ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
คำ ผกา
แผ่นดินไหว ใจต้องมั่นคง
เหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องที่คนไทยคุ้นเคย อย่าว่าแต่แผ่นดินไหวเลย ฉันคิดว่าคนไทยจำนวนหนึ่งรวมถึงตัวฉันเองมักคิดว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติ หรือภัยธรรมชาติเป็นเรื่องไกลตัว
ฉันมีเพื่อนที่เป็นวิศวกรและทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งฉันมักหัวเราะเยาะเขาเสมอว่าเวลาไปนอนพักโรงแรม เขาจะไปสำรวจบันไดหนีไฟ และเช็กว่าระบบเปิด-ปิดประตูบันไดหนีไฟทำงานอย่างไร และมักเดินสำรวจเสา คาน เอามือเคาะผนังตึก เหมือนคนเป็นโรคประสาท
เหตุผลของเขาคือ ต้องการความมั่นใจว่า ตึก อาคารเหล่านั้นสร้างมาแข็งแรงหรือไม่ หากเกิดอะไรขึ้นมา เรารู้หรือยังว่าบันไดหนีไฟอยู่ตรงไหน ประตูเปิด-ปิดอย่างไร
กรณีแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมผ่านมา น่าจะเป็นครั้งแรกที่คนไทยสัมผัสกับประสบการณ์เฉียดเป็นเฉียดตาย ภาวะติดอยู่ในลิฟต์ระหว่างที่แผ่นดินไหว การอยู่ในอาคารสูง เห็นภาพไหวเอนของตึก เห็นผนังแตกร้าวออกจากกันต่อหน้าตาต่อ หรือคนที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ต้องพากันวิ่งกรูออกมาข้างนอกก่อนที่จะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นด้วยซ้ำ
และตอนนี้หลายๆ คนอาจจะยังไม่มีที่อยู่อาศัยเพราะห้องที่ใช้ชีวิตอยู่เสียหาย ต้องซ่อมแซม
และหลายคนก็ยังผวากับการกลับเข้าไปอยู่หรือทำงานในอาคารสูง
เมื่อเหตุการณ์นี้ผ่านพ้นไปแล้ว ฉันมองในแง่บวกว่าจะทำให้คนไทยเรียนรู้ที่จะอยู่กับภัยธรรมชาติอันไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม ดินถล่ม หรือแผ่นดินไหว
เริ่มต้นที่เปลี่ยนวิธีว่า ภัยพิบัติต่างๆ เหล่านั้นไม่มีวันเกิดขึ้นกับเรา มาเป็นวิธีคิดว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเรามีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือกับมัน จากที่เรามีการซ้อมหนีไฟ ฝึกการใช้เครื่องดับเพลิง เราอาจต้องเพิ่มการฝึกซ้อมในกรณีที่มีแผ่นดินไหว
สิ่งนี้เป็นโจทย์ของกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย ที่ต้องทำงานในเชิงรณรงค์และสร้างความตระหนัก
รู้ทำให้มันกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา
ทำให้คนไทยมีความสามารถในการเผชิญกับภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ อย่างมีสติ เช่น ต้องรู้ว่า เราอาจจะไม่ตายจากตึกถล่ม แต่ถ้าเราลนลาน ไร้สติ เราอาจตายจากการถูกไฟดูด ไฟช็อต เพราะพยายามปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเราอาจวิ่งจนหกล้มหัวฟาดฟื้น ตกบันได บางคนกลัวมาก ปีนหน้าต่างกระโดดลงจากบ้าน แขน ขาหัก
