ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“กูเอาไอ้หนอมดีกว่า มันยิ้มสวย มันยิ้มสยาม”
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
การตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรี
1 มกราคม 2501
กล่าวนำ
การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคชาติสังคมที่เป็นตัวแทนของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น ตัวเขาเองตัดสินใจที่จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง กลับใช้วิธีจัดตั้ง “พรรคตัวแทน” หรืออาจเรียกว่า “พรรคนอมินี” ในการคงอำนาจของผู้นำทหาร
ในช่วงแรก จอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจขอให้ นายพจน์ สารสิน มารับตำแหน่งนายกฯ
และต่อมาเมื่อเกิดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 พรรคชาติสังคม หรือ “พรรคทหาร” ชนะการเลือกตั้ง จอมพลสฤษดิ์ได้เลือกที่จะให้ พลโทถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกฯ (คำกล่าวในข้างต้นมาจากบทสัมภาษณ์ นายญวง เอี่ยมศิลา ปรากฏในหนังสือของ ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดิน, 2543) เขาตัดสินใจที่จะไม่เลือก พลโทประภาส จารุเสถียร
ดังนั้น ว่าที่จริงโดยประสบการณ์ในชีวิตแล้ว จอมพลถนอมมีประสบการณ์อย่างมากกับพรรคทหารที่ถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่พรรคเสรีมนังคศิลาในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนมาถึงพรรคสหภูมิและพรรคชาติสังคมในยุคจอมพลสฤษดิ์
จอมพลถนอมจึงเป็นนายทหารระดับสูงที่ได้เห็นความล้มเหลวของพรรคทหารอย่างแท้จริง
แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองมาถึง เขาก็ดูจะตัดสินใจเดินไปบนเส้นทางการเมืองเดิมของผู้นำทหารที่จะมีพรรคทหารเป็นฐานอำนาจในรัฐสภา
การขึ้นสู่อำนาจ
ในที่สุด ระบอบทหารของสฤษดิ์ก็มาถึงจุดสุดท้ายเมื่อจอมพลสฤษดิ์มีอาการป่วยอย่างหนักตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2506 และถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 ธันวาคม 2506 ซึ่งก็เปิดโอกาสให้พลเอกถนอมก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502
และในการนี้ เขาได้แต่งตั้งพลเอกประภาส เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
แต่สำหรับพลเอกถนอม นอกจากจะดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว เขายังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกพร้อมกันด้วย
และหลังจากการรับตำแหน่งนายกฯ เพียงไม่กี่วัน เขาก็ได้รับพระราชทานยศ “จอมพล” ทั้งสามเหล่าทัพ
แต่ต่อมาในช่วงกลางปี 2507 เพื่อลดความขัดแย้งภายในกองทัพ เขาได้ถ่ายโอนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้แก่พลเอกประภาส โดยยังคงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไว้เพียงตำแหน่งเดียว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้นำทหารในยุคนั้นตระหนักดีว่า กองทัพไม่สามารถควบคุมการเมืองไว้ได้ยาวนานโดยไม่เปิดให้มีการเลือกตั้ง เพราะเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ หลังจากเริ่มมีการร่างมาตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ในปี 2502
และในที่สุดรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ได้รับการประกาศใช้ในเดือนมิถุนายน 2511 (ใช้เวลาร่าง 9 ปีโดยประมาณ)
