‘นักการเมือง 3 แบบ’ ในสภา

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ผ่านพ้นไปแล้วเรียบร้อย

เรื่องผลโหวต ณ ขั้นตอนสุดท้าย ไม่มีประเด็นน่าเซอร์ไพรส์หรือผิดคาดนัก ทว่า เรื่องราวระหว่างทางกลับถูกประเมินค่าอย่างแตกต่างหลากหลายกันไป

อย่างไรก็ดี พื้นที่คอลัมน์นี้อยากจะขออนุญาตประเมินการอภิปรายไม่ไว้วางใจหนที่ผ่านในอีกแบบหนึ่ง อีกแง่มุมหนึ่ง

กล่าวคือจะไม่ให้คะแนนแก่การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล กระทั่งประธาน-รองประธานสภา

ไม่ขอฟันธงว่าใคร-ฝ่ายไหน ทำหน้าที่ได้ดีกว่า หรือทำหน้าที่ได้แย่กว่า

แต่พยายามจะพินิจพิเคราะห์ว่า ศึกซักฟอกรอบนี้บ่งชี้ว่าบรรดา “นักการเมือง” ทั้งหลายในสภา ตีความภารกิจหรือกำหนดหน้าที่-พันธกิจทางการเมืองของตนเองไว้อย่างไรบ้าง

 

“นักการเมือง” ประเภทแรก ดูจะหวังและตั้งใจเข้ามา “ทำงานการเมือง” แบบจริงจัง

“การทำงานการเมืองแบบจริงจัง” มิได้หมายความว่า นักการเมืองกลุ่มนี้อยากได้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อยากได้ตำแหน่งรัฐมนตรี อยากเป็นใหญ่เป็นโตในฐานะผู้เข้าถึงหรือครอบครองอำนาจรัฐ

แต่หมายถึง “นักการเมือง” ที่ปรารถนาจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ปรารถนาจะผลักดันนโยบายใหญ่ๆ ปรารถนาจะสะท้อนให้คนอื่นๆ ในสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาสำคัญบางเรื่อง ผ่านการใช้ “สิทธิอำนาจทางการเมือง” ของตนอย่างเต็มศักยภาพ

“คนการเมือง” บางคนลงสมัครรับเลือกตั้งและเดินเข้ามาทำงานในสภา ด้วยพันธกิจและความเชื่อเช่นนี้ อย่างน้อยก็ในห้วงเวลาหนึ่ง ในช่วงวัยหนึ่ง

สังคมการเมืองไทยไม่เคยสิ้นไร้ “นักการเมือง” ประเภทนี้ แม้กระทั่งในยุคสมัยปัจจุบัน

 

“นักการเมือง” ประเภทที่สอง นั้นดูจะมุ่งมั่นรักษาผลประโยชน์และประคับประคองสถานภาพดั้งเดิม (อันได้เปรียบเหนือคนส่วนใหญ่) ของตนเองและเครือข่ายเอาไว้เรื่อยๆ

บางคนสานต่อพันธกิจนี้ ด้วยกระบวนท่าถีบถอย ถีบถอย ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ หรือไม่ก็ปลีกตัวเงียบหายไปแบบเงียบๆ เฉยๆ

บางคนพยายามยื้อยุดสถานะ-ความสำคัญของตัวเอง โดยหารู้ไม่ว่ากำลังกลายเป็นตัวตลก หมดสภาพ ไร้ราคา ให้คนอื่นหัวร่อล้อเลียน

บางคนยินยอมเสียสละต้นทุนทางสังคม เกียรติยศ เกียรติคุณ ความน่านับถือเก่าๆ ที่เคยสั่งสมมานาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ก้อนสุดท้ายเอาไว้ ราวกับว่านี่คือราคาที่จำเป็นต้องจ่ายให้แก่การกระเสือกกระสนดิ้นรนเฮือกสุดท้ายในชีวิตทางการเมืองของตน

 

แล้วก็ยังมี “นักการเมือง” ประเภทที่สาม ซึ่งพลัดหลงเดินงงงวยเข้ามาสู่วงจรอำนาจ แวดวงการเมือง ในลักษณะที่ “ไม่ได้อยากทำงานการเมือง” จริงๆ หรือไม่ได้ปรารถนาจะพัฒนาให้สังคมการเมืองมีสภาพดีงามขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

แต่คล้ายว่า “คนการเมือง” ประเภทนี้ จำเป็นต้องเข้ามา “ปฏิบัติหน้าที่ทางการเมือง” รับตำแหน่งและรับผิด-รับชอบทางการเมือง ด้วยเหตุผลอื่นๆ ซึ่งยึดโยงกับความสัมพันธ์ทางสังคมชุดอื่นๆ

โดยมิได้คำนึงถึงปณิธานทางการเมืองของตนเอง แม้กระทั่งผลประโยชน์เฉพาะบุคคลของตนสักเท่าใดนัก

คำถามที่พลเมืองไทยต้องตอบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็คือ พวกเราอยากเลือก “นักการเมือง” แบบไหน ให้เข้าไปบริหารปกครองบ้านเมืองแทนเรา? •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน