หอจดหมายเหตุแห่งการพรากจาก | เรื่องสั้น : ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง

เรื่องสั้น | ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง

หอจดหมายเหตุแห่งการพรากจาก

(Archives of Farewells)

 

 

1

ผมทำงานเป็นลูกจ้างรายวันร้านบะหมี่เป็ด ตรงข้ามกับโรงหนังเก่าซึ่งปิดตัวลงไปหลายสิบปีแล้ว หลังคาโรงหนังถูกถอดออก เหลือไว้เพียงโครงสร้างแบบซุ้มโค้งและกระจกยาว เป็นสถาปัตยกรรมในแบบที่ผมไม่รู้จัก

โรงหนังเก่าสองชั้นถูกทิ้งร้าง ตะไคร่น้ำจับเกาะคราบขอบปูนดั่งลานทะเลหญ้า ต้นไม้ต้นเล็กๆ งอกอยู่หลังบานกระจกใต้ซุ้มโค้งเหล่านั้น ผมชอบมองมันเวลาพักสูบบุหรี่

ชั้นล่างสุดเป็นลานหินอ่อนกว้างว่างโล่ง บางวันก็มีรถยนต์มาจอด แต่ส่วนใหญ่ฝูงนกพิราบรับสัมปทานพื้นที่ส่วนนั้น

เถ้าแก่บอกผมว่าโรงหนังแนวนี้คือโรงหนังแบบสแตนด์อโลน ตั้งอยู่เดี่ยวๆ ไม่ยุ่งกับใคร ผมถามแกว่าเคยเข้าไปดูหนังในนั้นไหม? แกพยักหน้า บอกว่าตอนเด็กๆ เคยไปดูมิตร ชัยบัญชากับพ่อ

จนวันหนึ่งมีคนเอาป้ายไวนิลมาแขวน ป้ายสีขาวข้อความสีแดง

‘หอจดหมายเหตุแห่งการพรากจาก

Archives of Farewells

ที่นี่ เร็วๆ นี้’

ผมสแกนคิวอาร์โค้ดที่แนบไว้ตรงมุมป้าย จับใจความได้คร่าวๆ ว่าเป็นพื้นที่จัดแสดงสิ่งของที่เล่าเรื่องความรัก, ความสัมพันธ์ และการสูญเสีย รวมถึงยังเปิดรับสิ่งของจากทางบ้าน

ผมละสายตาจากจอมือถือ เงยหน้ามองโรงหนังที่ไม่มีหลังคา ผมนึกไปถึงจักรยานของเบล…

มันเป็นจักรยานญี่ปุ่นแบบพับได้ สีแดงเบาะสีดำ รุ่น Oyama Pegasus มีตะแกรงท้ายด้านหลังสำหรับวางของ แต่เบลเป็นคนตัวเล็ก เธอจึงนั่งซ้อนท้ายและให้ผมปั่นไปรอบเมือง

เบลทิ้งจักรยานคันนั้นไว้ในหอพักของผม ห้องที่เคยเป็นของเรา

เธอบอกว่าจะไปงานบวชน้องชายที่กรุงเทพฯ แล้วก็ไม่กลับมาอีก จนป่านนี้น้องชายเธอคงเป็นเจ้าคณะหรือเจ้าอาวาสไปแล้ว หากว่ายังบวชอยู่

เบลเอาไปทุกอย่าง ยกเว้นจักรยานพับได้คันนี้

ผมถีบจักรยานคันนี้มาทำงาน และจอดหน้าโรงหนังเสมอ เพราะเถ้าแก่ไม่อยากให้มาจอดเกะกะหน้าร้าน

ผ่านไปครึ่งเดือน โรงหนังที่ไม่มีหลังคาเริ่มมีชีวิตชีวา ลานหินอ่อนได้รับการขัดถู ฝูงนกพิราบถูกเนรเทศออกไป ผู้คนในเสื้อทีมสีชมพูช่วยกันยก ย้าย บรรดาสิ่งของในตู้กระจก ป้ายไวนิลกลายเป็นป้ายไม้ พร้อมข้อความ

‘หอจดหมายเหตุแห่งการพรากจาก

Archives of Farewells’