หากเราไม่ประมาทกับเรื่องแผ่นดินไหว การตกแต่งบ้านของเราอาจมีโจทย์ของแผ่นดินไหวมาเกี่ยวข้อง
การแขวนโคมระย้าจำเป็นไหม? การแขวนของหนักๆ ไว้บนผนัง โดยเฉพาะอย่างบนหัวนอนอาจเป็นเรื่องอันตราย (จากประสบการณ์ตนเอง เคยถูกของหนักที่แขวนบนผนังบ้านเพื่อนหล่นใส่หัวจนหัวแตกมาแล้ว)
คล้ายๆ กับการคิดโจทย์เรื่องการสร้างบ้าน ตกแต่งบ้านพร้อมรับน้ำท่วม เช่น คิดไว้เลยว่า อะไรที่อยู่ชั้นล่างคือของที่เปียกน้ำ แช่น้ำแล้วไม่เสียหาย
การเตรียมให้ชั้นบนๆ ของบ้านสามารถอยู่อาศัยได้สามวันถึงเจ็ดวันแบบไม่ขาดแคลนอะไร โดยเฉพาะสิ่งที่สำคัญมากๆ อย่างน้ำสะอาด
แนวทางการออกแบบบ้าน การตกแต่งภายในและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้านโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเวลาเกิดเหตุแผ่นดินไหว ไม่มีอะไรที่ต้องไปวิเคราะห์วิจัยเองเลย เพราะประเทศที่เจอแผ่นดินไหวบ่อยมากอย่างญี่ปุ่นคิดและทำไว้หมดแล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านี้ เราคนไทยอาจจะมองว่าไม่จำเป็นสำหรับบ้านเรา
หรือการสมาทานแนวคิดมินิมอลลิสต์ของคนไทยก็ไม่ได้คิดว่าความมินิมอลนั้นมันตอบโจทย์เรื่อง “อนิจจัง” ภาวะประเดี๋ยวประด๋าวของชีวิต
ดังนั้น การตกแต่งบ้านจึงเน้นความโล่ง เรียบง่าย เบาบาง และอยู่กับวัสดุธรรมชาติ ที่มองในอีกแง่หนึ่งก็เป็นสไตล์ที่พร้อมเผชิญเหตุฉุกเฉินนั่นแหละ น้อยไว้ก่อน เบาไว้ก่อน พังทลายไปก็ไม่เป็นภาระกับโลก อีกทั้งสร้างใหม่ได้ไม่ยาก เฟอร์นิเจอร์ แจกัน โคมไฟจึงทำจากกระดาษสา ไม้ไผ่ เน้นวัสดุที่ไม่คงทนทั้งสิ้น
แต่นั่นแหละ ฉันไม่อยากประเมินว่าคนไทยความจำสั้น หลังจากนี้อีกสองปี สามปี สี่ปี หากไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวชวนระทึกอีก เราก็อาจกลายเป็นคนเดิม ที่ไม่ใส่ใจเรื่องการฝึกซ้อมรับมือกับแผ่นดินไหว
เรายังคงสร้างบ้านต่อเติมบ้านตามหลักวิชากู เป็นสถาปนึก นึกอย่างต่อขยายบ้าน สร้างห้องน้ำ ห้องครัว โรงรถแบบคิดว่าตัวเองฉลาดมาก ไม่ง้อช่าง ฉันทำเองได้ประหยัดงบฯ พวกผู้รับเหมาไม่ได้กินเงินฉันหรอก
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองจะได้โอกาสในการตรวจสอบสภาพอาคาร ตึก ห้องแถวทั้งหลายว่ามีอาคารไหนไม่ได้มาตรฐานบ้าง และควรจะเป็นโอกาสล้างบางในคราวเดียว และใช้โอกาสนี้เพิ่มความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ที่ไม่เฉพาะแบบอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน
ทว่า ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในลักษณะการใช้พื้นที่โดยรอบด้วย เช่น การมีตึกสูง หรืออพาร์ตเมนต์หอพักที่มีคนอาศัยอยู่เยอะๆ ในซอยที่ถนนเล็กแคบหลังคาชนหลังคาไปหมด
