ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง
น้ำท่วมใหญ่พระนครสมัยสงคราม
เหตุการณ์หนึ่งที่มิอาจละไปจากการกล่าวถึงสงครามมหาเอเชียบูรพาไปได้คือ “เหตุการณ์น้ำท่วมพระนคร 2485” ที่เกิดขึ้นภายหลังที่คลื่นทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทย (8 ธันวาคม 2484) สาดซัดผ่านไทยไปแล้ว
ไม่นานจากนั้น สายน้ำทางเหนือก็ไหลบ่าลงมาท่วมพระนครนับแต่ปลายเดือนกันยายนจนถึงปลายพฤศจิกายน (2485) อันทำให้พระนครต้องจมน้ำ

น้ำท่วมพระนคร 2485
นับแต่ช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2485 ด้วยฝนตกไม่หยุดหย่อนแต่กลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา น้ำในแม่น้ำปิงได้เอ่อล้นท่วมเมืองเชียงใหม่และลำพูน ผนวกกับมีน้ำป่าเข้าผสมไหลหลากลงมาสมทบกับแม่น้ำปิง ทำให้ปริมาตรน้ำสูงผิดปกติ ที่เชียงใหม่มีน้ำท่วมสูงถึง 1 เมตร กระแสน้ำต่างไหลหลั่งลงแม่น้ำปิง วัง น่าน ป่าสัก น้ำในปีนั้นสูงล้นตลิ่ง ทำให้จังหวัดที่ต่ำลงมา กระแสน้ำจากภาคเหนือไหลบ่ามายังปากน้ำโพ นครสวรรค์ในกลางเดือนกันยายน
จากนั้น สายน้ำหลากไหลลงไปยังภาคกลางมีระดับน้ำสูงเกินกว่าหนึ่งเมตร เช่นเดียวกับที่อยุธยา ประสบความเสียหายอย่างหนักเช่นกัน อยุธยาจะต้องรับน้ำจากเจ้าพระยาที่มาจากทางเหนือแล้ว จะสมทบด้วยแม่น้ำป่าสักอีกด้วยทำให้นาข้าวล่ม เกิดโรคระบาด ข้าวยากหมากแพงในช่วงสงครามที่แสนทุกขเวทนายิ่ง (สรศัลย์, 93-98)
ในที่สุด ปลายกันยายน กระแสน้ำก็ไหลมาถึงพระนคร น้ำเริ่มเอ่อล้นเข้าฝั่งจากพื้นที่ตอนเหนือ เช่น บางซื่อ บางเขน หลักสี่ ทุ่งพญาไท จากนั้น น้ำก็ท่วมไปทั่วทุกหัวระแหง (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 2544, 438-439) ในที่สุด พระนครครานั้นก็ไม่ต่างจากบึงขนาดใหญ่ที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำ
เคราะห์ดีที่ช่วงเวลาที่น้ำท่วมพระนครนั้นเป็นห้วงเวลาที่ไทยตกอยู่ภายใต้สงคราม กองทัพญี่ปุ่นกำลังบุกตะลุยพม่าและอินเดีย ส่งผลให้เครื่องบินสัมพันธมิตรไม่บินมาทิ้งระเบิดในพระนคร เพราะอังกฤษยังมัวสาละวนกับการถูกกองทัพญี่ปุ่นโจมตีอยู่ หากฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าโจมตีทางอากาศในตอนนั้นแล้วไซร้ ประชาชนไทยไม่รู้หลบที่ไหน เนื่องจากหลุมหลบภัยช่วงนั้นน้ำท่วมหมด (ขุนวิจิตรมาตรา, 474)
ทำเนียบรัฐบาลก็หนีไม่พ้นกระแสน้ำในครั้งนั้น ระดับน้ำในทำเนียบสูงถึง 95 เซนติเมตร (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 439) จอมพล ป. บันทึกว่า ในช่วงเวลานั้น คณะรัฐมนตรียังประชุมงานตามปกติ หลังเลิกประชุม มีเรือมารอรับรัฐมนตรีกันเต็มทำเนียบ บางคนต้องขอกินข้าวก่อนกลับบ้านเพราะใช้เวลาเดินทางนาน วาระการประชุมมีแต่เรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชน (สามัคคีไทย, 91)
ช่วงเวลาดังกล่าวชาวไทยต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาด ความเสียหายทางการเกษตร-การพาณิชย์ บ้านเรือนเสียหาย ความอดอยาก ข้างยากหมากแพง ผู้คนคนตกงาน เกิดการอพยพของแรงงานภาคเกษตรเข้าเมือง

