ไฉ้ หมิงเลี่ยง ปรมาจารย์แห่งความเนิบช้า หนึ่งในศิลปินของมหกรรมศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ ภูเก็ต 2025

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ไฉ้ หมิงเลี่ยง

ปรมาจารย์แห่งความเนิบช้า

หนึ่งในศิลปินของมหกรรมศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ ภูเก็ต 2025

 

ในช่วงปลายปีนี้ มีข่าวดีสำหรับมิตรรักแฟนศิลปะชาวไทย ก็คือกำลังจะมีการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ ครั้งที่ 4 ในปี 2025 นี้ ที่จังหวัดภูเก็ต ในตอนนี้เราเลยขอแนะนำหนึ่งในศิลปะที่ร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะครั้งนี้ ที่น่าสนใจก็คือ อันที่จริงเขาคนนี้ไม่ได้เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปิน หากแต่เป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์มากกว่า เขาผู้นี้มีชื่อว่า

ไฉ้ หมิงเลี่ยง (Tsai Ming-liang) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวมาเลเซีย/ไต้หวัน ผลงานหลายเรื่องของเขาแสดงให้เราเห็นถึงชีวิตของชนชายขอบในสังคม โดยถ่ายทอดสภาพของชนชั้นล่างในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ ที่ผู้คนต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน ใช้ชีวิตอย่างอัตคัด ไร้ทางออก ในเมืองใหญ่อันโสโครกไปด้วยขยะและหมอกควัน หากแต่ผู้คนเหล่านั้น ก็ยังคงมีอารมณ์ความรัก ความใคร่ และความปรารถนาอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

ภาพยนตร์ของเขามักดำเนินไปด้วยอารมณ์เนิบช้า หดหู่ ตายซาก แต่ก็เต็มไปด้วยความแปลกประหลาด ชวนเคลิ้มฝัน และขำขื่นในบางครา

เมื่อชมผลงานของเขาแล้ว เราพบว่าผลงานภาพยนตร์ของ ไฉ้ หมิงเลี่ยง ถูกออกแบบเพื่อให้ดูในโรงอย่างแท้จริง ทั้งงานด้านภาพ ที่ถึงแม้กล้องจะแช่ภาพนิ่ง (โคตร) นาน บ่อยครั้ง ถึงบ่อยที่สุด แต่งานด้านภาพในหนังของเขาก็ลุ่มลึก เต็มไปด้วยมิติของพื้นที่ และเผยให้เห็นการไหลผ่านของเวลาอย่างน่าทึ่ง ยังไม่นับการใช้ประโยชน์จากแสงสว่างและความมืดอย่างประณีต

รวมถึงการถ่ายทอดบรรยากาศในฉากหลังของหนังออกมาได้อย่างเปี่ยมมนต์ขลัง

ไฉ้ หมิงเลี่ยง (2005-1), ภาพโดย Willaim Laxton}, ภาพจาก https://surl.li/aycybg

ไฉ้ หมิงเลี่ยง เป็นผู้กำกับฯ ที่เก่งกาจในการเลือกหาฉากในการถ่ายทำหนัง ฉากในหนังของเขาเต็มไปด้วยความสมจริงและเหนือจริงในคราวเดียวกัน รวมถึงถ่ายทอดเสียงของบรรยากาศรอบข้างในหนังออกมาอย่างซับซ้อนละเอียดอ่อน หลายครั้ง เสียงบรรยากาศที่ว่าก็เป็นตัวเล่าเรื่องโดยที่ตัวละครไม่ต้องพูดออกมาสักคำเดียว

และถึงแม้หนังจะเนิบช้า (ไปจนนิ่งงันในบางขณะ) แต่ก็เป็นความช้าที่ปล่อยพื้นที่ว่างให้เราได้หายใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยพบเห็นในหนังกระแสหลักหรือหนังบล็อกบัสเตอร์ ที่รวดเร็วไม่ปล่อยให้เราหยุดพักหายใจหายคอ และถึงแม้จะเคลิ้มไปกับบรรยากาศเอื่อยเฉื่อยในหนังจนวูบหลับไปบ้าง แต่เราก็ยังตื่นมารื่นรมย์กับหนังได้ต่อโดยไม่สะดุดแต่อย่างใด