เช่นที่เราเห็นในซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญที่มองด้วยตาเปล่าก็จะขมวดคิ้วว่า ตึกแบบนี้ ผังอาคารแบบนี้ เขาอนุญาตให้สร้างได้ยังไงกัน
หวังว่าจังหวัด เทศบาล อบจ. อบต. ใครก็ตามที่มีหน้าที่ดูเรื่องอาคาร การก่อสร้าง ผังเมือง จะได้ใช้โอกาสนี้ในการสร้างค่ามาตรฐานใหม่เรื่องผังเมือง สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในการ “สร้างเมือง”
โดยคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวลงไปในเงื่อนไขของการออกใบอนุญาตสร้างอาคาร ที่ไม่ได้แปลว่าต้องเข้มงวดเสียจนการขออนุญาตมันยากไปหมด
แต่ฉันมองโลกสวยว่า มันจะเป็นไปได้ไหมที่เทศบาลหรือ อบต. ควรมีสถาปนิก นักแลนด์สเคปช่วยประชาชนหรือผู้ประกอบการในการ “ปรับแบบ” ด้วย เหมือนเรามีคลินิกสถาปนิกอาสา เพราะบางทีชาวบ้านก็อาจขาดประสบการณ์หรือมุมมองที่แปลกใหม่ หากได้รับคำแนะนำที่ดี ปรับนิดปรับหน่อย งบฯ ก่อสร้างเท่าเดิมได้แบบที่สวยขึ้น ได้แลนด์สเคปที่สวย วิน-วินด้วยกันทุกฝ่าย ก็น่าจะดีกว่า
ยกตัวอย่างแถวสันคะยอมบ้านฉันนี่แหละ มีทั้งแม่น้ำ ลำเหมือง ต้นไม้ป่าธรรมชาติ หากการก่อสร้างหอพัก ร้านชำ ร้านนวด ร้านอาหาร ไปจนถึงตูบกาดหน้าวัด
จะมีสถาปนิกหรือนักออกแบบแลนด์สเคปอาสามาช่วยปรับนู่น ขยับนี่ นิดๆ หน่อยๆ เราจะได้ใช้ประโยชน์จากความงาม และภูมิทัศน์ที่มีอยู่แล้วได้สวยมากๆ
แต่เท่าที่เป็นอยู่คือมันอีเหละเขละขละ รกรุงรังไปหมด เห็นแล้วก็เสียดาย
และอยากตะโกนออกมาดังๆ ว่า “เราสวยกว่านี้ได้นะ”
พูดถึงปัญหาไปแล้ว มาดูด้านที่ฉันค้นพบว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทยและสังคมไทยบ้าง
เราคนไทยมักชินกับมุมมองสองขั้วที่อยู่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิงเวลาที่พูดถึงเมืองไทย นั่นคือ มุมมองแบบหลงชาติ เช่น สยามเมืองยิ้ม คนไทยมีน้ำใจ เมืองไทยอุดมสมบูรณ์ อยู่ที่ไหนก็ไม่สุขสบายเท่ากับอยู่เมืองไทย ฯลฯ
กับมุมมองแบบคนหัวก้าวหน้า มีความคิดเชิงวิพากษ์ เมืองไทยแย่ที่สุด ห่วยที่สุด failed state รัฐล้มเหลว การเมืองผูกขาดในหมู่ชนชั้นนำและตระกูลชินวัตร วงจรอุบาทว์ คนรุ่นใหม่จงหนีไป ฯลฯ
แต่สถานการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นทำให้ฉันตระหนักว่า เมืองไทยที่เราอยู่ทุกวันนี้อาจจะไม่ดีเลิศเลอแต่ก็ไม่แย่นะ (พอพูดแบบนี้ก็ต้องหยิกตัวเองว่า อันตัวเราเริ่มพูดจาเหมือนพวกฝ่ายขวาคลั่งชาติหรือเปล่า)
ประการแรกที่เราต้องชื่นชม นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยว่าในความแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ตึกสูงในประเทศไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ไม่มีตึกไหนถล่มลงมาแม้แต่ตึกเดียว (ซึ่งเราต้องยกเคสตึกสำนักงาน สตง. แยกออกไป เพราะคำถามที่สำคัญคือ หากตึกอื่นไม่เป็นอะไร มันก็แสดงว่า ที่ตึกนี้ถล่มย่อมไม่ได้เกิดจากความแรงของแผ่นดินไหว) และยังไม่พบว่ามีใครเสียชีวิตจาก “ความบกพร่อง” ในการก่อสร้างตึก
