
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
เปิดสาเหตุ
ทำไมแผ่นดินไหวเมียนมา
รุนแรงไกลมาถึงไทย
แผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 8.2 แมกนิจูดที่มีศูนย์กลางในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นแผ่นดินไหวใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปีของเมียนมา
แม้ว่าประเทศเมียนมาจะเจอกับแผ่นดินไหวอยู่หลายครั้ง แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่แผ่นดินไหวในเมียนมาจะส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงไทยมากเท่านี้มาก่อน
จนทำให้เกิดคำถามว่าเพราะอะไรแผ่นดินไหวครั้งนี้ถึงหนักมากกว่าครั้งก่อนๆ
สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐ (USGS) ระบุว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวมีศูนย์กลางอยู่ใกล้กับเมืองสะกายและเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของเมียนมา โดยมีขนาดความรุนแรงที่ 8.2 แมกนิจูด ตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายครั้ง
ประเทศเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเคลื่อนไหวทางธรณีมากที่สุดในโลกเพราะเมียนมาตั้งอยู่บนการบรรจบกันของแผ่นเปลือกโลก 4 แผ่น ได้แก่ แผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย แผ่นเปลือกโลกอินเดีย แผ่นเปลือกโลกซุนดา และแผ่นธรณีพม่า
ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูดในครั้งนี้เกิดขึ้นที่รอยเลื่อนสะกายจากการที่แผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นมีการเคลื่อนตัวในแนวราบ (strike-slip) แต่สิ่งที่ทำให้แผ่นดินไหวครั้งนี้มีความรุนแรงและส่งแรงสั่นสะเทือนมาไกลถึงกรุงเทพฯ ก็คือ แผ่นดินไหวนี้เกิดขึ้นใต้พื้นดินเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น ถือว่าตื้นมาก
และยิ่งแผ่นดินไหวเกิดที่ความลึกใต้พื้นดินน้อยเท่าใดก็จะยิ่งทำให้แรงสั่นสะเทือนถูกส่งไปยังพื้นผิวโลกมากขึ้นเท่านั้น
นอกจากนั้น นี่ถือเป็นแผ่นดินไหวใหญ่ถึง 8.2 แมกนิจูด ซึ่งปลดปล่อยพลังงานเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณู 334 ลูก ตามรายงานของ USGS ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา มีแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 7 แมกนิจูดเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เพียง 6 ครั้งเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวชนิด super shear ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก โดยแผ่นดินไหวชนิด super shear เกิดขึ้นเมื่อการแตกของเปลือกโลกหรือการเคลื่อนที่ของรอยเลื่อนนั้นเคลื่อนที่เร็วกว่าคลื่นแผ่นดินไหว (seismic waves) ที่สามารถเดินทางผ่านโลกได้
หมายความว่าพลังงานจากการแตกเปลือกโลกจะสะสมและปล่อยออกมาในลักษณะที่มีความรุนแรงและกว้างกว่าปกติ การแตกของเปลือกโลกนั้นมีความเร็วสูงถึง 5 กิโลเมตรต่อวินาที หรือเทียบเท่ากับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง
ยิ่งไปกว่านั้น การเคลื่อนที่ของรอยเลื่อนยังมีการเคลื่อนไปทางทิศใต้ ยิ่งส่งพลังงานของแผ่นดินไหวไปทางที่ตั้งของกรุงเทพฯ
และนั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมแผ่นดินไหวในเมียนมาครั้งนี้ถึงส่งแรงสั่นไหวไปได้ไกลมากกว่าปกติ
อีกทั้งลักษณะของดินยังส่งผลกับความรุนแรงของการสั่นไหวจากแผ่นดินไหว โดยทำเลที่ตั้งของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนดินที่ค่อนข้างอ่อน ซึ่งยิ่งทำให้แรงสั่นไหวในกรุงเทพฯ รุนแรงกว่าพื้นที่ที่มีชั้นดินแข็งกว่า
อย่างไรก็ตาม ในปี 2009 มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคารไทยให้สามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ หมายความว่าอาคารเก่าอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวมากกว่าอาคารใหม่ แต่การก่อสร้างอาคารที่สามารถต้านแผ่นดินไหวได้จะมีค่าก่อสร้างสูงกว่าอาคารทั่วไป
ขณะที่ประเทศเมียนมาแม้จะเกิดแผ่นดินไหวบ่อยกว่าไทย แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าอาคารส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ทนต่อแผ่นดินไหว
บวกกับพื้นที่ทางส่วนของเมืองมัณฑะเลย์และอาคารหลายแห่งในเมืองตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิรวดี ทำให้ดินในพื้นที่ดังกล่าวมีความเหลว อ่อนกว่าดินในพื้นที่อื่นๆ เมื่อเจอกับการสั่นไหว ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดดินสไลด์และอาคารถล่ม
แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้เป็นเหมือนเครื่องย้ำเตือนว่าภัยธรรมชาติอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเมื่อ
เราควรมีการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุร้ายอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ชีวิตต้องดับสูญเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022