เขาถ่ายทอดภาพของกิจกรรมบ้านๆ ธรรมดาสามัญของคน อย่างการทำอาหาร กินข้าว อาบน้ำ ซักผ้า นอนหลับ หรือแม้แต่การนั่งขี้ ได้อย่างเป็นธรรมชาติและงดงามอย่างยิ่ง

และถึงแม้ตัวละครในหนังของเขาแทบจะไม่มีบทสนทนา หรือพูดจาอะไรกันเลย แต่ตัวหนังก็วิจารณ์สภาพสังคม และความเป็นอยู่ของคนในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณภาพชีวิตอันต่ำเตี้ยเรี่ยดินและความเป็นอยู่อันแร้นแค้นย่ำแย่ของคนชายขอบของสังคมในเมืองใหญ่ อย่างเช่น กัวลาลัมเปอร์ ออกมาได้อย่างถึงเลือดเนื้อ ด้วยการใช้รายละเอียดของฉาก บรรยากาศ และนำเสนอกิจวัตรความเป็นอยู่ต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ดิบ สมจริง (หรือบางครั้งก็เหนือจริง) อย่างยิ่ง

ไฉ้ หมิงเลี่ยง (2020), ภาพโดย Claude Wang, ภาพจาก https://surl.li/aycybg

ไฉ้ หมิงเลี่ยง เกิดในปี 1957 ที่ประเทศมาเลเซีย เขาได้รับการฝึกฝนเป็นผู้กำกับละครและภาพยนตร์ในไต้หวัน ในช่วงที่ประเทศยังปกครองอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารและกฎอัยการศึก แต่หลังจากที่เขาไปอยู่ไม่นาน ไต้หวันก็เริ่มยกเลิกกฎอัยการศึก และเริ่มเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ก่อนหน้านั้น วงการหนังของไต้หวันอยู่ในยุคเฟื่องฟูและเต็มไปด้วยหนังตลาด มีหนังถูกทำออกมา 300 เรื่องต่อปี หนังไต้หวันเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศที่มีชาวจีนทั่วโลก หนังยุคนั้นเป็นหนังโรแมนติกและหนังกำลังภายในเป็นส่วนใหญ่ หากในช่วงที่ไต้หวันยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นช่วงเดียวกับที่วงการหนังของไต้หวันซบเซา ด้วยความที่มีหนังตลาดมากเกินไป จนทำให้นักแสดงไต้หวันหลายคนต้องระเห็จไปยังฮ่องกงเพื่อรับงานแสดง แต่ถึงแม้หนังไต้หวันจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในเอเชียไป แต่ก็ได้ตลาดใหม่อย่างยุโรปและญี่ปุ่นแทน

ในช่วงนี้เอง ที่เป็นยุคสำคัญของวงการภาพยนตร์ไต้หวัน เมื่อประเทศเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และเปิดกว้างด้านสังคมและการเมือง จากที่เคยทำหนังเพื่อการค้าแต่เพียงอย่างเดียว คนทำหนังเริ่มหันมาพูดถึงประเด็นอื่นๆ มากขึ้น มีการนำเข้าหนังต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปเข้าสู่ไต้หวันมากขึ้น

ซึ่งนับเป็นการเปิดหูเปิดตาแก่ผู้ชมและคนทำหนังในไต้หวัน ส่งผลให้เกิดผู้กำกับฯ คลื่นลูกใหม่หลายคนที่เสาะแสวงหาเส้นทางใหม่ๆ ในการทำหนัง อย่าง โหว เสี่ยวเซี่ยน และ เอ็ดเวิร์ด หยาง เป็นต้น

