ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | Technical Time-Out |
เผยแพร่ |
ความฝันและเป้าหมายของนักฟุตบอลในยุโรปตั้งแต่เริ่มเล่น ย่อมอยากจะเติบโตไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสโมสรใหญ่ เพื่อการก้าวไปสู่การเป็นแข้งระดับซูเปอร์สตาร์ของโลก แต่น้อยคนที่จะทำได้แบบนั้น
ชาร์ลี ซาเวจ หนึ่งในเด็กปั้นจากอคาเดมีของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เดินตามรอยพ่อ ร็อบบี้ ซาเวจ ในการเป็นนักเตะเยาวชนของทีมปีศาจแดง และมีโอกาสทะลุขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่แล้ว แต่สุดท้ายต้องออกไปเติบโตที่อื่น
ชาร์ลีได้รับโอกาสจาก ราล์ฟ รังนิก กุนซือชั่วคราวแมนฯ ยูให้ลงสนามในเดือนธันวาคม ปี 2021 และยังอยู่กับแมนฯ ยูในช่วงที่อีริก เทน ฮาก เข้ามาคุมทีมใหม่ แต่ในปี 2023 ถูกส่งให้ฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส ในลีกรองยืมตัวไปใช้งาน ก่อนจะเลือกย้ายออกจากถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด แบบถาวรไปอยู่กับเรดดิ้ง ในปีเดียวกัน
เมื่อย้อนไปในอดีต พ่อของเขาก็ขยับขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ของแมนฯ ยูได้เช่นกัน เป็นหนึ่งในนักเตะที่โตมาพร้อมกับแข้งคลาสออฟ 92 อันโด่งดัง แต่ไม่ได้รับโอกาสลงสนาม สุดท้ายเลือกไปอยู่กับครูว์ อเล็กซานดร้า และไปโด่งดังกับเลสเตอร์ ซิตี้ ในช่วงปี 1997-2002
ชาร์ลีออกมาเล่าถึงชีวิตการค้าแข้ง ที่หลายคนมองว่าเขาก้าวถอยหลังในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ว่า หลายคนอาจจะมองแบบนั้น แต่การอยู่กับเรดดิ้งชุดใหญ่ ถ้าเจอกับแมนฯ ยู ยู21 ที่เคยเล่นให้ เรดดิ้งเอาชนะได้แน่นอน เพื่อนบางคนไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเลือกย้ายมาเรดดิ้ง ทั้งๆ ที่อยู่กับแมนฯ ยูแล้ว แต่เพราะตัวเขาเองไม่ได้ลงสนามให้ทีมชุดใหญ่ของแมนฯ ยู จึงต้องเลือกเดินออกมา
นับตั้งแต่ย้ายออกมา ชาร์ลีในวัย 21 ขวบ ลงสนามให้ทั้งฟอเรสต์ กรีน และเรดดิ้ง ในฟุตบอลอาชีพรวมกันไปแล้วกว่า 100 นัด และติดทีมชาติเวลส์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ถึงแม้จะเป็นที่ถูกใจเทน ฮาก แต่การที่แมนฯ ยูเป็นทีมที่มีนักเตะชื่อดังเต็มทีม โอกาสของนักเตะเยาวชนจึงยากมากที่จะเบียดขึ้นมา ดังนั้น การย้ายไปเก็บเลเวลกับทีมในลีกรอง เป็นเหมือนสเต็ปหนึ่งที่แข้งดาวรุ่งต้องทำกัน เพื่อพิสูจน์ฝีเท้าและหาโอกาสลงสนามเจอกับของจริง
“ช่วงแรกที่ผมเซ็นสัญญายืมตัวไปฟอเรสต์กรีน ผู้จัดการทีมที่เซ็นผมมาโดนปลด ทำให้ไม่มีคำแนะนำอะไรเลย ถึงแม้จะได้ลงสนาม แต่ทีมก็ตกชั้น แต่ก็ได้รับประสบการณ์ที่ทำให้เห็นมุมอื่นๆ ของฟุตบอล เห็นเพื่อนร่วมทีมที่ต้องเอาของไปจำนำ ต้องชนะเพื่อเอาเงินโบนัสไปดูแลลูก การตกชั้นก็เจ็บปวดมาก เพราะไม่อยากเห็นตัวเองอยู่กับทีมแล้วตกชั้นตลอดการเล่นฟุตบอลอาชีพ”
ชาร์ลีบอกว่า การที่ทีมเล็กๆ ในลีกล่างตกชั้นนั้น ส่งผลกระทบต่อการเงินอย่างมาก เพราะนักเตะบางคนอาจจะไม่ได้เล่นฟุตบอลอาชีพต่อในซีซั่นถัดไป หรือถ้าได้เล่นก็จะได้รับสัญญาใหม่ที่แย่ลงกับทีมอื่น ทำให้เห็นว่าการคว้าชัยชนะในแต่ละแมตช์มันมีความสำคัญกับการเป็นนักฟุตบอลอาชีพขนาดไหน
