเชื่อว่าจะทำได้ดีกว่าตนเอง หากได้ขึ้นมาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด
พล.อ.อุกฤษฎ์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 ของ พล.อ.ทรงวิทย์ และเติบโตมาจาก ร.1 รอ. เป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ มาก่อนที่จะไปเติบโตที่กรมยุทธการทหารบก จนเป็นเจ้ากรม และเป็นเสนาธิการทหารบก มันสมองของ ทบ.
เช่นนี้ก็ดูว่า พล.อ.อุกฤษฎ์ ก็น่าจะ “นอนมา” ในการขึ้นนั่งเก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุด คนที่ 36 อีกทั้งอายุราชการถึงกันยายน 2570 ขึ้นมานั่ง 2 ปี ก็กำลังดี
อีกทั้งมีการวางตัวบิ๊กปั้น พล.อ.ไพบูลย์ วรวรรณปรีชา รอง เสธ.ทหาร เพื่อน ตท.24 อีกคน ที่ไปอยู่ชายแดนแม่สอด ปชด.ส่วนหน้า ให้มาเป็นทีมเวิร์ก ที่คาดว่าจะขึ้นเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณ
ขณะที่คาดกันว่า เสธ.จุ๊ฟ พล.อ.ชิดชนก นุชฉายา รุ่นน้อง ตท.26 หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการของ พล.อ.ทรงวิทย์ วางตัวไว้ให้เป็นเสนาธิการทหารคนต่อไป ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับบิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ.อีกด้วย
ขณะที่ พล.อ.ธราพงษ์ ก็เตรียมขึ้นเป็นปลัดกลาโหม แทน พล.อ.สนิธชนก เพื่อนร่วมรุ่น ตท.24 เช่นกัน เพราะปลัดกลาโหม เหลืออายุราชการแค่ปีเดียว เกษียณกันยายน 2569 ก็ไม่เป็นไร แต่ ผบ.เหล่าทัพ ต้องมีอายุราชการเหลือ 2 ปีขึ้นไป
สูตรนี้จึงน่าจะเหมาะสม และลงตัวสำหรับ บก.ทัพไทย และกลาโหม ที่ ตท.24 ระลอกสุดท้าย ยังรับไม้ต่อในการดูแลกองทัพ
แต่กลับมีเสียงร่ำลือมาอีกระลอกว่า ยังไม่มีความชัดเจนขนาดนั้น อาจเป็นเพราะต้องรอดูทิศทางการเมือง และฝ่ายการเมืองหรือไม่
แม้ว่าฝ่ายการเมืองจะไม่สามารถแทรกแซงการแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพได้อยู่แล้ว เพราะยังมี พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 และมีบอร์ด 7 เสือกลาโหมอยู่
แต่ข้อสันนิษฐานเดียวคือ ต้องรอดูความชัดเจนว่า พล.อ.พนา จะได้นั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.ครบ 3 ปี จนเกษียณกันยายน 2570 หรือไม่ หรืออาจนั่งแค่ 2 ปี แล้วขยับไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณ เพื่อเปิดทางให้แม่ทัพใหญ่ พล.ท.อมฤต บุญสุยา แม่ทัพภาคที่ 1 ได้นั่งเป็น ผบ.ทบ. 2 ปี
เพราะหาก พล.อ.พนา เป็น ผบ.ทบ.ยันเกษียณกันยายน 2570 จะทำให้ พล.ท.อมฤต ที่เกษียณกันยายน 2571 อาจไม่ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. หากมีข้อกำหนดใหม่ ให้ ผบ.เหล่าทัพ ต้องมีอายุราชการเหลืออย่างน้อย 2 ปีจริง ที่มีสัญญาณสะพัดว่า จะเริ่มในโยกย้ายตุลาคม 2568 นี้ ที่จะมีการโยกย้าย เปลี่ยนทั้งปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.
ดังนั้น พล.อ.พนา อาจจะต้องหลบทางให้ พล.ท.อมฤต ที่ในเวลานั้นคงขึ้นมาเป็น 5 เสือ ทบ.แล้ว ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. 2 ปี
อีกทั้งมีความพยายามจะปรับธรรมเนียมกองทัพให้เป็นสากล เหมือนในหลายประเทศ คือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะมาจาก ผบ.เหล่าทัพที่อาวุโสที่สุด เป็นอาวุโสทางทหาร คือ นั่งเป็น ผบ.เหล่าทัพนานที่สุด ไม่ได้ดูที่รุ่นเตรียมทหาร หรือรุ่นพี่รุ่นน้อง
โดยจะเริ่มที่ พล.อ.พนาเป็นคนแรก เพราะมีอายุราชการยาว 3 ปี โดยนั่งเป็น ผบ.ทบ. 2 ปี แล้วขยับขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดใน 1 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ
แต่ทว่า สำหรับกองทัพไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมเนียม และโดยเฉพาะเก้าอี้ ทบ.1 ที่ถือว่าเป็นเหล่าทัพใหญ่สุด มีอำนาจแฝงทางการเมืองมากที่สุด และที่สำคัญคือ สามารถนำก่อการรัฐประหารได้
อีกทั้งในอดีตจนปัจจุบัน การชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ. หรือความพยายามในการย้าย ผบ.ทบ. ก็มักจะตามมาด้วยการรัฐประหาร และก่อให้เกิดศึกสายเลือด จปร. ศึกสายเลือดเตรียมทหารขึ้นเสมอ
หากย้อนอดีต อำนาจของ ผบ.ทบ.สูงมาก จนเกิดปรากฏการณ์ ผบ.ทบ. ควบ ผบ.ทหารสูงสุด ควบ รมว.กลาโหม หรือรักษาการ ผบ.ทหารสูงสุด ตั้งแต่ยุค 3 จอมพล “สฤษดิ์-ถนอม-ประพาส” เพราะทหารอยู่ในการเมือง เป็นรัฐบาล เป็นนายกฯ และการรัฐประหาร เกิดขึ้นเสมอๆ
จนมาถึงยุค ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่คุมอำนาจยาวนาน ทั้งในกองทัพและการเมือง สามารถจัดวางตัวนายทหารในตำแหน่งต่างๆ เกมเพาเวอร์เพลย์ ได้ด้วยอำนาจที่เบ็ดเสร็จ แต่เป็นรูปแบบของการใช้อำนาจโยกย้าย เช่นกรณีของบื๊กซัน พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ที่สะท้อนว่า การย้าย ผบ.ทบ.ในอดีต มักจะเป็นผลจากการเมือง และเกมการเมืองในกองทัพ
ในขณะเดียวกัน กรณีของบิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เป็นทั้ง ผบ.ทบ. และรักษาราชการ ผบ.ทหารสูงสุด ก็เป็นการสะท้อนเกมอำนาจในการโปรโมตนายทหารในคอนโทรล
จนมาถึงกองทัพในยุค 20 ปีหลัง การย้าย ผบ.ทบ.ยังคงเป็นการใช้อำนาจ เพาเวอร์เพลย์ ในกองทัพ ที่มีทั้งเป็นการโปรโมตขั้วอำนาจเดียวกัน และการเปลี่ยนเกม เปลี่ยนตัวบุคคล ที่มีความขัดแย้ง ทั้งในกองทัพ และกับการเมือง หาใช่เป็นความสมัครใจ
เช่น การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เป็นนายกฯ ที่จบจาก ตท.คนแรก ย้ายบิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่นั่งเป็น ผบ.ทบ.ยาว 4 ปี แล้วให้ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณ เพราะเห็นว่านั่งมา 4 ปีแล้ว ดันบิ๊กเกาะ พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.แทน
อันนำมาซึ่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นลูกป๋า ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณใช้การโยกย้ายแบบพิเศษ คือ นำโผโยกย้ายเฉพาะระดับหัว ผบ.เหล่าทัพ ขึ้นทูลเกล้าฯ เอง โดยไม่ผ่าน พล.อ.เปรม ประธานองคมนตรี เพราะรู้ว่า หากจัดทำโผทหารตามรูปแบบเดิม จะไม่อาจย้าย ผบ.ทบ.ได้
ซึ่งการย้าย ผบ.ทบ.ในครั้งนั้น มีส่วนทำให้เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ล้มอำนาจ พ.ต.ท. ทักษิณในเวลาต่อมา
และตามมาด้วยความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างขั้วชินวัตร กับขั้วบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่มีกำลังทหารเต็มมือ
เพราะ พ.ต.ท. ทักษิณในเวลานั้น มองว่า พล.อ.เปรมมีอำนาจมากเกินไปในฐานะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ การย้าย พล.อ.สุรยุทธ์ ลูกป๋าคนโปรด จึงท้าทายอำนาจ พล.อ.เปรม อดีตนายกฯ 8ปี ที่มีอำนาจและคุมกองทัพมายาวนาน เรียกได้ว่า ทหารเป็นลูกป๋ากันเกือบทั้งกองทัพ
สะท้อนว่า เก้าอี้ ผบ.ทบ. จึงเป็น ดิ อันทัช เอเบิล
ทั้งนี้หลังจากย้าย พล.อ.สุรยุทธ์ ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุดแล้ว ก็มีความขัดแย้งกันมาตลอด และหวาดระแวงว่าจะเกิดการรัฐประหารขึ้น แต่ที่สุดก็ไม่มีรัฐประหาร จน พล.อ.สุรยุทธ์ เกษียณในปี 2546
ในระหว่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ บริหารอำนาจในกองทัพแบบเต็มมือ โดยเพื่อน ตท.10 เป็นแบ๊กอัพ และมีการย้าย พล.อ.สมทัต ที่นั่งแค่ 1 ปี จากเก้าอี้ ผบ.ทบ. ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด เปิดทางให้บิ๊กตุ้ย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ญาติผู้พี่ เหล่าทหารช่าง ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนัก
จากนั้น 1 ปี ด้วยปัญหาภายในเครือญาติชินวัตร และเกมอำนาจของบ้านจันทร์ส่องหล้า พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ย้าย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ท่ามกลางความฮือฮา โดยให้ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มีข่าวว่าดองกับคนใกล้ชิดบ้านจันทร์ส่องหล้า ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.
อันสะท้อนได้อีกว่า การย้าย ผบ.ทบ.ในอดีต เป็นการบังคับในการย้าย โดยไม่เต็มใจ และเป็นเกมการเมืองในกองทัพ
สอดคล้องกับชะตาขีวิตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ผิดพลาดในการเลือก ผบ.ทบ. จาก พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ 3 ป.บูรพาพยัคฆ์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตัวของอำนาจ 3 ป. จนที่สุด ตั้งบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. แทน พล.อ.ประวิตร ที่เกษียณ และตั้งบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อน ตท.10 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และจบที่การรัฐประหาร 2549
ที่ทำให้ พ.ต.ท. ทักษิณต้องอยู่ต่างประเทศยาวถึง 17 ปี
ด้วยบทเรียนเหล่านี้ จึงยิ่งทำให้ไม่มีใครกล้าแตะ ผบ.ทบ. ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีการปรับธรรมเนียมประเพณีใหม่ของกองทัพ ที่จะให้ ผบ.เหล่าทัพที่อาวุโส ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด
หากมองข้อดี การใช้ธรรมเนียมนี้ จะเป็นโอกาสให้ ผบ.ทร. หรือ ผบ.ทอ. ได้มีโอกาสขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดได้ แม้ว่าคนที่เป็น ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. ไม่มีใครอยากลุกขึ้นมานั่งเป็น ผบ.ทหารสูงสุด
เพราะหากดูทำเนียบนาม ผบ.ทหารสูงสุด จะพบว่า เกือบทั้งหมดเป็นเหล่าทหารบก มีทหารเรือ และทหารอากาศไม่กี่คน แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นจาก ผบ.เหล่าทัพ
เช่น พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ พล.ร.อ.สุภา คชเสนี พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ พล.อ.อ.กมล เตชะตุงคะ
แต่มี พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ที่เป็น ผบ.ทอ.มาก่อน แต่ก็เป็นผลจากเพาเวอร์เพลย์ในกองทัพ ไม่ได้ย้ายมาด้วยความสมัครใจ
เทรนด์เก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุด ในระยะหลังๆ คือ นายทหารที่ไม่สามารถขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ได้ ก็จะแยกตัวด้วยความสมัครใจ แบบไม่มีทางเลือก มาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด
ตั้งแต่ บิ๊กเภา พล.อ.สำเภา ชูศรี ที่จบนายร้อยแซงซี ฝรั่งเศส ติดม่านประเพณี จปร. จึงไม่อาจขึ้น ผบ.ทบ.ได้ ต้องแยกมาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ เพื่อนเตรียมทหาร 1 สายป๋าเปรม ขึ้น ผบ.ทบ.