ชาวพระนครกับโรคระบาด
ในช่วงต้นของน้ำเริ่มไหลบ่าเข้าพระนคร รัฐบาลขอร้องให้ผู้ขับรถลดความเร็วลง ป้องกันน้ำไปโดนผู้อื่น (ศรีกรุง, 6 ตุลาคม 2485) กระทรวงศึกษาธิการสั่งให้โรงเรียนปิดการเรียนการสอน 1 เดือน เนื่องจากน้ำไหล่บ่าท่วมมากเดินทางไม่สะดวก (ศรีกรุง, 4 ตุลาคม 2485)
ต่อมา กระทรวงสาธารณสุขที่ถูกตั้งขึ้นใหม่เมื่อต้นปี 2485 ประกาศแจ้งเตือนประชาชนอย่าเล่นน้ำ เพราะจะติดโรคร้ายที่มากับน้ำท่วม เช่น พุพอง บิด ลำไส้ รากสาดน้อย อหิวาต์ รัฐบาลขอร้องให้ประชาชนอย่าเล่นน้ำด้วยความสนุก หรืออาบน้ำริมถนน โปรดไปฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาต์ ไข้รากสาดน้อย เพราะน้ำสกปรกอาจเข้าปากยามอาบน้ำเล่นน้ำได้ พร้อมขอให้ผู้ปกครองดูเด็กมิให้ออกมาเล่นน้ำเพราะอาจเกิดอาการผื่นคันตามขาและเท้า บางคนอาจลามเป็นผื่นทั้งตัว ดังนั้น ข้อพึงปฏิบัติภายหลังการลุยน้ำท่วมแล้ว ให้ล้างขาและอาบน้ำให้สะอาดทุกครั้ง (ศรีกรุง, 6 ตุลาคม 2485)
ในช่วงนั้น แม้นการเทศบาลเพิ่งถูกตั้งขึ้นไม่นาน พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) นายกเทศมนตรีพระนครได้ออกเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์ประชาชน (ศรีกรุง, 16 ตุลาคม 2485) นอกจากนี้ เทศบาลยังขยายเวลารับรักษาพยาบาลอาการท้องร่วงหรือปวดท้องให้กับประชาชนที่เจ็บป่วยในยามค่ำคืนที่สุขศาลา 3 แห่ง คือ สุขศาลาบางรัก สุขศาลาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ และสุขศาลาจันทร์ฉิมไพบูลย์ (ศรีกรุง, 15 ตุลาคม 2485)

สตรีหมายเลข 1 กับบทแม่ค้าเรือเร่
ในช่วงต้นที่พระนครถูกน้ำท่วมเมื่อปลายเดือนกันยายน คณะรัฐมนตรีมีมติว่า รัฐบาลจะ “รบกับน้ำ” (สามัคคีไทย, 39) ท่ามกลางความทุกข์ยากจากอุทกภัยครั้งนี้ เมื่อต้นเดือนตุลาคม จอมพล ป.เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการปรับปรุง เลิก งดเก็บภาษี ให้กับประชาชนจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ (สามัคคีไทย, 59) และงดการจัดเก็บภาษีบางอย่างจากประชาชน (ศรีกรุง, 17 ตุลาคม 2485) เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน แต่ในที่สุด ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมนั้น รัฐบาลประกาศงบประมาณช่วยเหลือราว 10 ล้านบาท โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทยช่วยเหลือประชาชนในด้านที่อยู่อาศัย ส่วนการแจกอาหาร บำบัดโรคภัย ให้กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงสาธารณสุข และมหาดไทยร่วมมือกัน (ศรีกรุง, 30 ตุลาคม 2485)
ต่อมา กระทรวงพาณิชย์นำนโยบายส่งเสริมการค้ารายย่อยให้กับคนไทยในช่วงน้ำท่วม จอมพล ป.บันทึกถึงแนวคิดพระยามไหสวรรย์ที่ใช้เรือเป็นพาหนะในการส่งเสริมการค้าให้คนไทยว่า “วันอาทิจนี้ ตรงกับวันที่ 1 พรึกจิกายน ท่านรัถมนตรี กอ มไหสวรรย์ ได้นำเรือบันจุของชำครบถ้วนมาให้ 1 ลำ ฉันให้เมียลงเรือนี้ไปขายของชำเรือเร่ในบริเวณบ้านแต่ไปไม่ได้เพราะเรือเกยแห้ง บางทีจะรวยเพราะการขายของเช่นนี้บ้าง เปนการเพิ่มรายได้ในครอบครัวของฉันอีกทางหนึ่ง เพราะรับราชการทางเดียวไม่เหนรวยสักที ถ้าคงเปนแบบเดียวกับพี่น้องชาวนานั่นเอง ทำนาปลูกข้าวหย่างดียวไม่เหนมั่งมี หรือเอาพอมีพอกินไม่ได้ รัถบาลท่านจึงแนะนำให้ทำไร่เลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น…”
(สามัคคีไทย, 147-148)

