ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มีนาคม - 3 เมษายน 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ : ยังไม่ つづく (จบ) สู้กันต่อนะ…เท้ง-ป้อม-อิ๊งค์
หลายคนเคยดูการ์ตูนญี่ปุ่นหรือหนังญี่ปุ่นคงจะคุ้นกับคำภาษาญี่ปุ่น つづく ที่มักจะขึ้นตอนการ์ตูนหรือหนังจบตอน
ความหมายก็คือ “ดำเนินต่อ” หรือ “ต่อไป” ถ้าจะเปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษก็จะคล้ายกับคำว่า “To Be Continued” เพื่อบอกให้ผู้ชมรู้ว่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์นั้นยังไม่จบ ยังมีอะไรให้ติดตามอีก
ตรงกับเรื่องราวของการเมืองไทยขณะนี้ ที่ยังมีเรื่องราวให้ติดตามต่อ แม้จะจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่เป็นการปะทะกันอย่างเป็นครั้งแรกของรัฐบาลเพื่อไทย กับฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาชนแล้วก็ตาม
ที่จริงก็ไม่ผิดคาดอะไร กับการที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้นั่งเก้าอี้ต่อ เพราะจริงๆ ก็รู้กันว่า พรรคประชาชนลึกๆ ไม่ได้คาดหวังแต่แรกว่าจะโค่น น.ส.แพทองธารได้ในรอบนี้
ยุทธศาสตร์จริงของพรรคส้มมาเปิดเอาจริงๆ ใกล้ๆ วันอภิปราย พวกเขาเพียงหวังเปิดแผลพรรคเพื่อไทย
และนั่นคือสิ่งที่น่าสนใจว่ากองทัพส้มทำสำเร็จหรือไม่ และผลกระทบหลังศึกอภิปราย รัฐบาลเพื่อไทยที่จะบริหารงานจากนี้ต่อไปอย่างไร
ต้องยอมรับว่าการปะทะกันครั้งแรกโดยตรงของขั้วสีแดงและขั้วสีส้มรอบนี้โดยรวมดุเดือดในเนื้อหา และบรรยากาศการอภิปราย
ในเชิงเนื้อหา การตั้งคำถามของผู้อภิปรายพรรคประชาชนตั้งแต่กรณี ตั๋ว PN ภาษีการรับให้ที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นผู้อภิปราย ทิ้งคำถามสำคัญไว้ในสังคม ว่านายกฯ วางแผนจะจ่ายภาษีเมื่อไหร่กันแน่ หรือจะรอไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนด
แม้เรื่องนี้ น.ส.แพทองธาร จะไม่มีความผิดทางกฎหมาย แต่การตั้งคำถามของนายวิโรจน์ ก็ทำให้ทั้งสังคมต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่า ผู้มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงทำแบบนี้จะเป็นอย่างไร และถ้าทุกคนในสังคมใช้วิธีแบบที่นายกฯ ทำจะเกิดอะไรขึ้น และเราจะเอายังไงกับภาษีมรดก
กรณีการรักษาตัวชั้น 14 ของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ทั้งที่สิ่งที่เกิดขึ้น เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกตั้งคำถามเรื่องสองมาตรฐานและหลักนิติธรรม สรุปแล้วบ้านเมืองเราจะยึดหลักอะไร?
เรื่องคอลเซ็นเตอร์ ฝ่ายค้านยกประเด็นกฎหมายแบ่งความรับผิดชอบกับสถาบันการเงินที่เดินหน้าอย่างล่าช้า เรื่องค่าไฟ ปลาหมอคางดำ และการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ฝ่ายค้านก็ตั้งคำถามเรื่องหลักคิดในการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
เรื่องปัญหาการเมืองที่ไม่คืบหน้าอย่างการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กฎหมายประชามติ การแก้ปัญหานักโทษคดีการเมือง
เรื่องการปฏิรูปกองทัพที่ฝ่ายค้านจุดประเด็นว่านอกจากไม่คืบหน้าแล้ว ยังถอยหลัง ล่าสุด นายกฯ และ ครม.บางคน ก็ไม่รอด ถูกกำหนดเป็นหนึ่งในเป้าหมายปฏิบัติการจิตวิทยา
นอกจากจุดประเด็นใหญ่ ขยายแผลประเด็นเดิม ดูเหมือนรอบนี้พรรคประชาชนแจ้งเกิด ส.ส.ใหม่ได้หลายคน ขึ้นแท่นดาวสภา ราวกับตั้งใจสร้างแกนนำรุ่นใหม่?