เมื่อกลับจากการเก็บเลเวลที่ฟอเรสต์กรีน ชาร์ลีได้รับโอกาสสวมปลอกแขนแมนฯ ยู ชุดใหญ่ ในช่วงท้ายเกมแทนที่ราฟาแอล วาราน กองหลังที่เคยได้แชมป์โลกกับทีมชาติฝรั่งเศส ที่ถูกเปลี่ยนตัวออกจากสนาม แต่นั่นเป็นเกมสุดท้ายที่เขาลงสนามให้แมนฯ ยู ก่อนจะย้ายไปเรดดิ้งหลังจากนั้นไม่นาน
“ตอนผมย้ายมาเรดดิ้ง พวกเขาไม่มีเงินจ่ายค่าตัวให้แมนฯ ยู แต่มีออปชั่นแบ่งรายได้จากการขายผมออกจากทีมไปในอนาคต ผมเองพร้อมที่จะออกมาเพื่อเริ่มต้นชีวิตนักฟุตบอลอาชีพ”
ฤดูกาลแรกที่ย้ายมา ชาร์ลีก็ต้องเจอกับประสบการณ์การตกชั้นซ้ำสอง เมื่อเรดดิ้งโดนตัด 6 แต้ม จากการทำผิดกฎการเงิน ผลงานของทีมก็แย่ต่อเนื่อง ทำให้ร่วงจากลีกแชมเปี้ยนชิพ ไปลีกวัน ท่ามกลางเสียงก่นด่าของแฟนบอล และการประท้วงผู้บริหาร
ท่ามกลางความหนักหน่วง ชาร์ลีที่เคยถูกสื่อจับจ้องว่าเป็นเพชรเม็ดงามที่รอการเจียระไนจากแมนฯ ยู กลับเติบโตในลีกวัน เขาได้รับโอกาสลงสนามอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะไม่ใช่กับทีมยักษ์ใหญ่ แต่ชาร์ลียืนยันว่า การเลือกเรดดิ้งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว
“เรดดิ้งให้โอกาสผมเติบโต ผมหาที่ที่จะให้ผมได้ลงสนาม เพื่อจะได้พัฒนาตัวเอง เรามีนักเตะอายุ 18-19 ปีหลายคนในทีมเมื่อซีซั่นก่อน เราต้องเติบโตกันด้วยตัวเองทั้งๆ ที่อายุยังน้อย แต่เราก็ได้รับประสบการณ์มากจริงๆ แบบที่นักเตะอายุ 30 บางคนไม่เคยเจอด้วยซ้ำ ผมได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสโมสรและแฟนบอล มันเป็นสิ่งที่พิเศษมาก และพูดได้เต็มปากว่าเรดดิ้งเป็นสโมสรที่ผมรักสุดหัวใจ”
เรดดิ้งตัดงบประมาณค่าที่พักของนักเตะในการออกไปเล่นเกมเยือน ทำให้ทีมต้องเดินทางกลับเมืองเรดดิ้งทันทีที่แข่งจบ แต่ชาร์ลีเลือกจ่ายค่าที่พักด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้พักผ่อนและฟื้นฟูร่างกายหลังจบเกมเยือน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของสโมสร ที่อาจจะโดนตัดสิทธิการแข่งขันในลีกอาชีพ เนื่องจากเจ้าของชาวจีนมีความผิดในเรื่องคุณสมบัติการครอบครองสโมสร
ถึงแม้จะถูกมองว่าเดินถอยหลัง แต่ชาร์ลียังมีเป้าหมายในการเป็นนักเตะในพรีเมียร์ลีกในวันข้างหน้า แต่ก็ต้องทำผลงานกับเรดดิ้งให้ดี พาทีมเลื่อนชั้นกลับไปแชมเปี้ยนชิพให้ได้ หลังจากนั้นลุ้นเลื่อนชั้นไปลีกสูงสุดอีกครั้งในรอบกว่า 12 ปี หรือทีมในพรีเมียร์ลีกพอใจในฝีเท้าซื้อตัวไปร่วมทีม ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งหมด
“ถ้าถามผมว่าการโตมากับแมนฯ ยู แล้วอยากจะย้ายไปเล่นในลีกรองมั้ย บางคนที่เลือกจะอยู่กับอคาเดมีต่อไป แล้วถูกปล่อยตัวออกมา สุดท้ายไม่มีสโมสรเล่น ก็มีให้เห็น การออกมาจากอคาเดมีของทีมใหญ่ ไม่ได้แปลว่าคุณทำพลาด แต่มันเป็นการเริ่มต้นการก้าวสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่การเดินถอยหลัง แต่มันเป็นการเดินหน้าต่างหาก”
นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ประสบความสำเร็จ ฝีเท้าเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง
แต่ยังมีเรื่องราวมากมายให้ต้องฝ่าฟัน แบบที่พ่อลูกซาเวจผ่านกันมาแล้ว •
Technical Time-Out | จริงตนาการ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022