MatiTalk รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย ไตรภูมิกถา สวรรค์ โลกมนุษย์ นรก

MatiTalk รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย ไตรภูมิกถา สวรรค์ โลกมนุษย์ นรก

เราเจอปัญหาในแวดวงการศึกษาหลายรูปแบบมากๆ ถามว่าความล้มเหลวเราหมายถึงอะไรบ้าง ซึ่งผมคิดว่าเห็นได้ชัดมากและควรให้ความสำคัญเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะว่าปัญหาของความเหลื่อมล้ำด้านหนึ่งแล้วคือ คนที่ได้ประโยชน์ไม่รู้สึกเหลื่อมล้ำและคนที่ได้ประโยชน์กลับเป็นคนที่มีอำนาจหรืออยู่จุดที่สามารถผลักดันเรื่องการศึกษาแต่ทำไมไม่ทำเพราะเขาไม่รู้สึกอินเขาอาจจะเห็นปัญหาแต่เขาไม่รู้สึกว่าอินว่ามันเป็นเรื่องของเขา รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ให้ความเห็นผ่านรายการ MatiTalk ของมติชนสุดสัปดาห์

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ อธิบายว่า ผมอยากจะแบ่งการศึกษาไทย ซึ่งตอนแรกผมคิดว่าการศึกษาไทยเหมือน 2 นคราประชาธิปไตยแบบที่อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ พยายามจะอธิบายว่ามีชนบทกับเมือง ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่าไม่น่าใช่เช่นนั้น แต่เหมือนเป็นไตรภูมิกถา คือแบ่งเป็น 3 เลเยอร์ของการศึกษาไทย คือ สวรรค์ โลก และนรก

เลเยอร์แรกนรก คือ ชนบททั่วที่เข้าไม่ถึงคุณภาพการศึกษาจะด้วยทรัพยากร ซึ่งนรกในความหมายผมเปรียบเทียบด้วยซ้ำกับการที่เราเห็นปัญหาในชนบทหรือในข่าวปัญหาสังคมในชนบท ด้านหนึ่งการได้รับการศึกษาซึ่งไม่ได้หมายถึงการศึกษาในโรงเรียนอย่างเดียว แต่รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียนด้วย คือการมีแหล่งเรียนรู้ต่างๆถัดมาโลกมนุษย์ คือ โรงเรียนประจำอำเภอ ประจำจังหวัดสำหรับบ้านที่พอมีเงินบ้าง พอมีโอกาสบ้าง เราจะเจอได้ทั่วๆไปหรือโรงเรียนในกรุงเทพฯที่อาจจะไม่ใหญ่มาก สุดท้ายสวรรค์ คือ โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษอย่าง เตรียมอุดมศึกษา ซึ่งคัดคนจากทั่วประเทศเลยด้วยซ้ำแต่ไม่ได้โทษเตรียมนะครับ แต่หมายความว่าโอกาสทางการศึกษาของผู้คนมีรร.เตรียมเป็นส่วนหนึ่ง รวมไปถึงจตุรมิตรและแน่นอนโรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนนานาชาติ

คนส่วนใหญ่หรือแม้กระทั่งสื่อโดยทฤษฎี สื่ออยู่ข้างชนชั้นกลางในเมือง เสียงของคนชั้นกลางในเมืองถูกสะท้อนผ่านสื่ออยู่ตลอดเวลา แต่ถามว่าชนชั้นล่างที่ขาดโอกาสทั้งหลายเราไม่ค่อยได้ยินเสียงเขา แต่ตอนนี้เราได้ยินเสียงเขามากขึ้นผ่าน Social Media เราเริ่มเห็นคนที่ไม่เหมือนกับเรา หมายความว่าชนชั้นกลางเริ่มเห็นคนที่ไม่เหมือนกับพวกเขามาก่อน ไม่เคยเห็นว่าพวกเขารวมกลุ่มกันยังไง มีวัฒนธรรมกัน เมื่อเห็นแล้วกลับกันว่าเราไปตัดสิน เราไป stereotype ติดป้ายว่าคนเหล่าต้องไม่มีการศึกษา อาจจะก่ออาชญากรรมทั้งๆที่ชนชั้นกลางไม่ก่ออาชญากรรมเลยหรอ ชนชั้นกลางไม่รู้จักไม่เข้าใจแต่พอเห็นผ่าน Social Media ก็ยิ่งไปกันใหญ่ แต่คนข้างล่างได้รับโอกาสน้อยกว่าเมื่อเทียบกับระดับกลางและระดับสวรรค์ แต่พวกสวรรค์ยิ่งร้ายใหญ่ พวกนี้มีสิทธิ์ที่จะไต่เต้าไปเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบาย ถ้าเราจำพอได้รัฐมนตรีคนในสมัยประยุทธ์เป็นเจ้าของโรงเรียนนานาชาติแปลว่าการทำนโยบายอะไรต่างๆต้องมองด้วยแว่นของเขา เขาไม่ได้ผิดโดยตัวของเขาเอ งแต่หมายความว่าด้วยแว่นที่เขามอง ด้วยวิธีคิด โลกทัศน์ที่เขาเป็นเขาก็ต้องอยากจะทำในสิ่งที่เขาสามารถทำได้เช่นเดียวกัน แต่โลกมันห่างไกลกันเหลือเกินดังนั้นถ้าเราตั้งต้นด้วยเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างน้อย 3 ชั้น หรืออาจจะมีมากกว่านั้นก็ได้ มันก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร

ต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ตอนนี้ผมคิดว่าเราตระหนักแล้วว่าประเทศไทยเจอปัญหาเรื่องจำนวนประชากรลด เด็กที่เคยเรียนในโรงเรียนต่างๆก็ลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งโดยแนวคิด เมื่อเด็กน้อยค่าหัวที่รัฐจะจ่ายให้โรงเรียนก็น้อยลงไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเป็นคือการควบรวมโรงเรียนต่างๆ แต่ขณะเดียวกันการควบรวมเราก็จะต้องคิดเรื่องอื่นด้วยเช่น ถ้าโรงเรียนมันอยู่ไกลบ้านจะต้องมีการจัดการ อย่างการมีรถรับส่ง ซึ่งอันนี้เดี๋ยวจะไปสัมพันธ์กับข้อเสนอของผมเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งปัญหาสำคัญอยู่ที่การจัดสรรทรัพยากรที่มีการจัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านหนึ่งการจัดการทรัพยากรของรัฐ

เมื่อเราพูดถึงการศึกษาเรามักจะโดดไปที่ประถมหรือมัธยมเลย แต่เราละเลยการศึกษาระดับปฐมวัยหรือระดับอนุบาลแน่นอนว่าอย่างที่บอก คนที่อยู่ในชั้นโลกและชั้นสวรรค์ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะพวกเขาสามารถเสกอะไรให้ลูกก็ได้ ตั้งแต่ห้องสมุดส่วนตัวจนถึงบ้านบอลในบ้านยังได้ แต่ว่าถามว่าคนทั่วไปสิ่งที่เรียกว่า Mass Education มันรองรับสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า ผมคิดว่าบ้านเราขาดแคลนมาก

ดังนั้นการศึกษาขึ้นอยู่กับการจัดการทรัพยากรและคนที่มีทรัพยากรอยู่ในมือก็สามารถที่จะสร้างศักยภาพให้กับลูกหลานตัวเองยิ่งคนพึ่งพาแบบนี้มากเท่าไหร่โรงเรียนก็ไม่จำเป็นจะต้องดีมากก็ได้ ในความเป็นจริงผู้ปกครองอยากได้โรงเรียนที่ดี แต่ผู้ปกครองถ้ามีศักยภาพก็จะกัดฟันส่งไปเอกชนหรือเรียนพิเศษ แต่ว่าคนจำนวนมากในฐานะ Mass Education ไม่มีโอกาส