พระนครหลังน้ำลด
กระนั้น ท่ามกลางความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่กินเวลาประมาณกว่าเดือนนี้ ผู้คนโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวดูจะตื่นตาตื่นใจและเพลิดเพลินไปกับการสัญจรหลักทางเรือเป็นอย่างมาก นัยว่าเป็นวิธีผ่อนคลายจากนานาปัญหาของประชาชนอย่างหนึ่งในสมัยนั้น
แต่เมื่อน้ำลดลงแล้ว สิ่งที่ชาวพระนครต้องระวังคือ “พื้นถนนมีคราบตะไคร่น้ำจับเขียวปื๋อ ลื่นดีนัก ถ้ามัวจูงมือกันเดิน เพลินพลอดสดใส มีขวัญใจอยู่แนบกาย มีหวังหกล้มก้นกระแทกกันง่ายๆ” ชาวกรุงต้องเดินจิกปลายเท้าเพื่อเป็นเครื่องช่วยยึด ในช่วงนั้น หากใครได้เดินตามถนน ภาพที่ชินตาคือ คนต่างเพศต่างวัยล้วนลื่นถลาล้มกันอยู่เสมอ หากใครเผลอหัวเราะ อาจได้รับฟังคำผรุสวาจาเป็นสิ่งตอบแทน (ลาวัลย์, 2536)
เมื่อน้ำลดแล้ว เด็กในบ้านมักถูกมอบหมายให้ใช้กาบมะพร้าวขัดตะไคร่น้ำตามพื้นและฝาผนังบ้าน บ้านใดผนังไม้จะเห็นไม้พองด้วยอุ้มน้ำมานาน บ้านใดเป็นผนังปูนสีจะลอกล่อน ตามพื้นถนน ทางเดินเท้ามีตะไคร่จับเขียว “ทีเผลอก็ลื่นตีลังกาเอาง่ายๆ เปียกเปื้อนสกปรกไปทั้งตัว” บางครั้งรถเมล์แล่นเป๋ไปเป๋มาด้วยลื่นตะไคร่ แม้นกระทั่งรถรางที่วิ่งบนรางเหล็กก็มีอาการล้อหมุนเปล่าอยู่กับที่เลยทีเดียว ถนนเต็มไปด้วยขยะกลาดเกลื่อน (สรศัลย์, 2558, 115)
จอมพล ป.เปรยว่า “เมื่อน้ำลดแล้ว มีเสียงว่าตอจะผุด เปนความจริงเวลานี้จะเห็นตอระเกะระกะไปหมด เพราะชาวนอนเรือได้มาปักไว้เพื่อผูกเรือ ไปแล้วไม่ถอน…ถ้าจะพูดทางจิตใจก็หมายความว่า ตอ คือ ความชั่ว ความบกพร่องจะผุดให้คนเห็น ฉันจึงรำพึงถึงตัวฉันว่า ทำอะไรผิดไว้บ้างไนคราวน้ำท่วมก็พบหลายแห่ง” (สามัคคีไทย, 163-164) เขาระบุว่า สิ่งที่เขาทำไม่สำเร็จในครั้งนี้ คือ “1. ช่วยราสดรไม่เท่าใจนึกจะทำ 2. ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ ข้อนี้คงให้อภัย เพราะธัมชาติสุดจะสู้กับท่านให้เปนหย่างอื่นไปได้”
และ 3. แนวคิดต่างๆ ในนามปากกาสามัคคีไทยที่ย่อมมีข้อบกพร่อง



สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022