ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
ขอแสดงความนับถือ
ในห้วงชีวิตของเรา
มหาภัยวิบัติใหญ่ๆ โผล่มาให้เผชิญ ครบถ้วน ครบครัน
ครบทั้ง ดิน น้ำ ลม ไฟ
ไฟ-ทั้งไฟไหม้ใหญ่ในเมือง ที่คร่าชีวิตคนไปมากมาย
ทั้งไฟป่า ที่นำมาสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาฝุ่นพิษ
ลม ไต้ฝุ่น มรสุม พายุ ที่สร้างปัญหารุนแรงยิ่งขึ้นทุกที
โรคระบาดอย่างโควิด ก็ฟุ้งกระจายมากับ “ลมหรืออากาศ” ไปทั้งโลก
น้ำ อุทกภัยใหญ่เกิดมาอย่างต่อเนื่อง และหนักหนามากขึ้นเรื่อยๆ
ดิน ล่าสุดหมาดๆ คือแผ่นดินไหว
ที่ตลอดชีวิตหลายคนไม่เคยพบเจอ
แต่ที่สุดเราก็เจอ
เป็นการประสบพบเจอ ที่ “ร้ายแรง-รุนแรง” ด้วย
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้
นำเสนอปัญหาแผ่นดินวิปโยค ที่คนค่อนประเทศเผชิญ ในหลายๆ แง่มุม
อันรวมถึง ประเด็นในเชิงวัฒนธรรมด้วย
โดย “(ว่าที่) ศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์” อาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
ได้ชี้ชวนให้คนไทยตั้งคำถามกันอย่างจริงจังอีกครั้ง ผ่านบทความที่หน้า 26
“…(ยัง) ไม่มีวัฒนธรรมการเตรียมพร้อมภัยพิบัติในเมืองไทย”
จริงหรือไม่ ต้องติดตาม
อาจารย์ภิญญพันธุ์ เปิดประเด็นอย่างน่าสนใจ ว่า
“…(เรา) คงเคยได้ยินกันมาว่า เมืองไทยนี้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
นอกจากวลี ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ (ซึ่งไม่จริงเสมอไป) แล้ว
ความดีงามอีกประการของบ้านเมืองนี้
คือ เพราะภูมิศาสตร์หรืออะไรซักอย่าง (บางคนอ้างถึงการมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง)
ทำให้เราไม่ค่อยประสบภัยพิบัติใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟ แผ่นดินไหว ความอดอยากจนผู้คนล้มตายจำนวนมาก
แต่จะเป็นไปได้ไหมว่า ความคิดเช่นนี้เอง
มันสะท้อนให้เห็นความไม่จำเป็นต้องกระตือรือร้นเรื่องภัยพิบัติอย่างจริงจัง
แม้เราจะประสบเหตุใหญ่มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ, น้ำท่วมใหญ่ หรืออุบัติภัยรถนักเรียนไฟไหม้ ฯลฯ
แต่ความตื่นตัวก็ซาลงไปพร้อมกับความตระหนกตกใจที่ผ่อนคลายลงไปด้วย…”
ยิ่งกว่านั้น อาจารย์ภิญญพันธุ์ยังตั้งข้อสังเกต
วัฒนธรรมของคนไทยนั้น เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ มักจะมองว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยที่คาดเดาไม่ได้
แย่ไปกว่านั้นคือ การโทษเวรกรรม
หรือเป็นคราวเคราะห์ของแต่ละบุคคลที่เคยทำมามากกว่า
แล้วเมื่อเกิดเหตุแทนที่จะมองหาไปยังหลักเหตุผล
กลับย้อนกลับไปเช็คคำพยากรณ์ที่เราจะคุ้นกันดี
หนึ่งในคำพยากรณ์คลาสสิคก็คือ การชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่สอดคล้องกับดวงดาวหรือปัจจัยต่างๆ ทางโหราศาสตร์
ในทางกลับกันความตื่นตัวเรื่องภัยพิบัติในประเทศนี้
หากไม่มาถึงตัว เรื่องเหล่านี้ก็พร้อมที่จะถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา
ราวกับรอให้ภัยพิบัติครั้งใหม่เกิดขึ้นอีก
โดยที่เราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย
นี่จึงเป็นวัฒนธรรมที่คนไทยควรจะเปลี่ยนใหม่หรือไม่
เป็นคำถามที่ท้าทาย
และชี้ชวนให้เราหาคำตอบ
เพื่อที่จะได้ไม่จบลงด้วยความรู้สึกเพียงว่า “เป็นเรื่องสุดวิสัยที่คาดเดาไม่ได้”
ทั้งที่หลายเรื่อง เราสามารถทำได้
ซึ่งก็มีตัวอย่างที่อาจารย์ภิญญพันธุ์ยกมาให้พิจารณา
โดยเราควรใช้กรณี “ธรณีวิปโยค” ครั้งนี้
สั่นไหวความรู้สึกเดิมๆ ให้เปลี่ยนแปลงไป
เปลี่ยนแปลงว่าสามารถ “ตั้งรับ” และรับมือ มหาภัยวิบัติ ได้
มิใช่ งอมืองอเท้า รับชะตากรรมเท่านั้น •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022