สิ่งที่มันควรจะเป็นคือ ศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ดีมีคุณภาพ ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น ศูนย์เลี้ยงเด็กของญี่ปุ่นเป็นยังไงศูนย์เลี้ยงเด็กไม่ใช่ว่าเราโยนเด็กให้แล้วก็ศูนย์จัดการเองทั้งหมด แต่ศูนย์เลี้ยงเด็กทำหน้าที่เหมือนกับเป็นโค้ชให้กับพ่อแม่ด้วย สมมุติถ้าเรามีลูกเขาคิดเสมอว่า ลูกคนแรกของพ่อแม่ทุกคนล้วนเป็นประสบการณ์ใหม่หมด มันไม่มีกระบวนการที่เราจะเรียนรู้ ศูนย์เด็กเหล่านี้แหละจึงเป็นตัวสอนให้กับพ่อแม่รู้ว่าคุณคือมือใหม่มีมันมีระบบให้คำแนะนำมีระบบเทรน ซึ่งถามว่าในไทยมีไหม ? ก็ต้องบอกไทยก็เหมือนกับสอนว่ายน้ำด้วยกันโยนลงแม่น้ำแล้วเอาตัวรอดกันเองซึ่งอาจจะรอดบ้างแต่ส่วนใหญ่จะไม่รอด ดังนั้นผมคิดว่าโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้ยังขาดทั้งในระบบ อย่างศูนย์เด็กและนอกระบบนอกระบบอย่างพื้นที่ในการเรียนรู้ของเด็ก (Park) ดีๆ สวนสาธารณะใกล้บ้าน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ โรงละครเด็ก ในแบบที่เด็กสามารถที่ไปใช้เวลาได้โดยที่ไม่ต้องอยู่ในบ้านอย่างเดียว ผมคิดว่าการศึกษาที่ดีมันต้องทำให้เด็กรู้จักโลก แต่กลายเป็นว่า หนึ่ง การฝากเลี้ยงเด็กอย่าง ห้องสมุดเด็กอย่างญี่ปุ่นให้ความสำคัญของห้องสมุดเด็กมาก ไม่ใช่มีแค่หนังสือดีๆอย่างเดียวแต่ห้องสมุดเด็กยังมีกิจกรรมอยู่เสมอเป็นสิ่งที่เราขาด หมายความว่า ถ้าสิ่งที่นี้ไม่มีเราก็จินตนาการไม่ออกว่าเราทำอะไรได้ เมื่อจิตนาการออกไม่ได้ ก็เลี้ยงลูกแบบเลี้ยงไปแล้วสุดท้ายทุกวันนี้เราก็มีปัญหาประชากรน้อยลงแล้วมายุให้คนมีลูกทั้งๆที่ไม่มีอะไรรองรับเท่าไหร่

ถ้ารัฐจะสร้างแรงจูงใจให้เรามีประชากรที่เพิ่มขึ้นต้องมองในเชิงคุณภาพด้วยว่าเราจะยกระดับสังคมนี้อย่างไรและปัญหาหลัก คือ เรื่องการจัดการทรัพยากรและการอำนวยความสะดวกของรัฐเป็นตัวสะท้อนการรวมศูนย์อำนาจมากเกินไปอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการทำให้รูปแบบการจัดการทั้งหลายออกมาแบบเดียวกันครูบางคนจะต้องแบบไปอบรมตามคำสั่งของกระทรวงฯ ซึ่งมีไอเดียแปลกๆให้ทำตลอดเวลา ส่วนกลางกำหนดมาทั้งหมดว่าแต่ละโรงเรียนครูทำอะไรสุดท้ายก็ดึงครูจากห้องเรียนการกระจายอำนาจ คือ การให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารโรงเรียน ตัวอย่างญี่ปุ่น โรงเรียนประถมกับม.ต้นจะอยู่ภายใต้สังกัดเทศบาล แต่โรงเรียนม.ปลายจะสังกัดระดับอบจ. และจังหวัดคุมอัตรากำลัง แต่ของไทยอัตรากำลังทุกอย่างอยู่ที่กระทรวงฯ ซึ่งโรงเรียนมันเยอะมากจนคุณไม่สามารถที่จะเข้าใจพื้นที่จริงๆได้ แต่อย่างกรณีญี่ปุ่นเขตใหญ่คือจังหวัดในความหมายคืออบจ.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่มีสภาที่ถูกตรวจสอบโดยประชาชนทางอ้อมอยู่แล้ว แต่ของเราถามว่าใครตรวจสอบกระทรวงศึกษาธิการ-ไม่มีแต่ถ้าขึ้นกับท้องถิ่นโดยตรง มีกลไกการกระจายอำนาจและที่สำคัญคือการคานอำนาจ