ร้านบะหมี่เป็ดขายดีขึ้นเท่าตัว เพราะแถบนั้นมีร้านอาหารอยู่ร้านเดียว ผมได้ฟังทีมงานคุยกัน จับใจความได้ว่าได้ทุนจากเมืองนอกมาก้อนหนึ่ง เลยรวมตัวกันทำหอจดหมายเหตุแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นอนุสรณ์และต่อยอดไปสู่คอนเทนต์ออนไลน์

“ความเศร้ามันขายได้” ทีมงานคนหนึ่งพูดในวงสนทนาแล้วหัวเราะ

หอจดหมายเหตุเปิดทำการแล้ว ผู้คนแวะมาไม่ขาดสาย โรงหนังเก่าลืมตาตื่นอีกครั้ง เถ้าแก่ถามผมว่ามีสิ่งของอะไรที่จะเอาไปใส่ในนั้นบ้างไหม? ผมพยักหน้าไปทางจักรยานของเบล

ผมถามเถ้าแก่กลับบ้าง ว่าอยากเอาอะไรไปใส่ไว้ในนั้น เถ้าแก่พยักหน้าไปทางเจ๊อ้วน คู่ชีวิตที่ยืนสับเป็ดอยู่เคียงข้าง แล้วเราสองคนก็หัวเราะกัน ส่วนเจ๊อ้วนส่ายหัว

ผ่านไปเดือนกว่า ผมถึงได้มีโอกาสไปเยือนหอจดหมายเหตุแห่งนั้น วันนั้นร้านบะหมี่เป็ดหยุด เถ้าแก่ไปรับยาเบาหวานและความดันที่โรงพยาบาล

ผมถีบจักรยานของเบลมาจอดที่ประจำ เดินเข้าไปในโรงหนังแห่งนั้น

 

2

เธอแนะนำตัวว่าเป็นภัณฑารักษ์หอจดหมายเหตุแห่งนี้ หญิงสาวผิวแทน จมูกเป็นสันได้สัดส่วน รังสีความเหนื่อยล้าแผ่ออกมาจากใบหน้า ถุงใต้ตาเธอคล้ำ แต่รอยยิ้มหมดจด ผมสั้นประบ่าสีกะลามะพร้าวรับกับใบหน้าที่ผอมจนเห็นสันกราม เธออายุพอๆ กับแม่ ตอนที่แม่ผมตาย

เธอให้ผมลงทะเบียน และบอกว่าเดินดูได้ตามสบาย สายตาผมไปสะดุดกับบทกวีบทนึงบนผนัง

“ฉันสิ้นรักเธอแล้วก็จริงอยู่

แต่บางคราฉันอาจยังรักเธออยู่

แสนสั้นเหลือเกินหนอความรัก

และยาวนานยิ่งนักการลืมเลือน

ปาโบล เนรูดา, กวีชิลี”

ถ้อยคำนั้นทำผมหน้าชา คล้ายบทกวีบทนี้อธิบายภาวะในใจของผมได้เป็นอย่างดี ผมหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูป แล้วอัพโหลดลงเฟซบุ๊ก ใส่แฮทแท็ก #หอจดหมายเหตุแห่งการพรากจาก

ผมหวังให้เบลได้เห็น แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าเบลบล็อกผมไปนานแล้ว…

ผมเดินดูสิ่งของจากทางบ้านที่ส่งมา มีด้ามพร้าสนิมเขรอะเลอะขุยมะพร้าว ราวกับเพิ่งส่งมาจากสวน ผมอ่านคำบรรยาย

“ตอนที่รู้ว่าเมียมีชู้ ผมฉวยพร้า ปอกมะพร้าวในสวนเราทุกลูก ตอนแรกผมก็แค้น แต่ยิ่งปอกก็ใจเย็นลง วันนั้นผมขายมะพร้าวได้หลายบาท หากวันนั้นผมเลือกหยิบปืน พร้าด้ามนี้คงไม่ได้มาอยู่ที่นี่”

ผมมองพร้าด้ามนั้น คล้ายมีน้ำใสๆ ไหลออกจากด้ามพร้า แสงไฟสีส้มขับเน้นพร้าให้ขรึมขลัง แต่ผมคงตาฝาดไปเอง