ดังที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า มันแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการสร้างอาคารและตึกสูงที่ได้มาตรฐาน และยังสะท้อนให้เห็นถึง “ความรับผิดชอบ” ของผู้ประกอบการที่มีต่อลูกค้า
และทำให้เราเห็นว่าในท่ามกลางความล้มเหลวในหลายๆ เรื่อง ความห่วยแตกของการเมือง การล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตย นักธุรกิจไทยค่อนข้างเป็นกลุ่มคนที่มีความ “ยืดหยุ่นทนทาน” และเป็นภาคส่วนสำคัญในการประคับประคองหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยมาได้อย่างน่ามหัศจรรย์
และทำให้ฉันนึกถึงคำพูดของอาจารย์ญี่ปุ่นท่านหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว อาจารย์ท่านนั้นให้ความเห็นว่า นักธุรกิจไทยเก่งมาก เพราะในความไม่ฟังก์ชั่นห้าร้อยอย่างของรัฐบาล อีกทั้งปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงหนักๆ เรื้อรังในสังคมไทย ปัญหาการเมืองที่ลุ่มๆ ดอนๆ พ่อค้า นายทุนไทยยังคงความสามารถในการแข่งขัน สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยไม่ล้าหลังเท่าที่มันควรจะเป็น
สารภาพว่านั่งฟังตอนนั้นก็ไม่เก็ต นึกเถียงในใจว่า นายทุนนี่แหละตัวสร้างความเหลื่อมล้ำ (คิดแบบซ้ายเบี้ยวๆ) มาถึงวันนี้ในสถานการณ์นี้ก็เริ่มเก็ตในสิ่งที่อาจารย์ท่านนั้นพูด มันก็มีส่วนจริง
และตัวสร้างปัญหาให้กับสังคมไทยจริงๆ แล้วไมใช่นายทุน แต่คือเหล่าเทคโนแครตกับองค์กรอิสระต่างหากที่มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ
นอกจากตึกระฟ้าของเราไม่มีตึกไหนถล่มลงมาแม้แต่ตึกเดียว และดูเหมือนว่าร้อยละเก้าสิบไม่มีปัญหาเรื่องโครงสร้างหลังจากแผ่นดินไหว
สิ่งที่ฉันทึ่งคือ แผ่นดินไหวขนาดนี้ ประเทศไทยไม่มีเสาไฟฟ้าล้ม ไฟไม่ไดับ น้ำยังไหล แก๊สไม่ระเบิด สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ตกหล่น ใช้งานได้ตลอดเวลา
แม้ว่ารถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดินจะหยุดให้บริการ แต่รถเมล์ยังวิ่งได้ ร้านค้ายังเกิด ร้านข้าวข้างทาง ร้านอาหารยังเปิด มีน้ำดื่มขาย มีของกินไม่ขาดตกบกพร่อง
ที่สำคัญมีวินมอเตอร์ไซค์ที่ต่อให้เขาโขกราคาขึ้นไปขนาดไหน แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นทางเลือกในการเดินทางที่มีให้เลือก
หลายคนทุกข์ทรมานกับการต้องเดินกลับบ้านเก้ากิโลเมตร สิบกิโลเมตร แต่การที่คนสามารถเดินกลับบ้านได้แปลว่าเมืองนั้นมีโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยพอสมควร เช่น ถนนสว่างพอที่จะทำให้เราเดินจนถึงบ้านได้ มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้เช็กข่าวสาร หรือติดต่อครอบครัวได้ มีร้านชำให้แวะซื้อน้ำ ซื้อขนมได้ หรือแม้กระทั่งมีร้านทำเล็บ สระผม ให้แวะระหว่างทางที่เดินไม่ไหว
