ปฏิบัติการกลางสภา ‘อิ๊งค์-อ้วน’ อึ้ง!! สวนรื่นฯ ร้อน จับตา ‘บิ๊กอ๊อบ’ โดดเด่น และการรีเทิร์นของ ‘บิ๊กแป๊ะ’

รายงานพิเศษ

 

ปฏิบัติการกลางสภา

‘อิ๊งค์-อ้วน’ อึ้ง!!

สวนรื่นฯ ร้อน

จับตา ‘บิ๊กอ๊อบ’ โดดเด่น

และการรีเทิร์นของ ‘บิ๊กแป๊ะ’

 

ปฏิบัติการของ “กู๊ดดี้” ชยพล สท้อนดี ส.ส.พรรคประชาชน ที่อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ในสภา สร้างความสั่นสะเทือนในกองทัพ และทหารคอแดง ทั้งใน ทบ. และนอก ทบ.

ประการแรก เพราะเปิดชื่อ พล.อ. ธ. ว่าเป็นหัวโต๊ะประชุมศูนย์ปฏิบัติการร่วม (ศปก.ร่วม) ของ Cyber Team และเป็นรอง ผอ.ศปก.ร่วม ในการปฏืบัติการข่าวสาร ในการปกป้องสถาบัน

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นายชยพลไม่ระบุว่า พล.อ. ธ.มีตำแหน่งใด แต่ระบุแค่ว่า เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการไล่จับ ไล่ฟ้อง ไล่ปราบกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่ในยุค คสช. จนมาถึงยุครัฐบาลประยุทธ์ 2 และมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามม็อบราษฎร

การที่นายชยพลอยู่ในแวดวงทหาร เพราะนอกจากเป็นลูกทหาร ลูกพลเอก และจบโรงเรียนเตรียมทหาร มีแนวร่วมสายข่าวในกองทัพไม่น้อย ย่อมต้องรู้ว่า พล.อ. ธ. แม้จะพ้นหน้าที่จาก ทบ. แล้ว แต่ระบุว่า “ที่แปลกใจเพราะขนาดนายทหารคนนี้เกษียณราชการไปจากกองทัพตั้งแต่ปี 2564 แล้ว แต่ท่านก็ยังดำรงตำแหน่งเป็นรอง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการร่วม และคอยบัญชาการทีมไซเบอร์นี้โดยตรง มาจนถึงปัจจุบัน” นั้น

ได้ทำให้เกิดความเคลือบแคลงว่า กองทัพปล่อยให้นายพลสาย “บิ๊กตู่” ยุค 3 ป.-คสช. ที่เกษียณแล้ว มามีบทบาทได้อย่างไร

โดยหน้าที่ของ พล.อ. ธ. แล้วคือการปกป้องสถาบันในทุกทิศทาง ทุกมิติ และเป็นที่รู้กันในกองทัพ โดยเฉพาะในระดับ ผบ.เหล่าทัพ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ไปจนถึงนายทหารคอแดง ว่า พล.อ. ธ. เป็นอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับมอบหมายจากนายทหารคอแดง คีย์แมนคนสำคัญนอก ทบ. ในการประสานการทำงานระหว่างเหล่าทัพ กับหน่วยทหารสำคัญ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

อีกทั้ง พล.อ. ธ. ก็เปิดเผยตัวในการนั่งหัวโต๊ะ มาประชุมกับกองทัพ และร่วมกิจกรรมต่างๆ มีภาพออกสื่อของหน่วยเสมอๆ ด้วยความที่เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 1 และเป็น ตท.22 ที่ยังรู้จักสนิทสนมกับ ผบ.เหล่าทัพ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพ จึงง่ายต่อการประสานงาน

แต่การพุ่งเป้าไปที่ตัว พล.อ. ธ. ด้วยการเปิดโครงสร้าง ศปก.ร่วม ต่อสาธารณะกลางสภา กำลังถูกตรวจสอบว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ โดยเอกสารของ ทบ. ทร และ กอ.รมน. ที่ถูกนำมาใช้ในสภานั้นบางส่วนเป็นโครงสร้างเก่า ที่มีการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลไปแล้วก็มี

และเป็นที่รู้กันใน ทบ.ก่อนหน้านี้ ในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายปลายปี 2567 การแต่งตั้ง ผบ.ทบ. และแม่ทัพภาคที่ 1 ก็เคยมีกระแสข่าวลือถึงบทบาทของ พล.อ. ธ. มาแล้ว แต่นายทหารใกล้ชิดชี้แจงแทนว่า เป็นความเข้าใจผิด ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ แต่มีการเอามาผสมเชื่อมโยงกันในการอภิปรายเท่านั้น

