GULF-KBANK

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เกี่ยวกับพลังและอิทธิพลทางธุรกิจหนึ่งๆ ในบริบท ความเป็นไป และแรงบันดาลใจ จะให้ภาพเชื่อมโยงกันในหลายมิติ

ความเคลื่อนไหวล่าสุด เกี่ยวกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ท่ามกลางกระบวนการควบรวมกิจการให้ใหญ่ให้มีพลังมากยิ่งขึ้น ปรากฏข้อมูลเร้าใจยิ่งขึ้น (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย-13 มีนาคม 2568)-ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ปรากฏ “ผู้ถือหุ้นใหญ่” รายใหม่ล่าสุด-คือ GULF ด้วยสามารถครอบครองถึง 77,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.25%

ข้างต้นว่าด้วยเรื่องราวและเส้นทาง GULF ปรากฏการณ์มีที่มายาวนานพอสมควร และเป็นไปจากนี้

ที่สำคัญเป็นที่เข้าใจกันว่า มีความสัมพันธ์กับบทบาทบุคคลหนึ่งอย่างแยกไม่ออก-สารัชถ์ รัตนาวะดี

 

เปิดฉากขึ้น ท่ามกลางยุคสมัยในทศวรรษ 2530 ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกับอีกหลายกรณี ที่แตกต่าง

เริ่มต้นเป็นเพียงคลื่นลูกเล็กๆ ไม่ครึกโครม เมื่อเทียบเคียงกับบางกระแสอันเชี่ยวกราก อย่างธุรกิจสื่อสารที่เติบโต และทรงอิทธิพลอย่างรวดเร็ว มีความเชื่อมโยงจากระบบสัมปทานสู่ตลาดหุ้น ด้วยตำนานอันลือลั่น โดย ทักษิณ ชินวัตร กับการสร้างอาณาจักรธุรกิจอันครึกโครม

สัมปทานหนึ่งอันโดดเด่นในเวลานั้น ดาวเทียมไทยคม เกิดขึ้นในปี 2534 ตามมาด้วยบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM เข้าตลาดหุ้นในปี 2537

ทักษิณ ชินวัตร เวลานั้นอยู่ในวัย 40 ต้นๆ (ขณะนี้อายุ 75 ปี) ขณะที่สารัชถ์ รัตนาวะดี อายุยังไม่ถึง 30 ปี (ขณะนี้อยู่ในวัย 60) เชื่อว่าผู้เยาว์วัยคนนี้ ได้มองความเป็นไปอันโลดโผนข้างต้น กับคิดว่าโอกาสของตนเองมาถึงค่อนข้างช้า

ในบริบทช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเดียวกัน ด้วยมุมที่แตกต่าง อ้างอิงพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นที่มา และจุดตั้งต้น บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในเวลาต่อมาอีกกว่าทศวรรษ-กลุ่ม ปตท. สาระหนึ่งในนั้น คือการปฏิรูปกิจการผลิตไฟฟ้า ด้วยเชื่อว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่อาจแบกรับภารกิจได้ตามลำพัง

ตามมาด้วยโมเดลใหม่ การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบ (ปี 2537) เริ่มให้เอกชนลงทุนโรงไฟฟ้าใน เริ่มด้วยรูปแบบที่เรียกว่า Independent Power Producer (IPP)

 

จังหวะนั้น มีกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมหลายราย ผันตัวเข้าร่วมวงสู่ธุรกิจใหม่ๆ เป็นไปตามตามโมเดลและกระบวนการ ว่าด้วยโอกาสและความมั่งคั่งใหม่ๆ ในสังคมไทย มักมาจากการพลิกตัวตามกติการัฐ ด้วยพลังผู้ทรงอิทธิพล ผู้มีสายสัมพันธ์ คล้ายๆ กันหลายกรณี ที่ครึกโครมกว่า กรณีหนึ่งคือยุคต้นๆ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ยุค “โชติช่วงชัชวาล” ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน

ขณะกรณีโรงไฟฟ้าเอกชน เป็นไปค่อนข้างเงียบๆ เรียบๆ

เวลาเดียวกันนั้น สารัชถ์ รัตนาวะดี เข้ามามีบทบาท มีโอกาสคลุกคลีในธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างเต็มตัวแล้ว ในฐานะมืออาชีพ สั่งสมความสัมพันธ์และประสบการณ์กับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่น พัฒนาการไปตามจังหวะก้าว จากกิจการร่วมทุนถือหุ้นข้างน้อย สู่กิจการซึ่งถือหุ้นข้างมาก

รอคอยจังหวะและโอกาสนานราว 2 ทศวรรษทีเดียว

โดยได้ผ่านและสัมผัสบางระดับกับช่วงเวลาสำคัญสังคมธุรกิจไทย ในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะมองเห็นภาวะสั่นคลอนเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิมอันทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง

นั่นคือ ธุรกิจธนาคาร

 

ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ดูโดดเด่นเป็นพิเศษในเวลานั้น สามารถข้ามผ่านสองยุคมาได้ค่อนข้างดี สู่ยุค บัณฑูร ล่ำซำ (เริ่มต้นในปี 2535) ยุคแห่งการเตรียมพร้อม เผชิญปัญหาและแก้ปัญหาอย่างระแวดระวังอย่างรวดเร็ว ในภาวะเศรษฐกิจขาลง ท่ามกลางวิกฤตการณ์เกิดขึ้นอย่างรุนแรงที่สุดในระบบธนาคารไทย เมื่อปี 2540