เรื่องนี้หากใครเคยอยู่ต่างประเทศจะรู้ว่ามันเกินจินตนาการไปมาก ไม่นับวัฒนธรรมคนช่าง “ฉอด” ของคนไทย ที่ทำให้ในยามวิกฤต เราค่อนข้างเป็นคน extrovert ชอบคุยกับคนแปลกหน้า ในยามวิกฤตคนออกมาพูดคุยกันเหมือนรู้จักกันมานาน
มีเรื่องราวแบบคนขับแท็กซี่ขอเปลี่ยนให้ผู้โดยสารมาขับแทน เพราะปวดฉี่ หรือคนที่ขับรถอยู่ ออกมาถามคนบนถนนว่ามีใครกลับบ้านทางเดียวกันจะโดยสารไปด้วยกันไหม
สิ่งนี้เป็นความเฟรนด์ลี่อย่างพิเศษของคนไทยที่เราจะเห็นในยามยาก
หลายคนติดอยู่บนถนนห้าชั่วโมง หกชั่วโมง แต่นั่นแหละ น้ำยังไหล ไฟยังสว่าง ปั๊มน้ำมันยังเปิดให้บริการ
บางคนแวะร้านอาหาร แวะดื่มน้ำ หาอะไรกิน นั่งรอเวลาให้ถนนโล่งแล้วค่อยกลับ
ร้านสะดวกซื้อไม่ได้ปิดไปหมดทุกร้าน
ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ย่ำแย่เลยเมื่อเทียบว่าเราเจอแผ่นดินไหวที่ค่อนข้างรุนแรง
สิ่งเดียวที่เป็นปัญหาคือเฟกนิวส์ที่ทำให้คนตระหนก หวาดกลัวจนเกินกว่าเหตุ
ที่ฉันคิดว่าเราต้องแยกให้ออกระหว่างใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท กับภาวะตระหนกเป็นอุปทานหมู่
สิ่งเดียวที่จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมจนเกิดภาวะวิตกกังวลจนเกินกว่าเหตุคือ การมีทักษะการฟังและทักษะคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล
คนที่ตระหนกไปกับข่าวปลอมและจะวิตกกังวลมากเกินไปโดยมากเกิดจากรับข่าวสารแบบครึ่งๆ กลางๆ และมีใจโน้มเอียงไปในทางที่จะฟังข่าวที่ชวนให้ตระหนกมากกว่าฟังคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล
ความเครียด ความกลัว มักเกิดจากความไม่รู้ เช่น เห็นผนังร้าวก็กลัวว่าตึกต้องถล่มแน่ๆ
แต่ถ้าหาความรู้เพิ่มเติมว่า ผนังร้าวไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่าตึกจะถล่ม ก็จะหายกลัว
หรือรู้ว่ารอยร้าวแบบไหนอันตราย รอยร้าวแบบไหนไม่อันตรายก็จะไม่กลัว
เมื่อไม่กลัวก็จะมานั่งคิดได้ว่าจะจัดการกับชีวิตอย่างไร จะเคลมประกันอย่างไร จะซ่อมแซมห้องเมื่อไหร่ ระหว่างซ่อมแซมจะไปอยู่ที่ไหน
วันนี้ถ้าใครยังเครียด ยังกลัวก็อาจต้องเริ่มต้นจากการถามตัวเองว่า กลัวอะไร ทำไมถึงกลัว แล้วลองหา “ความรู้” นั้นมาอธิบายให้กับตัวเอง แล้วลองออกจากโซเชียลมีเดียไปสักหนึ่งหรือสองวัน อาจจะพบว่า สุขภาพจิตดีขึ้น
และทุกๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมาอย่าลืมขอบคุณอะไรก็ไม่รู้ที่เราต่างก็ยังคงมีชีวิตอยู่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022