ถัดไปเป็นมีดกรีดยาง เรื่องผัวๆ เมียๆ เช่นเคย เพียงแต่คราวนี้ฝ่ายชายมีชู้

ผมเดินดูไปเรื่อยเปื่อย มีสิ่งของจัดแสดงมากมาย ทั้งผ้าเช็ดหน้า, กระดุม, พจนานุกรมไทย-อังกฤษ,มีดตัดขนมปัง, บัวรดน้ำ แล้วผมก็หยุดกึกอยู่ตรงหน้าหนังสือเล่มนั้น

มันเป็นหนังสือทำมือที่มีสองเล่มในโลก ปกสีขาวเขียนด้วยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงินว่า ‘บุตรธิดาแห่งการพรากจาก’

ผมรู้จักหนังสือเล่มนี้ดี เพราะผมเป็นคนเขียนมันเอง และเบลเป็นคนเย็บเล่มหนังสือเล่มนี้ ผมอ่านคำบรรยายภาพ

“หนังสือทำมือเล่มนี้ มีฉันและคนรักเก่าอยู่ในนั้น ครั้งหนึ่งเขาพยายามที่จะเป็นกวี และฉันมีให้แค่โลกความเป็นจริง ฉันไม่รู้ว่าเขาจะยังเขียนบทกวีอยู่อีกไหม แต่ฉันก็ไม่อยากเก็บไว้ คงจะดีหากมีใครได้เห็นความพยายามของเขา” ท้ายถ้อยความลงชื่อว่า ‘ไม่ประสงค์เอ่ยนาม’

ผมยืนนิ่งค้างอยู่อย่างนั้น จนแรงสั่นสะเทือนเมื่อมีคนแตะไหล่ปลุกผมให้มีชีวิตอีกครั้ง

“นี่เป็นของที่แปลกดีค่ะ ก่อนจัดเข้าตู้ ดาได้อ่านบทกวีเล่มนี้แล้ว เขียนดีมากเลย” แววตาเธอยืนยัน

“แต่น่าเสียดาย ชื่อบนปกก็ไม่เขียนไว้ ไม่รู้ป่านนี้นักเขียนไปอยู่ไหน อยากอ่านเล่มต่อไปอีก” ดาถอนหายใจ ผมแอบยิ้มไม่ให้เธอเห็น

“เอ้อ…พี่คะ ขอยืมจักรยานหน่อยได้มั้ยคะ ต้องไปหาร้านเครื่องเขียน”

ผมบอกทางไปร้านเครื่องเขียน สิบนาทีให้หลังดาก็กลับมาที่เดิม ผมหัวเราะ รู้ซึ้งถึงผังเมืองแห่งนี้

ดาจึงซ้อนท้ายผม น้ำหนักเธอประมาณเท่าเบล ช่างเป็นภาพที่น่าเวทนาหากผู้คนแถบนั้นพบเห็น คนสองคนบนจักรยานขนาดเท่าลูกวัว โชคดีที่ดาส่วนสูงไล่เลี่ยกับเบล ไม่งั้นผมคงเสียการทรงตัว

ผมนึกไปถึงตอนที่เบลซ้อนท้าย เธอชอบปล่อยผมยาวสยายไปตามสายลาม แม้อานจักรยานจะเล็ก แต่ผมรู้สึกมั่นคงและอุ่นใจ

ดาใช้เวลาห้านาทีในร้านเครื่องเขียน แล้วเธอก็ถามผมว่า

“เมืองนี้อะไรอร่อย?”

 

3

ผมพาเธอมากินราดหน้าทะเล เสิร์ฟในจานเปล โรยหน้าด้วยกรรเชียงปูและกุ้งขนาดตัวเท่าหัวนิ้วโป้ง ดาตาลุกวาว หยิบมือถือขึ้นมาเซลฟี่และลงมือกินโดยไม่รอผม

“ทำไมถึงใช้ชื่อว่าหอจดหมายเหตุ แทนที่จะใช้คำว่าพิพิธภัณฑ์” ผมถามในสิ่งที่สงสัย ส่วนดาเคี้ยวไม่หยุดปาก