การประกาศใช้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ ทำให้พรรคการเมืองต้องรีบเร่งในการจัดตั้งพรรค เพราะหลังจากรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในปี 2501 แล้ว ได้มีการประกาศยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งก็เท่ากับว่าพรรคต่างๆ ได้ถูกยุบลงโดยปริยาย จึงต้องประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2511 เพื่อให้เกิดการทำกิจกรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งก็มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ถึง 15 พรรค
แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้สมัครในนามอิสระด้วย
จอมพลถนอมและผู้นำทหารในขณะนั้น มีชุดความคิดไม่ต่างจากเดิมที่ต้องชนะการเลือกตั้งและยืดระยะเวลาของการอยู่ในอำนาจออกไป
ซึ่งการคิดเช่นนี้จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเป็นของตนเองในนาม พรรคสหประชาไทย เพื่อต่อสู้แข่งขันในระบอบประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง พรรคทหารจึงถือกำเนิดขึ้นอีกครั้ง ไม่ต่างจากยุคจอมพล ป. หรือจอมพลสฤษดิ์
การเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 แต่พรรคสหประชาไทยก็ไม่ได้ชนะขาดจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เองตามลำพัง พรรคได้ ส.ส. ทั้งหมด 76 คนจากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 219 คน แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้สมัครอิสระก็มีจำนวนผู้ชนะถึง 71 คน มากกว่าพรรคอันดับ 2 คือพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ ส.ส. 57 คน อีกทั้งพรรคเล็ก 4 พรรคได้รวมกันจัดตั้งกลุ่มของตนขึ้น
สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้นำทหารต้องยอมประนีประนอมด้วยการเอาพรรคเล็กและผู้สมัครอิสระเข้ามารวมเป็นฐานเสียง ได้ ส.ส. รวม 115 เสียง
อันส่งผลให้จอมพลถนอมก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ระบอบเลือกตั้ง (ไม่ต่างกับการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2501) และเกิดสภาวะ “รัฐบาลผสม” ขึ้นโดยปริยาย
คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ในรัฐบาลจอมพลถนอมมาจากทหารไม่แตกต่างจากรัฐบาลทหาร แต่ที่สำคัญก็คือภายในพรรคสหประชาไทยนี้ กลุ่มผู้นำกลับแตกออกถึง 5 สายคือ กลุ่มจอมพลถนอม กลุ่มจอมพลประภาส กลุ่มพลเอกกฤษณ์ สีวะรา กลุ่มพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ กลุ่มพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์
อันส่งผลให้เอกภาพของกลุ่มทหารเป็นการ “คาน” กันของกลุ่มเหล่านี้ในกองทัพ ซึ่งต่อมาได้ส่งผลต่อทั้งนโยบายรัฐบาลและนโยบายของพรรคสหประชาไทยเองในด้านต่างๆ
เช่น ความขัดแย้งในการสรรหาบุคลากรที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค
และการแต่งตั้งตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ
ตลอดรวมถึงความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของกลุ่มเหล่านี้ เป็นต้น
จุดจบของพรรคทหารและรัฐบาลทหาร
สถานการณ์ในรัฐสภาสำหรับพรรคสหประชาไทยแล้วดูจะไม่แตกต่างจากพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. ที่ผู้นำรัฐบาลไม่สามารถควบคุม ส.ส. ได้ ดังจะเห็นได้ว่าเกิดปัญหาอย่างมากกับการพิจารณางบประมาณประจำปี 2513 และ 2514