จนมีกระแสข่าวลือว่า การพุ่งเป้าไปที่ พล.อ. ธ. หวังผลให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อตัว พล.อ. ธ. หรือไม่ แม้ว่าโดยหน้าที่จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง

แต่การอภิปรายในสภาครั้งนี้ พยายามจะเชื่อมโยง และทำให้เกิดแรงกระเพื่อม จน ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะบิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. และรอง ผอ.รมน. สั่งตรวจสอบทันที

และมีรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ต่อสายถาม ผบ.เหล่าทัพ ให้ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้

ลําพังเรื่องปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO Information Operations ของทหาร ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทำต่อเนื่อง ไม่ว่าจะยุคไหน รัฐบาลไหน

แต่ที่เป็นประเด็นคือ ทีม IO บางส่วนยังคงยึดติดกับการปฏิบัติในยุคการรัฐประหาร ที่ยังมองพรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ชินวัตร เป็นบุคคลที่ต้องจับตามอง และมองเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกองทัพ

โดยไม่ได้คำนึงว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้ว และมี “ดีล” ระหว่างนายทักษิณ กับขั้วอนุรักษนิยม ที่ต้องจับมือกันเพื่อสู้กับพรรคส้ม และขบวนการล้มล้างสถาบัน

โดยให้นายทักษิณเป็นแม่ทัพใหญ่ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว เป็นแม่ทัพหญิง ในการเป็นนายกฯ ก่อนเวลา หลังนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องหลุดเก้าอี้นายกฯ อย่างผิดคาด

อีกทั้ง นายชยพล อ้างบางเพจที่เป็นเพจ IO นั้น อาจไม่เกี่ยวกับกองทัพ เพราะอาจเป็นเพจเดิมยุค คสช. ที่อาจมีทหารบางคน หรือแนวร่วมทหารที่เคยร่วมในทีม IO ทำต่อเองส่วนตัว และต่อต้านระบอบทักษิณ จึงมีการวิจารณ์นายกฯ แพทองธาร

มีรายงานว่า ผังโครงสร้างที่นายชยพลนำมาเปิดเผยในสภานั้น เป็นของเก่า เพราะตำแหน่งของ ผบ.หน่วยที่ระบุ ได้มีการปรับเปลี่ยนไปหลายคนแล้ว

ซึ่งเอกสารนี้อาจเป็นผลพวงของศึกชิงเก้าอี้ในกองทัพ

ด้าน กอ.รมน. ที่มีกองบัญชาการอยู่ที่สวนรื่นฤดี และ ผบ.ทบ. เป็นรอง ผอ.รมน. ดูแลแทนนายกรัฐมนตรีร้อนระอุเช่นกัน เมื่อนายชยพลอ้างเอกสาร กอ.รมน. ที่ประมาณการภัยคุกคามด้านความมั่นคง โดยระบุถึงกลุ่มชื่อบุคคลที่มีชื่อนายทักษิณ ชินวัตร, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รวมอยู่ด้วย

ประเด็นนี้ส่งผลให้นายภูมิธรรมเคลือบแคลงสงสัย โดยระบุว่า ยอมรับว่าเพิ่งทราบข้อมูล ที่นายชยพลอภิปราย และสั่งให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยยังไม่เชื่อทั้งหมด เพราะสับสนว่าเป็นเรื่องเก่า และเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือไม่

ขณะที่ กอ.รมน.ระบุว่า เป็นเรื่องเก่า แต่ก็กำลังประสานกับสภา ในการขอตรวจสอบเอกสารที่นายชยพลใช้ในการอภิปรายนั้น เป็นเอกสารจริงหรือไม่ และหลุดมาจากหน่วยไหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝ่ายทหาร และ กอ.รมน. จะไม่กล้าขยับอะไรมากในเรื่องนี้

แม้ว่าปฏิบัติการ IO เป็นหน้าที่ของทหาร ในการทำให้เกิดความมั่นคง ในทิศทางที่กองทัพกำหนด แม้แต่กองทัพสหรัฐก็ยังทำ

แต่สิ่งที่นายชยพลอภิปรายคือ กองทัพทำ IO ได้ถ้าทำเพื่อประชาสัมพันธ์ มีอินฟลูเอนเซอร์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร แต่ไม่ควรทำ IO ในด้านการเมือง

