ยาหมอพระแก้หืดไอเรื้อรัง

โรคหืดเป็นโรคทางเดินหายใจเก่าแก่ที่มีบันทึกชื่อโรคและตำรับยารักษาไม่น้อยกว่า 12 ตำรับ ปรากฏอยู่ในหลายคัมภีร์แพทย์แผนไทย เช่น คัมภีร์ปฐมจินดาว่าด้วยโรคหืดเด็ก หืดน้ำนม คัมภีร์ชวดาร และคัมภีร์วรโยคสาร และคัมภีร์กษัย กล่าวถึงโรคหืดไอ หืดหอบ เป็นต้น

การแพทย์แผนไทยมองว่าสมุฏฐาน หอบหืดเกิดจากศอเสมหะกําเริบ ทำให้มีเสมหะมากที่ลำคอ เกิดอาการไอรุนแรงถึงไอเรื้อรัง ส่งผลไปยังอุระเสมหะ ทำให้เกิดปัปผาสังพิการหรือปอดอักเสบ แน่นหน้าอก มีอาการไอหอบและเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก จึงเรียกว่าโรคหอบหืดซึ่งเป็นโรคที่บั่นทอนสุขภาพถึงขั้นเสียชีวิตได้ถ้าไม่รีบรักษา

ในที่นี้ขอตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อโรคของการแพทย์แผนใหม่มักจะยืมชื่อเรียกของแพทย์แผนโบราณมาใช้เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ไทฟอยด์ รากสาด บิด อหิวาต์ หรือแม้แต่ไข้อีดำอีแดงที่กำลังระบาดในหมู่เด็กอยู่ขณะนี้

 

ในแง่ของของแพทย์แผนปัจจุบันโรคหอบหืดเป็นกลุ่มอาการโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด เป็นๆ หายๆ อาการจะเกิดขึ้นเมื่อหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ จะทำให้มีอาการคัดจมูก มีเมือกเสมหะมากกว่าปกติ หลอดลมตีบตัน บวม หายใจไม่สะดวก มีอาการไอต่อเนื่องนาน 2-3 สัปดาห์ หายใจมีเสียงวี้ด อันเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกอาการหืด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก โดยเฉพาะตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย และอาจเสียชีวิตได้หากมีอาการมากอาจทำให้หายใจไม่ออก ไม่สามารถรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย และไม่สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้ ทำให้ระบบหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตในที่สุด

อาการสำคัญที่เป็นสัญญาณของโรคหอบหืด มีทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่ ไอเรื้อรัง หายใจมีเสียงวี้ด เหนื่อยหอบ หากมีอาการทั้ง 3 อย่างนี้ ฟันธงได้เลยว่า เป็นโรคหอบหืดค่อนข้างแน่นอน

ปัจจุบันมีสิ่งกระตุ้นและสารก่อภูมิแพ้พิสดารมากมายได้แก่ เช่น ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 สารเคมีพิษหรือละอองเชื้อจุลชีพแปลกๆ ในอากาศ สารปนเปื้อนในอาหาร หรือแม้แต่ไรฝุ่นในที่นอน นอกจากนี้ ยังพบว่าสภาพอากาศที่เย็นและแห้งของฤดูกาล รวมทั้งสภาพอากาศในห้องแอร์ เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดได้ด้วย

ในที่นี้ขอแนะนำตำรับยาโบราณนอกคัมภีร์แพทย์หลวง แต่เป็นตำรับยาหมอพระที่มีประสบการณ์การใช้ของผู้คนมายาวนาน คือ ตำรับยาแก้หืดหรือเสมหะทรมานของพระเทพสุธี (พรหม โชติปาโล นามสกุลเดิม แสงโชติ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม เขตคลองสาน กรุงเทพฯ

ตํารับยาต้มนี้โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองเคยนำมาเผยแพร่เมื่อกว่า 40 ปีก่อน สมัยโลกยังใช้การสืบค้นด้วยกระดาษหาได้ยากในสื่อออนไลน์