“พิพิธภัณฑ์เขาใช้กันเกลื่อนแล้วพี่ ที่ตุรกีก็มีแนวนี้นะ ‘พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา’ ที่นั่นมีก้นกรองบุหรี่หลายร้อยมวนจัดแสดง อิงจากนิยายที่ตัวละครเก็บก้นกรองบุหรี่ของหญิงสาว” ดาเล่าแบบขอไปที ใจจดจ่ออยู่กับราดหน้าทะเลมากกว่า

แม้ว่าดาจะไม่รู้ว่า ‘ออร์ฮาน ปามุก’ คือนักเขียนคนโปรดของเบล และบ่อยครั้งผมก็สวมบทบาทเป็นเคมาล และเบลรับบทเป็นฟูซุน สองตัวละครในหนังสือชื่อเดียวกับพิพิธภัณฑ์นั้น

ทุกวันนี้ผมยังคงเก็บซองบุหรี่และไฟแช็กที่เบลลืมไว้ ในซองนั้นมีบุหรี่เหลือหนึ่งมวน ตรงก้นกรองมีลิปสติกสีบานเย็นติดอยู่ ผมไม่คิดจะจุดสูบ เพราะกลัวว่าเจ้าของริมฝีปากนั้น จะอันตรธานจางหายไปจากผมตลอดกาล

อาจมีบางคืนที่ผมหยิบมาดมและแนบริมฝีปากบ้าง ในคืนที่เงียบเหงาจนเหลือทน…

กินเสร็จผมลุกไปจ่ายเงิน บอกดาว่าเลี้ยง ขอเป็นเจ้าบ้านที่ดี ดาขอบคุณผมไม่หยุดปาก และเรอออกมาโดยที่ปิดปากไม่ทัน ก่อนจะหัวเราะกลบเกลื่อน

ดาขอพักสูบบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนผมสูบบุหรี่มวน ผมถามเธอว่ามาทำงานที่นี่ได้ไง?

ดาเล่าว่าเรียนที่ภาคตะวันออก อาจารย์ที่ภาควิชาเป็นคนทำโปรเจ็กต์นี้ ได้ทุนมาจากเมืองนอก แต่ยังหาคนมาเฝ้าหอจดหมายเหตุไม่ได้ ไม่มีใครอยากเดินทางไกล

ดาเว้นวรรคพ่นควัน แล้วเล่าต่อ

“ดาเพิ่งเลิกกับแฟนพอดี เลยอยากหนีมาไกลๆ”

“อ้าว…แล้วสิ่งของของคุณภัณฑารักษ์จัดแสดงมุมไหน แถมน้ำตาด้วยหรือเปล่า?” ผมแซะ ดายิ้มแห้งและแลบลิ้น

ดาซ้อนท้ายจักรยานของเบลมาถึงหน้าโรงหนังเก่า ไม่ใช่สิ ตอนนี้เป็นหอจดหมายเหตุแห่งการพรากจาก

ผมยกจักรยานให้ดา บอกว่าเอาไปใช้ได้ตามใจ จะได้ขี่ไปซื้อข้าวหรือทำธุระในเมืองนี้ อีกอย่าง หอพักผมอยู่ในระยะเดินเท้าถึง

“ขอบใจนะพี่ ว่าแต่แน่ใจเหรอว่าไม่บริจาคสิ่งของไว้จัดแสดง” ดาแซวผม เธอคงรู้

“ไว้ข้างนอกนี่แหละ จะได้ขี่ไปไหนมาไหน ไว้ข้างในเกะกะเปล่าๆ” ผมลูบต้นคอแล้วพูดต่อ

“ถ้าไปไหนไม่ถูกก็ค่อยมาเรียกนะ เดี๋ยวพาไป” ผมชี้ไปที่ร้านหมี่เป็ดฝั่งตรงข้าม

ดายิ้ม โบกมือให้ และขอตัวไปทำงาน มีนักท่องเที่ยวสี่ห้าคนกำลังเดินเข้ามา

ผมเดินเท้ากลับหอพัก ฮัมบทกวีที่ผมเขียน บทกวีที่กลายเป็นสิ่งของในหอจดหมายเหตุแห่งการพรากจาก แม้ว่าผมไม่เคยนึกอยากเป็นประวัติศาสตร์ของใคร •