“ที่สุดท้ายก็ไม่มีใครรอด เพราะเขาต้องการการผูกขาดความจงรักภักดีไว้กับกองทัพไว้ฝ่ายเดียว…ยังมีนายพลบางกลุ่มหาผลประโยชน์จากกองทัพ ไปยุ่งเกี่ยวการเมือง และนายพลอีกกลุ่มก็มักแอบอ้างสถาบัน หากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการตามที่สัญญาไว้กับประชาชน ละทิ้งการปฏิรูปกองทัพ ยอมปล่อยให้ทหารบางกลุ่มใช้กลไกของรัฐเป็นเครื่องมือคุกคาม ปลุกปั่น สร้างความแตกแยก” นายชยพลระบุ

พร้อมตอกย้ำว่า กองทัพอยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลพลเรือน กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ กองทัพซ้อนกองทัพ จนที่สุด อาจมีการสร้างสถานการณ์จนสุกงอม พวกเขาก็พร้อมที่จะก่อรัฐประหารอีกครั้ง

อาจกล่าวได้ว่า ปฏิบัติการกลางสภาของ ส.ส.พรรคประชาชน เป็นการทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ไว้ใจทหาร และหวังให้สะเทือนดีล

โดยในการพบ ผบ.เหล่าทัพ ในการประชุมสภากลาโหม 28 มีนาคม นายภูมิธรรมจะพูดคุยนอกรอบกับ ผบ.เหล่าทัพ และมีรายงานว่า ได้ส่งสัญญาณให้นายทหารที่รู้จัก ช่วยตรวจสอบอีกทางหนึ่ง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยิ่งจำเป็นต้องกลั่นกรองทหารที่จะมาช่วยงาน และงานของกองทัพละเอียดขึ้น

โดยจะเห็นได้ว่า นายภูมิธรรมเองก็ไม่ค่อยใช้ทหาร แต่ใช้ทีมงานพลเรือนของตนเอง ที่มาจากกระทรวงพาณิชย์ มากกว่า

จะเห็นได้ว่า แม้จะมีตั้งทีมฝ่าย เสธ.หน้าห้องเพิ่มเติม ในโผโยกย้ายมีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ใช่ว่าได้มาทำงานใกล้ชิดทุกคน

 

ขณะที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ก็ดูจะไว้ใจให้บิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผช.รมต.ประจำ รมว.กลาโหม ให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้คนใหม่ แทนนายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการ สมช.

และส่งผลให้นายภูมิธรรมสั่ง สมช. ปรับทบทวนยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ใหม่ ควบคู่กันไป และรวมถึงแนวคิดในการใช้สามประสานแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ทั้งไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่ง พล.อ.นิพัทธ์มีประสบการณ์มาก่อนในการแก้ไขปัญหาอาเจะห์

ขณะที่นายทักษิณเองก็มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียนก็จะเดินหน้าในแนวทางนี้

ที่น่าจับตาคือ การที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง “บิ๊กอ๊อบ” พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (กก.ปชด.)

และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ปชด. นั้นก็มี พล.อ.นิพัทธ์อยู่เบื้องหลัง ในการนำโครงสร้างเดิมของ ปชด.มาปรับใหม่

เป็นการสะท้อนความไว้วางใจที่ทั้งนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม หรือแม้แต่นายทักษิณมีต่อ พล.อ.ทรงวิทย์

เพราะในคำสั่งนั้นมีทุกกระทรวงทบวงกรมและส่วนราชการมาอยู่ภายใต้ ศอ.ปชด. ที่เป็นการทำให้ พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ดูมีเพาเวอร์

โดยเฉพาะการสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตากสั่งปิดท่าข้ามขนส่งสินค้าที่ชายแดนแม่สอด ข้ามไปยังชเวโก๊กโก่ หลังตรวจพบว่าปล่อยให้รถบรรทุกข้ามไปส่งสินค้าและขนยาเสพติดกลับมาฝั่งไทย รวมทั้งสั่งเพิ่มมาตรการในการคุมเข้มท่าข้ามต่างๆ ตลอดแนวชายแดนด้วย

ไม่แค่นั้น พล.อ.ทรงวิทย์ ยังถือว่าคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ภายใต้หมวก ปชด. โดยออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ ตั้ง 3 ฉก. คือ ฉก.331 ฉก.332 และ ฉก.333 โดยมี ผบ.ทบ.-ผบ.ทร.-ผบ.ทอ. เป็น ผอ.ฉก. ด้วยตนเอง