ผิดกับฝั่งเพื่อไทย
รู้กันอยู่ว่าเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถูกออกแบบมาให้เป็นเกมทำคะแนนของฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยทำได้อย่างเดียวคือการชี้แจงข้อกล่าวหา
แน่นอนในเชิงการตอบสนองทางอารมณ์มันเป็นรอง ยิ่งไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้อย่างตรงเป้า ตรงประเด็น ชัดเจนเพียงพอ ข้อกล่าวหาจะยังคงเป็นเชื้อไฟลามต่อไม่หยุด
น.ส.แพทองธาร กับบทบาทในสภาครั้งแรกถือว่าลีลาสอบผ่าน ลุกขึ้นตอบโต้ฝ่ายค้านแบบไม่มีหลบ ประเด็นที่ชี้แจงสะท้อนว่าได้รับการเรียบเรียงมาอย่างดี แต่ในเชิงเนื้อหาสาระ บางครั้งก็พลาดเป้า เปิดแผลให้ตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นกรณีการกล่าวหานายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคประชาชน ว่าเคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มเสื้อเหลืองไล่ระบอบทักษิณ แม้ได้รับการชี้แจงความเข้าใจผิดทันที น.ส.แพทองธารก็ไม่ได้ขออภัย แต่เหน็บกลับในทำนอง จะได้เข้าใจความรู้สึกคนเข้าใจผิด
กลายเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” อย่างรวดเร็ว
หรือจะเป็นกรณีการโต้กลับ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคประชาชน ว่า “แม้ดิฉันอายุน้อยกว่าท่าน แต่ดิฉันมั่นใจว่า ดิฉันเสียภาษีให้รัฐมากกว่าท่านแน่นอน” หลังถูกอภิปรายเรื่องนิติกรรมอำพรางหลบเลี่ยงภาษีรับให้
หรือกรณีการตอบโต้ นางณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านว่า “ไม่ใช่แค่ตนเองที่ถูกกล่าวหาว่าครอบงำโดยคุณพ่อ (นายทักษิณ ชินวัตร) แต่ท่านก็ถูกกล่าวหาว่าครอบงำโดยคนที่ไม่ใช่พ่อ”
ก็กลายเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ในโซเชียลเช่นกัน
ซ้ำร้ายเพจอย่างเป็นทางการของพรรคเพื่อไทย นำคำพูดของ น.ส.แพทองธาร ไปทำเป็นกราฟิกภาพคำคมแชร์ต่อในโซเชียลมีเดียพรรค ทั้งที่ความรู้สึกต่อถ้อยคำเหล่านั้นอาจไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของนายกฯ
ขณะที่ในบรรยากาศการอภิปราย ส.ส.เพื่อไทย ก็พ่ายเกมสื่อสารต่อพรรคประชาชน โดยเฉพาะการถูกเรียกว่า “กี้กี้” จากนายวิโรจน์ ลักษขณาอดิศร ใช้เรื่องกลุ่มผู้ประท้วงขัดขวางการอภิปรายของฝ่ายค้าน จนถูกแชร์กระหึ่มในโลกโซเชียล
มี ส.ส.เพื่อไทย แจ้งเกิดจากศึกรอบนี้ แต่ก็ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ในทางไม่ค่อยดี
ภาพกลายเป็นพรรคเพื่อไทยเต็มไปด้วย “องครักษ์เบบี้บูมเมอร์” ลุกขึ้นขัดขวางการอภิปรายของฝ่ายค้านตลอดเวลา ที่ไม่เข้าใจแม้แต่ความหมายของคำว่า “กี้กี้” ขณะที่คนรุ่นใหม่หัวเราะกันลั่น
ขณะที่ฝ่ายค้านที่น่าจับตา อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รอบนี้รับบทเป็นฝ่ายแค้น สร้างเซอร์ไพรส์ อภิปรายนานกว่าที่คิด ไล่สวดรัฐบาลเพื่อไทย กรณี MOU ไทย-กัมพูชา และกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
ก็ยังไม่มีอะไรหวือหวามาก รอบนี้เพียงแสดงสัญลักษณ์ทางใจ ให้ ส.ส.ที่ยังอยู่ไม่ย้ายไปไหนนั่นเอง
ถามว่าศึกอภิปรายรอบนี้ ฝ่ายค้านทำสำเร็จหรือไม่