รวมทั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ที่จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกสหรัฐ หรือนายร้อยเวสต์ปอยต์ ก็แยกจาก ทบ. มาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด
จนมาถึงบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ที่เป็นแคนดิเดตท ผบ.ทบ.ด้วย แต่ก็มาขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด หลบทางให้บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เป็น ผบ.ทบ. จนมาถึง พล.อ.ทรงวิทย์เองก็ตาม
แต่ภาพลักษณ์ของกองบัญชาการกองทัพไทยและเก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุด ในระยะ 20 ปีหลัง มีความสำคัญมากขึ้น แม้จะไม่ได้คุมกำลังรบเหมือนผู้บัญชาการเหล่าทัพ แต่กำลังของนักรบสีน้ำเงินหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาทั่วประเทศ และไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกรุของนายทหารที่ผิดหวังจากเก้าอี้ ผบ.ทบ.อีกแล้ว
และเพิ่มความสำคัญในด้านการฝึกศึกษากับกองทัพต่างประเทศ กลายเป็นที่รวมของนายทหารที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ และเป็นทหารสมัยใหม่ แนวคิดใหม่ ภาพลักษณ์ของกองบัญชาการกองทัพไทย ไม่ใช่เป็นกองบัญชาการทหารสูงสุด ที่มักจะถูกเรียกร้องให้ยุบทิ้งเช่นในอดีตอีกแล้ว
กลายเป็นเหล่าทัพทำงานอินเตอร์ และไม่ Supreme Commander แบบในอดีต แต่เรียกแบบสากลว่า Chief of Defence Forces
มีการตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.พนา น่าจะมั่นคงในเก้าอี้ ผบ.ทบ. เพราะก็มีบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. เป็นพี่ผู้มีพระคุณ ที่สนับสนุนให้เป็น ผบ.พล.ร.11 กองพลสไตรเกอร์ เข้าไลน์จนเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และซัพพอร์ตจน พล.อ.พนาได้ไปฝึกหลักสูตรทหารคอแดง และได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เข้าไลน์จนเป็น ผบ.ทบ.ในวันนี้
ในขณะที่สายสัมพันธ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ กับบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และอดีตนายกฯ ยังคงแนบแน่น ซึ่งถือเป็นกองหนุนสำคัญของ พล.ท.อมฤต รุ่นน้องทหารเสือราชินี ที่เติบโตใน ร.21 รอ.ด้วยกันมา โอกาสที่จะเจรจารอมชอมกันย่อมมีอยู่
แต่ประการสำคัญอยู่ที่ หาก พล.อ.อุกฤษฎ์ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด โยกย้ายตุลาคม 2568 นี้ จะนั่งยาวจนกันยายน 2570 ก็จะปิดทางในการทำให้ พล.อ.พนา ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด เพราะเกษียณพร้อมกัน
หากมองจากมุมของ พล.อ.พนา ย่อมต้องการที่จะเป็น ผบ.ทบ.ยาว 3 ปีจนเกษียณเลย ไม่น่าจะต้องการขยับไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด หรือ พล.อ.พนา อาจมีการวางตัว ผบ.ทบ.ที่มีอายุราชการมากกว่า 2 ปี เอามาต่อคิวจากตนเอง ที่จะเกษียณกันยายน 2570ไว้ในใจแล้วก็ได้ เพราะมีแคนดิเดตหลายคน
การเปลี่ยนธรรมเนียมของกองทัพจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งหากเกี่ยวข้องกับ ผบ.เหล่าทัพ และโดยเฉพาะ ผบ.ทบ. ย่อมไม่มีใครสมัครใจอยากลุกจากอำนาจมาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด
กระแสข่าวแบบนี้ ก็จะเลือนหายไปในที่สุด เพราะยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง ยกเว้นมีสัญญาณการจัดระเบียบใหม่ ออกมาจากคีย์แมนในสายอนุรักษนิยมเท่านั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022