ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ
พิพิธภัณฑสถานสร้างชาติ (11)
การจัดแสดงที่เห็นอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ณ ปัจจุบัน ที่ได้รับการชื่นชมมากทั้งในแง่ของเทคนิคและเนื้อหาการจัดแสดง
เป็นโครงการใหญ่ที่เริ่มต้นขึ้นในราวปี พ.ศ.2555 ซึ่งโครงการนี้มิได้มีแค่การปรับปรุงการจัดแสดงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการซ่อมแซมบูรณะอาคารที่อยู่ในพื้นที่เกือบทั้งหมดให้ฟื้นคืนสภาพกลับมาสมบูรณ์ดีอีกครั้ง
เรียกได้ว่า ต้องรอเป็นเวลานานมากกว่า 40 ปีหลังการปรับการจัดแสดงครั้งใหญ่ ภายในอาคารมหาสุรสิงหนาท และประพาสพิพิธภัณฑ์ เมื่อ พ.ศ.2510 และยาวนานมากกว่า 30 ปี สำหรับพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ที่ปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2525 กว่าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครจะได้รับงบประมาณก้อนใหญ่ในการปรับเปลี่ยนการจัดแสดงครั้งใหม่
สาระสำคัญของการปรับปรุงครั้งนี้ ได้แก่

ที่มา : https://room.baanlaesuan.com/353327/design/art/bab2024-museum
การเปลี่ยนพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน จากเดิมที่เคยจัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย และศิลปวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ ให้กลายมาเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการพิเศษ (นิทรรศการชั่วคราว) โดยมีการรื้อผนังที่ทำขึ้นใหม่เมื่อหลายสิบปีก่อนออกทั้งหมด ทำให้บรรยากาศภายในจากที่เคยกั้นเป็นห้องๆ กลับไปมีสภาพโถงโล่งตามลักษณะเดิมเมื่อครั้งรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ปรับเปลี่ยนพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย (จากที่เคยเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการพิเศษ) ให้กลับไปมีลักษณะเป็นท้องพระโรงเหมือนสมัยเมื่อครั้งยังเป็น “วังหน้า”
บูรณะพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ให้คืนสภาพกลับไปเป็นบรรยากาศเหมือนเมื่อครั้งเป็นที่ประทับของพระปิ่นเกล้าฯ (วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 4)
ปรับเทคนิคและวิธีการจัดแสดงศิลปะวัตถุต่างๆ ทั้งหมดที่อยู่ภายในหมู่พระมหาวิมาน
และสำคัญที่สุดคือ ปรับเทคนิคและวิธีการจัดแสดงในส่วนที่ว่าด้วยศิลปะยุคสมัยต่างๆ ในประเทศไทยที่อยู่ภายในอาคารมหาสุรสิงหนาท และประพาสพิพิธภัณฑ์

ที่มา : เพจ Matichon Information Center
การปรับปรุงทั้งหมดดำเนินการในลักษณะทยอยทำไปทีละห้องทีละอาคาร และทยอยเปิดให้เข้าชมเรื่อยมาตามลำดับ โครงการนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในราวกลางปี พ.ศ.2565
มีข้อดีมากมายเลยนะครับสำหรับโฉมใหม่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของเนื้อหาการจัดแสดงที่สำคัญหลายส่วน ก็ยังเป็นที่น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถสร้างการเล่าเรื่องและตีความศิลปวัตถุในแง่มุมใหม่ๆ ที่น่าสนใจ หรือเป็นประโยชน์มากขึ้นต่อการทำความเข้าใจอดีตที่ครอบคลุม รอบด้าน และไปไกลกว่าการจัดแสดงเมื่อปี พ.ศ.2510
เริ่มต้นจากข้อดีกันก่อนนะครับ