ปัญหาการผลิตครู

คุณภาพมันไม่ถูกคัด เมื่อถูกผลิตในระบบเปิดก็ทำให้มีคนจำนวนมากไม่ได้อยากเป็นครูเท่ากับฉันอยากเป็นข้าราชการและมีสวัสดิการ มาเรียนครูไว้ก่อนแล้วสุดท้ายฉันจะไปสอบเป็นข้าราชการครู จริงๆไม่ได้อยากเป็นครูเท่ากับข้าราชการเพราะมีสวัสดิการที่มั่นคงให้ตัวเอง พ่อ-แม่ ซึ่งการมีอยากมีสวัสดิการไม่ใช่เรื่องผิด

ระบบการผลิตครูของเราเป็นระบบเปิดซึ่งใครก็เรียนครูได้ และต้องยอมรับว่าเงินเดือนครูสูงมากถ้าเทียบกับข้าราชการในวิชาชีพ ดังนั้นคนถึงอยากเป็นครูเมื่อเป็นระบบเปิดทำให้ซัพพลายเยอะมาก ตอนนี้นักศึกษาครูเยอะมาก ผมคิดว่า ต้องมีการจัดการต้นน้ำและปลายน้ำ ต้องจำกัดการผลิตอย่างเข้มงวด เช่น อัตราเกษียณอีก 5 ปีต้องการครู 20,000 คน คุณผลิตครูใน 5 ปีข้างหน้าเท่าไหร่ ดังนั้นเพื่อทำให้มันสอดคล้องกับระบบที่เป็นจริงเมื่อเรากำกับว่าภาพใหญ่ของประเทศผลิตเท่าไหร่ และไปกำกับในแต่ละมหาลัย อย่างเช่น การผลิตหมอ

อำนาจนิยมในโรงเรียน

ผมคิดว่าที่อำนาจวัฒนธรรมนิยมในสังคมไทยยังอยู่ในสังคมไทย เพราะหลายปัจจัยมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ทางการเมืองหลัง 2475 ถามว่ากี่เปอร์เซ็นต์ที่เราอยู่ภายใต้รัฐประหาร ดังนั้นเราชินกับการใช้อำนาจชินกับการที่ว่าสังคมจะดีได้ด้วยการควบคุม เฝ้ามอง ตรวจสอบ เราถูกทำให้ไม่มีการว่าสังคมจะดีได้ด้วยเรื่องความสร้างสรรค์อื่น เรื่องเสรีภาพ แต่เรามองว่าเสรีภาพจะทำให้เกิดความวุ่นวาย และมันเป็นมันกลายเป็นเหมือนบรรทัดฐานบางอย่างสำหรับครูหมายความว่ามันสะท้อนถึงอำนาจนิยมในตัวในตัวครูที่จะควบคุมและบางคนมองไปด้วยซ้ำว่าเด็กจะดีได้ต้องถูกคุม แต่สุดท้ายเราต้องมาถามกันอีกทีว่าวินัยอันนี้ใช้วินัยจริงๆ หรือเปล่า เหมือนกับการเรียนลูกเสือไปเป็นทหารแล้วจะมีวินัย หากลองไปดูดิคนรุ่นผมทุกคนในลูกเสือหมดแต่ถามว่ามีวินัยไหม ในทางกลับกันเราควรตั้งคำถามกับกระบวนการต่างหาก สมมุติว่าเราพูดว่าอยากให้เด็กมีวินัย ซึ่งคิดไปเองด้วยซ้ำว่าการตัดผม การแต่งกาย ให้เป็นระเบียบการจะทำให้เด็กมีวินัยอันนี้สมมติฐานของเขา ฉะนั้นพิสูจน์ได้หรือเปล่า คุณค่าหลักที่อยากจะได้จริงวินัยแบบนั้นมันเป็นยังไง สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เช่น วินัยในชีวิตประจำวัน เข้าคิว การจอดรถ ผมว่ามันต้องเรียนรู้ผ่านสถานการณ์ที่คุณต้องการวินัยจากเขาไม่งั้นจะเป็นการสร้าง “วินัยปลอมๆ”

ชมคลิป