ตำรับโบราณนี้ประกอบด้วยสมุนไพร 5 อย่าง น้ำหนักรวม 240 กรัมคือ

1. เถาวัลย์เปรียง หนัก 2 บาท 2 สลึง เท่ากับ 37.5 กรัม

2. แก่นแสมสาร หนัก 6 บาท 2 สลึง เท่ากับ 97.5 กรัม

3. ฝางเสน หนัก 2 บาท 2 สลึง เท่ากับ 37.5 กรัม

4. ใบมะคำไก่ หนัก 2 บาท 2 สลึง เท่ากับ 37.5 กรัม

5. หัวแห้วหมู หนัก 2 บาท เท่ากับ 30 กรัม

วิธีปรุงยา เตรียมสมุนไพรแห้งทั้ง 5 ที่มีสภาพใหม่ นำมาซาวน้ำให้สะอาดแล้วใส่หม้อ (ห้ามใช้ภาชนะอะลูมิเนียม) เติมน้ำ ราว 2,000 มิลลิลิตร(ม.ล.) หรือในระดับพอท่วมยา ต้ม 3 เอา 1 กรองกากยาทิ้ง ได้น้ำยาประมาณ 600-700 ม.ล. ดื่มเป็นประจำครั้งละ 1 แก้ว หรือ 100 ม.ล. วันละ 3 เวลา หลังอาหาร น้ำยาที่เหลือแช่ตู้เย็นไว้ดื่มต่อได้ทั้งหมดหม้อละ 3 วัน

ควรรับประทานยาติดต่อกันนาน 7 วัน จึงหยุดยา อาการจะทุเลาลง

 

ช่วงนี้ทั่วทั้งประเทศไทยยังประสบภัยจากฝุ่นพิษ PM 2.5 สร้างปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ แม้ยังไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นโรคหืดหรือโรคหืดหอบ หากเริ่มมีอาการไอ หายใจลำบาก มีเสมหะเหนียวก็สามารถต้มยาสูตรนี้ดื่มได้

อย่างไรก็ตาม โรคหืดเป็นโรคที่ไม่หายขาดด้วยยา จึงต้องหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจด้วย ดังกรณีตัวอย่างของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เมื่อหลายปีก่อน ท่านเคยฉันยาขนานนี้เพื่อควบคุมโรคปัปผาสัง แม้จะได้ผลดีหลังจากฉันยา แต่ไม่กี่วันโรคก็กำเริบอีก จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการย้ายออกจากวัดเดิมที่เต็มไปด้วยมลพิษต่อทางเดินหายใจของท่าน ดังบันทึกของท่านตอนหนึ่งว่า

“ตอนนั้น โครงการสมุนไพร (ต่อมาคือมูลนิธิสุขภาพไทย) ได้พยายามมาช่วยแก้ปัญหาโรคทางเดินหายใจ นำยาสมุนไพรมาถวายเองบ้าง ฝากมาถวายบ้าง บ่อยมาก ยังมีบันทึกไว้ว่าขนานหนึ่งแก้ปัญหาเสมหะทรมานได้ดี แต่ถึงอย่างไร ตัวคนไข้เองก็ไปไม่ไหว เพราะขณะที่สมุนไพรมาข้างนี้ ควัน ไอเสียรถยนต์มาข้างนั้น ควันหรือไอน้ำประสานทองมาข้างโน้น แก้ไขกันไม่จบ ก็ได้แต่อนุโมทนาไว้…”

ในที่นี้ คำว่ายาขนานหนึ่งก็คือ “ตำรับยาแก้หืดไอของพระเทพสุธี วัดอนงค์” นั่นเอง หากผู้ใดทุกข์ทรมานจากโรคหืดสามารถใช้ยาต้มขนานนี้ทุเลาอาการได้ แต่ถ้าจะให้โรคหายขาด จะต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ปลอดพ้นจากมลพิษต่อระบบทางเดินหายใจ

และขอฝากยาขนานนี้ไว้เป็นโอสถทาน ตามเจตนารมณ์ของพระอาจารย์ผู้เป็นเจ้าของยานี้สืบไป •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org