ดังนั้น แม้รัฐบาลจะมีเสียงข้างมาก แต่เอกภาพภายในพรรคทหารกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะผู้นำทหารที่เป็นนายกฯ ก็ไม่สามารถควบคุมปัญหาในพรรคได้แต่อย่างใด จนเกิดปรากฏการณ์ถึงความวุ่นวายภายในพรรคหลายครั้ง
ประกอบกับบุคลิกของผู้นำรัฐบาลอย่างจอมพลถนอมเองก็ไม่ใช่ “คนแข็ง” ที่จะสามารถคุมพรรคได้เช่นกรณีของจอมพลสฤษดิ์
ไม่แปลกนักที่พรรคสหประชาไทยจึงมีแต่ความวุ่นวาย
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการบ่งบอกว่าการคุมทหารแตกต่างจากการคุมพรรคทหารอย่างมาก
และในสภาพเช่นนี้ก็ใช่ว่าผู้นำทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะควบคุมสถานการณ์ทั้งในพรรคและในสภาได้ดังใจเหมือนการควบคุมกองทัพ
สถานการณ์การเมืองไทยเดินมาถึงจุดแตกหักอีกครั้ง เมื่อผู้นำทหาร “ทนไม่ได้” กับปัญหาที่ควบคุมไม่ได้
บทเรียนนี้ชี้ให้เห็นว่า พรรคทหารไม่ใช่ทางเลือกที่จะเอื้อให้ระบอบทหารที่ผ่านการเลือกตั้งดำรงอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และในเวลา 20.00 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมก็ประกาศยึดอำนาจ… จอมพลถนอม หัวหน้าคณะรัฐประหาร โค่นรัฐบาลเลือกตั้งที่มีจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี และการ “รัฐประหารตัวเอง” ครั้งนี้ก็บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของพรรคทหารอีกครั้ง
ซึ่งก็คือการจบลงของพรรคสหประชาไทย จากพรรคเสรีมนังคศิลา สู่พรรคสหภูมิและพรรคชาติสังคม สู่พรรคสหประชาไทย
บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าพรรคทหารในยุค 3 จอมพล จากจอมพล ป. สู่จอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม ล้วนจบลงด้วยการรัฐประหารทั้งสิ้น
แต่แล้วในที่สุด รัฐบาลทหารจากรัฐประหาร 2514 ก็ดูจะเผชิญกับโจทย์ทางการเมืองชุดใหญ่ ความชอบธรรมของรัฐบาลทหารลดน้อยลง
พร้อมกันนี้รัฐบาลก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จใดๆ ในการบริหารราชการแผ่นดิน
หากมีเสียงวิจารณ์เรื่องการรวบอำนาจ การคอร์รัปชั่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบทอดอำนาจจากบทบาทของ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งในหมู่ผู้นำทหารขณะนั้น เพราะบทบาทของพันเอกณรงค์ที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในทางการเมืองและทางธุรกิจ ในอีกด้าน การขยายตัวของกระแสเสรีนิยม ที่ไม่ยอมรับรัฐบาลทหารมีมากขึ้น และขณะเดียวกันกระแสต่อต้านรัฐบาลทหารก็ขยายวงมากขึ้นทั้งในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน และชนชั้นกลาง อันนำไปสู่ข้อสรุปในทางการเมืองที่จะต้องยุติบทบาทของรัฐบาลทหารลงให้ได้
ดังนั้น ผลจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2516 ได้ส่งผลสะเทือนอย่างมากจนกลายเป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขนาดใหญ่
และนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นจุดจบของรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม และในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดจบของคณะทหารที่สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่รัฐประหาร 2490 ด้วย
พรรคทหารใหม่
หลังจากรัฐประหาร 2520 และนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญ 2521 นั้น พรรคทหารถูกแปลงให้กลายเป็นวุฒิสภา โดยวุฒิสมาชิกมีจำนวน 225 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน 301 คน (วุฒิสมาชิกมี 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ซึ่งทำให้วุฒิสมาชิกเป็นฐานอำนาจสำคัญของรัฐบาล
และขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้มีผู้สมัครอิสระไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง พร้อมกันนี้ก็ยังเปิดโอกาสให้นายกฯ ไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีในยุครัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงมีข้าราชการประจำถึง 19 คน บุคคลภายนอก 14 คน และผู้แทนราษฎรเพียง 9 คน (รวม 42 คน)
ไม่มีความชัดเจนว่าผู้นำทหารในยุครัฐธรรมนูญ 2521 สรุปบทเรียนความล้มเหลวของพรรคทหารในยุค 3 จอมพลหรือไม่
แต่เห็นได้ชัดว่ากลไกรัฐธรรมนูญถูกออกแบบให้การเมืองมีรูปแบบรัฐบาลผสม หรือเป็นสภาพที่พรรคการเมืองอ่อนแอและจำเป็นต้องพึ่งอำนาจของผู้นำทหาร โดยเฉพาะอำนาจที่มาจากวุฒิสภา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นพรรคทหารในรูปแบบใหม่ และขณะเดียวกันก็พึ่งพาการสนับสนุนของอำนาจจากกองทัพ
ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มทหารก็จะมาอยู่ในสภาในฐานะของวุฒิสมาชิกด้วย
พรรคทหารในรูปแบบของวุฒิสภากลายเป็นฐานการเมืองใหม่ แต่อำนาจอีกส่วนหนึ่งยังคงอยู่กับผู้นำทหาร โดยเฉพาะนายทหารระดับกลางที่เป็นผู้คุมกำลังอย่างแท้จริง
ดังนั้น เมื่อกลุ่มทหารระดับกลางต้องการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจากพลเอกเกรียงศักดิ์ เป็น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบาลจึงสิ้นสุดลง แต่ไม่ใช่การสิ้นสุดของพรรคทหารในแบบเดิม
ผู้นำทหารยุคหลังปี 2521 ไม่ต้องพึ่งพาพรรคทหาร แต่ใช้ขีดความสามารถในการ “บริหารการเมือง” และเอาพรรคการเมืองในสภามาเป็นฐาน
ดังนั้น แม้รัฐบาลพลเอกเปรมจะอยู่ได้อย่างยาวนานถึง 8 ปีเศษ (จากเดือนมีนาคม 2523 ถึงเมษายน 2531) แต่รัฐบาลก็ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งภายในกองทัพที่เกิดรัฐประหารถึง 2 ครั้ง (เมษายน 2524 และกันยายน 2528)
แต่รัฐบาลก็สามารถอยู่รอดมาได้ เพราะการสนับสนุนจากฐานอำนาจที่สำคัญในการเมืองไทย
ความฝัน
การเมืองของผู้นำทหารในแบบที่ไม่พึ่งพาพรรคทหารเช่นนี้ ด้านหนึ่งเป็นเพราะพรรคการเมืองอ่อนแอ และจำเป็นต้องอาศัยผู้นำทหารเป็น “คนกลาง” ทางการเมืองด้วยการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งมีเงื่อนไขที่สถาบันทหารมีอำนาจมากในการเมืองไทย
ซึ่งเท่ากับการส่งสัญญาณให้บรรดานักการเมืองจำต้องประนีประนอมกับผู้นำทหารภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบให้เอื้อประโยชน์โดยตรงให้เกิดการเข้ามาของ “คนนอก” ในการเป็นนายกฯ
ประกอบกับเงื่อนไขสำคัญก็คือปัญหาสงคราม การบีบคั้นของสถานการณ์สงครามทั้งภายในและภายนอกทำให้บทบาททหารมีมากขึ้น จนผู้นำพลเรือนไม่อาจเทียบเคียงได้
แม้ต่อมาคณะรัฐประหาร 2534 จะหันกลับมาใช้พรรคทหารในชื่อของ “พรรคสามัคคีธรรม” แต่ก็ประสบความล้มเหลวเช่นเดิม
ดังนั้น “ตัวแบบเปรม” จึงมีเงื่อนไขพิเศษอยู่มาก และต่างจากปัจจุบัน จนความพยายามที่จะ “เจาะเวลาหาอดีต” อาจจะเป็นเรื่องไม่ง่าย
ที่สำคัญก็คือ ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเปลี่ยนไปจากยุค 2521 อย่างชัดเจน
การเดินทางกลับสู่อดีตจึงอาจกลายเป็นเพียง “ความฝันวันวาน” และการวิ่งไล่ล่าความฝันของโลกในอดีตอาจจะไม่ใช่ความจริงในปัจจุบัน
จนความฝันเช่นนี้อาจจะนำไปสู่ความ “ไม่สมหวัง” ได้ไม่ยากนักในอนาคต!