KBANK ได้ชื่อว่าเป็นธนาคารซึ่งสามารถปรับระบบให้ทัดเทียมกับธนาคารระดับโลก (2537) เป็นธนาคารแรก ในขณะสถานการณ์ยังดีอยู่ และไม่มีวี่แววธนาคารไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับธนาคารต่างประเทศโดยตรง

ต่อมาท่ามกลางวิกฤตครั้งใหญ่ ที่หลายๆ ธนาคารมีอันเป็นไป “ธนาคารกสิกรไทยก็สามารถปรับตัวอย่างรวดเร็ว การเพิ่มทุนจากต่างประเทศ (เมษายน 2541) และระดมทุนในประเทศ (มกราคม 2542) ได้สำเร็จเป็นธนาคารแรก ที่สำคัญเป็นธนาคารที่มี NPL (Non-Performing Loans) ต่ำที่สุดในระบบ” (Far Eastern Economic Review Dec, 30,1999-Jan,6, 2000 โดยนิตยสารฉบับนี้ยกย่องธนาคารกสิกรไทย เป็นบริษัทชั้นนำอันดับ 1 ของประเทศไทย)

บัณฑูร ล่ำซำ ในเวลานั้นอยู่ในวัยไม่ถึง 40 (ปัจจุบันอายุ 72 ปี) ถือว่าเป็นคนรุ่นก่อน เมื่อเทียบเคียงกับสารัชถ์ รัตนาวะดี

 

สารัชถ์ รัตนาวะดี มีประสบการณ์ในธุรกิจโรงไฟฟ้าเกือบๆ 2 ทศวรรษ ก่อนจะมาก่อตั้งกิจการตนเองอย่างจริงจังในปี 2550 ใช้เวลาอีกราวทศวรรษมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF เข้าตลาดหุ้น (ปลายปี 2560)

เชื่อว่าอยู่จังหวะเดียวกับช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ และต่อเนื่องของทั้ง ทักษิณ ชินวัตร และ บัณฑูร ล่ำซำ

ทักษิณ ชินวัตร มีดีลใหญ่อันเป็นตำนาน เมื่อตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจสื่อสาร หวังว่าจะมีที่ยืนทางการเมืองอย่างมั่นคงขึ้น ด้วยขายหุ้นล็อตใหญ่ให้กับสิงคโปร์ (ปี 2549) ด้วยมูลค่ามากกว่า 7 หมื่นล้านบาท เป็นปรากฏการณ์สั่นสะเทือนไปทั่ว ที่น่าสนใจในสังคมธุรกิจไทย กลายเป็นบทเรียนบทสรุปที่น่าทึ่ง ให้ภาพอันน่าเกรงขาม พวก “หน้าใหม่” ใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียว สามารถสะสมความมั่งคั่งได้มากมายหลายเท่า เมื่อเทียบกับพวกรากฐานเก่า

ส่วน KBANK ภายใต้ยุคบัณฑูร ล่ำซำ สามารถปรับตัวได้ดีระดับหนึ่ง มายืนอย่างมั่นคงมากขึ้น พร้อมๆ กับการลดภาระในความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนต่างชาติ เชื่อกันว่าตระกูลล่ำซำ กลับมาถือครองหุ้นในธนาคารอย่างมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงแก้ปัญหาในวิกฤตการณ์ก่อนหน้านั้น

ไม่น่าเชื่อว่า ร่องรอยและเงา ดูเหมือนต่างยุค สามารถมาเทียบเคียงและเชื่อมโยงกันอีก 2 ทศวรรษต่อมา

 

ปี 2564 GULF กับ สารัชถ์ รัตนาวะดี มีแผนการใหญ่เข้าถือหุ้น บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ดำเนินแผนการกว้านซื้อหุ้นมาเป็นระยะๆ ในช่วงต้นปี ใช้เวลา 6-7 เดือน จึงมาถึงบทสรุป เป็นไปตามกระบวนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างแท้จริง ตามมาด้วยเข้าครอบครองหุ้นใหญ่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM อย่างเป็นทางการในปลายปีต่อมา

ส่วนกรณี GULF เข้าถือหุ้น KBANK คาดว่าใช้เงินไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ได้หุ้นในสัดส่วนกว่า 3% นั้น ยังถือว่าห่างไกล และยังคงเป็นคนละเรื่อง คนละกรณีก่อนหน้านั้น

ขณะที่เชื่อว่า “…ตระกูลธุรกิจเก่าแก่… ยังคงมีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างที่เป็นมา รักษาสถานภาพในสังคมไทยไว้ได้อย่างเหนียวแน่นอย่างมั่นคง แม้จะมีอีกภาพซ้อนอยู่ เป็นไปท่ามกลาง ด้วยปรากฏ ‘ผู้มาใหม่’ มากหน้าหลายตา ไต่อันดับข้ามไปไม่ขาดสาย” อย่างที่ว่าในตอนที่แล้ว

ทั้งนี้ KBANK กับตระกูลล่ำซำ มีประสบการณ์ว่าด้วยความสัมพันธ์กับ “ผู้มาใหม่” มาแล้ว เป็นมายาวนานพอสมควร ราว 3 ทศวรรษทีเดียว นั่นคือ กรณี ตระกูลอยู่วิทยา คาดว่าตระกูลนี้เข้าถือหุ้นใน KBANK ไม่น้อยกว่ากรณี GULF ปัจจุบันคนรุ่นที่สองของตระกูลอยู่วิทยา คงดำรงตำแหน่งกรรมการ KBANK อย่างต่อเนื่อง มากว่าทศวรรษแล้ว

จากนี้ หากสารัชถ์ รัตนาวะดี มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์เฉกเช่นตระกูลอยู่วิทยาที่ว่ามาข้างต้น นับว่าเป็นจุดตั้งต้นของดีลที่ดี •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com