ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
หนึ่งสัปดาห์หลังประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรง ในระดับที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยพบเจอมาก่อนในช่วงชีวิตของพวกเขา (หรือพวกเรา)
เรื่องหนึ่งที่อาจตกตะกอนอยู่ในห้วงคำนึงและความรู้สึกนึกคิดของใครหลายต่อหลายคน ก็คือประเด็นที่ว่าท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ สังคมไทยต้องการ “ผู้นำ” แบบไหน?
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสังคมไทยท่ามกลางวิกฤตไม่ได้ต้องการ “ผู้นำ” เพียงแค่คนเดียวหรือแบบเดียว แต่เราต้องการคณะ “ผู้นำ” หลายคน ที่มีบุคลิกภาพ-ลักษณะการทำงานหลากรูปแบบ เพื่อเผชิญหน้าปัญหาขนาดใหญ่ ซึ่งพัวพันอยู่กับแง่มุม-รายละเอียดอันสลับซับซ้อนและยุ่งเหยิง
“ผู้นำแบบแรก” ที่หลายคนอยากได้อยากมีในยามวิกฤต ก็ได้แก่ “ผู้นำ” ที่สามารถสร้างความมั่นใจ ความเชื่อใจ ความไว้วางใจ ให้แก่ประชาชนพลเมืองที่กำลังมีอาการหวาดผวา หวั่นวิตก หรือรู้สึกไม่มั่นคงกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง
หลายคนต้องการ “ผู้นำ” ที่แสดงออกให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เข้าอกเข้าใจ เข้าถึงหัวใจ เข้าถึงจิตใจของพวกเขา
แน่นอน “ผู้นำ” คนหนึ่งในโลกความเป็นจริง ที่สนองตอบต่อความปรารถนาดังกล่าวได้ดี ภายหลัง กทม.เผชิญเหตุแผ่นดินไหว ก็คือ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
“ผู้นำประเภทถัดมา” ที่สังคมยุค “หลังพิบัติภัย” ต้องการเป็นอย่างสูง ก็คือ “ผู้นำ” ซึ่งมีศักยภาพจะทำหน้าที่เป็น “ผู้บัญชาการสถานการณ์” ได้ดี ไม่ว่าจะได้รับการแต่งตั้ง-มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้ ผู้คนยังอยากได้ “ผู้นำ” ที่มีความสามารถในการสื่อสารสถานการณ์พิบัติภัย และอัพเดตความคืบหน้าหลังจากนั้น ได้อย่างรวดเร็ว ชัดเจน ครอบคลุม และหนักแน่น
“ผู้นำ” รายหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ส่วนนี้ได้ค่อนข้างดี และสร้างความประทับใจให้แก่หลายคน เห็นจะเป็น “ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
กระนั้นก็ดี ในห้วงยามแห่งความเปราะบาง ที่ “รอยแตกร้าว” จากธรณีพิบัติภัยชอนไชไปถึง “รอยแตกร้าว” ของระบบราชการ องค์กรอิสระ ตลอดจนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยโดยรวม
ประจักษ์ชัดตั้งแต่การรอคอยเอสเอ็มเอสเตือนภัย/แจ้งภัยแผ่นดินไหว ที่ชี้ให้เห็นรอยโหว่-ช่องว่างของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
เห็นได้ชัดจากการถล่มสลายลงมาของอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งยังบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่อันเกิดจากรุกคืบเข้ามาแบบ “เทาๆ” ของ “กลุ่มทุน-ผู้ประกอบการต่างชาติ” จากประเทศมหาอำนาจข้างเคียง
สัมผัสชัดได้จากการหายสาบสูญไปของรัฐมนตรีหลายคน ผู้นำภาครัฐหลายราย หน่วยราชการหลายหน่วย ซึ่งควรมีบทบาทมีความรับผิดชอบในสถานการณ์นี้มากกว่าที่เป็นอยู่
“รอยแตกร้าว” ทั้งหมด คือการส่งเสียงเตือนดังๆ ว่าประเทศไทยกำลังต้องการ “การปฏิรูป” หรือ “การสะสาง-ชำระล้าง” ทางด้านการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม ขนานใหญ่
“ผู้ที่จะนำการปฏิรูป” ระดับนี้ได้ ไม่ใช่ผู้บริหารท้องถิ่นอย่างผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ กทม. หากแต่ต้องเป็น “ผู้นำประเทศ”
ได้เวลานายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ออกโรงแล้ว •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022