ถ้าใช้ตัววัดคือเสียงโหวตในสภา คำตอบก็คือไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ ฝ่ายค้านพ่ายแพ้เกมโหวต แต่ถ้าใช้ตัววัดคือความสนใจของประชาชนเป็นเกณฑ์ ต้องยอมรับว่าฝ่ายค้านสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่น้อย
ดูจากผลโพลรายการวิเคราะห์ข่าวดังหลายช่อง เช่น เพจของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่ทำโพลถามคนให้คะแนนฝ่ายใดมากกว่า มีผู้ร่วมตอบกว่าครึ่งแสน ผลคะแนนตกเป็นของฝ่ายค้าน 87% ฝ่ายรัฐบาล 13%
แน่นอนว่าผลโพลจากสื่อ คงไม่สามารถอ้างอิงได้ว่าสะท้อนความเห็นคนส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสะท้อนความคิดเห็นของคนจำนวนไม่น้อย
ในมิติการเมือง กองทัพส้มทำสำเร็จในการเปิดแผลรัฐบาลเพื่อไทย โดยเฉพาะการผลักวาระทางการเมืองให้เห็นว่ารัฐบาลเพื่อไทยคือตัวแทนที่แนบแน่นของ “พลังทางการเมืองเก่า” (แม้จริงๆ เพื่อไทยอาจไม่ต้องการจะเป็นแบบนั้นก็ได้)
กองทัพส้มทำสำเร็จในการพิสูจน์ว่าการต่อสู้ทางการเมืองที่กินเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ ผู้กุมอำนาจในปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร โครงสร้างปัญหาหลักยังเป็นเช่นเดิม
การเมืองจากนี้จึงจะยิ่งเข้มข้นขึ้น
เป้าหมายฝ่ายค้าน ภายใต้การนำของ เท้ง-ณัฐพงษ์ หลังจากนี้ถือหางเสือมุ่งสู่การเลือกตั้งใหญ่ ประคับประคองกระแสความไม่พอใจผู้มีอำนาจ โรยเกลือใส่แผลรัฐบาลเพื่อไทยต่อ พร้อมๆ ไปกับเป้าหมายให้ยุบสภา
ด้าน ลุงป้อม-ประวิตร ทิศทางจากนี้คือการนำพลังประชารัฐ ประคองจำนวน ส.ส.ที่เหลืออยู่วิ่งสู้ฟัด สางแค้นพรรคเพื่อไทย โดยไม่โดนดูด ส.ส.เพิ่ม
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทย เส้นทางหลังจากนี้ไม่ง่าย ในการนำพรรคเพื่อไทยไปให้ถึงการเลือกตั้งปี 2570 โดยไม่ยุบสภา
ที่ไม่ง่ายเพราะ 1. ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจรุมเร้าอย่างหนักทั้งระดับมหภาคและจุลภาค การใช้จ่ายงบประมาณติดขัด ไม่เพียงพอ หลายนโยบายเรือธงยังไม่สำเร็จ ที่ทำแล้วก็ยังไม่ก่อให้เกิดผลตามที่คาด
2. ปัญหาการเมืองหนักหนาสาหัส การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กฎหมายประชามติ ไม่คืบหน้า ไม่ต้องพูดถึงการล้างมรดก คสช.อื่นๆ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรมฯ ไม่ต้องพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ
3. ถูกนิติสงครามเล่นงาน อย่าลืมสิ่งที่เกิดขึ้นกับนายเศรษฐา ทวีสิน (ล่าสุด สัปดาห์นี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก็ขึ้นเขียงอีกราย)
4. ปัญหาศรัทธาทางการเมือง ผลจากการที่ยังไม่สามารถกอบกู้ความนิยมทางการเมืองกลับคืนมาได้ ยิ่งถูกมองเป็นตัวแทนพลังเก่ามากขึ้น ส่งผลต่อการนำนโยบายต่างๆ ไปปฏิบัติก็เสี่ยงไม่ได้รับการยอมรับ/ร่วมมือ กระทั่งถูกวิจารณ์
นั่นคือตัวอย่างอุปสรรคที่ท้าทายรัฐบาล
จากนี้ทุกฝ่ายคงกัดฟัน สู้กันต่อไปในทางการเมือง เป้าหมายคือเลือกตั้งใหญ่ปี 2570
บ้างก็เก็บแต้ม… บ้างก็กอบกู้… บ้างก็แก้แค้น…
เหมือนกับทาเคชิในหนังไอ้มดแดงที่ต้องสู้กับเหล่าร้ายและสมุนกี้กี้ต่อไป
เช่นเดียวกับเท้ง-ป้อม-อิ๊งค์ ที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ แค่จบศึกเฉยๆ แต่สงครามยังไม่จบ ???
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022