ไฉ้ หมิงเลี่ยง (2014), ภาพโดย Lin Meng Shan, ภาพจาก https://surl.li/aycybg

ไฉ้ หมิงเลี่ยง เป็นผู้กำกับฯ คลื่นลูกที่สอง (Second New Wave) ของวงการภาพยนตร์ไต้หวัน หลังจากที่ผู้กำกับฯ รุ่นพี่เบิกทางเอาไว้ ทำให้หนังไต้หวันยุคนั้นเริ่มได้รับความสนใจอย่างมากจากแวดวงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติต่างๆ นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ไฉ้ หมิงเลี่ยง ก้าวสู่การมีชื่อเสียงในระดับสากล และทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับฯ ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในกลุ่มผู้กำกับฯ คลื่นลูกที่สอง เขาชนะรางวัลสิงโตทองคำ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส จากภาพยนตร์เรื่อง Vive l’amour (1994) และชนะรางวัลหมีเงิน ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน จากภาพยนตร์เรื่อง The Wayward Cloud (2005), ในปี 2009 พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ยังสะสมภาพยนตร์เรื่อง Face ของเขาเป็นครั้งแรก ในคอลเล็กชั่น Le Louvre s’offre aux cin?astes ของทางพิพิธภัณฑ์

นอกจากจะมีบทบาทอย่างสูงในวงการภาพยนตร์แล้ว ไฉ้ หมิงเลี่ยง ยังมีส่วนร่วมในวงการศิลปะอย่างมาก เขาทำนิทรรศการศิลปะ โครงการศิลปะแสดงสด และจัดการบรรยายต่างๆ ทั่วโลก เขายังพัฒนาแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์อันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง “hand-sculpted cinema” หรือการทำภาพยนตร์ที่ไม่ต่างอะไรกับการสลักเสลาประติมากรรมด้วยมือ ซึ่งเป็นการถอดรื้อกระบวนการแบบอุตสาหกรรมจากการสร้างสรรค์ทางศิลปะ หรือ “the museum as cinema”

โดยเขาแนะนำแนวคิดและหนทางใหม่ๆ ในการชมภาพยนตร์เช่นเดียวกับการชมงานศิลปะ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างสมดุลให้กับตลาดภาพยนตร์ที่มีความเป็นพาณิชย์มากเกินไป

ไฉ้ หมิงเลี่ยง (2020), ภาพโดย Wang Yunlin, ภาพจาก https://surl.li/aycybg

ไฉ้ หมิงเลี่ยง เป็นนักสร้างภาพเคลื่อนไหวผู้เต็มไปด้วยความรู้สึกอ่อนไหว ละเอียดอ่อน สุขุมนิ่งลึก ผลงานของเขาทั้งภาพยนตร์และงานศิลปะภาพเคลื่อนไหว มักไม่มีเรื่องราวหรือบทสนทนา และประกอบด้วยการถ่ายทำอันเนิบช้าและยาวนาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงชีวิตในแบบที่มันเป็นอย่างซื่อตรง และมักแสดงออกถึงชีวิตของผู้คนที่อับจนหนทาง ว่างเปล่า เหงาหงอย เพื่อสำรวจสภาวะของความเป็นมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น

“ผมมักใช้ภาพที่เชื่องช้าในหนังเพื่อบอกเล่าเรื่องราว สำหรับผม ภาพยนตร์มีไว้ดู ไม่ใช่แค่ฟังอย่างเดียว ที่ผมใช้ภาพช้าๆ ก็เพื่อให้ผู้คนมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ผมไม่เชื่อในบทสนทนาในหนัง ผมเชื่อว่าการดูหนังไม่ใช่เพื่อความเข้าใจ แต่เป็นการมองเห็น ดังนั้น การดูคือสิ่งสำคัญที่สุด ผมอยากเปิดโอกาสให้คนดูตีความสิ่งที่เกิดชึ้นในหนัง ว่ามันคืออะไรกันแน่?”