จากเดิมที่ตามโครงสร้างในคำสั่งมีแค่ ผบ.ทบ. และ ผบ.ตร. เป็นรอง กก. ปชด.เท่านั้น

แต่ พล.อ.ทรงวิทย์ได้มีการพูดคุยทั้งกับ พล.อ.พนา ผบ.ทบ. รุ่นน้อง ตท.26 บิ๊กแมว พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร. รุ่นพี่ ตท.23 และบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. เพื่อนเตรียมทหาร 24 ให้เข้ามาเป็น ผอ.ฉก. เหล่านี้ด้วยตนเอง

และตั้ง ฉก.88 มีจเรตำรวจ คุมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน

ภายใต้หมวกของ ปชด.นี้ พล.อ.ทรงวิทย์ ในฐานะ ผอ.ศอ.ปชด. กุมอำนาจเบ็ดเสร็จทุกเหล่าทัพ สะท้อนถึงเพาเวอร์ เพราะในยุคนี้บทบาทโดดเด่นในฐานะนายทหารรุ่นใหม่และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทั้งอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน หรือแม้แต่กับ น.ส.แพทองธาร ตั้งแต่เรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรสำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) รุ่น 1

และถือเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพที่นายภูมิธรรมพูดคุยสอบถามในเรื่องต่างๆ เสมือนเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวอยู่เสมอด้วยนั่นเอง

ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะมีการทาบทาม พล.อ.ทรงวิทย์ ให้ร่วมเป็นทีมงานในการแก้ไขปัญหาในอาเซียน และอาจเป็นผู้ช่วยในเรื่องข้อมูลด้านกองทัพและความมั่นคง ให้กับนายทักษิณในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียนด้วย

จนมีการจับตามองถึงอนาคตของ พล.อ.ทรงวิทย์หลังเกษียณราชการใน 30 กันยายน 2568 นี้ แม้จะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเนื่องจากเป็นเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งจนกว่าจะพ้น 2 ปีคือพฤษภาคม 2569 ก่อน

แต่อาจจะมีตำแหน่งอื่น ที่ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมืองก็เป็นได้

ท่ามกลางสถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยต้องการสร้างแนวร่วมที่เป็นทหารรุ่นใหม่ และเป็นทหารอาชีพมาสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น ในยามที่ยังไม่มั่นใจในทิศทางของกองทัพ ที่แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของขั้วอนุรักษนิยม ในยามที่ยังมีผสมข้ามขั้วเช่นนี้อยู่ก็ตาม

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าการที่นายกรัฐมนตรีเลือกไปประชุมรับทราบรายงานของคณะกรรมการ ปชด.ที่กองทัพบก โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมดมากันพร้อมหน้า ขาดแค่ พล.ร.อ.จิรพล ผบ.ทร. ที่กำลังฝึกหลักสูตรนายทหารราชองครักษ์ (นรอ.) อยู่ ถือเป็นอีกความพยายามหนึ่งในการที่จะกระเถิบเข้าใกล้กองทัพมากขึ้น และถือเป็นการเยือนกองทัพบกครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นผู้เตรียมการประชุมโดยประสานกับ พล.อ.พนา ผบ.ทบ.

จึงปรากฏภาพของนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของตระกูลชินวัตรยืนแถวหน้า ท่ามกลางผู้บัญชาการเหล่าทัพและขุนทหาร

โดยที่ พล.อ.พนาเองจากที่เคยนิ่งเกร็งเวลาอยู่กับนายกรัฐมนตรีและฝ่ายการเมือง แต่เนื่องจากว่าได้พบและประชุมร่วมกันพร้อมลงพื้นที่หลายครั้ง รวมถึงไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล จึงทำให้รีแลกซ์มากขึ้น และมีรอยยิ้มในการพูดคุยนอกรอบ

ตอนนั้น น.ส.แพทองธารกำลังใช้เวลาในฐานะนายกรัฐมนตรี สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำทหารและบรรดาดาวรุ่งในกองทัพและนายทหารคนรุ่นใหม่ เพื่อปูทางสู่ความสัมพันธ์ในอนาคต เพราะถึงอย่างไร ดีลนี้ก็ยังคงต้องเดินต่อไป ตราบใดที่ยังมีพรรคส้ม

และเมื่อนั้น ทหารก็ยังคงมีหน้าที่ในการปกป้องสถาบัน

แม้แต่การต้องปฏิบัติการด้านข่าวสารเพื่อความมั่นคงต่อไปก็ตาม