ประการแรก ทุกห้องมีการจัดไฟส่องสว่างใหม่ที่สามารถขับเน้นคุณค่าของศิลปวัตถุให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าชื่นชม ภายใต้เทคโนโลยีสมัยใหม่หลากหลายที่เข้ามาช่วยให้เราเข้าใจตัวศิลปวัตถุได้มากขึ้น พร้อมทั้งการอนุญาตให้สามารถ่ายภาพโบราณวัตถุได้โดยไม่ใช้แฟลช
ประการที่สอง การปรับปรุงครั้งนี้ ตั้งใจฟื้นคืนชีวิตและประวัติศาสตร์ของพื้นที่วังหน้าให้กลับมาอีกครั้ง ที่ชัดเจนคือการปรับให้พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ มีสภาพทางกายภาพที่ย้อนกลับไปใกล้เคียงเหมือนเมื่อครั้งสมัยพระปิ่นเกล้าฯ
ประการที่สาม การเลือกประเด็นและวิธีการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษในแต่ละครั้ง มีความทันสมัยและมีการตีความศิลปวัตถุในรูปแบบที่น่าสนใจ ที่สำคัญ อาทิ นิทรรศการ จิ๋นซีฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา (พ.ศ.2562), อาโรคยปณิธาน : นิทรรศการว่าด้วยโรคระบาด การรักษา ที่มีมาแต่โบราณของไทย (พ.ศ.2565), พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พ.ศ.2566) และ เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม (พ.ศ.2567)
ประการที่สี่ เปิดกว้างต่อการจัดแสดงที่หลากหลายและร่วมสมัย ทำให้ก้าวตามทันทิศทางใหม่ๆ ของการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์มากขึ้น ที่ชัดเจน เช่น โครงการวังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา (พ.ศ.2562) ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่จัดแสดง Bangkok Art Biennale 2024
ทั้งสองงาน คือการนำศิลปะร่วมสมัยเข้ามาร้อยเรียงผสานกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัตถุเดิมในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ที่น่าสนใจต่อการชมศิลปวัตถุ
ประการสุดท้าย คือ ข้อความอธิบายศิลปวัตถุในห้องศิลปะลพบุรี ประเด็นเล็กๆ ที่หลายคนอาจไม่สังเกตซึ่งจะว่าไปก็ไม่ได้ถือว่ามีความก้าวหน้าทางวิชาการอะไรนัก แต่ก็ต้องนับว่าโอเคมากแล้ว ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งของการเมืองวัฒนธรรมระหว่างไทยกัมพูชานับตั้งแต่เกิดกรณีพิพาทประสาทพระวิหารในปี พ.ศ.2551
ในสัปดาห์ก่อน ผมแสดงให้เห็นแนวโน้มย้อนกลับที่น่ากังวลต่อกรณีการใช้คำนิยามเรียกศิลปวัตถุว่า “สมัยลพบุรี” โดดๆ ในงานตีพิมพ์ของกรมศิลปากร ภายหลังปี พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นผลสะท้อนโดยตรงมาจากความขัดแย้งปราสาทพระวิวาทครั้งล่าสุด
สิ่งนี้ ทำให้ผมเฝ้ารอดูว่าห้องศิลปะลพบุรีภายหลังการปรับปรุงใหญ่ จะเลือกใช้คำอธิบายว่าอย่างไร
ผลปรากฏคือ กรมศิลปากรเลือกใช้คำว่า “ศิลปะลพบุรี (ศิลปะเขมรโบราณในประเทศไทย)” ในการอธิบาย ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้ชื่นชอบคำเรียกนี้และคิดว่ายังเป็นคำที่เต็มไปด้วยปัญหาทั้งในเชิงวิชาการและในทางการเมืองพอสมควร
แต่อย่างน้อย การใช้คำนี้ก็ยังแสดงให้เห็นว่า กรมศิลปากรยังไม่ถึงขนาดที่จะหมุนย้อนองค์ความรู้กลับไปไกลถึงสมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งหมดเสียทีเดียว
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ยังไม่ถึงกับย้อนกลับไปหาอุดมการณ์ชาตินิยมที่สุดโต่งจนเกินไป
กล่าวถึงข้อดีมาพอสมควร ขอพูดถึงด้านที่ไม่ค่อยน่าชื่นชมเท่าไรนักบ้างนะครับ ซึ่งมีอยู่ 2 ประการ
ประการแรก การจัดแสดงในส่วนอาคารมหาสุรสิงหนาท และประพาสพิพิธภัณฑ์ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคที่สวยงามตื่นตา แต่ “สาร” กลับมิได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก
ประเด็นนี้ผมย้ำให้เห็นมาโดยตลอดในหลายตอนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะปรับปรุงการจัดแสดงกี่ครั้ง การจำแนกหมวดหมู้ศิลปวัตถุก็ยังดำเนินไปตามแนวคิด “ประวัติศาสตร์ศิลปะสกุลดำรง-เซเดส์” เสมอ
ครั้งล่าสุดนี้ การแบ่งโครงเรื่องก็ยังดำเนินไปเช่นนั้น (ปรับเพียงเล็กน้อยแทบไม่มีนัยยะสำคัญ) คือแบ่งเป็น ศิลปะเอเชีย, สมัยก่อนประวัติศาสตร์, สมัยทวารวดี, สมัยลพบุรี, สมัยศรีวิชัย, สมัยล้านนา, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์, สมัยรัตนโกสินทร์ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา
การแบ่งยุคสมัยดังกล่าว ในทัศนะผม (ซึ่งจะขอย้ำเป็นครั้งสุดท้ายอีกที) คือการจัดแสดงโดยแฝงความหมายทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ที่จะทำให้ศิลปวัตถุเหล่านี้กลายมาเป็นเครื่องมือสร้าง “รัฐ/ชาติ” ตามนิยามของชนชั้นนำในแต่ละยุคสมัย
เป็นการสร้างความชอบธรรมทางอุดมการณ์การเมืองผ่านศิลปวัตถุ ในการสร้างและค้ำยัน “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม” ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ที่ตามมาด้วยการสร้าง “รัฐชาติไทยสมัยใหม่” ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ต่อเนื่องมาจนถึงการสร้างและผลิตซ้ำอุดมการณ์ “ชาตินิยมไทย” และ “ราชาชาตินิยม” ทั้งในยุคสงครามเย็นและยุคปัจจุบัน
แม้มีงานวิชาการมากมายตั้งคำถามต่อการแบ่งยุคสมัยแบบนี้ ชี้ให้เห็นความบกพร่อง และเสนอปัญหาของการจัดหมวดหมู่ดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญได้
หลายคนเชื่อว่า การแบ่งยุคสมัยตามกรอบโครงดังกล่าว คือสัจธรรมที่จริงแท้ ทั้งที่ในความเป็นจริงโครงเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างทางสังคมการเมืองไทยที่เพิ่งสร้างไม่นานบนผลประโยชน์เฉพาะของคนบางกลุ่มเท่านั้น
บางคนแม้ตระหนักว่าโครงเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งประกอบสร้าง แต่ก็มิได้คิดว่าเป็นปัญหา อีกทั้งยังมองว่าหากสลัดทิ้งโครงเรื่องแบบนี้ ก็ต้องประกอบสร้างโครงเรื่องใหม่ (ซึ่งก็ไม่เป็นสัจธรรมจริงแท้เช่นกัน) ขึ้นมาแทนที่อยู่ดี ซึ่งไม่มีอะไรยืนยันว่าจะดีกว่า แถมโครงเรื่องเก่ายังเป็นที่คุ้นชินของสังคมไทยอยู่แล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
แม้ความเห็นนี้จะเป็นเรื่องจริง แต่สิ่งที่คนเหล่านี้ไม่ตระหนักถึงก็คือ หัวใจสำคัญของการสร้างโครงเรื่องใหม่นั้น แท้จริงแล้วมิใช่การมุ่งหาสัจธรรมใหม่ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่คุณูปการหลักของมันคือ การทำให้เรารู้เท่าทันกับโครงเรื่องเดิมต่างหาก
เป็นการชี้ให้เราเห็นถึงปฏิบัติการเชิงอำนาจ, อคติ, ผลประโยชน์, ความรุนแรง, ความใจแคบ และอื่นๆ อีกมาก ที่แฝงฝังอย่างลึกซึ้งในโครงเรื่องเก่า พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้กับ อำนาจที่เคยถูกกดทับ, ประเด็นที่ไม่เคยถูกพูดถึง, ตลอดจนผู้คนที่เคยถูกมองข้าม ให้ได้มีสิทธิ์ มีเสียง และมีตัวตนมากขึ้น ผ่านการอธิบายและตีความใหม่ภายใต้โครงเรื่องใหม่ในการจัดแสดงศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ที่ควรจะเล่าเรื่องชาติอย่างแท้จริง มิใช่เรื่องราวเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022