เอกลักษณ์อันสำคัญอีกประการในผลงานของ ไฉ้ หมิงเลี่ยง ก็คือการใช้บริการนักแสดงขาประจำของเขาอย่าง หลี่ คังเซิง ที่ปรากฏตัวอยู่ในผลงานภาพยนตร์หรือแม้แต่ผลงานศิลปะของเขาแทบจะทุกเรื่อง

“ที่ผมเลือกใช้ หลี่ คังเซิง ก็เพราะเขาแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่นักแสดงที่กำลังทำการแสดงอยู่ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมมักเลือกเขามาเป็นนักแสดงในงานของผม เพื่อแสดงถึงความธรรมดาสามัญของคนธรรมดาทั่วไป หลี่ คังเซิง สามารถแสดงให้เห็นถึงความธรรมดาในวิถีชีวิตธรรมดาๆ ของคน ที่ไม่ใช่การแสดง สำหรับผม ภาพยนตร์สามารถเป็นสื่อที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตจริงของผู้คนได้ และ หลี่ คังเซิง สามารถสะท้อน ‘ความเป็นจริง’ ที่ว่านี้ออกมาได้ในผลงานของผม”

ดังเช่นในผลงานภาพยนตร์ทดลองในชุด Walker series ของเขา ที่จัดแสดงใน S.M.A.K. (The Municipal Museum of Contemporary Art) พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเทศบาล ในเมืองเกนต์ ประเทศเบลเยียม ในช่วงปลายปี 2024 ถึงต้นปี 2025 ที่ได้แรงบันดาลใจจากความประทับใจของ ไฉ้ หมิงเลี่ยง ที่มีต่อ เสวียนจั้ง หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ พระถังซัมจั๋ง พระภิกษุในยุคราชวงศ์ถังของจีน ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้วรรณกรรมจีนในยุคศตวรรษที่ 16 อย่างไซอิ๋ว (หรือ บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก) โดยภาพยนตร์สั้นแต่ละเรื่อง แสดงภาพของ หลี่ คังเซิง ที่โกนหัวและสวมใส่เครื่องแต่งกายของภิกษุสงฆ์ เดินเท้าเปล่าอย่างเชื่องช้า ท่ามกลางมหานครใหญ่ทั่วโลก

(หรือพื้นที่เฉพาะเจาะบางแห่ง อย่างเช่น บ้านเกิดของ ไฉ้ หมิงเลี่ยง เป็นต้น)

ไฉ้ หมิงเลี่ยง (2023), ภาพโดย Claude Wang, ภาพจาก https://surl.li/aycybg
ไฉ้ หมิงเลี่ยง (2023), ภาพโดย Claude Wang, ภาพจาก https://surl.li/aycybg

ไฉ้ หมิงเลี่ยง เปรียบการทำงานในลักษณะนี้ของเขาว่าไม่ต่างอะไรกับการได้สัมผัสกับอิสรภาพทางศิลปะในระดับสูงสุด เพราะภาพยนตร์ทดลองของเขาเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเล่าเรื่องหรือการบอกเล่าความหมายโดยตรง หากแต่เป็นเหมือนการวาดภาพมากกว่า

“ก่อนหน้าที่จะทำภาพยนตร์ ผมทำละครเวทีและทำงานศิลปะมาก่อน บางครั้งงานสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ผมเปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้ เมื่อต้นไม้เติบโต แตกกิ่งก้าน คุณก็สามารถจินตนาการต่อว่าจะเป็นต้นไม้แบบไหน เติบโตไปแบบใด บางครั้งอาจจะเติบโตไปเป็นภาพยนตร์ เป็นละครเวที หรือเป็นงานศิลปะก็ได้”

ไฉ้ หมิงเลี่ยง เป็นหนึ่งในศิลปินที่จะเดินทางมาร่วมแสดงผลงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ ภูเก็ต 2025 ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2568-เมษายน 2569 ที่จะถึงนี้ ส่วนผลงานของเขาจะเป็นแบบไหนอย่างไรนั้น เราก็คงต้องรอชมกันต่อไปด้วยใจระทึกพลัน •

ข้อมูล บทสัมภาษณ์ ไฉ้ หมิงเลี่ยง โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, เว็บไซต์ https://surl.li/evqpgf

ผลงานชุด Walker series ของ ไฉ้ หมิงเลี่ยง ภาพจาก https://surl.li/evqpgf

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์